กลยุทธ์การลงทุน วิเคราะห์การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ: มีผลกระทบจำกัดต่อกำไร บจ. ไทย

กลยุทธ์การลงทุน วิเคราะห์การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ: มีผลกระทบจำกัดต่อกำไร บจ. ไทย

ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 450 บาท/วัน: จะกระทบกำไร 6.5% ในกรณีเลวร้ายที่สุด แต่ในกรณีฐานจะกระทบเพียง 1.2%

ในบทวิเคราะห์ฉบับนี้ เราได้สรุปผลการประเมินของทีมนักวิเคราะห์ไทยว่าการขึ้นค่าแรงขึ้นต่ำอีก 30% เป็น 450 บาท/วันจะส่งผลกระทบต่อผลประกอบการปี 2567 มากแค่ไหน โดยเราประเมินว่าในกรณีเลวร้ายที่สุดที่มีการขึ้นค่าแรงเต็มพิกัด 30% ซึ่งมีผลต่อลูกจ้าง และแรงงานทั้งหมดของบริษัท จะกระทบกับกำไรปี 2567 ของบริษัทที่ KGI ศึกษาอยู่รวม 6.5% ในขณะเดียวกัน ในกรณีฐาน ซึ่งนักวิเคราะห์ในทีมของเรามองว่าสอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงจะกระทบกับกำไรเพียง 1.2% ซึ่งการที่เรามองว่าผลกระทบจะอยู่ในวงจำกัดเป็นเพราะเราเชื่อว่าบริษัทในกลุ่มธนาคาร และพลังงานแทบจะไม่ถูกกระทบเลยจากแผนการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำรอบนี้

 

กลุ่มรับเหมา, ค้าปลีก, อิเล็กทรอนิกส์ และอาหาร (ร้านอาหาร) อาจได้รับผลกระทบมากกว่ากลุ่มอื่น

เมื่อแยกเป็นรายกลุ่ม เรามองว่ากลุ่มรับเหมาก่อสร้าง, commerce, อิเล็กทรอนิกส์ และอาหาร (ร้านอาหาร) เป็นสี่กลุ่มอุตสาหกรรมที่เน้นใช้แรงงาน (labor-intensive) ที่อาจจะได้รับผลกระทบมากกว่ากลุ่มอื่น ๆ เราประเมินว่าในกรณีฐาน กำไรปี 2567 ของผู้รับเหมางานโยธาอย่างเช่น CK* และ STEC* จะถูกกระทบ 24% และ 38% ตามลำดับ ในขณะเดียวกัน เราคาดว่ากำไรของ CPALL* จะถูกกระทบ 12% ส่วนของ HANA ซึ่งดูอ่อนไหวมากที่สุดในกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์จะถูกกระทบ 11% สำหรับกลุ่มร้านอาหาร เราคาดว่ากำไรปี 2567 ของ M และ ZEN จะถูกกระทบ 12% และ 20% ตามลำดับ

 

 

 

เรายังมองว่าค่าแรงขึ้นต่ำจะขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยไม่น่าจะขึ้นรวดเดียวเป็น 450 บาท/วัน

เนื่องจากยังมีความไม่แน่นอนเกี่ยวกับการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ และภาวะเศรษฐกิจไทยยังเปราะบางแม้จะโตได้ดี เราจึงเชื่อว่าหากมีการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ น่าจะเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป ไม่ได้ขึ้นรวดเดียวเป็น 450 บาท/วัน ดังนั้น ผลกระทบจากการขึ้นค่าแรงต่อกำไรบริษัทจดทะเบียนในภาพรวมจึงน่าจะยังอยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้ ส่วนในแง่ปัจจัยที่จะส่งผลต่อตลาดนั้น เราคิดว่าความไม่แน่นอนทางการเมืองน่าจะส่งผลกระทบกับตลาดมากกว่าประเด็นการขึ้นค่าแรง

 

ดัชนี SET น่าจะพักฐานในระยะสั้น ในขณะที่นักลงทุนติดตามการเมืองไทย และแนวโน้มดอกเบี้ย Fed

เรายังคงมองว่าดัชนี SET จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบแคบในระยะนั้น โดยกระแสเงินทุนจากต่างชาติน่าจะยังชะลอตัว เนื่องจากมีสองปัจจัยที่ยังต้องจับตา คือ สถานการณ์การเมืองไทยว่าจะคลี่คลายไปในทิศทางไหน และ FOMC จะตัดสินทิศทางดอกเบี้ยสหรัฐอย่างไร ดังนั้น บรรดาหุ้นใหญ่ (large-cap) จึงยังขาดปัจจัยกระตุ้น (catalyst) ในขณะเดียวกัน เราเห็นโอกาสที่จะเข้าเก็งกำไรในหุ้นกลุ่มที่อ่อนไหวกับนโยบายรัฐที่ปรับลดลงมาในช่วงนี้ และหุ้นไฟแนนซ์ที่ได้รับสัญญาณบวกจาก NPLs ที่กำลังผ่านจุดสูงสุด และหุ้นบางตัวในกลุ่มอาหารแปรรูป โดยหุ้นที่เราชอบได้แก่ GULF*, CPALL*, MAKRO,
TIDLOR*, SAWAD*, GFPT และ SUN