วิเคราะห์ความท้าทาย ‘นโยบายรัฐสวัสดิการ’ ของพรรคก้าวไกล

วิเคราะห์ความท้าทาย ‘นโยบายรัฐสวัสดิการ’ ของพรรคก้าวไกล

พรรคก้าวไกลหาเสียงโดยชูธง “สร้างรัฐสวัสดิการ” ขึ้นมา ที่พร้อมดูแลประชาชนทุกช่วงวัย อย่างไรก็ตาม แหล่งหารายได้ที่มาจากการขึ้นภาษีเป็นหลักนี้ แม้จะมีเป้าหมายเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ แต่ก็มีความท้าทายหลายอย่างตามมาที่อาจกระทบเศรษฐกิจโดยรวมได้

Key Points

  • นโยบายของรัฐสวัสดิการพรรคก้าวไกล ใช้งบประมาณทั้งหมดราว 650,000 ล้านบาทต่อปี ภายใน 4 ปี ของวาระรัฐบาล
  • ประเทศที่ประสบความสำเร็จด้านรัฐสวัสดิการ มีอันดับปัญหาคอร์รัปชันที่น้อยที่สุดในโลก นำโดยเดนมาร์กอันดับ 1 ฟินแลนด์เป็นอันดับ 2 จึงทำให้ประชาชนเชื่อมั่นในรัฐบาลและยินดีจ่ายภาษีที่สูง
  • ภายในปี 2574 ไทยจะกลายเป็นสังคมสูงวัยระดับสุดยอดเหมือนกับญี่ปุ่น คือมีประชากรสูงอายุ 60 ปีขึ้นไปมากถึง 28% ของประชากรทั้งหมด


นับตั้งแต่พรรคก้าวไกลได้รับคะแนนเสียงเลือกตั้งมากที่สุด จนกลายเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล หลายฝ่ายต่างจับตานโยบายหลักที่พรรคก้าวไกลจะผลักดัน คือ “นโยบายสวัสดิการไทยก้าวหน้า” ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่เกิดจนเสียชีวิต

ขณะที่ “ศิริกัญญา ตันสกุล” ได้รับการวางตัวสำหรับตำแหน่งรัฐมนตรีการคลัง เพื่อผลักดันนโยบายนี้ จึงน่าสนใจว่านโยบายดังกล่าวมีความท้าทายอะไรอยู่เบื้องหน้าบ้าง

 

วิเคราะห์ความท้าทาย ‘นโยบายรัฐสวัสดิการ’ ของพรรคก้าวไกล

- ศิริกัญญา ตันสกุล ว่าที่รัฐมนตรีการคลัง (เครดิต: Facebook Sirikanya Tansakun) -

 

นโยบายสวัสดิการไทยก้าวหน้า

พรรคก้าวไกล ระบุบนเว็บไซต์เกี่ยวกับนโยบาย “สวัสดิการไทยก้าวหน้า” ไว้ว่า หากเป็นรัฐบาล เป้าหมายหลักของพรรคคือการสร้างระบบสวัสดิการถ้วนหน้า-ครบวงจร ที่ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนตั้งแต่เกิดจนแก่ ซึ่งรายละเอียดแบ่งออกได้ดังต่อไปนี้

- ช่วงแรกเกิด มีของขวัญแรกเกิด 3,000 บาท เงินเด็กเล็ก 1,200 บาท/เดือน ฯลฯ

- ช่วงเติบโต มีเรียนฟรี อาหารฟรี มีรถรับส่ง ฯลฯ

- ช่วงทำงาน ค่าแรงขั้นต่ำปรับขึ้นทุกปี เริ่มต้นวันละ 450 บาท โดยรัฐช่วย SMEs 6 เดือนแรก และมีประกันสังคมถ้วนหน้า เจ็บป่วยได้เงินชดเชย-ค่าเดินทางหาหมอ ฯลฯ

- ช่วงสูงวัย มีเงินผู้สูงวัยเดือนละ 3,000 บาท และค่าทำศพถ้วนหน้า 10,000 บาท

- ทุกอายุ มีบ้านตั้งตัว 350,000 หลัง น้ำประปาดื่มได้ทุกพื้นที่ เติมเงินให้ท้องถิ่น เพิ่มขนส่งสาธารณะ เติมเน็ตฟรี 1 GB ต่อเดือน และเงินคนพิการ 3,000 บาท/เดือน

ทั้งนี้ พรรคก้าวไกลระบุว่า นโยบายของรัฐสวัสดิการนี้จะใช้งบประมาณทั้งหมดราว 650,000 ล้านบาทต่อปี ภายใน 4 ปี ของวาระรัฐบาล

แหล่งรายได้มาจาก

ลดขนาดกองทัพ เรียกคืนธุรกิจกองทัพ 50,000 ล้านบาท

ลดงบกลาง 30,000 ล้านบาท

ลดโครงการที่ไม่จำเป็น 100,000 ล้านบาท

เงินปันผลรัฐวิสาหกิจ 13,000 ล้านบาท

ภาษีความมั่งคั่ง ทรัพย์สินเกิน 300 ล้าน 60,000 ล้านบาท

ภาษีที่ดินรายแปลงและรวมแปลง 150,000 ล้านบาท

ภาษีนิติบุคคลทุนใหญ่ 92,000 ล้านบาท

ปฏิรูปสิทธิประโยชน์ BOI 8,000 ล้านบาท

เพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษี 100,000 ล้านบาท
หวยบนดิน 50,000 ล้านบาท

 

วิเคราะห์ความท้าทาย ‘นโยบายรัฐสวัสดิการ’ ของพรรคก้าวไกล

- แหล่งรายได้รายจ่ายรัฐสวัสดิการพรรคก้าวไกล (เครดิต: พรรคก้าวไกล) -

 

ความท้าทายของ “รัฐสวัสดิการ Ver. ก้าวไกล”

ประเทศที่มีชื่อเสียงด้านสวัสดิการที่โดดเด่นที่สุด คงหนีไม่พ้นประเทศแถบสแกนดิเนเวีย ไม่ว่าจะเป็นสวีเดน นอร์เวย์ เดนมาร์ก และรวมถึงประเทศในกลุ่มนอร์ดิกอย่างฟินแลนด์ และไอซ์แลนด์ โดย 5 ประเทศนี้มีรัฐสวัสดิการที่แข็งแกร่ง อีกทั้งยังถูกจัดอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีความสุขมากที่สุดในโลกอันดับต้น ๆ ใน 10 อันดับแรกด้วย

อย่างไรก็ตาม สวัสดิการที่รัฐช่วยดูแลเรายามชราไม่ได้เกิดขึ้นฟรี โดยจากข้อมูล Take-profit.org เว็บฐานข้อมูลทางการเงิน ปี 2566 ระบุว่า พลเมืองประเทศเหล่านี้จำเป็นต้องเสีย “ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา” ที่สูงมาก ดังนี้

สวีเดน 32.3-61.4%

ไอซ์แลนด์ 35.7-46.9%

นอร์เวย์ 38.2-55.3% 

ฟินแลนด์ 49-62.2%

เดนมาร์ก 55.4-65.9%

ส่วนในไทย เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาอยู่ที่อัตรา 5-35%

หมายความว่า รายได้จากการทำงานช่วงหนุ่มสาวของประเทศแถบสแกนดิเนเวีย “ครึ่งหนึ่งของรายได้ที่หามา” ส่งกลับให้รัฐในรูปภาษี ซึ่งสิ่งนี้ได้กลายเป็น “ความท้าทาย” ของประเทศที่จะทำรัฐสวัสดิการ ดังนี้

 

  • 1. ความเชื่อมั่นต่อการบริหารเงินภาษี

รากฐานของประเทศที่ประสบความสำเร็จในรัฐสวัสดิการ คือ การปราบคอร์รัปชัน” จะเห็นได้ว่าข้อมูล The Corruption Perceptions Index Rank ปี 2565 พบว่า ประเทศแถบสแกนดิเนเวีย มีอันดับปัญหาคอร์รัปชันที่น้อยที่สุดในโลก นำโดยเดนมาร์กอันดับ 1 ฟินแลนด์เป็นอันดับ 2 จึงทำให้ประชาชนเชื่อมั่นในรัฐบาลและยินดีจ่ายภาษีที่สูง

ดังนั้น ถ้าไทยต้องการทำรัฐสวัสดิการ การปรับภาษีที่สูงขึ้น แม้จะไม่เท่าประเทศแถบสแกนดิเนเวียโดยที่ประชาชนพร้อมสนับสนุน จำเป็นต้องรื้อฟื้นความเชื่อมั่นในการบริหารภาษี ว่าภาษีที่จ่ายออกไปจะถูกนำมาพัฒนาประเทศอย่างคุ้มค่า

 

  • 2. ประชากรผู้สูงอายุในไทยกำลังขยายตัว

ปัจจุบัน ไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยแล้ว โดยข้อมูลจากระบบสถิติทางการทะเบียน ปี 2565 ระบุว่า ไทยมีจำนวนผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปมากถึง 12,116,199 คน คิดเป็น 18.3% ของประชากรทั้งหมด และกรมกิจการผู้สูงอายุยังคาดการณ์ว่า ภายในปี 2574 ไทยจะกลายเป็นสังคมสูงวัยระดับสุดยอดเหมือนกับญี่ปุ่น คือมีประชากรสูงอายุมากถึง 28% ของประชากรทั้งหมด

นอกจากเงินบำนาญเดิมที่รัฐต้องแบกรับแล้ว ยังมีรายจ่ายจากนโยบายรัฐสวัสดิการเพิ่มขึ้นอีก ท่ามกลางจำนวนผู้สูงวัยที่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ แต่วัยหนุ่มสาวอันเป็นแหล่งรายได้ภาษีกลับเกิดน้อยลง จึงเป็นโจทย์ใหญ่ของรัฐบาลว่า ทำอย่างไรถึงจะทำให้คนไทยต้องการมีลูกมากขึ้น

 

  • 3. ระบบเศรษฐกิจไทยพึ่งพาตลาดทุนและต่างประเทศสูง

เมื่อดูนโยบายแหล่งหาเงินทำรัฐสวัสดิการของพรรคก้าวไกล จะพบว่าวิธีหาเงินโดยหลักคือ “การขึ้นภาษี” โดยเฉพาะสำหรับคนรวย เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม

อย่างไรก็ตาม การขึ้นภาษีที่อาจเชิงรุกมากไป โดยไม่ได้มีมาตรการช่วยเหลือตลาดทุน หรือนโยบายดึงดูดการลงทุนต่างชาติที่มากพอ ก็อาจทำให้เศรษฐกิจไทยเผชิญความซบเซาได้ เพราะว่าบริษัทใหญ่ต่าง ๆ ในไทยถือเป็นเครื่องจักรใหญ่ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร นักลงทุนสายเน้นคุณค่า (VI) ระดับตำนาน แสดงความกังวลถึงนโยบายพรรคก้าวไกลต่อกลุ่มทุน โดยกล่าวว่า "อย่าคิดว่าตลาดหุ้นนั้นเป็นเสียงของคนส่วนน้อย เพราะตลาดหุ้นเป็นเสียงของคนที่อยู่ในศูนย์กลางของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ที่สามารถทำนายได้ว่าอนาคตของเศรษฐกิจไทยจะไปทางไหน ถ้าหุ้นขึ้นก็มักจะแปลว่านโยบายหรือสถานการณ์ไปถูกทาง แต่ถ้าหุ้นลง ก็เป็นตรงกันข้าม"

 

วิเคราะห์ความท้าทาย ‘นโยบายรัฐสวัสดิการ’ ของพรรคก้าวไกล

- ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร -

 

ขณะที่ประกิต สิริวัฒนเกตุ กรรมการผู้จัดการ บลจ.เมอร์ชั่น พาร์ทเนอร์ ก็กังวลถึงนโยบายพรรคก้าวไกลที่มีต่อการเติบโตของตลาดทุน โดยมองว่า ตลาดทุนไม่ใช่เป็นของคนรวยเพียงอย่างเดียว ยังมีเม่าตัวเล็กตัวน้อยจำนวนมาก และพวกเขาใช้ตลาดทุนเป็นหนึ่งในการเก็บออม สร้างความมั่งคั่งไว้ใช้ในยามเกษียณ

 

วิเคราะห์ความท้าทาย ‘นโยบายรัฐสวัสดิการ’ ของพรรคก้าวไกล

- ประกิต สิริวัฒนเกตุ กรรมการผู้จัดการ บลจ.เมอร์ชั่น พาร์ทเนอร์ (เครดิต: Facebook ประกิต สิริวัฒนเกตุ ) -

 

นอกจากนี้ การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ หรือธุรกิจเฉพาะด้านบางอย่างจำเป็นต้องพึ่งพากลุ่มทุนเอกชน ที่มีทั้งเทคโนโลยีและเงินทุนสูง

ไม่เว้นแม้แต่ประเทศที่เจริญแล้วอย่างในเกาหลีใต้ ก็มี “กลุ่มทุนแชโบล” ซึ่งนำโดยบริษัทเทคโนโลยีอย่าง Samsung บริษัท LG Corporation ด้านโทรคมนาคม อิเล็กทรอนิกส์ เคมีภัณฑ์ ฯลฯ

ส่วนญี่ปุ่นก็มี “กลุ่มทุนเคเรตสึ” อย่างบริษัท Mitsubishi ซึ่งทำธุรกิจครอบจักรวาลตั้งแต่การเงิน เครื่องจักร อาหาร พลังงาน บริษัท Sumitomo ทำธุรกิจด้านการเงินและการค้า ฯลฯ

กลุ่มทุนเหล่านี้ได้รับการสนับสนุนจากรัฐ จนสามารถรุกตลาดต่างประเทศ นำมาซึ่งรายได้และภาษีจำนวนมหาศาลเข้าประเทศ

ดังนั้น หากขึ้นภาษีกลุ่มทุนใหญ่ในลักษณะเชิงรุกมากไป โดยไม่ได้มีมาตรการรักษาบรรยากาศการลงทุนที่มากพอ ก็อาจทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจชะลอตัวลง และเมื่อนั้นก็ส่งผลให้รัฐเก็บภาษีได้น้อยลง กลายเป็นปัญหาเงินคงคลังตามมาได้

 

  • แหล่งรายได้รัฐสวัสดิการ ไม่จำเป็นต้องเน้นขึ้นภาษีอย่างเดียว

จริงอยู่ที่การทำรัฐสวัสดิการ จำเป็นต้องขึ้นภาษี แต่หากขึ้นภาษีในหลายด้านมากเกินไป ก็อาจทำให้ตลาดทุนกังวล และทยอยถอนทุนออกได้

ในหลายประเทศที่เจริญแล้ว มักจะส่งเสริมให้เกิดแรงงานที่มีทักษะ สร้างนวัตกรรมขึ้นเองได้ เพื่อลดการพึ่งพาต่างชาติและดึงดูดการลงทุน รวมถึงให้สิทธิประโยชน์ทางเศรษฐกิจเพื่อดึงดูดต่างชาติให้เข้ามาตั้งฐานการผลิตหรือแม้แต่ช่วยถ่ายทอดเทคโนโลยีให้ สิ่งเหล่านี้จะทำให้เศรษฐกิจคึกคัก เติบโต และช่วยให้รัฐเก็บภาษีได้เพิ่มขึ้นตามไปด้วย

ยกตัวอย่างประเทศที่ประสบความสำเร็จในการดึงเม็ดเงินจากต่างชาติได้ เช่น บริษัท HYBE สัญชาติเกาหลีใต้ เจ้าของวง K-POP ระดับโลกอย่าง BTS ได้รับการส่งเสริมจากรัฐจนสามารถตีตลาดบันเทิงต่างประเทศไปทั่วโลก สามารถสร้างรายได้เมื่อปี 2565 สูงถึง 1.7 ล้านล้านวอน

และเมื่อปี 2564 มีรายงานว่า วง BTS ช่วยสร้างรายได้เข้าประเทศเกาหลีใต้ ผ่านอุตสาหกรรมต่าง ๆ และกระตุ้นรายได้การท่องเที่ยวได้ไม่ต่ำกว่า 5 ล้านล้านวอนหรือราว 1.4 แสนล้านบาทต่อปี สะท้อนในอีกแง่มุมหนึ่งว่า กลุ่มทุนที่เติบโตขึ้น สามารถนำมาสู่รายได้ทางภาษีให้กับรัฐมากขึ้นได้ในการทำรัฐสวัสดิการ

 

โดยสรุป นโยบายพรรคก้าวไกลมุ่งเน้นจัดเก็บภาษีให้เป็นธรรมมากขึ้น ลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างรัฐสวัสดิการดูแลประชาชนในทุกช่วงชีวิต

อย่างไรก็ตาม การหารายได้ทำรัฐสวัสดิการโดยเน้นวิธีขึ้นภาษีเป็นหลัก และอาจมีแผนรองรับตลาดทุนที่ยังไม่มากพอ อาจกระทบต่อความเชื่อมั่นของตลาดทุนและการเติบโตทางเศรษฐกิจโดยรวมได้

ดังนั้น ถ้าพรรคก้าวไกลสามารถอุดช่องโหว่เหล่านี้ได้ ก็จะช่วยให้นโยบายรัฐสวัสดิการมีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น

อ้างอิง: moveforwardparty take-profit.org tradingeconomics marketeeronline
bangkokbanksme hellokpop btblackxswan prachachat bangkokbiznews