3 เหตุผล กับการเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในตราสารหนี้ต่างประเทศในปีนี้

3 เหตุผล กับการเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในตราสารหนี้ต่างประเทศในปีนี้

ในช่วงต้นปีดูเหมือนว่าธนาคารกลางสหรัฐ ยังน่าจะปรับขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง จากเรื่องของเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มไม่ชะลอตัวเท่าที่คาดสะท้อนจากภาคการจ้างงานที่ยังดี

ก่อนที่มุมมองจะเปลี่ยนแปลงไปในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมาจากประเด็นเรื่องของความกังวลเกี่ยวกับภาคธนาคาร ซึ่งปัจจุบันนักลงทุนคาดว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ อาจจะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยอีกเพียงครั้งเดียวในการประชุมในสัปดาห์นี้ ก่อนที่จะหยุดเพื่อรอดูสถานการณ์ในช่วงที่เหลือของปี รวมถึงโอกาสที่จะปรับลดดอกเบี้ยก็เพิ่มสูงขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงก่อนหน้า โดยแม้ความผันผวนในตลาดการเงิน และความไม่แน่นอนในภาคสถาบันการเงินจะทำให้ความกังวลเกี่ยวกับปัญหา

Bank Run และผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจสูงขึ้น แต่หากมองผ่านความผันผวนในระยะสั้น และพิจารณาจากปัจจัยแวดล้อม สินทรัพย์ที่น่าสนใจในปีนี้ คือ กลุ่มตราสารหนี้ต่างประเทศ ที่น่าจะได้รับประโยชน์จากทั้งเรื่องของดอกเบี้ยที่ปรับขึ้นมาอยู่ในระดับสูง เศรษฐกิจและเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มชะลอลง และเป็นการลงทุนที่ช่วยลดความผันผวนจากความไม่แน่นอนได้ด้วย

ปัจจัยแรก ดอกเบี้ยที่ปรับเพิ่มขึ้นมามากทำให้ความเสี่ยงต่อการขาดทุนลดลงมาก องค์ประกอบของผลตอบแทนของการลงทุนในตราสารหนี้ประกอบด้วยกันสองส่วน ได้แก่ ดอกเบี้ยที่ได้รับ และ การเปลี่ยนแปลงของราคา โดยราคานั้นจะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางตรงกันข้ามกับอัตราดอกเบี้ยในท้องตลาด กล่าวคือ ถ้าดอกเบี้ยในตลาดปรับตัวสูงขึ้น (ลดลง) ราคาของตราสารหนี้ก็จะลดลง (สูงขึ้น)

โดยอัตราดอกเบี้ยในของพันธบัตรในต่างประเทศปรับตัวขึ้นมามากตามอัตราดอกเบี้ยนโยบายโดยเฉพาะในสหรัฐฯ ทำให้นักลงทุนได้รับผลตอบแทนจากส่วนแรกสูงกว่าเมื่อก่อนมาก และมีความสามารถรองรับต่อการเปลี่ยนแปลงดอกเบี้ยในตลาดได้ หากเทียบกับสมัยก่อนที่ดอกเบี้ยพันธบัตรอยู่ในช่วง 1-2% การเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อย (ขึ้นอยู่กับอายุของตราสาร) ก็อาจจะทำให้นักลงทุนขาดทุนได้

แต่ปัจจุบันดอกเบี้ยอยู่ในระดับ 4-5% ขึ้นไป ก็ทำให้โอกาสที่จะขาดทุนนั้นลดลงไปมาก ไม่นับว่า ณ สถานการณ์ปัจจุบันโอกาสที่ดอกเบี้ยจะขึ้นต่อไปมากๆ นั้นมีน้อยมาก หากพิจารณาจากปัจจัยพื้นฐานทางด้านเศรษฐกิจ แม้ล่าสุดดูเหมือนว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ จะยังคงส่งสัญญาพร้อมขึ้นดอกเบี้ย แต่การปรับขึ้นดังกล่าวก็อาจทำได้จำกัดและอาจส่งผลกระทบต่อตลาดในระยะสั้นเท่านั้น

ปัจจัยที่สอง เศรษฐกิจที่ชะลอตัวและเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มลดลง ผลตอบแทนพันธบัตรที่อายุยาวกว่าดอกเบี้ยนโยบายนั้น เช่น อายุ 5 ปี 10 ปี ไม่ได้เปลี่ยนแปลงตามอัตราดอกเบี้ยนโยบายเสียทั้งหมด สิ่งที่ส่งผลกระทบมากไม่ยิ่งหน่อยไปกว่ากันคือเรื่องของ แนวโน้มอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า และการคาดการณ์เงินเฟ้อ (Inflation Expectation) ในอนาคต

โดยผลตอบแทนพันธบัตรอายุยาวๆ นั้นจะต้องสูงเพียงพอที่จะชดเชยปัจจัยพื้นฐานทั้งสองปัจจัยนี้ ซึ่งหากมองไปในระยะ 1-2 ปีข้างหน้า เศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะในสหรัฐฯ และยุโรป น่าจะเข้าสู่ช่วงวัฏจักรของการชะลอตัว โดยสหรัฐฯ คาดว่าจะเติบโตได้เพียง 0.8% และ 2.9% ในปีนี้และปีหน้าตามลำดับ (ข้อมูลจาก Bloomberg ณ วันที่ 20 มี.ค. 23) เทียบกับปี 2021 ที่ขยายตัว 6.2% และ ปี 2022 ที่ 3.4% ตามลำดับ

ในขณะที่ตัวเลขเงินเฟ้อล่าสุดอยู่ที่ 6.0% เทียบกับสูงสุดในกลางปีที่แล้วที่ 9.1% ในขณะที่นักวิเคราะห์ในตลาดมองว่าปีนี้เงินเฟ้อสหรัฐฯ น่าจะค่อยๆ ปรับตัวลดลงสู่ระดับ 4.0% แม้ตัวเลขล่าสุดอาจจะมีความเสี่ยงที่ไม่ชะลอตัวอย่างที่คาด แต่แนวโน้มการชะลอตัวลงของเงินเฟ้อนั้นไม่มีใครปฏิเสธได้ เพียงแต่ช้าหรือเร็วเท่านั้น ดังนั้นตอบแทนพันธบัตรต่างๆ ก็น่าจะค่อยๆ ปรับตัวลดลงและอาจสร้างผลตอบแทนส่วนเพิ่มให้กับการลงทุนได้

ปัจจัยที่สาม พันธบัตรอาจช่วยลดความเสี่ยงของพอร์ตฟอลิโอต่อโอกาสของภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession Hedge) และความไม่แน่นอนต่างๆ หนึ่งในการลงทุนที่ดีในภาวะที่เศรษฐกิจถดถอยและช่วงที่ความไม่แน่นอนสูงดังเช่นในช่วงที่ผ่านมา คือ การลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลๆ เนื่องจากหากเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย

สิ่งหนึ่งที่มักจะมาพร้อมกับคือการกระตุ้นเศรษฐกิจ และในพื้นที่ของการดำเนินนโยบายการเงินก็คือการปรับลดดอกเบี้ยลงนั่นเอง ในขณะที่หากนักลงทุนกังวลเกี่ยวกับปัญหาหรือความไม่แน่นอนต่างๆ ก็จะลดการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงไปลงทุนในกลุ่มพันธบัตรรัฐบาลเพื่อลดความเสี่ยงจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลายลง (Flight to quality)

อย่างไรก็ตามในกรณีอาจจะไม่ใช่ทุกชนิดของตราสารหนี้ที่จะให้ผลตอบดี โดยเฉพาะในกลุ่มหุ้นกู้เอกชนที่อาจจำเป็นจะต้องเลือกการลงทุนให้ดีเนื่องของส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยกับพันธบัตรรัฐบาล (Credit Spreads) ที่อาจสูงขึ้นได้นั่นเอง ดังนั้นหากนักลงทุนไม่มั่นใจหรือกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย การเพิ่มน้ำหนักในส่วนของตราสารหนี้ภาครัฐฯ ก็เป็นทางเลือกที่น่าสนใจ โดยหากลงทุนผ่านกองทุนก็อาจเน้นเลือกกองทุนที่มีพันธบัตรรัฐบาลเป็นส่วนใหญ่

สุดท้ายนี้ความผันผวนในระยะสั้นเป็นสิ่งที่หลักเลี่ยงได้ยากในตลาดการเงิน แต่การจัดสรรพอร์ตฟอลิโอที่ดีจะช่วยให้ความผันผวนไม่สูงเกินไปนัก และน้ำหนักการลงทุนต้องมองไปในระยะข้างหน้ามากกว่าระยะสั้นๆ ที่ปัจจัยต่างๆ นั้นคาดการณ์ได้ยากด้วยครับ

หมายเหตุ บทวิเคราะห์นี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของหน่วยงานต้นสังกัดแต่อย่างใด