ธนาคารกลางสหรัฐ FED คือตัวก่อหรือแก้ปัญหา

ธนาคารกลางสหรัฐ FED คือตัวก่อหรือแก้ปัญหา

The Federal Reserve System/ Federal Reserve/ the Fed หรือที่นิยมเรียกในไทยว่า FED จะประชุมในวันพุธที่ 22 มี.ค. ค.ศ. 2023

เพื่อวิเคราะห์เศรษฐกิจ และสถานการณ์การเงินปัจจุบันของอเมริกา คาดว่าจะมีการปรับดอกเบี้ยอีกครั้งหนึ่ง อาจขึ้น 0.25% จากอัตราปัจจุบันที่ 4.50 ถึง 4.75% เป้าหมายคือจะหยุดที่ 5.0% และไม่เกิน 5.25% จุดประสงค์เพื่อต้องการควบคุมเงินเฟ้อ

เสียงวิจารณ์กันอย่างหนักในวงการนักลงทุน แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม

กลุ่มหนึ่งบอกว่าควรที่จะขึ้น 0.25% เพื่อให้ถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้ เพราะการขึ้นดอกเบี้ยมาตั้งแต่กลางปีที่แล้วจนถึงปัจจุบัน ช่วยควบคุมเงินเฟ้ออย่างมีประสิทธิภาพ จาก 9% เหลืออยู่ 6% และหากไม่ขึ้นดอกเบี้ยเพราะกังวลกับวิกฤติธนาคารในปัจจุบัน จะเป็นการส่งสัญญาณว่าคงมีปัญหาใหญ่ในระบบ จึงลังเล และจะทำให้นักลงทุนตกใจ พากันเทขายหุ้น ทำให้ดัชนีดิ่งลง

อีกกลุ่มหนึ่งไม่เห็นด้วยกับการขึ้นดอกเบี้ย เพราะจะเป็นการซ้ำเติมกับปัญหาธนาคารล่มในปัจจุบัน กลุ่มนี้กล่าวโทษว่า FED ขึ้นดอกเบี้ยแรงไปเร็วไป เปรียบเสมือนการให้ยากับผู้ป่วย จนมีอาการแพ้แทบจะทนไม่ไหว อยากให้ชะลอก่อนระยะหนึ่ง ให้ปัญหาเรื่องธนาคารผ่านไปก่อน

เมื่อ FED ขึ้นดอกเบี้ย อะไรคือผลกระทบ

หน้าที่หลักของ FED คือต้องรักษาเศรษฐกิจสหรัฐ ให้ไปได้พอดีๆ ไม่ร้อนหรือเย็นไป เมื่อธุรกิจบูม หรือร้อนเกินไป เช่นเงินเฟ้อ สินค้าราคาแพง FEDจะเข้ามาแทรกแซงโดยการขึ้นดอกเบี้ย ทำให้เย็นลงและเศรษฐกิจเดินต่อไปพอเหมาะพอควร

ดอกเบี้ยหมายถึง federal funds rate ซึ่งธนาคารพาณิชย์ใช้เป็นตัวอ้างอิงในการยืมเงินระหว่างกัน เพื่อช่วยสภาพคล่องทางการเงิน

เมื่อดอกเบี้ยสูงขึ้นก็ทำให้ต้นทุนในการทำธุรกิจและการบริโภคส่วนบุคคลสูงขึ้น ธนาคารจะลดหรือลังเลการยืมเงินระหว่างกัน โครงการต่างๆที่อยากลงทุนก็ระงับไปก่อน ขณะเดียวกันก็กระตุ้นให้ประชาชนเก็บเงินเพื่อฝากเอาดอกเบี้ย ทำให้เงินหมุนเวียนในระบบลดลง เงินเฟ้อก็ลดลงตาม

ยกตัวอย่างในสหรัฐ หากซื้อบ้านในราคา 300,000 ดอลลาร์ ด้วยเงินกู้ 30 ปี หากดอกเบี้ยอยู่ที่ 3.5% ต่อปี ต้องชำระธนาคารเดือนละ 1,340 ดอลลาร์แต่หากดอกเบี้ยปรับขึ้นอีก 1% อยู่ที่อัตรา 4.5% จะทำให้ค่าผ่อนบ้านกลายเป็นเดือนละ 1,520 ดอลลาร์จึงทำให้ผู้ซื้อลังเล อาจรอไปก่อน หรือไปซื้อบ้านในวงเงินต่ำกว่า เพื่อจำกัดรายจ่ายต่อเดือน

เครดิตคาร์ด เงินยืมส่วนบุคคล ยืมเพื่อเรียนหนังสือ ไฟแนนซ์รถพาหนะ และเงินกู้ทำธุรกิจ จะมีผลกระทบคล้ายกับการซื้อบ้านข้างต้น

กรณี 2 ธนาคารในสหรัฐที่ถูกรัฐบาลเข้าไปยึดควบคุมนั้น มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงกับการขึ้นดอกเบี้ยแบบแรงและเร็ว แต่สองธนาคารนั้นมีปัจจัยพิเศษบางอย่างที่แตกต่างจากธนาคารอื่น และการที่ธนาคารอื่นๆโดยเฉพาะธนาคารยักษ์ใหญ่ในอเมริกาไม่มีผลกระทบ ชี้ประเด็นว่าผู้บริหารบางธนาคารปรับตัวไม่ทัน ดอกเบี้ยมีผลกระทบจริง แต่หากปรับตัวทัน ก็จะไม่มีปัญหา

Silicon Valley Bank ผิดพลาดที่มุ่งบริการลูกค้าในกลุ่มเทคโนโลยีโดยเฉพาะสตาร์ตอัปมากเกินไป ไม่กระจายความเสี่ยงไปอุตสาหกรรมอื่น เมื่อมีเงินฝากมากในปี 2020 ถึง 2021 ก็ไปซื้อพันธบัตรของรัฐบาลสหรัฐ ซึ่งช่วงนั้นดอกเบี้ยต่ำมาก เมื่อดอกเบี้ยขึ้นอย่างฉับไว ผู้บริหารแบงก์ชะล่าใจ ไม่รีบขายพันธบัตรโดยยอมขาดทุนบ้างเล็กน้อย 

รอจนถึงปลายปีที่แล้ว เมื่อลูกค้าถอนเงินพร้อมๆกัน เนื่องจากเศรษฐกิจของกลุ่มเทคโนโลยีไม่คล่องตัว สภาพคล่องทางการเงินสะดุด และเมื่อมีข่าวลือออกไปว่าแบงก์ นี้ต้องขายพันธบัตรต้นปีนี้ในราคาขาดทุนมาก โซเชียลมีเดียโดยเฉพาะทวิตเตอร์ ทำให้การถอนเงินภายใน 36 ชั่วโมง 42,000 ล้านดอลลาร์ ผู้บริหารจนปัญญาแก้ไข FDIC จึงต้องเข้ามายึด

Signature Bank มีลูกค้าธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในมหานครนิวยอร์ก 37,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นหนึ่งในสามของทรัพย์สินของธนาคาร และมีลูกค้าคริปโทมาก เมื่อคริปโตมีปัญหาจึงกลายเป็นศึกสองด้าน ปัญหาคือไม่กระจายความเสี่ยง

FDIC รับนโยบายจากกระทรวงการคลังและทำเนียบขาว ให้คุ้มครองเงินฝากทุกบัญชีในสองธนาคารนี้ ไม่จำกัดที่วงเงิน 250,000 เหรียญตามกฏหมายเท่านั้น นโยบายนี้เป็นการประกาศฉุกเฉินเพื่อสร้างความเชื่อมั่นในระบบ และไม่ต้องการให้เกิดข่าวลือทำให้ประชาชนแห่กันไปถอนเงิน (bank run) โดยไม่มีเหตุผล

ข่าวเรื่องธนาคารอื่นๆมีปัญหาเช่น First Republic Bank หรือธนาคารในภูมิภาค ซึ่งส่งผลให้ราคาหุ้นของกลุ่มธนาคารตกอย่างมากนั้น ดูเหมือนขวัญและกำลังใจของผู้ลงทุนกลับมาคืน หลังจากมีการร่วมมือกันทั้งภาครัฐและกลุ่มธนาคารพาณิชย์ จัดมาตรการช่วยเหลือ และคาดว่าจะความเสียหายจะจำกัดอยู่เพียงแค่ไม่กี่ธนาคาร และสถานการณ์จะกลับมาเป็นปกติอีกไม่นาน

วิกฤติธนาคารครั้งนี้แตกต่างจากปีค.ศ. 2008 เพราะครั้งนั้นเป็นวิกฤติของความล้มเหลวในระบบ หนี้เสียมาก เครดิตมีข้อบกพร่อง ทรัพย์สินซึ่งใช้ค้ำประกันมีคุณภาพต่ำ สถาบันการเงินเข้ามาสวมรอยธนาคาร ตกแต่งทรัพย์สินให้ดูมีเครดิตสูงกว่าความเป็นจริง และซื้อขายแลกเปลี่ยนระหว่างกันโดยไม่มีการควบคุมเข้มงวดจากภาครัฐ

แต่ในปัจจุบันกฎระเบียบการธนาคารของสหรัฐนำบทเรียนจากวิกฤติครั้งนั้นสร้างเงื่อนไขรัดกุม โอกาสที่จะเกิดขึ้นอีกเป็นไปยากมาก ทรัพย์สินที่ธนาคารครอบครองอยู่ในปัจจุบันนี้มีความเสี่ยงน้อยที่สุด เพราะเป็นพันธบัตรและสารตราหนี้ที่ออกโดยรัฐบาลอเมริกัน ปัญหาครั้งนี้คือสภาพคล่องทางการเงิน ซึ่งเกิดจากความบกพร่องของผู้บริหาร แต่ไม่เกินวิสัยที่จะแก้ได้

การที่เงินอเมริกันดอลลาร์ได้รับความนิยมทั่วโลก รวมทั้งในไทยด้วย (เงินดอลลาร์ถูกใช้เป็นเงินสำรองโดยธนาคารกลางของแต่ละประเทศทั่วโลกถึง 59% การชำระเงินในการซื้อขายทั่วโลก 40% สัญญาหนี้สินระหว่างประเทศ 60% และเงินกู้ 50%) จึงทำให้มีความกังวลว่าสถานการณ์ในอเมริกาจะกระทบมาถึงไทย แต่จากหลักฐานที่รายงานโดยละเอียดโดยสื่อมวลชนหลัก และการประชาสัมพันธ์อย่างโปร่งใสของภาครัฐในสหรัฐ ผมมั่นใจว่าเรื่องนี้จะลงเอยด้วยดีครับ