อดีต’รมว.คลัง’ถามดัง “พรรคภูมิใจไทยพักหนี้ ใครแบกภาระ?”

อดีต’รมว.คลัง’ถามดัง “พรรคภูมิใจไทยพักหนี้ ใครแบกภาระ?”

ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โพสต์ข้อความผ่านเฟสบุ๊กถามถึงนโยบายพักหนี้ของพรรคภูมิใจไทยประกาศพักหนี้ 3 ปี หยุดต้น ปลอดดอก คนละไม่เกิน 1 ล้านบาทใครเป็นผู้แบกหนี้เหล่านี้แทน แล้วรัฐบาลเอาเงินจากไหน?

อดีต รมว.คลัง ถามนโยบายพักหนี้ของพรรคภูมิใจไทยแม้เป็นเรื่องดีช่วยผู้เดือดร้อน แต่ใครจะเป็นผู้แบกหนี้เหล่านี้แทน แล้วรัฐบาลเอาเงินจากไหน?

ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โพสต์ข้อความผ่านเฟสบุ๊กถามถึงนโยบายพักหนี้ของพรรคภูมิใจไทยโดยระบุว่า พรรคภูมิใจไทยประกาศนโยบาย พักหนี้ 3 ปี หยุดต้น ปลอดดอก คนละไม่เกิน 1 ล้านบาท เพื่อประชาชน จะได้นำเงินที่มี และหาได้ มาใช้ยังชีพ เลี้ยงดูครอบครัว

นับว่าเป็นเรื่องดี ที่มีนโยบายต้องการจะบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนที่เป็นหนี้

แต่ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง ต้องถามว่า ใครจะต้องเป็นคนแบกภาระแทนลูกหนี้เหล่านี้?

พรรคภูมิใจไทยจะหาแหล่งเงินเพื่อนโยบายนี้ ด้วยการออกพันธบัตรรัฐบาล ชื่อ พันธบัตร Thai Power หรือ พันธบัตรคนไทยรวมพลัง จะจำหน่ายให้กับประชาชนผู้มีเงินฝาก ดอกเบี้ย ร้อยละ 2.5-3 แล้วนำเงินที่ได้จากการขายพันธบัตร มาแก้ปัญหาหนี้สินให้ประชาชนที่เป็นหนี้

ตามนโยบายของพรรคภูมิใจไทยนั้น "ไม่ต้องจ่ายทั้งเงินต้น และ ดอกเบี้ย เป็นเวลา 3 ปี และดอกเบี้ยจะไม่มาทบต้น ทบดอก เหมือนโครงการพักหนี้เกษตรกร และ พักหนี้อื่นๆ ที่เคยมีมา"

ถามว่า ตามนโยบายนี้ ใครเป็นผู้รับภาระ และรับภาระในส่วนไหน?

เริ่มต้นในส่วนของต้นเงิน ยอดหนี้

นโยบายนี้ ต้นเงิน ยอดหนี้ ไม่มีการตัดลด ไม่มีการให้ hair cut ต้นเงินมีนอดหนี้อยู่เท่าไหร่ ก็คงไว้เท่าเดิม

ลูกหนี้ได้ประโยชน์ โดยไม่ต้องผ่อนชำระในช่วงสามปีเท่านั้น

ดังนั้น ในส่วนของต้นเงิน ยอดหนี้ ภาระยังคงอยู่กับลูกหนี้เช่นเดิม ไม่มีใครต้องเข้าไปรับภาระแทน

ในส่วนของดอกเบี้ย

นโยบายนี้ เนื่องจากดอกเบี้ยจะไม่มาทบต้น ทบดอก ลูกหนี้จึงได้ประโยชน์ โดยมีรัฐบาลจ่ายดอกเบี้ยให้แทน ในห้วงเวลาสามปี

ถามว่า รัฐบาลจะเอาเงินจากไหนมาจ่ายดอกเบี้ยให้แทน?

ตอบว่า เอาเงินที่ได้จากการออกพันธบัตร Thai Power หรือ พันธบัตรคนไทยรวมพลัง นั่นเอง

ถามว่า รัฐบาลมีภาระจะต้องชำระคืนหนี้ ในพันธบัตร Thai Power หรือ พันธบัตรคนไทยรวมพลัง หรือไม่?

ตอบว่า มีแน่นอน หนี้สาธารณะก้อนนี้ไม่หายไปไหน 

ไม่ว่าจะชำระคืนเมื่อครบกำหนดสามปี หรือจะต่ออายุยาวออกไปไหมว่ากี่รอบ หนี้สาธารณะก้อนนี้ เป็นภาระหนี้ของรัฐบาลแน่นอน

ถามว่า ใครจะเป็นผู้รับภาระ ตามนโยบายนี้?

ตอบว่า เมื่อรัฐบาลต้องหาเงินมาใช้คืนพันธบัตรดังกล่าว 

ผู้ที่ต้องแบกรับภาระดอกเบี้ยสามปีแทนลูกหนี้เหล่านี้ ก็คือประชาชนผู้เสียภาษีทุกคนนั่นเอง ใช่หรือไม่?

ผู้ที่ได้ประโยชน์ คือ ลูกหนี้ที่เข้าโครงการ

ผู้ที่เสียประโยชน์ คือ 

บุคคลธรรมดาที่เสียภาษีเงินได้ 
บริษัทเอกชนที่เสียภาษีเงินได้นิติบุคคล 
ประชาชนที่เสียภาษีสรรพสามิต และ
ประชาชนที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ใช่หรือไม่?

ผู้ที่จะต้องควักกระเป๋าแทน คือคนไทยทุกคน ไม่ว่ายากดี มีจน ใช่หรือไม่?

วันที่ 10 มีนาคม 2566
ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล 
Facebook Thirachai Phuvanatnaranubala