หุ้น ‘ขุดบิตคอยน์’ ดิ่ง 'เจทีเอส' หันรุกธุรกิจเดิม

หุ้น ‘ขุดบิตคอยน์’ ดิ่ง 'เจทีเอส' หันรุกธุรกิจเดิม

หุ้น"ขุดเหมืองบิตคอยน์” ปรับตัวลง นำทีมโดย “เจทีเอส” ร่วง 4.76% หลังเปิดแผนปี 66 หยุดธุรกิจขุดเหมืองบิตคอยน์ชั่วคราว จ่อย้ายฐานไปต่างประเทศ “บล.ยูโอบี เคย์เฮียนฯ” ชี้ค่าเสื่อม-ต้นทุนไฟพุ่ง-ราคาเหรียญต่ำ ปัจจัยกดดันการดำเนินกิจการ

ความเคลื่อนไหวราคาหุ้น “กลุ่มขุดบิตคอยน์” วานนี้ (22 ก.พ.66) นำทีมโดย บมจ.จัสมิน เทคโนโลยี โซลูชั่น (JTS) ลดลงต่ำสุดของวันที่  39 บาท หรือกว่า 7% ก่อนมาปิดตลาด 40 บาท ลดลง 4.76% บมจ.ซิก้า อินโนเวชั่น (ZIGA) ลดลงต่ำสุดของวันอยู่ที่ 3.44 บาท ก่อนมาปิดตลาดที่ 3.46 บาท ลดลง 1.70% บมจ.โคแมนชี่ อินเตอร์เนชั่นแนล (COMAN) ลดลงต่ำสุดของวันอยู่ที่ 6.10 บาท ก่อนมาปิดตลาดที่ 6.20 บาท ลดลง 0.80% บมจ.ยูไนเต็ด เพาเวอร์ ออฟ เอเชีย (UPA) ต่ำสุดของวันอยู่ที่ 0.23 บาท ก่อนมาปิดตลาดที่ 0.24 บาท ไม่เปลี่ยนแปลง  

นายกิจพณ ไพรไพศาลกิจ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์และนักกลยุทธ์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) กล่าวว่า สถานการณ์สินทรัพย์ทางเลือกอย่าง “บิตคอยน์” ปัจจุบันถือว่าอาจจะยังเหนื่อย เพราะนโยบายการเงินมีการเปลี่ยน สะท้อนจากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เดินหน้าปรับขึ้นดอกเบี้ยและลดขนาดงบดุล ส่งผลให้สภาพคล่องในตลาดลดลง เพื่อแก้ปัญหาอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้น จากต้นทุนค่าไฟฟ้า

โดยในช่วงที่ราคาเหรียญบิตคอยน์พุ่งขึ้นไปสูงนั้น เนื่องจากดอกเบี้ยยังไม่เป็นขาขึ้น รวมทั้งสภาพคล่องในตลาดยังสูง ดังนั้น ตราบใดที่นโยบายการเงินยังไม่เปลี่ยนไปจากปัจจุบัน หรือ ดอกเบี้ยยังไม่ถึงจุดสูงสุดราคาบิตคอยน์ก็ยังไม่ฟื้นตัวกลับมาโดดเด่น ดังนั้น จึงอาจจะยังไม่ใช่ทางเลือกที่น่าสนใจในการลงทุน 

“สถานการณ์เป็นเช่นนี้หุ้นเหมืองขุดบิตคอยน์ปรับตัวลง จากมองว่าการลงทุนไม่คุ้มค่าแล้ว เพราะว่าราคาเหรียญยังต่ำกว่าจุดคุ้มทุน (เบรกอีเวนต์) ขณะที่ค่าไฟฟ้าก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ทำให้กำไรมีทิศทางลดลง และต้นทุนเพิ่มสูงขึ้น ยิ่งขุดเหรียญต่อไปก็ยิ่งขาดทุน”

ขณะที่ราคาหุ้นกลุ่มขุดเหมืองบิตคอยน์ปรับตัวลงมาแรงวานนี้ ส่วนหนึ่งมาจากกรณีที่ JTS แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ระบุ ได้ดำเนินการหยุดดำเนินธุรกิจเหมืองขุดบิตคอยน์เป็นการชั่วคราวตั้งแต่เดือนม.ค. 66 หลังต้นทุนค่าไฟฟ้าเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และบริษัทพิจารณาทางเลือกในการย้ายฐานการขุดบิตคอยน์ไปยังต่างประเทศที่มีศักยภาพ 

ทั้งในด้านทรัพยากรต่างๆ และการสนับสนุนจากภาครัฐ โดยเฉพาะต้นทุนค่าไฟฟ้าที่ตํ่า และจะต้องสามารถบริหารจัดการเครื่องขุดได้อย่างมีประสิทธิภาพ และไม่มีความเสี่ยงในด้านความปลอดภัยของการเข้าถึงเครื่องขุดบิตคอยน์