สำรวจงบหุ้นกลุ่ม Semiconductor สัญญาณบ่งชี้ความต้องการอุปกรณ์เทคโนโลยีว่าจะดีหรือแย่?

สำรวจงบหุ้นกลุ่ม Semiconductor สัญญาณบ่งชี้ความต้องการอุปกรณ์เทคโนโลยีว่าจะดีหรือแย่?

กลุ่ม Semiconductor เป็นอีกหนึ่งกลุ่มธุรกิจที่น่าจับตา เพราะมีความสำคัญในโลกอุตสาหกรรมยุคใหม่ บทความนี้ชวนไปสำรวจงบหุ้นในกลุ่มนี้ อีกหนึ่งสัญญาณบ่งชี้สำคัญ แสดงให้เห็นถึงความต้องการอุปกรณ์เทคโนโลยีว่าจะดีขึ้นหรือแย่ลง?

เข้าสู่ช่วงฤดูกาลประกาศผลประกอบการไตรมาส 4 ปี 2022 ของเหล่าบริษัทจดทะเบียนทั่วโลก ซึ่งหนึ่งในกลุ่มธุรกิจที่ได้รับการจับตาคือ กลุ่ม Semiconductor เนื่องจากมีความสำคัญและเกี่ยวเนื่องกับเทคโนโลยีต่างๆ รวมถึงอาจเป็นสัญญาณบ่งชี้สำคัญที่จะแสดงให้เห็นถึงความต้องการอุปกรณ์เทคโนโลยีว่าจะดีหรือแย่ และแสดงให้เห็นถึงแนวโน้มผลประกอบการของบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ที่มีการพึ่งพาบริษัท Semiconductor เหล่านี้ในการผลิตผลิตภัณฑ์

บริษัทในกลุ่ม Semiconductor ที่รายงานผลประกอบการไตรมาสล่าสุดออกมาแล้วนั้น มีทั้งดีและแย่ผสมกันไป โดยกลุ่มผู้ผลิตชิปประมวลผลผลิตภัณฑ์อย่างกลุ่มคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล (PCs) และ Smartphone ได้รับผลกระทบจากกำลังซื้อที่ลดลงของผู้บริโภค รวมถึงบริษัทต่างๆ ที่เริ่มลดค่าใช้จ่ายเพื่อรองรับภาวะ เศรษฐกิจถดถอย ซึ่งส่งผลต่อการเติบโตของอุตสาหกรรม Semiconductor ในภาพรวม อย่างไรก็ดีกลุ่มบริษัทที่ถือได้ว่าเป็นต้นน้ำของอุตสาหกรรมอย่าง ASML และหนึ่งในบริษัทผู้นำตลาดอย่าง TSMC ยังคงมีผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่ง รวมไปถึงบริษัทผู้ผลิตชิปประมวลผลธุรกิจในกลุ่ม Data Center

ASML บริษัทต้นน้ำผู้ผลิตเครื่องผลิตชิป ประเมินปี 2023 ยังเติบโตแข็งแกร่ง

ASML บริษัทจากเนเธอร์แลนด์ ที่ดำเนินธุรกิจวิจัยและพัฒนาเครื่องจักรที่ใช้ในการผลิตชิป ซึ่งถือเป็นบริษัทต้นน้ำในอุตสาหกรรม Semiconductor โดยลูกค้าสำคัญคือบรรดาบริษัทอย่าง TSMC Samsung และ Intel เป็นต้น

แม้หลายบริษัท Semiconductor กำลังเผชิญกับความท้าทายจากอุปสงค์ที่ลดลงในกลุ่ม Smartphone และ PC แต่ความต้องการในกลุ่ม industrial และ automotive space ยังคงเติบโตอย่างแข็งแกร่ง ซึ่ง ASML ก็ยังได้รับประโยชน์จากความต้องการดังกล่าว เนื่องจากเป็นบริษัทที่มีส่วนแบ่งตลาดสูงที่สุดในกลุ่มเครื่องผลิตชิปประมวลผล โดยเฉพาะในเทคโนโลยีขั้นสูงที่ใช้ในการผลิตชิปที่เรียกว่า EUV Lithography อย่างไรก็ดี ASML เป็นหนึ่งในบริษัทที่อยู่ท่ามกลางความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐและจีน โดยมีสัดส่วนรายได้จากประเทศจีนราว 15% ซึ่งทางสหรัฐ พยายามกดดันผ่านรัฐบาลเนเธอร์แลนด์ให้ ASML ลดการนำส่งเครื่องผลิตชิปให้บริษัทจีน

โดยบริษัทฯ รายงานรายได้สุทธิไตรมาส 4 ปี 2022 เติบโต 29% สู่ระดับ €6.4 billion ($7 billion) Gross margin อยู่ที่ 51.5% และกำไรสุทธิอยู่ที่ €1.8 billion  ส่งผลให้ทั้งปี บริษัทฯ มีรายได้ €21.1 billion เพิ่มขึ้น 13% YoY พร้อมกับให้ประมาณการรายได้ไตรมาส 1 ปีนี้อยู่ที่ €6.1 billion - €6.5 billion และ Gross margin อยู่ที่ 49%-50% พร้อมคาดรายได้ทั้งปี 2023 เติบโตมากกว่า 25% จากปี 2022 หนุนจาก Backlog ที่สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ที่ €40billion

TSMC ผู้นำตลาด Semiconductor สัญชาติไต้หวันที่ยังเติบโตได้ต่อเนื่อง

บริษัทผู้ผลิต Semiconductor เจ้าใหญ่จากไต้หวันที่มีสัดส่วน Market Share สูงที่สุดในโลกถึง 50% โดยผลิตชิปให้กับบริษัทระดับโลกอย่าง Apple ซึ่งเป็นลูกค้าหลัก รวมถึง AMD และ Nvidia เป็นต้น โดยบริษัทฯ รายงานงบการเงินไตรมาส 4 แข็งแกร่ง รายได้เพิ่มขึ้น 26.7% สู่ระดับ $19.93 billion และรายงานกำไรสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ โดยสัดส่วนรายได้หลักมาจากกลุ่มคอมพิวเตอร์ประมวลผลสมรรถนะสูง (High performance Computing: HPC) 41% และ Smartphone 41% และ 39% ตามลำดับ ขณะที่กลุ่มที่เติบโตสูงสุดคือ Automotive +74% และ HPC +59% ตามลำดับ

ทั้งนี้ บริษัทฯ จะลดค่าใช้จ่ายในการลงทุน (CAPEX) ปี 2023 ลงราว 10% เพื่อให้สอดคล้องกับยอดขายที่คาดว่าจะลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 4 ปี พร้อมทั้งให้ guidance ในไตรมาส 1 และครึ่งปีแรกต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์ประเมิน และคาดว่าจะฟื้นตัวกลับมาให้ครึ่งปีหลัง สะท้อนถึงมุมมองเชิงบวกต่อรายได้ทั้งปี หนุนจากการเติบโตของอุปสงค์ของ Sever chips อีกทั้ง บริษัทฯ วางแผนจะขยายฐานการผลิตไปยังต่างประเทศมากขึ้น ล่าสุดประกาศลงทุนสร้างโรงงานแห่งที่ 2 ในเมือง Arizona ซึ่งจะมีการลงทุนราว $12 billion - 40 billion โรงงานแห่งใหม่นี้จะเน้นไปที่การผลิตชิปที่มีเทคโนโลยีในระดับสูงเป็นหลัก ปัจจุบัน TSMC ถือเป็นบริษัทต่างชาติที่มีการลงทุนในสหรัฐสูงที่สุด

AMD รายงานผลการดำเนินงานดีกว่าคาด หนุนจากธุรกิจ Data Center 

Advanced Micro Devices หรือ AMD บริษัทพัฒนาชิปประมวลผลและการ์ดจอในหลายกลุ่มผลิตภัณฑ์ งานผลการดำเนินงานไตรมาส 4 รายได้อยู่ที่ $5.6 billion สูงกว่าคาดที่ $5.5 billion ขณะที่ EPS อยู่ที่ $0.69 ดีกว่าคาดที่ $0.67 สนับสนุนจากธุรกิจ Data Center ขยายตัว +42% YoY สู่ระดับ $1.7 billion และกลายเป็นกลุ่มธุรกิจที่สร้างสัดส่วนรายได้สูงเกือบ 1 ใน 3 ของรายได้ทั้งหมด ขณะที่รายได้จากธุรกิจชิปประมวลผลสำหรับ PC ร่วงลงไปถึง -51% และ graphic processors ลดลง -7% YoY

ทั้งนี้ บริษัทฯ ประเมินรายได้ในไตรมาสนี้ที่ $5.3 billion ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาด 10% หรือ $5.47 billion จากอุปสงค์ตลาดคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล (PC) ที่คิดเป็นสัดส่วนรายได้ 16% ที่ชะลอตัวลง โดยบริษัทฯ มองว่าปีนี้ตลาด PCs จะลดลงราว -10% จากปีที่แล้ว แต่บทวิเคราะห์จากทาง Goldman Sachs ได้มีการคาดว่า AMD จะสามารถเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดได้ จากผลิตภัณฑ์ชิปสำหรับการใช้งานภายใน Server โดยเฉพาะ และชิปการประมวลผลประเภทที่ใช้งานกับ Cloud Computing ซึ่งคาดว่าจะหนุนรายได้ในครึ่งปีหลังของปีนี้ไปจนถึงปี 2024

Intel รายได้ลดลง 4 ไตรมาสติดต่อกัน กดดันจากอุปสงค์คอมพิวเตอร์ PCs ที่ลดลง

Intel ผู้ผลิตชิปประมวลผลมุ่งเน้นไปยังกลุ่มคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล (PCs) ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนรายได้ราวครึ่งหนึ่ง ซึ่งไตรมาสล่าสุดประกาศผลการดำเนินงานออกมาต่ำกว่าคาดทั้งกำไรและรายได้ โดย Earnings ออกมาที่ $0.1 ต่อหุ้น ต่ำกว่าคาดที่ $0.2 ต่อหุ้น ส่วนรายได้ของบริษัทฯ อยู่ที่ $14.04 billion ต่ำกว่าตลาดคาดที่ $14.45 billion และลดลง 32% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นการปรับลดลงของรายได้ 4 ไตรมาสติดต่อกัน กดดันจากความต้องการใช้งานคอมพิวเตอร์ PC ที่ลดลง

ส่วนผลการดำเนินงานในไตรมาสแรกของปีนี้ Intel คาดว่าจะมีผลขาดทุน -$0.15 ต่อหุ้น สวนทางกับที่ตลาดคาดไว้ก่อนหน้านี้ว่าจะมีกำไรต่อหุ้นที่ $0.24 ส่วนรายได้คาดว่าจะอยู่ที่ราว $10.5 billion ถึง $11.5 billion ต่ำกว่าคาดที่ $13.93 billion อีกทั้งปฏิเสธที่จะออกมาให้ตัวเลขคาดการณ์ผลการดำเนินงานของทั้งปี เนื่องจากมีความไม่แน่นอนของสภาวะเศรษฐกิจที่ส่งผลต่อตลาดซึ่ง Pat Gelsinger ผู้เป็น CEO ระบุว่าไตรมาสแรกของปีนี้ บริษัทฯ จะยังคงได้รับปัจจัยกดดันที่เกิดจากภาวะ เศรษฐกิจชะลอตัว

Samsung Electronics รายงานกำไรปรับลดลงจากความต้องการที่ชะลอตัว

Samsung Electronics บริษัทเกาหลีใต้ ผู้ผลิตออกแบบและผลิตชิปประมวลผลและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ มุ่งเน้นไปยังผลิตภัณฑ์ smartphone รายงานผลการดำเนินงานรายไตรมาสล่าสุด ปรับตัวลดลงจากยอดขายสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่ชะลอตัว โดยกำไรในส่วนธุรกิจชิปประมวลผล ร่วงลงกว่า 90% สู่ระดับ 270 billion won ($220 million) ต่ำที่สุดในรอบ 8 ปี โดยความต้องการสินค้ามีการปรับลดลงส่วนหนึ่งเกิดจากผู้บริโภคมีการซื้อสินค้าไปสต็อกในช่วงก่อนหน้า รวมถึงราคา memory chip ร่วงลงสู่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ อย่างไรก็ดี กำไรสุทธิเพิ่มขึ้นเท่าตัวสู่ระดับ won 23.5 trillion เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงข้อบังคับทางภาษีที่บริษัทฯ ได้รับประโยชน์เพิ่มเติม

ทั้งนี้ บริษัทฯ ระบุว่า ไม่มีแผนจะลดการลงทุนในชิปประมวลผลในปีนี้ แม้ว่าภาวะเศรษฐกิจโลกส่งสัญญาณชะลอตัวและส่งผลกระทบต่อภาพรวมอุตสาหกรรมอย่างหนัก ขณะที่บริษัทคู่แข่งเริ่มที่จะประกาศลดค่าใช้จ่าย ซึ่งนักวิเคราะห์บางส่วนมองว่าอาจเป็นโอกาสที่ Samsung จะเพิ่มส่วนแบ่งตลาดได้ ซึ่งยอดขายชิปประมวลผลน่าจะฟื้นตัวในครึ่งปีหลังของปีนี้ ชดเชยอุปสงค์ Smartphone ที่คาดว่าจะหดตัวตลอดทั้งปี 

สำหรับอุตสาหกรรม Semiconductor ในระยะนี้ ยังคงเผชิญกับปัญหากดดันหลายด้าน ทั้งความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจ ทำให้ผู้บริโภคชะลอการใช้จ่าย สต็อกสินค้าในมือผู้ซื้อที่ยังอยู่ในระดับสูง ปัจจัยดังกล่าวยังคงกดดันให้ราคาและยอดขายให้ลดลง โดยคาดว่าอุตสาหกรรมการผลิตชิปประมวลผลมีแนวโน้มที่จะชะลอตัวต่อเนื่องในไตรมาส 1 ปีนี้ ซึ่งหลายบริษัทเริ่มประกาศลดการใช้จ่ายและปลดพนักงาน เพื่อรองรับการชะลอตัวของรายได้ โดยที่ผลการดำเนินงานของบริษัทกลุ่ม Semiconductor เป็นเหมือนสัญญาณที่บ่งชี้ว่าบรรดาบริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่ก็คงมีทิศทางของผลประกอบการที่ไม่ต่างกันมากนัก ซึ่งหลังจากที่หลายบริษัทได้มีการเตรียมความพร้อมจากการปรับลดค่าใช้จ่ายไปแล้ว คงต้องรอจนถึงช่วงครึ่งปีหลังของปีนี้จนกว่าจะเริ่มเห็นภาพรวมผลประกอบการของกลุ่ม Semiconductor รวมถึงกลุ่มเทคโนโลยีทั้งหมดเริ่มปรับตัวดีขึ้น

ที่มา : Bloomberg, Goldman Sachs, CNBC, BARRON’S

ข้อมูล บทความ บทวิเคราะห์และการคาดหมาย รวมทั้งการแสดงความคิดเห็นทั้งหลายที่ปรากฏอยู่ในรายงานฉบับนี้ทำขึ้นบนพื้นฐานของแหล่งข้อมูลที่ดีที่สุดที่ได้รับมาและพิจารณาแล้วเห็นว่า น่าเชื่อถือ แต่ทั้งนี้ไม่อาจรับรองความถูกต้อง ความสมบูรณ์ แท้จริงของข้อมูลดังกล่าว ความเห็นที่แสดงไว้ในรายงานฉบับนี้ได้มาจากการพิจารณาโดยเหมาะสมและรอบคอบแล้ว และอาจเปลี่ยนแปลงได้โดยไม่จำเป็นต้องแจ้งล่วงหน้าแต่อย่างใด บทความ บทวิเคราะห์ และการคาดหมายทั้งหลายที่ปรากฏ อยู่ในรายงานฉบับนี้เป็นการนำไปใช้โดยผู้ใช้ยอมรับความเสี่ยงและเป็นดุลยพินิจของผู้ใช้แต่เพียงผู้เดียว

ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ บลจ.ทิสโก้ หรือ TISCO Contact Center โทร. 0 2633 6000 กด 4, 0 2080 6000 กด 4 และ tiscoasset หรือ แอปพลิเคชัน TISCO My Funds