ทะลวงโปรเจกต์ MetFi  อ้างลงทุน NFT บังหน้า“แชร์ลูกโซ่”

ทะลวงโปรเจกต์ MetFi  อ้างลงทุน NFT บังหน้า“แชร์ลูกโซ่”

ปัจจุบันมีโปรเจกต์ที่เกี่ยวข้องกับโลกการเงินดิจิทัลมากมาย เช่น ในโลก DeFi หรือ Decentralized Finance คือ บริการทางการเงินที่สามารถทำธุรกรรมแบบกระจายศูนย์ได้โดยไม่ผ่านตัวกลาง ซึ่งข้อดีที่มักถูกนำมาพูดถึงว่า“สามารถตรวจสอบข้อมูลการทำธุรกรรม” แบบ On Chain ได้

ว่าใครโอนให้ใครจากกระเป๋าเงินคริปโทใบไหน นั่นแปลว่าเราสามารถเห็นวงจรของพฤติกรรมที่เข้าข่าย แชร์ลูกโซ่ ได้ด้วย

เมื่อครั้งที่แล้ว “กรุงเทพธุรกิจ” ได้นำเสนอมุมมองของผู้เชี่ยวชาญในวงการคริปโทประเทศไทยเกี่ยวกับโปรเจกต์ที่มีชื่อว่า “MetFi” ซึ่งให้ความเห็นว่ามีความเสี่ยงเข้าข่าย “แชร์ลูกโซ่” และเตือนให้ระมัดระวังการลงทุนรูปแบบนี้ 

ทำให้ “กรุงเทพธุรกิจ” จึงอยากมาทะลวงโปรเจกต์ “MetFi” ว่าทำไมจึงเข้าข่ายแชร์ลูกโซ่ที่อยู่บนแพลตฟอร์ม DeFi  และมีการดำเนินการรูปแบบใดบ้าง แล้วเราจะสามารถตรวจสอบข้อมูลบนบล็อกเชนได้จริงหรือไม่อย่างไร ?

อ้างลงทุน  “เมตาเวิร์ส-NFT”

นักวิคราะห์ในวงการคริปโทชวนสงสัยจาก MetFi ไม่มีธุรกิจที่เป็นรูปธรรมรองรับ และอ้างว่าเป็น Decentralized Autonomous Organization (DAO) ที่เปิดตัวบน Binance Smart Chain เมื่อวันที่ 21 พ.ค. 2565 และระบุบนเว็บไซต์ https://metfi.io/ ว่านักลงทุนจะได้รับอัตราผลตอบแทนต่อปีคงที่ รวมทั้งมีการลงทุนในเทคโนโลยีเว็บ 3 อย่างเกมส์ใน“เมตาเวิร์ส” ซึ่งเป็นการลงเพียงน้อยนิดและไม่ได้จริงจังเมื่อเทียบกับปริมาณเงินมหาศาลที่ระดมทุนผ่านโปรเจกต์ไป

รวมทั้งการชวนลงทุนใน NFT(Non-Fungible Token) ที่มีความแตกต่างจาก NFT ทั่วไปที่เราคุ้นเคยกันในตลาด เราเข้าใจกันดีว่า NFT ที่ถูกซื้อขายเก็งกำไรและเก็บสะสมตอนนี้ส่วนใหญ่ถูกใช้ในวงการศิลปะที่มีความยูนีค ไม่เหมือนใคร และผู้ครอบครองมีเพียงชิ้นเดียวในโลก แต่ NFT ของ MetFi มีรูปแบบการซื้อขายที่แตกต่างออกจากตลาดปกติโดยการซื้อ NFT 1 ชิ้น มีราคาที่แตกต่างกัน เริ่มต้นตั้งแต่ ขึ้นอยู่กับระดับในการจ่ายเงิน หรือระดับในการลงทุน ซึ่งผู้ซื้อจะได้รูปภาพ NFT แบบเดียวกับคนอื่นและไม่มีความเป็นหนึ่งเดียวตามคุณสมบัติของ NFT โดยโครงสร้างผลตอบแทนจากโปรเจกต์นี้มาจาก 

1.การลงทุน NFT ที่การันตีผลตอบแทน 

2.ผลตอบแทนจากการ Stake โทเคนประจำระบบนิเวศน์อย่าง MFI ที่บังคับวางเหรียญ ซึ่งหากต้องการถอนออกจะเสียค่าถอนราวๆ 10-20% ซึ่งจะได้ผลตอบแทนเพิ่มขึ้นๆทุกๆ 12 ชั่วโมง

ดึงข้อมูลบล็อกเชนเปิดโปงแชร์ลูกโซ่

ขณะนี้ข้อมูลการลงทะเบียนเข้าแพลตฟอร์ม MetFi ของนักลงทุนชาวไทย ที่ตรวจสอบการทำธุรกรรมของTransaction โดยใช้สมาร์ตคอนแทรกดึงข้อมูลออกมาจากระบบบล็อกเชน ตั้งแต่จุดเริ่มต้นของกระเป๋าเงินที่นำ MetFi เข้ามาสู่กลุ่มคนในประเทศไทย

ซึ่งเห็นความเคลื่นไหวครั้งแรกตั้งแต่วันที่ 15 สิงหาคม จากที่อยู่กระเป๋าเงินคริปโทใบหนึ่งมีการทำธุรกรรมผ่านบล็อกเชนพร้อมกับแนบลิงก์ที่เกี่ยวกับโปรเจกต์ และเพิ่มจำนวนขึ้นกว่า 3,000 คนในปัจจุบัน  

 

โดยที่ลิงก์ดังกล่าวที่ถูกส่งจากผู้เริ่มต้นของห่วงโซ่ ไปยังนักลงทุนคนอื่นๆ หรือ“ลูกข่าย”ที่เพิ่มขึ้นๆ พบว่า“แม่ข่าย”หรือผู้ที่เริ่มต้นจากคนไทยคนแรก จะได้รับค่าคอมมิชชันอย่างทวีคูณ จากนักลงทุนคนใหม่ๆที่เข้ามาซื้อ NFT ประมาณ5-10% ของราคา NFT นั้นๆ ซึ่งคาดว่าขณะนี้แม่ข่ายมีรายได้เฉลี่ยตั้งแต่เดือน ส.ค.ที่เข้ามาในประเทศไทยวันละ5,000 บาทและมีรายได้ทั้งหมดตีเป็นมูลค่ากว่า 3 ล้านบาท 

 รูปแบบการลงทุน“แม่ข่าย-ลูกข่าย”

เมื่อมีผู้ที่เริ่มต้นเข้ามาลงทุนในครั้งแรกๆ ได้รับผลตอบแทนจริงตามที่โปรเจกต์อ้างด้วยการซื้อ NFT กุ้ง ปู ปลา ปลาฉลาม ปลาวาฬ และการันตีผลตอบแทนสูงถึง 100 - 1000% ต่อปี ยิ่งหาลูก ๆ ใหม่ได้มาก และยิ่งupgrade NFTของตัวเองให้สูงขึ้น ยิ่งมีโอกาสได้ผลตอบแทนมาก แต่ของต้อง stake ไว้สูงถึง 5 ปี เพื่อให้ได้ผลตอบแทนมาก จึงทำให้ผู้ที่ได้รับประโยชน์ในขั้นแรกเชิญชวนลงทุนจากความมั่นคงของ MetFi หรือชวนลงทุนเพื่อให้ตนเองได้กำไรจากการหา“ลูกข่าย”

ทั้งนี้“แม่ข่าย”ในประเทศไทย ใช้ความน่าเชื่อถือจากการเป็น“อดีตนายทหาร” และมีการจัดอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับโปรเจกต์เพื่ออธิบายเรื่องยากเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลให้เป็นเรื่องง่ายตามหัวเมืองในต่างจังหวัด นั่นสะท้อนว่ากลุ่มคนที่เข้ามาลงทุนส่วนใหญ่เป็นผู้ที่ไม่มีความรู้เรื่องสินทรัพย์ดิจิทัลมาก่อน พร้อมกับมัดมือชกอาสาเป็นผู้สมัครกระเป๋าเงินคริปโท และทำธุรกรรมแบบ P2P เพื่อลดอุปสรรคของการลงทุนในโปรเจกต์

อย่างไรก็ตาม แม้ว่า “แชร์ลูกโซ่” ในตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลจะยังมีอยู่และเกิดขึ้นทุกวัน แต่โปรเจกต์ MetFi มีความเสี่ยงสูงในการเป็น “แชร์ลูกโซ่” ซึ่งมีรูปแบบข้อมูลที่น่าสนใจ แต่ใน Whitepaper ที่ถูกเขียนขึ้นกลับไม่มีที่มาที่ไปของผู้ริเริ่ม และไม่มีธุรกิจรองรับที่เราสามารถมองเห็นเป็นรูปธรรม 

แม้ว่าเราจะสามารถติดตามเรื่องราวที่เกิดขึ้นผ่านบล็อกเชนได้ แต่สามารถเก็บหลักฐานได้ยาก และยังยากในการติดตามเอาผิด ในท้ายที่สุดถ้าคุณเป็นนักลงทุนที่ได้รับความเสียหาย คุณจะไม่สามารถร้องเรียนหรือดำเนินการทางกฎหมายได้ เนื่องจากเคยได้รับผลประโยชน์และไม่มีกฎหมายตายตัวที่เข้ามาคุ้มครอง