ทริปสเตอร์ ชู “ Play-to-Earn” ดันธุรกิจโต รับกระแสท่องเที่ยวบูม

ทริปสเตอร์ ชู “ Play-to-Earn”  ดันธุรกิจโต รับกระแสท่องเที่ยวบูม

อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว พัฒนาเทคโนโลยีทางการเงินสู่ Play-to-Earn ที่อยู่ในอุตสาหกรรมเกม tripster.live ดันโปรเจกต์คริปโทเคอรร์เรนซี่ Travel-to-earn พัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเชื่อมต่อเข้ากับโมเดลธุรกิจ

นายโฆษิต ขุมทรัพย์ ประธานบริหาร tripster.live เปิดเผยกับกรุงเทพธุรกิจว่า “Readme” แพลตฟอร์ม Travel Blogger แห่งแรกในประเทศที่มีการนำเทคโนโลยีบล็อกเชน ในรูปแบบโปรเจกต์เว็ป 3.0 และ NFT ในการผลักดันธุรกิจและเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้การท่องเที่ยวในประเทศไทยเติบโต ที่เรียกว่า Travel-to-earn ซึ่งเป็นโปรเจกต์คริปโทเคอรร์เรนซี่ที่ไม่ได้วิ่งตามเหรียญ “บิตคอยน์” แต่วิ่งตาม “การท่องเที่ยว”

ทริปสเตอร์ ชู “ Play-to-Earn”  ดันธุรกิจโต รับกระแสท่องเที่ยวบูม

คาดท่องเที่ยวไทยเติบโต

Readme เป็นสื่อกลางให้บล็อกเกอร์และเจ้าของธุรกิจที่พักโรงแรมได้มาพบกัน เพื่อแลกเปลี่ยนห้องพักให้กับบรรดาบล็อกเกอร์ได้เข้าพัก เพื่อนำประสบการณ์การท่องเที่ยวมาเขียนเป็นรีวิวในบล็อก เพื่อบอกต่ออย่างเป็นธรรมชาติและน่าสนใจ เมื่อมีผู้อ่านรีวิวและเกิดการจองห้องพักจากเว็บไซต์ที่กดผ่านจากทาง Blog รายได้ที่ได้รับจากคอมมิชชั่นก็จะถูกนำกลับมาจ่ายให้กับเหล่าบล็อกเกอร์และบริษัทมีรายได้จากการเป็นสื่อกลางให้กับโรงแรมที่เข้ามาลงในแพลตฟอร์มเพื่อเป็นการสร้างยอดขายห้องพักเพิ่มขึ้น

แม้ว่าในช่วงที่ผ่านมา ทั่วโลกเผชิญกับวิกฤติโรคระบาดโควิด-19 ทำให้การท่องเที่ยวซบเซา บริษัทท่องเที่ยวได้รับผลกระทบโดยตรง รัฐบาลออกมตรการผ่อนคลาย ทำให้ตั้งแต่ต้นปี มีนักท่องเที่ยวเข้ามา 6 ล้านคน ซึ่งยังไม่รวมประเทศจีน และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 8-9 ล้านคน ในเดือน พ.ย.-ธ.ค. 2565 และเติบโตขึ้นในปีหน้า ทริปสเตอร์ตั้งเป้าส่วนแบ่งตลาดท่องเที่ยว 0.01% หรือประมาณ 1.8 พันล้านดอลลาร์ และคาดว่าปีนี้บริษัทจะมีกำไร 5-8 ล้านบาท และหากดูสถิติย้อนหลัง ก่อนโควิด-19 การท่องเที่ยวมีรายได้เข้ามาได้ประเทศปีละ 30 - 40 ล้านบาท

“บล็อกเชน”กับการท่องเที่ยว

อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยในปัจจุบัน ยังต้องพึ่งพาธุรกิจตัวกลางออนไลน์เชื่อมโยงระหว่างธุรกิจที่พักกับนักท่องเที่ยว หรือ OTAs เช่น Agoda booking และต้นทุนการตลาดที่สูงเกินไป รวมทั้งช่องทางการเผยแพร่โฆษณาที่มีอย่างจำกัด ทำให้เห็นข้อดีของการนำเทคโนโลยีบล็อกเชนเข้ามาใช้ในการขยายตลาด

ความท้าทายในการนำ “เทคโนโลยีบล็อคเชน” มาใช้ในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว คือ เหรียญคริปโทเคอร์เรนซีที่อยู่บนบล็อกเชนไม่ได้ถูกนำมาใช้ในชีวิตประจำวันกับทุกคนได้อย่างแพร่หลาย และไม่ใช่ทุกสกุลเงินดิจิทัลที่จะมีความน่าเชื่อถือ จึงต้องมีการสร้างการรับรู้ ความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีบล็อคเชนเพิื่อสร้างภูมิต้านทานให้กับนักลงทุน รวมทั้งเรื่องกฎหมาย ข้อบังคับที่ยังไม่มีความชัดเจน ซึ่งต้องมีขั้นตอนการทำงานที่ชัดเจน ทั้งการจัดการบัญชีและการจัดสรรงบประมาณ

โฆษิต กล่าวเพิ่มเติมว่า การนำบล็อกเชนเข้ามาช่วยสร้าง “เน็ตเวิร์ค” ให้กับแพลตฟอร์ม สามารถใช้งานข้ามประเทศได้อย่างไร้พรมแดน รวมถึงเป็นทางออกของค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรมที่เดิมใช้การโอนเงินผ่าน Paypal ซึ่งมีราคาสูง รวมทั้งข้อดีของบล็อกเชนที่จะเข้ามาอยู่ในตลาดเดียวกันทั้งหมด

 ขยายตลาดสู่อันดับ 1 เซาท์อีสเอชีย

Travel-to-earn ถูกต่อยอดมาจากการนำเอา Travel Lifestyle ประสบการณ์จริงของเหล่า Blogger ที่ถูกนำมารีวิวกว่า 40,000 Blog โดยมีเหรียญ TRIP เป็นยูทิลิตี้โทเคนประจำแพลตฟอร์ม เพื่อใช้เป็นค่าฟี หรือค่าธรรมเนียมในการทำธุรกรรม ที่สามารถซื้อ Deal ดี ๆ จากทางแพลตฟอร์มของบริษัทได้นำเหรียญมา Stake เพื่อได้ผลตอบแทนไม่ว่าจะเป็นเหรียญ หรือ Voucher ที่พักมี Travel Pass NFT เพื่อนำไปร่วมกิจกรรมทั้งในโลกจริงและ Metaverse เที่ยวฟรี 

สำหรับโปรเจคเที่ยวก่อนจ่ายทีหลังจากผู้ถือเหรียญ จากเดิมมีกำหนดเปิดใช้งานเหรียญตั้งแต่เดือน ส.ค.2565 แต่ด้วยสถานการณ์ตลาดหมีคริปโททำให้ต้องรอดูจังหวะที่ดีในการเปิดตัว พร้อมกับมีแผนลิสต์ในศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลในกระดานต่างประเทศด้วย

อย่างไรก็ตาม บริษัทยังคงต้องพัฒนาโปรเจกต์ตามโร้ดแมปที่ได้วางเอาไว้ จึงเตรียมออก NFT Member Class ในช่วงต้นเดือนธ.ค. โดยตั้งราคาไว้ที่ 700 บาท ซึ่งมีความสามารถในการเป็นตัวกลางในการจองห้องพักผ่าน NFT ที่เจ้าของ NFT จะได้รับ TRIP กลับคืนเมื่อมีผู้จองห้องพักผ่านลิงค์ NFT นั้นๆ เปรียบสเหมือนการสะสมแต้มผ่านระบบเซ็นทรัลไลซ์ และจะมีการเปลี่ยนมาเป็นโทเคน TRIP ในภายหลังจากเปิดใช้

รวมทั้ง Readme มีการพัฒนาในเฟส 3 เตรียมขยายแพลตฟอร์มไปยัง 4 ประเทศเพื่อนบ้าน กัมพูชา อินโดนีเซีย เวียดนาม และฟิลิปปินส์ เพื่อขึ้นเป็น แพลตฟอร์ม Travel Blogger อันดับ 1 ในเซาท์อีสเอเชีย พร้อมทั้งร่วมหารือกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศไทยด้วย NFT