แบงก์ชาติเปิดสถิติ ‘หนี้เน่า’ครัวเรือนพุ่งต่อ เฉียด3ล้านคน จากพิษโควิด-19

แบงก์ชาติเปิดสถิติ ‘หนี้เน่า’ครัวเรือนพุ่งต่อ เฉียด3ล้านคน จากพิษโควิด-19

แบงก์ชาติเปิดสถิติ “หนี้เสีย”ครัวเรือน จากผลกระทบโควิด-19 พบลูกหนี้ตกชั้นเป็นหนี้เสียทะลัก จาก 1.9ล้านราย มาสู่ 2.9ล้านรายในปัจจุบัน ขณะที่จำนวนบัญชีที่เป็นหนี้เสียสู่4.3ล้านบัญชี หรือยอดหนี้เพิ่มก้าวกระโดดสู่ 4แสนล้านบาท จากต้นปีที่2แสนล้านบาท

แม้ผ่านมาเกือบ 3ปี แต่ผลกระทบจากจากไวรัสโคโรนา สายพันธ์ใหม่โควิด-19 ก็ยังไม่เลือนหายไป ยังคงสร้างร่องรอยที่เป็น“แผลลึก”กับเศรษฐกิจ กับประชาชน ภาคธุรกิจ และลูกหนี้อย่างไม่จบสิ้น 

ธุรกิจจำนวนมากต้องปิดตัวจากการมาของโควิด-19 มีลูกหนี้จำนวนมากที่ต้องตกอยู่ในภาวะ กลืนไม่เข้าคายไม่ออก ชักหน้าไม่ถึงหลัง จากรายได้ที่ยังไม่กลับมาสู่ภาวะปกติ เริ่มมีปัญหาชำระหนี้ ซ้ำร้ายบางรายกลายเป็น “หนี้เสีย” ของสถาบันการเงินไปแล้ว 
            แบงก์ชาติเปิดสถิติ ‘หนี้เน่า’ครัวเรือนพุ่งต่อ เฉียด3ล้านคน จากพิษโควิด-19  

ล่าสุด ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เปิดรายงานเสถียรภาพระบบการเงินไทยรายไตรมาสที่ 3 ประจำปี 2565 โดยมีข้อมูลที่น่าสนใจ ของ “หนี้ครัวเรือนไทย”โดยเฉพาะในช่วง โควิด-19 ที่พบว่า แม้คุณภาพสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ จะปรับตัวดีขึ้นในทุกพอร์ต แต่ยังมี “ลูกหนี้”ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ในทุกประเภทสถาบันการเงินที่ยังเร่งตัวขึ้นต่อเนื่อง
ดูจาก “สถิติ” ของลูกหนี้ที่เป็นหนี้เสีย หรือหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ที่ค้างชำระหนี้เกิน 90 วัน เฉพาะลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ไม่ปกติ ที่มาจากโควิด-19 หรือเราจะเรียกกลุ่มนี้ว่า “รหัส21” กลุ่มนี้ “หนี้เสีย”ยังเร่งตัวขึ้นต่อเนื่อง ทั้งจำนวน ลูกหนี้ จำนวนบัญชี และยอดสินเชื่อคงค้างของหนี้เสีย ในปี 2565 

โดยหากดูหนี้เสียในช่วงม.ค. ที่ผ่านมา มีลูกหนี้ที่เป็นหนี้เสีย จากโควิด-19 เพียง 1.9ล้านคน และเพิ่มมาเป็น 2.1 ล้านคน ในช่วงไตรมาส1 ที่ผ่านมา ก่อนปรับตัวเพิ่มขึ้นก้าวกระโดดในช่วงมิ.ย. เป็น 2.9 ล้านคน 

ในแง่จำนวนบัญชีที่เป็นหนี้เสียก็เพิ่มขึ้นก้าวกระโดด จาก 2.3 ล้านบัญชี ในช่วงเดือนม.ค. มาเป็น 2.7ล้านบัญชี และ 4.3 ล้านบัญชี  

สอดคล้องกับมูลค่าหนี้เสียคงค้างของกลุ่มนี้ อยู่ที่ 2แสนล้านบาท ในเดือนม.ค. ที่ผ่านมา และ 2.2 แสนล้านบาท ในไตรมาสแรก และเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วมาสู่  4แสนล้านบาท ในช่วงสิ้นไตรมาส 2 ที่ผ่านมา 

สวนทางกับ “หนี้ครัวเรือนไทย” ที่วันนี้ด้านคุณภาพสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง ในทุกพอร์ตสินเชื่อ ยกเว้นสินเชื่อรถยนต์ ส่วนหนึ่งจากการปรับโครงสร้างหนี้และการบริหารจัดการ ต่างจากลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19ที่ยังเร่งตัวขึ้นต่อเนื่อง 
        ข้อมูลเหล่านี้ก็สะท้อนให้เห็นชัดเจนว่า ยังมีลูกหนี้ จำนวนมากที่ยังไม่ฟื้นจากโควิด-19 ยังได้รับผลกระทบจากโควิด-19ที่ฝังลึกสู่ระบบเศรษฐกิจแล้ว หากไม่เร่งช่วยเหลือ เร่งแก้หนี้เหล่านี้ คงหนี้ไม่พ้น ที่หนี้เหล่านี้จะกลับมาซ้ำเติมเศรษฐกิจ ซ้ำเติมลูกหนี้ในระยะยาว