SMEs ปั้นธุรกิจเติบโตยั่งยืน 4 ปัจจัยอุปสรรค แนะรัฐสร้างโอกาส

SMEs ปั้นธุรกิจเติบโตยั่งยืน 4 ปัจจัยอุปสรรค แนะรัฐสร้างโอกาส

เผย SMEs มีความรู้ความเข้าใจการทำธุรกิจยั่งยืนมากขึ้นแต่ทำได้ยาก เหตุ 4 ปัจจัยอุปสรรค ขาดความรู้ ไม่มีเวลา ขาดทุนทรัพย์ และขาดความเชื่อมั่นด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี  เสียงจากSMEs ระบุพร้อมก้าวสู่ธุรกิจยั่งยืน

KEY

POINTS

  • ผู้ประกอบการSMEsส่วนใหญ่ สนใจการทำเรื่องความยั่งยืน ,ESG และมองว่าเป็นโอกาส แต่ยังมีอุปสรรค 4 ปัจจัยคือ 1. ขาดความรู้ความเข้าใจ 2. ไม่มีเวลา  3.ขาดทุนทรัพย์ และ 4.ขาดนวัตกรรมและเทคโนโลยี
  • อยากให้ SME โหลดแอปพลิเคชั่น SME ONE ID , SME Connext เมื่อ SMEs ต้องการเข้ารับการบริการจากภาครัฐ หรือหน่วยงานต่างๆ จะสามารถดำเนินการได้สะดวกมากขึ้น และเข้าถึงสิทธิประโยชน์อื่นๆ ได้
  • หากมีการสนับสนุน SMEs ทำเรื่องความยั่งยืน ต้องทำให้ SME เข้าใจ มีความรู้ว่าทำธุรกิจอย่างไร และมีการนำเทคโนโลยี หรือมีการช่วยเหลืออย่างไร

กรุงเทพธุรกิจ” เปิด "เวทีความยั่งยืน" ต่อเนื่องเป็นปีที่ 5 "Sustainability Forum 2025: Synergizing for Driving Business” ระหว่างวันที่ 3-4 ธันวาคม 2567 ณ พารากอน ฮอลล์ ชั้น 5 สยามพารากอน ซึ่งเป็นการรวมตัวครั้งสำคัญของทุกหน่วยงาน พร้อมด้วยสุดยอดสปีกเกอร์ เปิดวิสัยทัศน์ที่จะเปลี่ยนโลกใบนี้ และแนวทางปฏิบัติได้จริงจากนักธุรกิจ นักลงทุน ผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายอุตสาหกรรมระดับประเทศ เพื่อขับเคลื่อนธุรกิจนำแนวทางปฏิบัติที่ยั่งยืนครอบคลุม 3 มิติ ได้แก่ 1) เศรษฐกิจ 2) สังคม3) สิ่งแวดล้อม พร้อมสร้างความเข้าใจและวางเป้าหมายการลงทุนในความหลากหลาย ขยายแนวปฏิบัติที่ยั่งยืนและส่งเสริมเศรษฐกิจ

โดยในช่วง “Panel Discussion: Empowering SMEs Toward Sustainability” มี ดร.ธันยพร กริชติทายาวุธ” ผู้อำนวยการ สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย (UNGCNT) ,วัณณะวัฒน์ โอภาสวัฒนา ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายและแผนส่งเสริม SMEs สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) และภิรมณ ชูประภาวรรณ ผู้ก่อตั้งและซีอีโอ บริษัท ฟอร์แคร์ จำกัด ร่วมเสวนา เพื่อช่วยหาทางออกและแนวทางในการสนับสนุนธุรกิจ SMEs (วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม )ให้พร้อมเป็นธุรกิจเติบโตอย่างยั่งยืน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

ธุรกิจเคลื่อน ‘แผนยั่งยืน’ ปลุกไลฟ์สไตล์โลว์คาร์บอน

'Green SME Index' ก้าวแรกที่รักษ์โลกของธุรกิจคนตัวเล็ก

4 ปัจจัย SMEs ไม่ทำเรื่องยั่งยืน

“ดร.ธันยพร”กล่าวว่า ธุรกิจ SMEs ถือเป็นเส้นเลือดในการหล่อเลี้ยงเศรษฐกิจของไทย เพราะธุรกิจขนาดใหญ่จะไม่สามารถอยู่ได้ หากไม่ได้รับการจัดสรรทรัพยากรจากธุรกิจขนาดเล็ก หรือธุรกิจ SMEs และเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการดำเนินธุรกิจที่ต้องมุ่งเรื่องความยั่งยืน ความโปร่งใส และ ESG (สิ่งแวดล้อม-สังคม-ธรรมาภิบาล) ทำให้ทุกภาคส่วนต้องปรับตัว รวมถึงธุรกิจ SMEs ด้วย

“ผู้ประกอบการSMEsส่วนใหญ่ สนใจการทำเรื่องความยั่งยืน ,ESG และมองว่าเป็นโอกาส แต่พวกเขายังมีอุปสรรคที่จะทำให้โอกาสนั้นเป็นจริงอยู่ 4 ปัจจัยคือ 1. ขาดความรู้ความเข้าใจ 2. ไม่มีเวลา ไม่สามารถจัดลำดับความสำคัญได้ 3.ขาดทุนทรัพย์ และ 4.ขาดความเชื่อมั่นด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี ฉะนั้น หากจะทำให้ธุรกิจ SMEs ปรับตัว และอยู่รอดได้ ต้องมีการสนับสนุน ส่งเสริมในส่วนที่SMEs ขาด”ดร.ธันยพร กล่าว

สร้างความรู้ ความเข้าใจ แรงดึงดูด

“ดร.ธันยพร” กล่าวต่อว่าการที่จะทำให้ธุรกิจ SMEs มีความเข้าใจและความรู้ ต้องมีแรงดึงดูด ซึ่ง UNGCNT ได้ทำงานร่วมกับภาคเอกชน และภาครัฐ ในการพลิกเศรษฐกิจสังคมให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs มองเรื่องกำไรตัวเงินและกำไรสังคมร่วมกัน

“รัฐบาลต้องให้โอกาส และช่วยเหลือธุรกิจ SMEs โดยอาจต้องเริ่มจากการตัดพ่อค้าคนกลาง เพื่อให้การกระจายรายได้เกิดขึ้นที่ชุมชนจริงๆ เพราะต้องยอมรับว่าขณะนี้ชุมชน คนทำธุรกิจพัฒนาผลิตภัณฑ์แปรรูปทำให้คุณค่าสินค้าสูงขึ้น แต่ไม่ได้กำไร คนไปขายอย่างพ่อค้าคนกลางกลับได้กำไร ดังนั้น เมื่อผู้ประกอบการ SMEs เห็นโอกาส ต้องมีภาครัฐเข้าไปช่วย ทำให้เกิดโอกาส และปลดล็อกความยากจนเมื่อผู้บริโภคมีฐานะดีขึ้น ก็พร้อมที่จะซื้อ ขณะเดียวกันก็ต้องเปิดพื้นที่ขายให้แก่ผู้ประกอบการและขจัดอุปสรรคที่ SMEs กำลังเผชิญอยู่” ดร.ธันยพร กล่าว 

 SMEs 60% เข้าใจเรื่องความยั่งยืน

“วัณณะวัฒน์”กล่าวว่าสสว.มีบทบาทในการสนับสนุนและส่งเสริมให้ธุรกิจ SMEs สามารถปรับตัว และดำเนินธุรกิจได้อย่างยั่งยืน ซึ่งเรื่องความยั่งยืนเสียงสะท้อนจาก SMEs พบว่า มีผู้ประกอบการ SMEs 60% เท่านั้นที่ทราบว่าเป็นเรื่องสำคัญ แต่ในส่วนนี้มีน้อยมากที่รู้ว่าต้องตระหนัก และมีเพียงนิดเดียวที่ทำได้ ขณะที่ 40% ไม่เข้าใจและไม่มีความรู้เรื่องความยั่งยืน

“SMEs ส่วนใหญ่มีความรู้และความเข้าใจเรื่องความยั่งยืนมากขึ้น แต่การจะทำได้นั้นเป็นเรื่องยาก เพราะการพัฒนาธุรกิจสู่ความยั่งยืนต้องใช้ต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้น และธุรกิจ SMEs ไม่ได้มีต้นทุนหรืองบประมาณจำนวนมาก รวมถึงยังขาดเทคโนโลยีในการดำเนินการอีกด้วย”วัณณะวัฒน์ กล่าว

สสว. ได้มีแนวทางสนับสนุนธุรกิจ SMEs หลายเรื่อง อาทิ การเปิด “SME ACADEMY 365” อีเลินนิ่งหลักสูตรออนไลน์เพื่อพัฒนา SMEs ที่ขาดความรู้เรื่องการทำธุรกิจบนความยั่งยืน ให้สามารถปรับตัวได้ง่ายขึ้น ซึ่งผู้ประกอบการ SME สามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง ทุกที่ทุกเวลาตลอด 24 ชั่วโมง รวมถึงสร้างความตระหนักให้แก่ผู้ประกอบการ ทำให้มีเครื่องมือในการพัฒนาตนเองมากขึ้น และมุ่งเน้นการประชาสัมพันธ์ให้เห็นถึงความสำคัญของความยั่งยืน

หนุนธุรกิจ SMEs บนความยั่งยืน

นอกจากนี้ สสว.ยังช่วยเหลือเรื่องค่าใช้จ่าย โดยให้บริการ SMEs ในการจัดทำมาตรฐาน การพัฒนาเพิ่มผลิตภาพ และการจัดการตลาด โดยสนับสนุนงบประมาณให้ 80% และSMEs ออกเองเพียง 20% เพื่อให้SMEs ได้เข้าถึงเครื่องมือ อย่าง การทดสอบคาร์บอนฟุตพริ้นท์ ,การพัฒนาระบบริหารจัดการตนเองให้โปร่งใส ,การจัดทำบัญชีดิจิตอล และเป็นที่ปรึกษาโดยมีผู้เชี่ยวชาญ มีโค้ด ให้คำแนะนำช่วยเหลือ SMEs เป็นต้น

"อยากให้ SME โหลดแอปพลิเคชั่น SME ONE ID , SME Connext เมื่อ SMEs ต้องการเข้ารับการบริการจากภาครัฐ หรือหน่วยงานต่างๆ จะสามารถดำเนินการได้สะดวกมากขึ้น และเข้าถึงสิทธิประโยชน์อื่นๆ ได้ ซึ่งผู้บริโภคและภาครัฐ พร้อมช่วยเหลือ ไม่ทอดทิ้งธุรกิจที่ทำดี"วัณณะวัฒน์ กล่าว

SMEs อยากทำธุรกิจยั่งยืน

“ภิรมณ” กล่าวว่า บริษัท ฟอร์แคร์ ดำเนินธุรกิจมา 21 ปีภายใต้ความตั้งใจในการทำผลิตภัณฑ์ดีๆ เพื่อมาช่วยดูแลสุขภาพให้แก่ผู้บริโภค และความโปร่งใส ซึ่งก่อนหน้านี้ไม่ได้มองเรื่องความยั่งยืน แต่เราทำธุรกิจที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม สิ่งแวดล้อม เพราะคนทำธุรกิจ คงไม่มีใครอยากทำธุรกิจเพียง 2 ปี แล้วถูกปิดตัวลง ซึ่งคำว่าความยั่งยืน และ ESG เป็นเรื่องใหม่ๆ ที่องค์กรระดับโลกนำเสนอ ทำให้ผู้ประกอบการ SMEs หลายคน มองว่าตัวเองไม่มีความรู้ความเข้าใจ และมองว่าเป็นเรื่องไกลตัว หรือเป็นเรื่องของบริษัทขนาดใหญ่ที่ต้องทำ ทั้งที่สิ่งที่พวกเขาทำอยู่อาจจะเป็นธุรกิจยั่งยืน หรือ ESG ก็เป็นได้

“การทำธุรกิจยั่งยืน และ ESG นั้น จริงๆ เป็นเรื่องใกล้ตัวมาก เพราะเชื่อว่าธุรกิจ SMEs ที่อยู่มานานได้มีการทำเรื่องเหล่านี้อยู่แล้ว เพียงแต่เมื่อมีเกณฑ์การวัดเป็นสากล พวกเขาก็มองว่าเป็นเรื่องไกลตัว ไม่รู้ไม่เข้าใจ หากมีการสนับสนุน SMEs ทำเรื่องความยั่งยืน ต้องทำให้ SMEs เข้าใจ มีความรู้ว่าทำธุรกิจอย่างไร มีการนำเทคโนโลยี หรือมีการช่วยเหลืออย่างไรให้เขาทำธุรกิจแล้วได้กำไร มีโอกาสมากขึ้น เพราะเท่าที่ทราบกลุ่ม SMEs มีความตื่นตัวในเรื่องเหล่านี้ และอยากทำธุรกิจยั่งยืน อยากช่วยลดคาร์บอน ช่วยโลกร้อน แต่ต้องทำให้พวกเขาเห็นโอกาส และภาครัฐ ภาคธุรกิจขนาดใหญ่ต้องเข้ามาช่วย”ภิรมณ กล่าว