ธุรกิจเคลื่อน ‘แผนยั่งยืน’ ปลุกไลฟ์สไตล์โลว์คาร์บอน
ภาคธุรกิจผนึกพลังพันธมิตร เคลื่อนแผนยั่งยืน “เดอะมอลล์” ร่วมมือเอกชน สร้างอีโคซิสเตมรีเทลยั่งยืนสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน 2050 “เสนาฯ” ปลุกไลฟ์สไตล์โลว์คาร์บอน พัฒนาบ้านติดโซลาร์ คอนโดโลว์คาร์บอน “แกร็บ” ชี้โจทย์บังคับองค์กรวางแผนตั้งแต่ต้นน้ำสู่ เน็ตซีโร่ ปี 2040
งาน “Sustainability Forum 2025” โดย “กรุงเทพธุรกิจ” ในหัวข้อ “Sustainable Business Opportunities” มีองค์กรภาคเอกชนร่วมสะท้อนแนวทางขับเคลื่อน “แผนความยั่งยืน” ซึ่งบรรจุเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์สำคัญของการเดินหน้าธุรกิจแห่งอนาคต
นางสาววรลักษณ์ ตุลาภรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มการตลาด บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด กล่าวว่า กลุ่มเดอะมอลล์ ให้ความสำคัญเรื่องความยั่งยืน (Sustainability) อย่างมาก และผลักดันโครงการต่างๆ เพื่อสร้างอีโคซิสเตมให้แข็งแกร่งผ่านการผนึกความร่วมมือพันธมิตรทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ เอกชน คู่ค้า และลูกค้า สร้างการรับรู้และกระตุ้นให้ลงมือทำ
พร้อมขยายแนวทางความร่วมมือเพื่อขยายโครงการยั่งยืนให้มีขนาดใหญ่ขึ้น โดยผลักดันไปในแนวทางเดียวกัน เพื่อทำให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน ปี 2050 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2065
“เดอะมอลล์ทำธุรกิจศูนย์การค้า ห้างสรรพสินค้า เป็นพื้นที่ศูนย์กลางมีกลุ่มลูกค้าเข้ามาใช้บริการจำนวนมากทุกปี กว่า 20 ล้านคนต่อโครงการ มีลูกค้าหลากหลายทั้งชาวไทยและต่างชาติ มีลูกค้าทั้งแบบธุรกิจกับธุรกิจ (B2B) ลูกค้าองค์กรกับรายย่อย (B2C) และผู้บริโภคต่อผู้บริโภค(C2C)”
ทั้งนี้โครงการขับเคลื่อนความยั่งยืนของเดอะมอลล์ ได้จัดทำโครงการ โกกรีน (Go Green) และเป็นห้างแรกที่ยกเลิกการใช้ถุงพลาสติก สร้างการตระหนักรู้ และเกิดการลงมือทำอย่างจริงจัง อีกทั้งได้ร่วมมือกับภาครัฐ จัดทำโครงการปลูกต้นไม้ จำนวน 30 ไร่ ในจังหวัดน่าน การร่วมมือกับกรุงเทพมหานคร (กทม.) จัดทำสวนสาธารณะจัดการขยะอย่างยั่งยืน (ZeroWaste Park) ที่สวนเบญจสิริซึ่งเมื่อมีเศษใบไม้ต่างๆ ในพื้นที่ได้นำไปแปรรูปสู่ปุ๋ย
สำหรับพฤติกรรมเชิงลึกของลูกค้าแต่ละกลุ่มพบว่าสนใจเรื่องความยั่งยืนต่างกัน ซึ่งกลุ่มเอให้ความสำคัญเรื่องความยั่งยืนสูงมาก กลุ่มบี เริ่มมีความรู้สึกว่าอยากทำ กลุ่มซี เน้นเรื่องความถูกและความคุ้มค่ามากว่า
นอกจากนี้ได้ขยายสู่การร่วมมือกับรถไฟฟ้าบีทีเอสกับสถานีพร้อมพงษ์ ทำเป็นสถานีตัวอย่างในเรื่องการดูแลสิ่งแวดล้อม ทำให้มีการปลูกต้นไม้สองฝั่งของทางเดินเชื่อมรถไฟฟ้าสถานี ไปยังทั้งศูนย์การค้าเอ็มโพเรียม และเอ็มสเฟียร์ ช่วยลดความร้อนและลดฝุ่น บริษัทยังร่วมมือกับพนักงานจัดทำคาร์ฟูลเดย์ ร่วมลดการใช้รถยนต์และการประหยัดน้ำมัน
ขยายแอปพลิเคชันแจ้งเตือนสินค้าก่อนหมดอายุ
การขับเคลื่อนเรื่องผลิตภัณฑ์นั้น ซูเปอร์มาร์เก็ตของเดอะมอลล์ "กูร์เมต์ มาร์เก็ต” ได้ทำฟีเจอร์ในแอปพลิเคชันที่มี คัพบอร์ดออนไลน์ (The Cupboard to Fight Food Waste) ช่วยแจ้งเตือนให้บริโภคสินค้าก่อนหมดอายุ เป็นการร่วมลดปัญหาขยะจากอาหารที่มีจำนวนมากในแต่ละปี ร่วมกระตุ้นให้ลูกค้านำสินค้าไปปรุงอาหารก่อนถึงวันหมดอายุ
อีกทั้งได้ร่วมมือกับผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่วางจำหน่าย จัดทำโครงการร่วมลดคาร์บอนฟุตพรินต์ แสดงว่าสินค้าในกลุ่มนี้ร่วมลดคาร์บอนฟุตพรินท์ต์ระดับใด และมีการแจกคะแนนสะสมสู่ลูกค้า แต่เมื่อทำแล้วมีลูกค้าสนใจร่วมจำนวนมากทำให้ผลิตภัณฑ์อาจมีไม่เพียงพอ ดังนั้นแนวทางการจึงต้องผลักดันให้เกิดการร่วมมือในวงกว้างมากขึ้น ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และไปสู่ปลายน้ำ
ปักหมุดรักษ์โลกพลังสู่หมุดหมายเดียวกัน
นางสาวเกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เสนาดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า จุดเปลี่ยนที่ทำให้เสนาฯ หันมาให้ความสำคัญกับ “ความยั่งยืน” หรือ “Sustainability” เริ่มจากช่วงเกิดน้ำท่วมใหญ่ในกรุงเทพฯ ปี 2557 มองว่าเป็นภัยคุกคามสำหรับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์จนต้องปิดไซต์ก่อสร้าง 20-30 แห่ง
ประสบการณ์ตรงทำให้เสนาฯ ตระหนักถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นกลายเป็นหมุดหมายที่ทำให้เสนาฯ คำนึงถึงปัญหาโลกร้อน ก่อนที่มีการประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ COP (Conference of the Parties) เริ่มจากการทำ “บ้านติดโซลาร์” หลังจากนั้นมาทำเรื่องเกี่ยวข้องกับ Green Economy หรือเศรษฐกิจสีเขียวมาอย่างต่อเนื่อง
“ระยะหลังมีการจัดการประชุมเกี่ยวกับโลกร้อนต่อเนื่อง ทำให้เกิดการตระหนักเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ซึ่งการที่โลกปักหมุดไปในที่เดียวกันเป็นพลังอันยิ่งใหญ่ทำให้ทุกบริษัททุกอุตสาหกรรมมีหมุดหมายเดียวกันได้”
ปลุกไลฟ์สไตล์โลว์คาร์บอน
นางสาวเกษรา กล่าวว่า เสนาฯ พยายามทำให้ทุกคนมีไลฟ์สไตล์โลว์คาร์บอนได้มากขึ้นทำอย่างไรให้ผู้บริโภคที่อยู่ในคอนโดมิเนียมของเสนาฯ ใช้ชีวิตโลว์คาร์บอนได้ ซึ่งที่ผ่านมา เสนาฯ ได้ร่วมกับ “Zeroboard” บริษัทสตาร์ตอัปจากญี่ปุ่นที่ใช้คลาวด์เทคโนโลยีในการคำนวณและการแสดงผลลัพธ์ในการวัดคาร์บอนฟุตพรินต์ขององค์กร หรือผลิตภัณฑ์ หรือมีการติดตั้ง EV Ready ส่งเสริมการใช้รถสาธารณะโดย V Move บริการรถรับส่งไปยังรถไฟฟ้า
จากประสบการณ์พบว่า กลุ่มคนที่มีรายได้ระดับกลาง-ล่าง มีข้อจำกัดค่อนข้างมาก ดังนั้นต้องทำทุกอย่างให้ง่าย ที่สำคัญต้นทุนต้องไม่เพิ่มขึ้น และหากลดต้นทุนลงได้จะดึงดูดให้คนกลุ่มนี้เข้ามามีส่วนร่วม
ปัจจุบันทุกคน “อิน” กับกระแสความยั่งยืนมากขึ้น หากเทียบ 5-6 ปีที่ผ่านมา และสิ่งที่เสนาฯ ทำถือเป็น “โอกาส” ทางธุรกิจ ด้วยการขายคอนโดมิเนียมที่สร้างความแตกต่าง สอดคล้องกับเทรนด์ความยั่งยืนที่เปลี่ยนโลก ตอบโจทย์ผู้บริโภคที่ใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน
“ลูกบ้านสามารถลดคาร์บอนจากการดำเนินชีวิตได้ง่ายถือเป็น Agenda หลักของบริษัทกลายเป็นโอกาสทางธุรกิจ เพราะเราเป็นคอนโดเดียวในปัจจุบันที่โฟกัสการใช้ชีวิตแบบโลว์คาร์บอนได้”
“แกร็บ” มุ่งสู่ “เน็ตซีโร” ปี 2040
นายวรฉัตร ลักขณาโรจน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ แกร็บ ประเทศไทย ระบุถึง รายงานความยั่งยืนประจำปี 2566 (ESG Report 2023) เน้นย้ำการขับเคลื่อนธุรกิจสู่อนาคตที่ยั่งยืน ครอบคลุม 3 มิติหลัก ได้แก่ เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยประเด็น ESG นั้น แกร็บมีความมุ่งมั่นในการใช้เทคโนโลยี นวัตกรรม และการร่วมมือจากทุกภาคส่วนเพื่อบรรลุเป้าหมาย เน็ต ซีโร่ ภายในปี 2040 ซึ่งไม่เพียงลดผล กระทบต่อสิ่งแวดล้อม แต่ยังสร้างคุณค่าให้ผู้ใช้บริการ และผู้ขับขี่ในแพลตฟอร์มอีกด้วย
“ไอเดียที่จะเปลี่ยนเกมของระบบนิเวศทั้งหมดให้มีความเป็น ESG ต้องมี อินเวสเตอร์ เรกูเลตอร์ กฎหมายที่เท่าทันเทคโนโลยี และวางแผนงานไปในบิสิเนส แพลน จะตอบโจทย์ทั้ง Topline และ Bottomline”
แกร็บยังส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) อย่างจริงจัง มีแผนให้รถยนต์ไฟฟ้าครอบคลุม 10% ของรถที่ให้บริการบนแพลตฟอร์มภายในปี 2026 ในโครงการ Drive to Own โครงการสนับสนุนให้ผู้ขับขี่เป็นเจ้าของรถยนต์ไฟฟ้าได้ด้วยโมเดลสินเชื่อแบบรายวัน และการช่วยเหลือด้านไฟแนนซ์
แกร็บ ยังร่วมมือกับผู้ผลิตรถยนต์อีวี เพื่อจัดหารถอีวีในราคาที่เหมาะสมสำหรับผู้ขับขี่บนแพลตฟอร์ม สนับสนุนการติดตั้งอุปกรณ์ไอโอที (IoT) ในรถ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการ มุ่งขยายการใช้มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า ในระดับท้องถิ่น โดยร่วมมือกับผู้ผลิตและผู้ให้บริการติดตั้งแบตเตอรี่ในหลายจังหวัด วางจุดชาร์จไฟฟ้าตามจุดสำคัญเพื่อตอบสนองความต้องการผู้ขับขี่
ทั้งมีการปรับโมเดลธุรกิจของแกร็บ เพื่อลดการปล่อยคาร์บอน และขยะพลาสติกจากการให้บริการ ริเริ่มระบบ Matching แผนที่ของแกร็บเพื่อรวมงานขนส่งในเส้นทางเดียวกัน ลดใช้พาหนะจำนวนมากในการส่งของและผู้โดยสาร ซึ่งจากการดำเนินงานดังกล่าวช่วยลดการปล่อยคาร์บอนได้ถึง 27,000 ตันในช่วงปีที่ผ่านมา อีกทั้งการเพิ่มการใช้เส้นทางที่มีประสิทธิภาพด้วยการใช้ระบบแผนที่ และเทคโนโลยีนำทาง ลดเวลาเดินทางและปล่อยก๊าซที่ไม่จำเป็น
“ที่ผ่านมาลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนได้ถึง 70,000 ตัน ปลูกต้นไม้ไปแล้วกว่า 280,000 ต้น และลดขยะพลาสติกได้มากกว่า 800 ล้านชิ้น จากการที่ลูกค้าเลือกไม่รับช้อนส้อมพลาสติกในการสั่งอาหารผ่านแพลตฟอร์ม เป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ เพื่อมุ่งสู่การสร้างสังคมที่ยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในอนาคต”