'ภาคธุรกิจไทย' ปรับตัวอย่างไร เมื่อยุโรปเอาจริง ‘สิทธิมนุษยชน สิ่งแวดล้อม’

'ภาคธุรกิจไทย' ปรับตัวอย่างไร เมื่อยุโรปเอาจริง ‘สิทธิมนุษยชน สิ่งแวดล้อม’

UNGCNT เผย สหภาพยุโรป หนุนกฎหมายใหม่เกี่ยวกับการตรวจสอบห่วงโซ่อุปทาน (CSDDD) บริษัทต้องรับผิดชอบต่อผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชน สิ่งแวดล้อม ตลอดห่วงโซ่อุปทานทั้งหมด ชี้ ความท้าทายของผู้ประกอบการไทย ต้องปรับตัวรับกติกาใหม่ สร้างแต้มต่อทางการแข่งขันในอนาคต

เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2567 ดร.ธันยพร กริชติทายาวุธ ผู้อำนวยการ สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย กล่าวในหัวข้อ กฎหมายห่วงโซ่อุปทาน ผลักดันโลกทำ ธุรกิจอย่างยั่งยืน ภายในงาน A Call to Action Go Green 2024 : The Ambition of Thailand จัดโดย กรุงเทพธุรกิจ ว่า รัฐบาลสหภาพยุโรปสนับสนุนกฎหมายสิทธิมนุษยชน และการตรวจสอบวิเคราะห์สถานะด้านสิ่งแวดล้อมสำหรับห่วงโซ่อุปทาน คำสั่งดังกล่าวจะกำหนดให้บริษัทขนาดใหญ่ต้องตรวจสอบห่วงโซ่อุปทานเพื่อระบุปัญหาต่างๆ

 

ภายใต้กฎหมายใหม่ บริษัทต่างๆ จะต้องพัฒนาแผนปฏิบัติการเชิงป้องกัน และให้พันธมิตรทางธุรกิจโดยตรงตกลงตามสัญญาที่จะปฏิบัติตาม เมื่อข้อตกลงเหล่านี้มีผลบังคับใช้ธุรกิจในยุโรปจะต้องตรวจสอบว่าซัพพลายเออร์ของพวกเขามีคุณสมบัติตรงตามข้อกำหนดที่กำหนดไว้หรือไม่ โดยข้อกำหนดนี้ เป็นองค์ประกอบสำคัญของ EU Green Deal ซึ่งเป็นแผนงานที่ครอบคลุมเพื่อทำให้เศรษฐกิจของสหภาพยุโรปมีความยั่งยืน และเป็นกลางต่อสภาพภูมิอากาศภายในปี 2050

 

กฎเกณฑ์การตรวจสอบ

ดร.ธันยพร กล่าวต่อไปว่า ตั้งแต่ปี 2029 บริษัทในยุโรปจะต้องพิสูจน์ว่าพวกเขากำลังดำเนินการเพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อม และสิทธิมนุษยชนตลอดห่วงโซ่อุปทานของตน กฎหมายใหม่เกี่ยวกับการตรวจสอบห่วงโซ่อุปทาน Corporate Sustainability Due Diligence Directive (CSDDD) ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลยุโรปส่วนใหญ่ คาดว่าจะได้รับการโหวตผ่านโดยรัฐสภายุโรปเต็มรูปแบบ 

 

\'ภาคธุรกิจไทย\' ปรับตัวอย่างไร เมื่อยุโรปเอาจริง ‘สิทธิมนุษยชน สิ่งแวดล้อม’

 

โดยหลักการของร่างกฎหมาย การกำกับดูแลให้ภาคเอกชน EU รวมถึงบริษัทต่างๆ ทั่วโลก ที่ทำธุรกิจกับบริษัทใน EU ดำเนินธุรกิจอย่างมีธรรมาภิบาล และมีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม และสังคม โดยวางกฎเกณฑ์ให้มีการตรวจสอบ ดังนี้

 

“Due Diligence in Supply Chain” ตรวจสอบความเสี่ยง สิ่งแวดล้อมหรือสิทธิมนุษยชน แก้ไขปัญหา แบ่งปันข้อมูล บริษัทต่างๆ รับฟังข้อกังวล ตรวจสอบให้แน่ใจว่าซัพพลายเออร์ และพันธมิตรของตนปฏิบัติตามกฎ, Policy ต้องเตรียมพร้อมสำหรับปัญหาที่ไม่คาดคิด ซึ่งจะส่งผลต่อชื่อเสียงขององค์กร และ Code of Conduct โดยบริษัทต่างๆ จะต้องแสดงให้เห็นว่าพวกเขากำลังดำเนินการอย่างแข็งขันเพื่อป้องกัน และจัดการกับผลกระทบด้านลบใดๆ”

 

ใครต้องทำ Due Diligence บ้าง ?

จากการถกเถียง และเจรจาเกี่ยวกับขอบเขต และการบังคับใช้ข้อกำหนด CSDDD ท้ายที่สุด มีการตัดสินใจว่าจะถูกนำไปใช้กับ “บริษัทในสหภาพยุโรป” ที่มีรายได้สุทธิทั่วโลกเกินกว่า 450 ล้านยูโร (416 ล้านดอลลาร์) และมีการจ้างงานมากกว่า 1,000 คน โดยดำเนินการจะค่อยเป็นค่อยไป โดยเริ่มจากบริษัทที่ใหญ่ที่สุด และขยายไปยังบริษัทขนาดเล็กถัดมาคือ “บริษัทนอกสหภาพยุโรป” ที่มีรายได้ 450 ล้านยูโรในสหภาพยุโรป โดยไม่มีเกณฑ์จำนวนพนักงาน ซึ่งไทยก็ถือว่าอยู่ในห่วงโซ่อุปทาน ซึ่งอาจจะได้รับผลกระทบตรงนี้ด้วย

 

เตรียมพร้อม ผู้ประกอบการไทย

นับจากนี้ หลังจากรัฐสภายุโรปให้การอนุมัติขั้นสุดท้าย แต่ละประเทศในสหภาพยุโรปจะมีเวลา 2 ปีในการเปลี่ยนข้อกำหนด CSDDD เป็นกฎหมายระดับชาติ จากนั้นบริษัทต่างๆ จะมีเวลา 3 ถึง 5 ปี นับจากการมีผลบังคับใช้ของข้อกำหนด ในการปฏิบัติตามขึ้นอยู่กับขนาดของบริษัท

 

ขณะเดียวในประเทศไทย ซึ่งมี ร่าง พ.ร.บ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งผลักดันใช้ในไทยอย่างไรก็ตาม เรื่องของการกำหนดกติกาในประเทศเป็นเรื่องภายใน แต่เรามีการส่งออก GDP กว่า 50% ขึ้นอยู่กับต่างชาติ EU เจรจามาแล้วกับสหรัฐ ดังนั้น Green Deal เกิดขึ้นแน่นอน และล่าสุด ยังมีการพูดคุยกับประเทศจีน

 

“บริษัทในตลาดหลักทรัพย์ Top5 กำลังทำ Climate Tech หากเป็นสตาร์ตอัป เป็นโซลูชัน จะเป็นไปได้หรือไม่หากจะเปลี่ยนไทยเป็นสายเซอร์วิส ท่องเที่ยวและบริการ หากตรวจสอบได้ว่าธุรกิจให้บริการโดยไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชน ไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงการท่องเที่ยว หลายคนอาจมองว่าเป็นความท้าทาย แต่หากเราไปด้วยกันก็ถือเป็น โอกาส”

 

\'ภาคธุรกิจไทย\' ปรับตัวอย่างไร เมื่อยุโรปเอาจริง ‘สิทธิมนุษยชน สิ่งแวดล้อม’

 

ตัวช่วยบรรลุเป้าหมาย

สัปดาห์ที่ผ่านมา UN Global Compact ได้มีการหารือที่รัฐสภายุโรป และเครือข่าย 15 ประเทศ ที่คิดว่าน่าจะขับเคลื่อนต่อ มีข้อเสนอว่าจะต้องมาช่วยกัน โดย UN Global Compact มองว่า จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถ หากจะบรรลุความสามารถในการย้อนสอบกลับของตัวเราเอง อาทิ การลดความเหลื่อมล้ำด้านแรงงานข้ามชาติ

 

โดย UN Global Compact มีคู่มือในการประเมินความเสี่ยง และมี UN Global Compact Academy แพลตฟอร์มเรียนรู้ด้านความยั่งยืนเกี่ยวกับภาคเอกชนที่นักธุรกิจมากกว่า 100,000 คน เข้าร่วมในแต่ละปี , Peer Learning แพลตฟอร์มแบ่งปันผลลัพธ์ ความสำเร็จ และข้อควรเรียนรู้จากการดำเนินงานด้านความยั่งยืนของบริษัทต่างๆ ในภูมิภาค , Business Accelerators โปรแกรมช่วยเหลือบริษัทต่างๆ ให้มุ่งเน้นไปที่การดำเนินงานด้านสิทธิมนุษยชน การดำเนินการด้านสภาพอากาศ ความเท่าเทียมทางเพศ และนวัตกรรมเพื่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน และ Think Labs โครงการที่ผู้นำจากพื้นที่ต่างๆ มารวมตัวกัน เพื่อค้นหาแนวทางแก้ไขปัญหาสำคัญด้านความยั่งยืน

 

ข้อกำหนด CSDDD ไม่เพียงมีผลบังคับใช้ต่อบริษัทในสหภาพยุโรป แต่ยังมีผลกระทบต่อบริษัทต่างชาติรวมถึงภาคเอกชนของไทยที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทาน ดังนั้น บนเส้นทางความยั่งยืนไปสู่ความเป็นกลางต่อสภาพภูมิอากาศ ในปี 2050 ของเศรษฐกิจแห่งสหภาพยุโรป จะมีข้อกำหนดอื่นๆ ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญของ EU Green Deal ตามมาอีกมากมาย

 

"ต้องศึกษาระเบียบข้อบังคับ สร้างกลไกรองรับความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น รวมถึงทำให้แน่ใจว่า บริษัทของคุณรับผิดชอบต่อผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชน และสิ่งแวดล้อมอย่างรอบด้าน เพื่อให้ธุรกิจดำเนินไปได้อย่างราบรื่น ไม่ละเมิดกติกาสากล ซึ่งจะทำให้มีแต้มต่อทางการแข่งขันในอนาคตอย่างชัดเจน” ธันยพร กล่าว

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์