'น้ำภาคตะวันออก' ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 15 ปี นิคมฯเร่งแผนรับมือลดสูญเสีย

'น้ำภาคตะวันออก' ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 15 ปี นิคมฯเร่งแผนรับมือลดสูญเสีย

'น้ำภาคตะวันออก' ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 15 ปี นิคมฯเร่งแผนรับมือลดสูญเสีย “WHA” ชี้ภาครัฐบริหารจัดการได้ดี ลุยรีไซเคิลน้ำเสีย “ธุรกิจบริการภาคตะวันออก” ผุดแผนรับมือ “โรงแรม” สั่งซื้อน้ำตุนชั่วคราว อสังหาฯ ชงปฏิรูประบบชลประทาน “ศูนย์การค้าเซ็นทรัล” วางโรดแมปน้ำยั่งยืน

ภาคตะวันออกเป็นแหล่งลงทุนสำคัญของภาคการผลิต ที่ผ่านมาเคยเกิดวิกฤติขาดแคลนน้ำอย่างรุนแรง กระทบภาคการผลิต ทำให้ช่วงที่ผ่านมามีการวางแผนเพื่อรับมือสถานการณ์น้ำขาดแคลน

การบริหารน้ำแล้งภาคตะวันออกปี 2567 บริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) รายงานว่า ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำสำคัญในจังหวัดระยอง 3 แห่ง คือ อ่างเก็บน้ำดอกกราย อ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล และอ่างเก็บน้ำคลองใหญ่ มีปริมาณน้ำในอ่างวันที่ 11 เม.ย.2567 รวม 155.23 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 56.4% ของความจุอ่าง

ทั้งนี้ หากเทียบสถานการณ์น้ำปัจจุบันกับค่าเฉลี่ย 15 ปี (2549-2565) พบว่าปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำต่ำกว่าค่าเฉลี่ยดังกล่าว ทำให้นิคมอุตสาหกรรมในภาคตะวันออกเพิ่มความเข้มงวดในการเตรียมแผนรับมือสถานการณ์น้ำ

นอกจากนี้ หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนได้เตรียมความพร้อมในการรับมือสถานการณ์น้ำเพื่อให้เพียงพอกับภาคอุปโภคบริโภค ภาคเกษตรกรรม ภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการในภาคตะวันออก โดยสูบผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำประแสร์-อ่างเก็บน้ำคลองใหญ่ รวมถึงการสูบผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำประแสร์-อ่างเก็บหนองปลาไหล 

รวมทั้งมีการสำรองน้ำจากแม่น้ำบางปะกงเข้าอ่างเก็บน้ำบางพระ ช่วงเดือน ส.ค.-พ.ย. และสูบผันน้ำจากคลองพระองค์เจ้า-บางพระ และใช้น้ำจากแหล่งน้ำเอกชนเข้ามาเสริมในพื้นที่ชลบุรีและฉะเชิงเทรา และมีการสูบกลับคลองสะพานเติมอ่างเก็บน้ำประแสร์ รวมถึงปฏิบัติการฝนหลวง และสูบผันน้ำจากคลองวังโตนด อางเกบนาประแสร ในชวงฤดฝนเดือน มิ.ย.-ต.ค.นี้

นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวว่า กนอ.ได้เตรียมพร้อมรับมือการบริหารจัดการน้ำในภาคอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ปัจจุบันพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) มีความต้องการใช้น้ำประมาณ 1.5 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน หรือ 460 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี

ทั้งนี้ อ่างเก็บน้ำเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) มีปริมาณความจุ 680 ล้านลูกบาศก์เมตร และผันน้ำจากพื้นที่จันทบุรี มาเติมได้ประมาณ 500,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน หรือ 70 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี ซึ่งปัจจุบันก็ยังไม่มีการผันน้ำมาใช้อย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม ภาคเกษตรกรรมในพื้นที่จะได้รับจัดสรรน้ำในลำดับก่อนภาคอุตสาหกรรม ซึ่งในส่วนของ กนอ.เอง ทั้ง นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด มีความต้องการใช้น้ำประมาณ 250,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน หรือ 90 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี

ยืนยันปริมาณน้ำเพียงพอถึงฤดูฝน

ดังนั้น กนอ.ได้ตรวจสอบปริมาณน้ำใน 4 อ่างเก็บน้ำหลักของกรมชลประทานทุกสัปดาห์ ได้แก่ อ่างเก็บน้ำดอกกราย, อ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล, อ่างเก็บน้ำคลองใหญ่ และอ่างเก็บน้ำประแสร์ ซึ่งจากการตรวจสอบล่าสุด วันที่ 18 เม.ย.2567 ถือว่ายังอยู่ในระดับ 52.05% โดย กนอ.จึงเชื่อว่าจะสามารถมีน้ำใช้ไปจนถึงฤดูฝนของปีนี้

กนอ. ได้มีการเตรียมการรองรับกรณีเกิดภัยแล้งในพื้นที่เรียบร้อยแล้ว แบ่งเป็น 

1.โครงการที่ กนอ. ดำเนินการแล้ว 4 โครงการ ได้แก่ โครงการสูบน้ำสระพักน้ำดิบ ความจุ 1.6 ล้านลูกบาศก์เมตร, โครงการสูบน้ำจากคลองน้ำหู ทับมา ปริมาณน้ำสูงสุด 30,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน, โครงการผลิตน้ำรีไซเคิลคลองชากหมาก ปริมาณน้ำสูงสุด 5,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน และโครงการรับน้ำเอกชนเพื่อลดการใช้น้ำในอ่างหลักของกรมชลประทาน ปริมาณน้ำ 125,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน

2.โครงการที่ กนอ. กำลังศึกษาเพื่อดำเนินการในอนาคต ได้แก่ ระบบผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเล (Desalination Plant) ปริมาณ 200,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน 

ทั้งนี้ กนอ.จัดจ้างสถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นที่ปรึกษาเพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุนผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเล เพื่อแก้ปัญหาความเสี่ยงการขาดแคลนน้ำในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (Feasibility Study)

หลัก 3R เพิ่มประสิทธิภาพรับภัยแล้ง

นอกจากนี้ กนอ.ได้รณรงค์และได้แจ้งผู้ประกอบการช่วยใช้น้ำอย่างประหยัด ลดน้ำสูญเสีย และพิจารณานำหลักการ 3 R (Reduce Reuse and Recycle) มาเพิ่มประสิทธิภาพใช้น้ำในโรงงาน เพื่อเตรียมรองรับภัยแล้งปี 2566-2567 เรียบร้อยแล้ว มีหนังสือลงวันที่ 28 กันยายน 2566 แจ้งผู้ประกอบการเตรียมรับภัยแล้งปี 2566 ต่อเนื่องจนถึงต้นปี 2567

รวมทั้งทบทวนจากรายงานผลศึกษา ของสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) และจากรายงานผลการศึกษาพบว่า การวิเคราะห์ความเป็นไปได้ของการเงินและการลงทุนของโครงการมีการเปลี่ยนแปลง 

จากรายงานผลศึกษาฯ ของ สทนช.ประมาณความต้องการใช้น้ำเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก 200,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน แต่ กนอ.จำหน่ายน้ำได้ภายในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ที่ต้องการใช้น้ำ 50,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน ทำให้อัตราค่าน้ำที่ผ่านระบบผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเล มีอัตราที่ 34.30 บาทต่อลูกบาศก์เมตร

รวมทั้งจากการสอบถามผู้ประกอบในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ซึ่งเป็นผู้ใช้น้ำรายใหญ่ 20 อันดับแรก พบว่า อัตราค่าน้ำอุตสาหกรรมควรอยู่ที่ 16.00-27.25 บาทต่อลูกบาศก์เมตร และหากสูงกว่าอัตราดังกล่าว ทำให้ไม่สามารถแข่งขันกับผู้จำหน่ายน้ำรายอื่นได้ ดังนั้นจึงเห็นชะลอก่อสร้างระบบผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเลจนกว่าจะมีเทคโนโลยีใหม่ที่ทำให้ต้นทุนการผลิตต่ำลง

“WHA” ระบุปีนี้ไม่แล้งเท่าปีก่อน

นายปจงวิช พงษ์ศิวาภัย ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท ดับบลิวเอชเอ อินดัสเตรียล ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปัญหาภัยแล้งปีนี้ไม่มีปัญหาอะไร เพราะปรากฏการณ์เปลี่ยนจากเอลนีโญเป็นลานีญาแล้ว ถือเป็นสภาวะตรงข้ามของเอลนีโญ ดังนั้นภัยแล้งปีนี้ถือว่าสบายใจได้ และคาดว่าฝนน่าจะมาในระดับที่ปกติ เป็นเรื่องพื้นฐานขณะที่ การบริหารจัดการน้ำจากการผันน้ำต่างๆ ของรัฐบาลได้บริหารจัดการดี

อย่างไรก็ตาม ดับบลิบเอชเอ กรุ๊ป ได้รีไซเคิลน้ำเสีย โดย บริษัท ดับบลิวเอชเอ ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ WHAUP ผู้ให้บริการด้านสาธารณูปโภคเกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำและพลังงาน พัฒนาระบบนําน้ำเสียกลับมาใช้ใหม่ (Water Reclamation) เพื่อเป็นแหล่งผลิตน้ำทางเลือก โดยเฉพาะเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก

โครงการดังกล่าวนําเทคโนโลยีที่มีอยู่เดิมมาประยุกต์ใช้ร่วมนวัตกรรมใหม่ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้น้ำเสีย ปรับสภาพน้ำจากระบบบําบัดน้ำเสียมาผลิตเป็นน้ำปราศจากแร่ธาตุ และน้ำอุตสาหกรรมคุณภาพสูง

ทั้งนี้ เป็นการแปรรูปให้ผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าทางการตลาดสูงขึ้น ขณะที่ต้นทุนลดลงกว่าเดิม ปี 2564 ที่ผ่านมากลุ่มบริษัทฯ ทํารายได้จากโครงการ Water Reclamation ทั้งสิ้น 150 ล้านบาท คิดเป็น 8% ของรายได้ทั้งหมด จากการจําหน่ายน้ำเพื่ออุตสาหกรรม ทั้งสร้างคุณประโยชน์ให้กับสิ่งแวดล้อมและสังคม ลดปริมาณการปล่อยน้ำเสีย

ธุรกิจบริการ “ซื้อน้ำตุน”

นางสาวมรกต กุลดิลก นายกสมาคมโรงแรมไทยภาคตะวันออก กล่าวว่า การรับมือวิกฤติภัยแล้งของผู้ประกอบการโรงแรมและรีสอร์ตในภาคตะวันออก รวมถึงเมืองท่องเที่ยวหลักอย่าง จ.ชลบุรี เบื้องต้นแต่ละโรงแรมต้องช่วยเหลือตัวเอง สั่งซื้อน้ำให้รถบรรทุกน้ำมาส่งเป็นการชั่วคราว เพราะน้ำประปาไหลไม่เพียงพอกับดีมานด์ โดยเฉพาะช่วงพีคที่ใช้น้ำสูง 

โรงแรมบางแห่งที่มีบ่อน้ำค่อนข้างใหญ่จะกักเก็บระหว่างที่น้ำประปาถูกปล่อยออกมา ส่วนโรงแรมขนาดเล็กต้องใช้บริการรถบรรทุกน้ำมาวิ่งช่วย ทำให้ผู้ประกอบการมีต้นทุนเพิ่มขึ้น 

อย่างไรก็ตาม การประปาส่วนภูมิภาคได้ผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำในส่วนรอบๆ รวมไปถึงใน จ.ระยอง และ จ.จันทบุรี เข้ามาด้วย เพื่อให้มีน้ำเพียงพอต่อการใช้งาน

“วิกฤติภัยแล้งเป็นปัญหาทุกปีอยู่แล้ว 2-3 ปีที่ผ่านมา ถึงจะแล้งแต่ปริมาณการใช้น้ำในโรงแรมมีไม่มาก เพราะผลกระทบจากโควิด-19 แต่ปีนี้ท่องเที่ยวกลับมาค่อนข้างดีมาก การประปาฯ จึงเพิ่มปริมาณน้ำ ผันน้ำจากพื้นที่ใกล้เคียงเข้ามามากขึ้น แต่ละโรงแรมพยายามสำรองน้ำมากขึ้น คาดว่าพอเข้าฤดูฝน ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำจะมีมากขึ้น ช่วยแก้ปัญหาได้”

ชู3R บริหารน้ำยั่งยืน

นายณัฐกิตติ์ ตั้งพูลสินธนา กรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานการตลาด บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทวางแนวทางจัดการน้ำด้วยการยึดหลักตามแนวทางความยั่งยืน ด้วยกรอบ 3R ประกอบด้วย ลดการใช้น้ำ (Reduce) การใช้น้ำซ้ำ (Reuse) และนำน้ำกลับมาใช้ใหม่ (Recycle) เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในทุกพื้นที่ 

พร้อมเลือกใช้สุขภัณฑ์ประหยัดน้ำสำหรับโครงการที่สร้างขึ้นใหม่ หรือปรับปรุงศูนย์การค้า ติดตั้งก๊อกประหยัดน้ำ ปรับอัตราการไหลของน้ำเพื่อการชำระล้างที่ก๊อกน้ำอ่างล้างหน้าและโถสุขภัณฑ์ ติดตั้งระบบน้ำหยดและระบบสปริงเกอร์แบบประหยัดน้ำในการรดน้ำต้นไม้ในสวนโดยรอบโครงการ ปฏิบัติตามกฎหมายควบคุมการใช้น้ำและมาตรฐานต่าง ๆ

ขณะเดียวกัน ได้ติดตั้งระบบผลิตน้ำรีไซเคิล รวม 18 โครงการ ผลิตน้ำรีไซเคิลเพื่อใช้หมุนเวียนได้ 617 ล้านลิตร คิดเป็น 5.2% ของปริมาณน้ำใช้ทั้งหมด น้ำที่ผ่านกระบวนการรีไซเคิลแล้วจะถูกนำกลับมาใช้ใหม่ในหอระบายน้ำเย็น (Cooling Tower) และกิจกรรมที่ใช้ได้ เช่น รดน้ำต้นไม้ 

ทั้งศึกษาแนวทางเพิ่มจำนวนโครงการที่จะติดตั้งระบบน้ำรีไซเคิล และหาเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการรีไซเคิล พร้อมทั้งประเมินความเสี่ยงภัยแล้งของทุกพื้นที่ที่ดำเนินธุรกิจ

ปฏิรูประบบชลประทาน

นายสืบวงษ์ สุขะมงคล ประธานกรรมการบริหาร บริษัท มารวย เรียลเอสเตท จำกัด ระบุว่า จากกระแสความวิตกว่าพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) จะมีปัญหาขาดแคลนน้ำ รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรมีหน่วยงานบริหารจัดการแบบครบวงจร เนื่องจากปัจจุบันการบริหารจัดการเป็นแบบเบี้ยหัวแตก อยู่ภายใต้หลายกระทรวง เช่น กระทรวงทรัพยากรฯ กรมชลประทาน หน่วยงานท้องถิ่นต่างๆ ฯลฯ

“ต้องมีเจ้าภาพบริหารจัดการ รวมศูนย์ข้อมูลที่เกี่ยวข้องเพื่อบริหารให้เกิดประสิทธิภาพ ควรปฏิรูประบบชลประทานเพื่อเกิดการบริหารจัดการแบบครบวงจร”

แนะทำแก้มลิงทั่วประเทศ

ในส่วนภาคอสังหาริมทรัพย์หากเกิดภัยแล้ง จะกระทบโดยตรงต่อกำลังซื้อ หากโครงการไหน “ไม่มี” แหล่งน้ำรองรับอาจทำให้ขาดแคลนน้ำใช้ภายในโครงการได้

อย่างไรก็ตาม ตามหลักการควรทำแก้มลิงทั่วประเทศ ป้องกันกรณีเกิดน้ำท่วมจะมีตัวดักและเวลาน้ำแล้งจะมีน้ำใช้เพราะปัจจุุบันการขุดคลองทำลำบากขึ้น เพราะกลายเป็นถนนไปหมดแล้ว

นายไพโรจน์ วัฒนวโรดม กรรมการผู้จัดการ บริษัท อีสเทอร์นสตาร์ เรียล เอสเตท จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การขาดแคลนน้ำในเขตอีอีซี เป็นเรื่องยากคาดเดาว่าจะเกิดหรือไม่เกิดเพราะเป็นภัยธรรมชาติ ในปีที่ผ่านมาไม่ได้แล้ง ใน จ.ชลบุรี ระยอง น้ำมาจากทะเล บางปีน้ำท่วม แต่ทุกครั้งฝนตกในเดือน พ.ค.-มิ.ย. มีน้ำพอเพียงใช้งาน สำหรับการรับมือของอีสเทอร์นสตาร์ ได้ขุดบ่อน้ำ ขยายแก้มลิงรองรับตั้งแต่ปีที่ผ่านมา เชื่อว่าจะรับมือภัยแล้งได้