‘สารเคมีตลอดกาล’ ปนเปื้อนทุกที่ในโลก ตั้งแต่ในอากาศ พื้นดิน และในน้ำ

‘สารเคมีตลอดกาล’ ปนเปื้อนทุกที่ในโลก ตั้งแต่ในอากาศ พื้นดิน และในน้ำ

นักวิจัยอึ้งค้นพบ “สารเคมีตลอดกาล” หรือ PFAS ทั่วโลก ทั้งในน้ำ อากาศ ผืนดิน แม้แต่ในพื้นที่ห่างไกลกลางทะเลและขั้วโลก รวมไปถึงในร่างกายของสิ่งมีชีวิต ซึ่งอาจเข้าไปทำลายสมองของสัตว์มีกระดูกสันหลังและส่งผลต่อระบบประสาทได้

KEY

POINTS

  • “สารเคมีตลอดกาล” หรือ PFAS เป็นสารเคมีประเภทหนึ่งที่มีความทนทานสูง และสลายตัวช้ามาก ถูกใช้เป็นส่วนประกอบข้าวของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันหลากหลายประเภท เพื่อทำให้บรรจุภัณฑ์ สี และสารเคลือบมีความทนทานต่อน้ำหรือความร้อนเป็นพิเศษ เช่น เครื่องครัว โฟมดับเพลิง และเสื้อผ้า ตลอดจนบรรจุภัณฑ์อาหาร เครื่องสำอาง เฟอร์นิเจอร์ ฯลฯ โดยปัจจุบันมีสารประกอบทางเคมีอย่างน้อย 4,000 ชนิดที่เป็น PFAS
  • การศึกษาใหม่พบแหล่งน้ำทั่วโลกทั้งน้ำใต้ดินและน้ำผิวดินมี PFAS เจือปนอยู่ และยังตรวจพบในมหาสมุทรอาร์กติกที่ระดับความลึก 914 เมตร ซึ่งเป็นพื้นที่ห่างไกลสุดขอบโลก อีกทั้งยังพบในสิ่งมีชีวิตทั่วโลก อาจเข้าไปทำลายสมองของสัตว์มีกระดูกสันหลังและส่งผลต่อระบบประสาทได้
  • หลายประเทศเตรียมห้ามใช้ PFAS ทั้งในยุโรป นิวซีแลนด์ และสหรัฐ

นักวิจัยอึ้งค้นพบ “สารเคมีตลอดกาล” หรือ PFAS ทั่วโลก ทั้งในน้ำ อากาศ ผืนดิน แม้แต่ในพื้นที่ห่างไกลกลางทะเลและขั้วโลก รวมไปถึงในร่างกายของสิ่งมีชีวิต ซึ่งอาจเข้าไปทำลายสมองของสัตว์มีกระดูกสันหลังและส่งผลต่อระบบประสาทได้

เมื่อร้อยปีที่ผ่านมา ไม่มีใครรู้จัก “สารเคมีตลอดกาล” หรือ PFAS แต่ในตอนนี้สารดังกล่าว ปนเปื้อนอยู่ในทุกอณูของสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่ในอากาศ ผืนดิน และน้ำบาดาล ทั้งในหิมะบนขั้วโลกเหนือที่ห่างไกล ไปจนถึงไข่เต่าที่ฝังอยู่บนหาดทราย ทำให้แต่ละประเทศต่างกังวลเกี่ยวกับผลกระทบต่อสุขภาพที่เกิดขึ้นจากสารพิษเหล่านี้มากยิ่งขึ้น

“สารเคมีตลอดกาล” หรือ PFAS เป็นสารเคมีประเภทหนึ่งที่มีความทนทานสูง และสลายตัวช้ามาก ถูกใช้เป็นส่วนประกอบข้าวของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันหลากหลายประเภท เพื่อทำให้บรรจุภัณฑ์ สี และสารเคลือบมีความทนทานต่อน้ำหรือความร้อนเป็นพิเศษ เช่น เครื่องครัว โฟมดับเพลิง และเสื้อผ้า ตลอดจนบรรจุภัณฑ์อาหาร เครื่องสำอาง เฟอร์นิเจอร์ ฯลฯ โดยปัจจุบันมีสารประกอบทางเคมีอย่างน้อย 4,000 ชนิดที่เป็น PFAS

 

แหล่งน้ำทั่วโลก ปนเปื้อน “PFAS” 

การศึกษาใหม่เก็บตัวอย่างน้ำมากกว่า 45,000 ตัวอย่างทั่วโลกพบว่าประมาณ 31% ของตัวอย่างน้ำใต้ดิน มีระดับ PFAS ถือว่าเป็นอันตรายต่อสุขภาพของมนุษย์โดยหน่วยงานคุ้มครองสิ่งแวดล้อม แม้แหล่งที่เก็บน้ำจะไม่ได้อยู่ใกล้แหล่งที่มีการปนเปื้อนก็ตาม ขณะที่ 16% ของน้ำผิวดิน เช่น ลำธาร แม่น้ำ สระน้ำ และทะเลสาบ ประมาณ 16% ที่ไม่ได้อยู่ใกล้แหล่งใดๆ ที่ทราบ มีระดับ PFAS ที่เป็นอันตรายเช่นเดียวกัน

การค้นพบนี้ “สัญญาณเตือนภัย” แก่มนุษย์ให้ตระหนักถึงปัญหาสารเคมีที่ส่งผลกระทบในระยะยาว “ไม่ใช่แค่สำหรับ PFAS เท่านั้น แต่ยังรวมถึงสารเคมีอื่นๆ ทั้งหมดที่เราปล่อยออกสู่สิ่งแวดล้อมด้วย เราจำเป็นต้องทราบถึงผลกระทบระยะยาวต่อมนุษย์หรือระบบนิเวศ” เดนิส โอคาร์รอล ศาสตราจารย์ด้านวิศวกรรมโยธาและสิ่งแวดล้อมจากมหาวิทยาลัยนิวเซาท์เวลส์ และเป็นหนึ่งในผู้เขียนการศึกษาวิจัยนี้ ซึ่งตีพิมพ์ในนิตยสาร Nature Geoscience กล่าว 

ในการศึกษาพบว่าสหรัฐและออสเตรเลียมีความเข้มข้นของ PFAS สูงเป็นพิเศษในตัวอย่างน้ำ โดยพบการปนเปื้อนระดับสูงสุดใกล้กับสถานที่ต่าง ๆ เช่น สนามบินและฐานทัพทหาร ซึ่งมักใช้โฟมที่มีส่วนผสมของ PFAS เพื่อดับไฟ ประมาณ 60-70% ของตัวอย่างน้ำใต้ดินและน้ำผิวดินใกล้กับสถานที่เหล่านี้มีระดับ PFAS เกินกำหนด 

อย่างไรก็ตาม ดร.เดวิด แอนดรูว์ นักวิทยาศาสตร์อาวุโสขององค์กรวิจัยด้านสิ่งแวดล้อม กล่าวว่าแม้ว่าการบำบัดน้ำดื่มจะมีความสำคัญ แต่ก็ไม่สามารถแก้ปัญหาทั้งหมดได้ งานวิจัยของเขาเองแสดงให้เห็นว่าสารเคมี PFAS แพร่หลายในสัตว์ป่าเช่นกัน

“เมื่อ PFAS แพร่กระจายสู่สิ่งแวดล้อม การกำจัดพวกมันก็เป็นเรื่องยากอย่างไม่น่าเชื่อ หรือในหลาย ๆ กรณีก็แทบเป็นไปไม่ได้เลย แต่ทางออกที่ดีที่สุดคือการไม่ใช้มันตั้งแต่แรก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานที่ที่มีทางเลือกอื่นที่ชัดเจน” ดร.แอนดรูว์กล่าวสรุป

 

“PFAS” แฝงอยู่ในสิ่งมีชีวิตทั่วโลก

สารเคมีตลอดกาล เหล่านี้เป็นสารประกอบถาวร ไม่ย่อยสลายและเคลื่อนที่ได้ พวกมันได้ฟุ้งกระจายไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วโลก ทั้งในน้ำ อากาศ ปลา และดินในมุมที่ห่างไกลที่สุดของโลก ทำให้เกิดการปนเปื้อนได้

ไม่มีระบบนิเวศใดรอดพ้นจาก PFAS” ยานน์ อามิโนต์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการปนเปื้อนสิ่งแวดล้อมจากสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์มหาสมุทรแห่งฝรั่งเศส หรือ IFREMER กล่าว 

อามิโนต์ใช้เวลาหกปีในการตรวจสอบปลาทูน่าจากมหาสมุทรอินเดียและมหาสมุทรแปซิฟิก ตับโลมาจากอ่าวบิสเคย์ และตัวอย่างจากฟาร์มหอยนางรมในฝรั่งเศส ซึ่งพบว่าทุกตัวอย่างมีสาร PFAS ปนเปื้อนอยู่ทั้งสิ้น

การศึกษาที่ตีพิมพ์ในเดือนมกราคมโดย American Chemical Society องค์กรวิทยาศาสตร์ที่ไม่แสวงหากำไร ระบุว่า PFAS ถูกตรวจพบในมหาสมุทรอาร์กติกที่ระดับความลึก 914 เมตร ขณะที่ IFREMER พบว่า ทุกห่วงโซ่อาหารในบริเวณปากแม่น้ำแซน ประเทศฝรั่งเศส มี PFAS ปะปนอยู่ ตั้งแต่ในแพลงก์ตอนตัวจิ๋ว มาจนถึงหอย ส่งต่อไปที่ปลาตัวเล็ก มาจนถึงปลากะพงขาวและปลาโซล (ปลาตาเดียว) และนักล่าตัวใหญ่อื่น ๆ 

ขณะที่การศึกษาในปี 2022 จากออสเตรเลีย พบว่ามีการถ่ายทอด PFAS จากเต่าตัวเมียไปยังไข่เต่า ส่วนงานวิจัยอื่น ๆ พบการเจือปน PFAS ในตับของหมีขั้วโลก แมวน้ำ นกและสัตว์อื่น ๆ

 

นานาชาติเตรียมแบน “PFAS”

การวิจัยทางวิทยาศาสตร์จำนวนมากได้แสดงให้เห็นถึงการเข้าถึงที่แพร่หลายของ PFAS ในธรรมชาติ แต่อันตรายที่อาจเกิดขึ้นต่อผู้คนและโลกนั้นยากต่อการพิสูจน์อย่างชัดเจน เป็นเวลากว่า 20 ปีที่แล้ว การศึกษาในสหรัฐสรุปว่า เมื่อ PFAS เข้าไปในร่างกาย อาจเข้าไปทำลายสมองของสัตว์มีกระดูกสันหลังและส่งผลต่อระบบประสาทได้ รวมถึงอาจทำลายระบบภูมิคุ้มกันและตับ ความดันโลหิตสูง เกิดภาวะครรภ์เป็นพิษ มะเร็งไตและมะเร็งลูกอัณฑะ

ต้นเดือนเม.ย. 2567 สมาชิกสภานิติบัญญัติของฝรั่งเศสจะเสนอร่างกฎหมายเพื่อกำกับดูแล PFAS ในสิ่งแวดล้อมที่ทำให้เกิดผลกระทบด้านสุขภาพของประชาชน พร้อมพิจารณาแบนไม่ให้ใช้ PFAS ตั้งแต่ปี 2568 หากมีวัสดุทางเลือกอื่นที่ดีกว่า

ส่วนสหภาพยุโรปกำลังพิจารณาการห้ามใช้ PFAS ทั่วยุโรปตั้งแต่ต้นปี 2569 ในขณะที่นิวซีแลนด์จะห้ามการใช้ PFAS ในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางภายในปี 2570

ทางด้านหน่วยงานกำกับดูแลของสหรัฐ กล่าวว่าวัสดุที่มี PFAS จะไม่ถูกนำมาใช้ในการบรรจุป๊อปคอร์นด้วยไมโครเวฟหรืออาหารมันเยิ้มอื่น ๆ อีกต่อไป นอกจากนี้ศาลสหรัฐ อนุมัติข้อตกลงในการดำเนินคดีโดยกลุ่มบริษัท 3M ตกลงที่จะจ่ายเงินหลายพันล้านเพื่อทดสอบและกรอง PFAS ในแหล่งน้ำสาธารณะ

แต่สิ่งเหล่านี้เป็นเพียง “ยอดภูเขาน้ำแข็ง” ของปัญหาเท่านั้น เพราะนอกจากในตอนนี้จะมี PFAS ปนเปื้อนไปทั่วแล้ว การใช้สารเคมีตลอดชีพยังคงเป็นส่วนประกอบที่เป็นความลับในหลากหลายอุตสาหกรรม และยังคงใช้มันต่อไป


ที่มา: PhysThe GuardianThe New York Times