วิจัยพบคนที่มี ‘ไมโครพลาสติก’ ในร่างกาย  เสี่ยง ‘โรคหัวใจ’ ตายไวขึ้น 4.5 เท่า

วิจัยพบคนที่มี ‘ไมโครพลาสติก’ ในร่างกาย  เสี่ยง ‘โรคหัวใจ’ ตายไวขึ้น 4.5 เท่า

นักวิจัยพบว่า “ไมโครพลาสติก” หรือ ชิ้นส่วนพลาสติกขนาดจิ๋วที่สะสมอยู่ในไขมันภายในหลอดเลือดแดงของมนุษย์ อาจทำให้เกิดความเสี่ยงโรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง และมีอัตราการเสียชีวิตที่สูงขึ้น

งานวิจัยของ ดร.ราฟฟาเอล มาร์เฟลลาจากมหาวิทยาลัยกัมปาเนีย ในอิตาลี พบว่า 58% ของผู้ป่วยที่เข้ารับการผ่าตัดรักษาหลอดเลือดแดงคาโรติด ที่ทำหน้าที่ส่งเลือดไปเลี้ยงสมอง ใบหน้า และลำคอ มีชิ้นส่วนพลาสติกขนาดเล็กทั้งระดับไมโครพลาสติกและนาโนพลาสติก โดยเฉพาะพลาสติกแบบโพลีเอทิลีน (PE) และโพลีไวนิลคลอไรด์ (PVC) ปะปนอยู่ในหลอดเลือด

“โพลีเอทิลีนและโพลีไวนิลคลอไรด์ถูกนำมาใช้งานในหลากหลายรูปแบบทั้งภาชนะบรรจุอาหาร เครื่องสำอาง หรือแม้กระทั่งท่อน้ำ” ผู้เขียนวิจัยกล่าวในบทความที่ตีพิมพ์ในวารสาร The New England Journal of Medicine 

 

“ไมโครพลาสติก” เพิ่มความเสี่ยง “โรคหัวใจ” 

จากการติดตามผลหลังจากผ่านไป 34 เดือน พบว่า 20% ของผู้ที่มีพลาสติกในหลอดเลือดแดงมีอาการหัวใจวาย โรคหลอดเลือดสมอง หรือเสียชีวิตจากสาเหตุใด ๆ สูงกว่าคนที่ไม่มีพลาสติกในร่างกายถึง 4.5 เท่า โดยไม่รวมพิจารณาปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ของแต่ละบุคคล

นอกจากนี้ นักวิจัยยังพบว่าผู้ป่วยที่มีพลาสติกในไขมันภายในหลอดเลือดแดง และอาจทำให้เสี่ยงต่อโรคหัวใจ โรคหลอดเลือดในสมอง และเสียชีวิตได้มากกว่าด้วยเช่นกัน

การอุดตันของหลอดเลือดแดง โดยเฉพาะหลอดเลือดแดงที่คอ ถือเป็นสัญญาณอันตรายของโรคหลอดเลือดสมองและโรคหัวใจ เพราะเมื่อหลอดเลือดแดงที่คออุดตันจากไขมัน เลือดจะไหลเวียนไปยังสมองน้อยลง ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดโรคหลอดเลือดสมองหรือทำให้เสียชีวิตได้

ผมเป็นหมอหัวใจมา 30 ปี ไม่เคยคิดเลยว่าจะมีไมโครพลาสติกอยู่ในหลอดเลือดแดงของเรา และการมีมันอยู่จะเร่งให้เกิดภาวะหลอดเลือดแข็งตัวเร็วขึ้น” ดร.เอริค โทพอล แพทย์หทัยวิทยาและรองประธานบริหารของ Scripps Research ในสหรัฐกล่าว

พร้อมตั้งข้อสังเกตว่าไมโครพลาสติกเหล่านี้มีอยู่ทุกที่ทุกเวลาไม่ว่าจะเป็นน้ำดื่ม อาหาร และในอากาศ ซึ่งสามารถเข้าสู่ร่างกายได้อย่างง่ายได้

ก่อนหน้านี้มีการศึกษาหลายชนิดที่ ตรวจพบไมโครพลาสติกและนาโนพลาสติกหลายประเภทในเนื้อเยื่อของมนุษย์ รวมถึงลำไส้ใหญ่ ตับ ม้าม ต่อมน้ำเหลือง และรก 

จากการทดลองในหนูแสดงให้เห็นว่าไมโครพลาสติกสามารถกระตุ้นให้เกิดการอักเสบของเซลล์หัวใจ ส่งผลประสิทธิภาพการทำงานของหัวใจลดน้อยลง หัวใจเต้นผิดปกติ ซึ่งอาจเกิดขึ้นแบบในร่างกายมนุษย์

อย่างไรก็ตาม การศึกษาดังกล่าวเป็นกลุ่มเล็ก ๆ ซึ่งเริ่มแรกประกอบด้วยผู้ป่วย 304 ราย แต่มีเพียง 257 คนเท่านั้นที่อยู่จนครบกระบวนการศึกษา จึงจำเป็นต้องมีการวิจัยเพิ่มเติมเพื่อดูว่าไมโครพลาสติกก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพของมนุษย์หรือไม่ 

กำจัดพลาสติก ลด “ไมโครพลาสติก”

ดร.ฟิลิป แลนดริแกน หนึ่งในผู้ร่วมเขียนงานวิจัย กล่าวว่า เราต้องตระหนักว่าถึงพลาสติกจะมีราคาถูกและทำให้เราสะดวกสบาย ในความเป็นจริงพลาสติกเหล่านั้นสร้างอันตรายให้แก่พวกเราได้

“เราจำเป็นต้องให้ผู้ป่วยลดการใช้พลาสติก โดยเฉพาะพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งที่ไม่จำเป็น นานาชาติต้องมุ่งเน้นไปที่การจำกัดการใช้พลาสติกที่เป็นหนึ่งในปัญหาของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วย” ดร.แลนดริแกนกล่าว

ในรายงานปี 2022 ขององค์การอนามัยโลก กล่าวว่าการกินและสูดดมไมโครพลาสติกส่งผลกระทบต่อสุขภาพของมนุษย์ในระยะยาว และพลาสติกไม่อยู่ในสิ่งแวดล้อม ควรดำเนินมาตรการอย่างเร่งด่วนเพื่อลดจำนวนพลาสติก

สนธิสัญญาพลาสติกโลก (Global treaty on plastic) จะมีการประกาศใช้โดย 175 ประเทศ ในปี 2568 มีเป้าหมายเพื่อลดมลพิษพลาสติกให้เป็นศูนย์ภายในปี 2040 และจำกัดการสัมผัสไมโครพลาสติกทั่วโลก โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศที่มีรายได้ปานกลางหรือต่ำ และกลุ่มเด็ก ทั้งนี้สนธิสัญญาฉบับนี้ยังอยู่ในกระบวนการร่างแผนงาน

ขณะเดียวกันในหลายประเทศเริ่มนำร่องแก้ไขปัญหาขยะพลาสติก ด้วยการแบนพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว และถุงพลาสติกเป็นที่เรียบร้อยแล้ว


ที่มา: Euro NewsReutersThe ConversationUSA Today