‘สฟาลบาร์’ แหล่งวิจัย - อากาศดีที่สุดในโลก กับกฎสุดแปลก

‘สฟาลบาร์’ แหล่งวิจัย - อากาศดีที่สุดในโลก กับกฎสุดแปลก

รู้จัก “สฟาลบาร์” เมืองที่อยู่เหนือที่สุดในโลกที่มีมนุษย์อาศัยอยู่ถาวร ในฐานะเมืองแห่งการวิจัยของโลก และเมืองที่ขึ้นชื่อว่าอากาศสะอาดที่สุดในโลก พร้อมกฎแปลกๆ ของเมืองอย่างห้ามใช้ไวไฟ และห้ามล็อกประตูเมื่อหมีขั้วโลกบุก แต่ “ภาวะโลกร้อน” กำลังทำให้เมืองนี้เปลี่ยนไป

KEY

POINTS

  • สฟาลบาร์” (Svalbard) เมืองแห่งการวิจัยของโลก สถานีสังเกตการณ์สำหรับวัดระดับก๊าซเรือนกระจกและมลพิษ พร้อมธนาคารเก็บเมล็ดพืชจากทั่วโลก พร้อมพ่วงตำแหน่งเมืองที่มีอากาศดีที่สุดในโลก
  • ในเมืองนี้ ห้ามใช้ไวไฟและสัญญาณวิทยุทุกชนิด เนื่องจากมีการติดตามการเคลื่อนไหวและสนามโน้มถ่วงของโลก อีกทั้งห้ามล็อกประตูเมื่อหมีขั้วโลกบุก  เพื่อให้คนที่อยู่ข้างนอกสามารถเข้ามาหลบภัยได้
  • ภาวะโลกร้อน” และ “การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” ทำให้สภาพภูมิอากาศและระบบนิเวศแตกต่างไปจากเดิม อีกทั้งมีมลพิษและสารเคมีต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้น

รู้จัก “สฟาลบาร์” เมืองที่อยู่เหนือที่สุดในโลกที่มีมนุษย์อาศัยอยู่ถาวร ในฐานะเมืองแห่งการวิจัยของโลก และเมืองที่ขึ้นชื่อว่าอากาศสะอาดที่สุดในโลก พร้อมกฎแปลกๆ ของเมืองอย่างห้ามใช้ไวไฟ และห้ามล็อกประตูเมื่อหมีขั้วโลกบุก แต่ “ภาวะโลกร้อน” กำลังทำให้เมืองนี้เปลี่ยนไป

รู้จัก “สฟาลบาร์” (Svalbard) เมืองที่อยู่เหนือที่สุดในโลกที่มีมนุษย์อาศัยอยู่ถาวร ในฐานะเมืองแห่งการวิจัยของโลก และเมืองที่ขึ้นชื่อว่าอากาศสะอาดที่สุดในโลก มีหอสังเกตการณ์สำหรับวัดระดับก๊าซเรือนกระจก และมลพิษทั่วโลก ที่เก็บเมล็ดพืชจากทั่วโลก พร้อมกฎสุดแปลกของเมืองอย่างห้ามใช้ไวไฟ และห้ามล็อกประตูอาหารเมื่อหมีขั้วโลกบุก แต่ “ภาวะโลกร้อน” กำลังทำให้ระบบนิเวศของเมืองนี้เปลี่ยนไป

สฟาลบาร์” หมู่เกาะใกล้ “ขั้วโลกเหนือ” ของ “นอร์เวย์” มีพลเมืองบางตาไม่ถึงร้อยคน ซึ่งส่วนมากเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่เข้ามาทำการศึกษาต่างๆ แต่เต็มไปด้วย “หมีขั้วโลก” ที่อาศัยอยู่ทั่วเกาะ เมืองนี้รายล้อมไปด้วยหิมะขาวโพลน และอากาศหนาวเย็นตลอดทั้งปี ด้านหนึ่งมีภูเขาสูงตั้งตระหง่านประจันหน้ากับฟยอร์ดอยู่อีกด้านหนึ่ง

สฟาลบาร์

บรรยากาศในเมืองสฟาลบาร์

 

“สฟาลบาร์” พื้นที่อากาศสะอาดที่สุดในโลก

ด้วยตำแหน่งของเกาะที่อยู่ห่างไกลจากแหล่งกำเนิดมลพิษต่างๆ และสภาพแวดล้อมแถบอาร์กติกที่แทบไม่ถูกมนุษย์ทำลาย ทำให้ที่นี่มี “อากาศสะอาดที่สุดในโลก” เป็นเพียงไม่กี่พื้นที่ในโลกที่สามารถสูดหายใจได้อย่างเต็มปอด

เนื่องจากตำแหน่งที่ห่างไกล และระดับความสูงเหนือชั้นบรรยากาศที่สามารถดักจับมลพิษได้ จึงเป็นสถานที่ในอุดมคติที่จะช่วยสร้างภาพสิ่งที่เกิดขึ้นในชั้นบรรยากาศของโลก ในปี 1989 สถานีวิจัยได้ถูกสร้างขึ้นเทือกเขาเซปเปอลิน ที่ระดับความสูง 472 เมตร เพื่อช่วยนักวิจัยในการตรวจสอบมลภาวะในบรรยากาศ 

นอกจากจะตรวจวัดระดับก๊าซเรือนกระจกแล้ว ที่นี่ยังถูกใช้ตรวจวัดก๊าซคลอรีน เช่น CFC โลหะในอากาศ สารมลพิษออร์กาโนฟอสเฟต เช่น ยาฆ่าแมลง และมลพิษที่มักเกี่ยวข้องกับการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล เช่น ไนโตรเจนออกไซด์ ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ และอนุภาคต่างๆ เช่น เขม่า

หอสังเกตการณ์เซปเปอลิน ตั้งอยู่ในสภาพแวดล้อมที่บริสุทธิ์ ห่างไกลจากแหล่งกำเนิดมลพิษ ดังนั้นการวัดระดับก๊าซเรือนกระจกจึงต้องทำที่นี่ เพราะถ้าวัดได้จากที่นี่แสดงว่ามันแพร่ไปทั่วโลกแล้ว ที่นี่เป็นสถานที่ที่ดีในการศึกษาบรรยากาศที่เปลี่ยนแปลงไป” โอเว เฮอร์มานเซน นักวิทยาศาสตร์อาวุโสของหอสังเกตการณ์เซปเปอลิน และสถาบันวิจัยทางอากาศแห่งนอร์เวย์กล่าว

หอสังเกตการณ์เซปเปอลิน

หอสังเกตการณ์เซปเปอลิน

 

“สฟาลบาร์” เมืองไร้ไวไฟและสัญญาณวิทยุ

เมื่อเข้ามาสู่สฟาลบาร์แล้ว ทุกคนจะต้องปิดโทรศัพท์มือถือและไวไฟ (Wi-Fi) ทั้งหมด เนื่องจากเมืองนี้เป็นเขตปลอดวิทยุ เพื่อรักษาความเงียบให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ สำหรับการติดตามการเคลื่อนไหว และสนามโน้มถ่วงของโลก ซึ่งหากนักวิจัยต้องการใช้งานอุปกรณ์ส่งสัญญาณวิทยุจำเป็นต้องได้รับอนุญาตเป็นพิเศษ

หลังเลิกงานในเวลา 16.30 น. คนส่วนใหญ่ในเมืองจะแยกย้ายกันกลับบ้าน ทำให้เมืองเงียบสงบ และปราศจากการสื่อสารในทันที หากต้องการจะสังสรรค์หรือพูดคุยกัน ทุกคนจะต้องไปรวมตัวกันที่ โรงอาหารของเมือง ซึ่งพื้นที่แห่งเดียวที่ผู้คนจะได้มาเจอกันหลังเลิกงาน

สฟาลบาร์เป็นเมืองที่มีสภาพอากาศสุดขั้ว เป็นอันตรายต่อทุกคนที่อาศัย และทำงานที่นี่ อุณหภูมิมักจะต่ำกว่าจุดเยือกแข็ง และหนาวที่สุดที่เคยบันทึกไว้คือ -37.2 องศาเซลเซียสในฤดูหนาว ส่วนอุณหภูมิที่สูงที่สุดที่เคยบันทึกไว้อยู่ที่ 5.5 องศาเซลเซียส 

ที่นี่จะตกอยู่ในความมืดตลอด 24 ชั่วโมงเป็นเวลาหลายเดือน มีระยะการมองเห็นเพียง 2-3 เมตร จะเดินไปไหนมาไหนจะต้องใช้คบไฟ แต่ด้วยความมืดมิดนี้ก็ทำให้ได้เห็น “แสงเหนือ” และดวงดาวยามค่ำคืนได้

 

กฎเหล็ก “สฟาลบาร์” ห้ามล็อกประตู ให้คนหนี “หมีขั้วโลก” ได้

สฟาลบาร์เป็นที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติของหมีขั้วโลก ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา มีการพบเห็นหมีเข้ามาป้วนเปี้ยนในเมือง ทำให้พวกเขาต้องออกกฎไม่ให้ทุกคนล็อกอาหาร เวลาที่มีหมีเข้ามาในเมือง เพื่อให้ทุกคนสามารถเข้ามาหลบอันตรายจากหมีได้

“คุณต้องปรับตัวให้เข้ากับหมีขั้วโลก ไม่ใช่ให้หมีปรับตัวเข้าหาคุณ ปกติแล้วหมีชอบเดินตามริมแม่น้ำ ซึ่งขนานกับถนนของเมืองที่เชื่อมไปหอสังเกตการณ์ เมื่อเราเจอหมีเดินผ่าน เราจะแอบอยู่ในอาคารจนกว่าหมีจะเดินจากไป” คริสเทล เกสนอน หนึ่งในนักวิจัยที่ทำงานที่หอดูดาวเซพเพลินของสถาบันขั้วโลกนอร์เวย์ กล่าว 

ป้ายเตือนระวังหมีขั้วโลกในสวาลบาร์

ป้ายเตือนระวังหมีขั้วโลกในสฟาลบาร์

 

นอกจากนี้ อีกสถานที่คือ อุโมงค์นิรภัยเก็บเมล็ดพันธุ์พืชโลก (Svalbard Global Seed Vault) หรือ แหล่งสำรองอาหารวันสิ้นโลก (Doomsday Vault) สถานที่เก็บตัวอย่างเมล็ดพันธุ์จำนวน 1.2 ล้านชนิดจากทั่วทุกมุมโลก ซึ่งเกิดขึ้นจากความร่วมมือของรัฐบาลนอร์เวย์ ร่วมกับ Crop Trust องค์การอนุรักษ์และเผยแพร่ความหลากหลายของพืชผลของโลกเพื่อความมั่นคงทางอาหาร และ NordGen ธนาคารเชื้อพันธุ์พืชกลุ่มประเทศนอร์ดิก

มีจุดมุ่งหมายเพื่อจัดเก็บตัวอย่างพืชทั้งหมดในโลก ที่อาจสูญพันธุ์อย่างถาวรจากเหตุการณ์สงคราม ภัยพิบัติทางธรรมชาติ โรคระบาด วิกฤติสภาพภูมิอากาศ สายพันธุ์ที่รุกราน แมลงศัตรูพืช การเปลี่ยนแปลงของรูปแบบฝน และการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพที่รุนแรง โดยจะเปิดรับฝากเมล็ดพันธุ์อื่นๆ ทั่วโลก ปีละ 3 ครั้ง

ภายในอาคารเต็มไปด้วยกล่องเก็บเมล็ดพืชวางเรียงรายกันอยู่ โดยเมล็ดพืชแต่ละสายพันธุ์ถูกปิดผนึกไว้อย่างดีในถุงสุญญากาศอะลูมิเนียม และเก็บไว้ในกล่องของประเทศของตน อยู่ในห้องที่มีอุณหภูมิ -18 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นอุณหภูมิมาตรฐานสากลในการอนุรักษ์เมล็ดพันธุ์

แม้ว่าสฟาลบาร์จะเป็นเกาะที่ได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อนมากที่สุด จนกลายเป็นสถานที่ร้อนขึ้นมากที่สุดในโลก แต่ผู้เชี่ยวชาญระบุว่าเมล็ดพันธุ์พืชที่อยู่ในนี้จะยังคงปลอดภัยอีกหลายร้อยปี เพราะเมล็ดเหล่านี้อยู่ชั้นดินเยือกแข็งคงตัว และถึงแม้ว่าระบบความเย็นล้มเหลวก็จะใช้เวลานานนับศตวรรษกว่าอุณหภูมิภายในห้องใต้ดินจะสูงกว่าศูนย์องศาเซลเซียส

อุโมงค์นิรภัยเก็บเมล็ดพันธุ์พืชโลก (Svalbard Global Seed Vault)

อุโมงค์นิรภัยเก็บเมล็ดพันธุ์พืชโลก (Svalbard Global Seed Vault)

 

อากาศใน “สฟาลบาร์” เริ่มไม่บริสุทธิ์ เพราะ “ก๊าซเรือนกระจก”

เริ่มมีสัญญาณว่าคุณภาพอากาศสฟาลบาร์อาจได้รับผลกระทบด้วยเช่นกัน บางครั้ง “การหมุนเวียนของบรรยากาศ” ก็พัดพาอากาศจากยุโรป และอเมริกาเหนือขึ้นมาถึงสฟาลบาร์ จนพื้นที่แห่งนี้ได้รับมลภาวะด้วยเช่นกัน ในตอนนี้นักวิจัยสังเกตเห็นว่ามีมลพิษบางชนิดเพิ่มขึ้น อีกทั้งเริ่มมีมลพิษใหม่ๆ พัดพามาตามลมด้วยเช่นกัน

นักวิจัยสังเกตเห็นระดับไมโครพลาสติกที่เพิ่มขึ้นในหิมะบริเวณพื้นที่ห่างไกลของอาร์กติก โดยตั้งข้อสังเกตว่าอาจจะเป็นเพราะการขนส่งทางอากาศที่ทิ้งร่องรอยเอาไว้ ขณะที่ปริมาณของก๊าซมีเทนบริเวณหอสังเกตการณ์เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่ 2005  และแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในปี 2019

รวมถึงระดับของซัลเฟต อนุภาคต่างๆ และโลหะ เช่น นิกเกิล และวานาเดียมในอากาศของเมืองสฟาลบาร์เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงฤดูร้อน เนื่องจากมีเรือสำราญจำนวนมากขึ้น ที่มาจอดเทียบท่าที่นี่ อีกทั้งยังตรวจพบอนุภาคเก่าแก่ที่มีความเข้มข้นสูงระหว่างเดือนมี.ค.- พ.ค. ของปี เนื่องจากมลพิษจากในยุโรป และเอเชียพัดพามาที่นี่

ขณะเดียวกัน โรงถลุงแร่อุตสาหกรรมบนคาบสมุทรโคลาในรัสเซียยังก่อให้เกิดโลหะ เช่น นิกเกิล ทองแดง สังกะสี และโคบอลต์ในอากาศ เป็นครั้งคราว เมื่อมีลมพัดไปผิดทิศทางในช่วงฤดูหนาว และฤดูใบไม้ผลิ ซึ่งเมื่อเขม่าเคลื่อนที่ผ่านชั้นบรรยากาศ จะทำให้เกิดปฏิกิริยาเคมีที่ทำให้อนุภาคมีปฏิกิริยารุนแรง และเป็นพิษกว่าเดิม

แต่ก็ยังมีข่าวดีพอให้ชื่นใจอยู่บ้าง นักวิจัยพบระดับโลหะหนัก เช่น ตะกั่ว และปรอท ในชั้นบรรยากาศรอบอาร์กติกลดลงอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพราะแต่ละประเทศเริ่มเข้มงวดในการเผาขยะ และการปล่อยก๊าซของอุตสาหกรรม อีกทั้งการลดการใช้ยาฆ่าแมลงกลุ่มออร์กาโนฟอสเฟต

 

อุณหภูมิที่สูงขึ้นทำให้ภูมิภาคอาร์กติกอุ่นขึ้นในหลายพื้นที่

ภาวะโลกร้อน” ทำให้ฟยอร์ดที่เคยเป็นน้ำแข็งในอดีต จนสามารถใช้รถสัญจรบนน้ำแข็งได้ กลับมลายหายไปตั้งแต่ช่วงปี 2007 เป็นต้นมา ตอนนี้ฟยอร์ดก็ไม่กลายเป็นน้ำแข็งอีกต่อไปแล้ว และธารน้ำแข็งหลายแห่ง มีขนาดเล็กลงเรื่อยๆ 

รูน เจนเซน หัวหน้าสถาบันขั้วโลกนอร์เวย์ในเมืองนีโอเลซุนด์ กล่าวเสริมด้วยความโศกเศร้าว่าในช่วงทศวรรษ 1980 พื้นที่ที่เรียกว่า เกาะบลอมสตรันด์ฮัลโลยา  เชื่อมต่อกับเมืองนีโอเลซุนด์ แต่เมื่อธารน้ำแข็งละลายหายไปเมื่อช่วงไม่กี่สิบปีที่แล้ว ทำให้ บลอมสตรันด์ฮัลโลยา กลายเป็นเกาะโดดเดี่ยว ถูกตัดขาดจากแผ่นดินใหญ่

นอกจากนี้ น้ำอุ่นยังไหลเข้ามหาสมุทรแอตแลนติกมากยิ่งขึ้น ทำให้ระบบนิเวศในฟยอร์ดเปลี่ยนแปลงทั้งหมด แม้แต่หมีขั้วโลกก็ต้องปรับตัว จากก่อนนี้หมีขั้วโลกสามารถจับหมีน้ำได้ แต่ในตอนนี้ที่น้ำแข็งไม่แข็งตัว หมีขั้วโลกจึงหันมาหาอาหารบนบกแทน เช่น ไข่นก ซากสัตว์ หรือแม้แต่ผลเบอร์รี และหญ้า 


ที่มา: BBCThe GuardianVarsity

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์

‘สฟาลบาร์’ แหล่งวิจัย - อากาศดีที่สุดในโลก กับกฎสุดแปลก