โลกทิ้ง ‘ขยะอาหาร’ ปีละ 1,000 ตัน ตัวการทำ ‘ก๊าซเรือนกระจก’ พุ่ง

โลกทิ้ง ‘ขยะอาหาร’ ปีละ 1,000 ตัน ตัวการทำ ‘ก๊าซเรือนกระจก’ พุ่ง

“ยูเอ็น” เผยข้อมูลชวนช็อก ในแต่ละปีโลกมี “ขยะอาหาร” สูงกว่า 1,000 เมตริกตัน โดยเกิดมาจากการผลิตอาหารมากเกินความจำเป็น ซึ่งเป็นสาเหตุสำหรับที่ทำให้เกิด “ก๊าซเรือนกระจก”

KEY

POINTS

  • ปี 2565 ทั่วมี “ขยะอาหาร” (Food Waste) สูงถึง 1,050 เมตริกตัน โดยขยะอาหาร 60% มาจากการบริโภคในครัวเรือน อีก 28% มาจากร้านอาหารหรือผู้ให้บริการด้านอาหารและเครื่องเดิม ส่วน 12% ที่เหลือมาจากร้านค้าปลีก
  • ขยะอาหารส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากผู้บริโภคซื้ออาหารเกินความจำเป็น คำนวณปริมาณอาหารผิด หรือมีค่านิยมเกี่ยวกับอาหารบางอย่าง เช่น สั่งอาหารมามากกว่าจำนวนคนเสมอ ขณะที่หลายคนทั่วโลกก็ไม่กิน “อาหารค้างคืน” หรือข้ามมื้อ เช่นเดียวกับผู้ผลิตที่ผลิตอาหารมาเกินจำนวน หรือขายไม่หมดก็จำเป็นต้องทิ้งสินค้าแบบวันต่อวัน
  • ขยะอาหารทั่วโลกสร้างก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศราว 8-10% ของทั้งหมด โดยในรายงานระบุว่า “ขยะอาหารคือความล้มเหลวด้านสิ่งแวดล้อม

“ยูเอ็น” เผยข้อมูลชวนช็อก ในแต่ละปีโลกมี “ขยะอาหาร” สูงกว่า 1,000 เมตริกตัน โดยเกิดมาจากการผลิตอาหารมากเกินความจำเป็น ซึ่งเป็นสาเหตุสำหรับที่ทำให้เกิด “ก๊าซเรือนกระจก”

โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) เผยแพร่รายงานดัชนีขยะอาหาร ระบุ ปี 2565 ทั่วมี “ขยะอาหาร” (Food Waste) สูงถึง 1,050 เมตริกตัน โดยนักวิจัยวิเคราะห์ข้อมูลจากครัวเรือน ร้านอาหาร และร้านค้าปลีกในแต่ละประเทศทั่วโลก ทำให้พบว่าในแต่ละปีผู้คนสร้าง “ขยะอาหาร” คนละประมาณ 79 กิโลกรัม เท่ากับว่ามีอาหารอย่างน้อย 1,000 ล้านจานถูกทิ้งในแต่ละวัน ซึ่งเป็นการประเมินขั้นต่ำ ในความเป็นจริงตัวเลขอาจจะมากกว่านี้

โดยขยะอาหาร 60% มาจากการบริโภคในครัวเรือน อีก 28% มาจากร้านอาหารหรือผู้ให้บริการด้านอาหารและเครื่องเดิม ส่วน 12% ที่เหลือมาจากร้านค้าปลีก ทั้งนี้ตัวเลขนี้ยังไม่รวมขยะอาหารอีก 13% ที่เน่าเสียหรือสูญเสียไประหว่างขั้นตอนการเก็บเกี่ยว หรือการผลิต

 

“ขยะอาหาร” เกิดจากการผลิตอาหารเกินความจำเป็น

ขยะอาหารส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากผู้บริโภคซื้ออาหารเกินความจำเป็น คำนวณปริมาณอาหารผิด หรือมีค่านิยมเกี่ยวกับอาหารบางอย่าง เช่น ในวัฒนธรรมจีนมักจะสั่งอาหารมามากกว่าจำนวนคนเสมอ เพื่อแสดงถึงความร่ำรวย จนกลายเป็นค่านิยม “กินเหลือดีกว่าอาหารไม่พอ” ขณะที่หลายคนทั่วโลกก็ไม่กิน “อาหารค้างคืน” หรือข้ามมื้อ เพราะกลัวท้องเสีย

นอกจากนี้ หลายคนก็เข้าใจว่า “วันควรบริโภคก่อน” หรือ BBE (Best Before) คือ “วันหมดอายุ” หรือ EXP (Expire Date) ทำให้ทิ้งอาหารเหล่านั้นทันทีที่ถึงวันควรบริโภคก่อน แต่ความจริงแล้ว BBE  เป็นเครื่องบอกว่าอาหารยังคงมีคุณภาพและมีรสชาติที่ดีเหมือนเดิมจนถึงวันที่ระบุไว้ หลังจากวันนั้นไปคุณภาพและคุณค่าทางอาหารจะลดลง แต่ยังสามารถบริโภคได้โดยไม่มีอันตราย 

เช่นเดียวกับร้านอาหารหรือร้านค้าปลีกที่ผลิตอาหารมาเกินจำนวน หรือขายไม่หมดก็จำเป็นต้องทิ้งสินค้าแบบวันต่อวัน ซึ่งก็เป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้เกิดขยะอาหาร ทั้ง ๆ ที่อาหารเหล่านั้นไม่ได้ถูกแกะกินเลยด้วยซ้ำ

แคลยานี รากูนาธาน นักวิจัยจากสถาบันวิจัยนโยบายอาหารระหว่างประเทศ กล่าวกับ Al Jazeera ว่าการผลิตอาหารทั่วโลกเกินกว่าข้อกำหนดทั่วโลกมาก

“มันไม่เกี่ยวกับอุปสงค์และอุปทาน แต่เกี่ยวกับการจัดการอาหารเหล่านั้นมากกว่า” เธอกล่าว

 

“ขยะอาหาร” เกลื่อนเมือง แต่เกือบ 800 ล้านคนกำลังอดอยาก

ขณะที่อาหารหลายพันตันถูกทิ้งในแต่ละปี แต่ผู้คนกว่า 783 ล้านคนทั่วโลกเผชิญหน้ากับความหิวและอดอยาก หลายส่วนของโลกกำลังเกิด “วิกฤติทางอาหาร” ขั้นรุนแรง ทั้งในฉนวนกาซาที่เป็นพื้นที่สงครามระหว่างอิสราเอล-ฮามาส โดยเฉพาะทางตอนเหนือของกาซาที่กำลังเข้าสู่ภาวะทุพภิกขภัย (famine) หรือภาวะอดอยากครั้งใหญ่ ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะเกิดขึ้นภายในเดือนพฤษภาคม หากสถานการณ์สงครามยังคงยืดเยื้อ และสหประชาชาติยังส่งความช่วยเหลือไปไม่ถึง

เช่นเดียวกับเฮติที่ถูกแก๊งมาเฟียออกอาละวาด จนประชาชนไม่สามารถหาอาหารประทังชีวิตได้ เกิดความไม่มั่นคงทางอาหารในระดับฉุกเฉิน มีประชาชนเพียง 5% เท่านั้นที่ได้รับความช่วยเหลือด้านอาหาร ภาวะความหิวโหยที่เพิ่มขึ้นยิ่งเป็นสิ่งตอกย้ำถึงการเป็น “รัฐล้มเหลว” ของเฮติ 

หลายประเทศในแอฟริกาก็ยังประสบปัญหาขาดแคลนอาหารไม่ต่างกัน ปัญหานี้ยิ่งส่งผลเสียต่อผู้คนจำนวนมากที่ไม่มั่นคงอาหารอยู่แล้ว และไม่อยู่ในสถานะที่สามารถ “เลือกกิน” ได้

“เศษอาหารถือเป็นโศกนาฏกรรมระดับโลก ผู้คนนับล้านจะต้องหิวโหยในวันนี้ เพราะอาหารกลายเป็นขยะอยู่ทั่วโลก” อิงเกอร์ แอนเดอร์เซน ผู้อำนวยการบริหาร UNEP กล่าวในแถลงการณ์

“ขยะอาหาร” สร้าง “ก๊าซเรือนกระจก”

ขยะอาหารกลายเป็นอีกหนึ่งปัญหาที่ทำให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เริ่มตั้งแต่การสูญเสียทรัพยากรทั้งน้ำและที่ดินในการปลูกพืชอาหารและเลี้ยงสัตว์ โดยพื้นที่ป่าส่วนใหญ่ถูกบุกรุกเพื่อทำการเกษตรกรรม แต่ดูเหมือนว่าพื้นที่ป่าที่เสียไปจะไม่ได้ถูกใช้อย่างเกิดประโยชน์มากเท่าที่ควร เพราะในรายงานระบุว่า ขยะอาหารมีพื้นที่เกือบเท่ากับ 30% ของพื้นที่เกษตรกรรมของโลก 

เมื่ออาหารถูกทิ้งให้กลายเป็นขยะ ถูกฝังกลบลงในบ่อขยะ ก็จะทำให้เกิด “ก๊าซมีเทน” ซึ่งเป็นหนึ่งใน “ก๊าซเรือนกระจก” ที่มีมากและอันตรายที่สุด 

ปัจจุบันขยะอาหารทั่วโลกสร้างก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศราว 8-10% ของทั้งหมด นับเป็นแหล่งการเกิดก๊าซเรือนกระจกที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 3 รองจากจีนและสหรัฐ โดยในรายงานระบุว่า “ขยะอาหารคือความล้มเหลวด้านสิ่งแวดล้อม

รายงานดังกล่าวแสดงให้ว่าประเทศที่มีรายได้ต่ำและปานกลาง ก็มีปัญหาขยะอาหารเช่นกัน โดยประเทศที่ร่ำรวยมีปริมาณขยะอาหารดังนั้นรายได้จึงไม่ใช่ปัจจัยที่ทำให้เกิดปัญหาขยะอาหารมากกว่าประเทศยากจนเพียงแค่ 7 กิโลกรัมต่อคนต่อปีเท่านั้น ซึ่งอาจสะท้อนถึงปัจจัยหลายด้านที่ประเทศยากจนขาด เช่น ไม่มีตู้เย็นและการเก็บรักษาที่เพียงพอ การพึ่งพาอาหารคุณภาพต่ำ และไม่มีเวลาในการปรุงอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการ

อีกทั้งประเทศที่อยู่ในเขตร้อนที่มีอุณหภูมิสูง จะจัดเก็บ แปรรูป ขนส่ง และเกิดการปนเปื้อน จนทำให้อาหารเน่าเสียได้ง่ายกว่า  ซึ่งเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้เกิดขยะอาหาร

อย่างไรก็ตาม ปริมาณขยะอาหารของพื้นที่ในเมืองมากกว่าในชนบท ซึ่งอาจเป็นเพราะคนเมืองไม่มีพื้นที่ในการรีไซเคิลอาหาร เช่น ทำเป็นอาหารสัตว์ หรือทำปุ๋ยหมัก เหมือนกับคนในชนบท

UNEP แนะนำให้ประเทศที่ร่ำรวยเป็นโต้โผหลักในการสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศและพัฒนานโยบายลดขยะอาหาร

ริชาร์ด สวอนเนล ผู้ร่วมเขียนและผู้อำนวยการจาก WRAP องค์กรการกุศลด้านทรัพยากรและอาหาร กล่าวว่า “ขยะอาหารไม่ใช่ปัญหาโลกที่ร่ำรวย มันเป็นปัญหาระดับโลก ทั่วโลกต้องช่วยกันแก้ปัญหา  เราทุกคนสามารถแก้ได้เลยตั้งแต่วันพรุ่งนี้ ทั้งช่วยให้คุณประหยัด และช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้ด้วย”


ที่มา: AljazeeraAP NewsCNNUnited Nation