รู้หรือไม่ ‘น้ำมันทอดอาหาร’ นำมาผลิตเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืนได้

รู้หรือไม่ ‘น้ำมันทอดอาหาร’ นำมาผลิตเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืนได้

รู้หรือไม่ น้ำมันใช้แล้ว ที่ผ่านกระบวนการทำอาหาร สามารถนำมาผลิตเป็นน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน : Sustainable Aviation Fuel (SAF) ได้ เรียกได้ว่าส่งผลดีทั้งในเชิงเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม สอดคล้องกับ BCG Economy Model อย่างครบวงจร

KEY

POINTS

  • น้ำมันใช้แล้ว หรือ Waste Cooking Oil เป็นน้ำมันพืชหรือไขมันสัตว์ที่ผ่านกระบวนการให้ความร้อนจากกระบวนการทำอาหาร ควรให้ความสำคัญต่อการจัดการของเสียกลุ่มนี้
  • กลุ่มบริษัทบางจาก ได้มีการก่อสร้างหน่วยผลิตน้ำมันอากาศยานยั่งยืน (SAF) โดย BSGF นำน้ำมันปรุงอาหารใช้แล้วจากครัวเรือนและภาคธุรกิจ โครงการ “ทอดไม่ทิ้ง” และช่องทางอื่น ๆ มาผลิตเป็นน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน
  • ล่าสุด ลงนามความร่วมมือแลกเปลี่ยนความรู้ความเชี่ยวชาญด้านความยั่งยืนและสิ่งแวดล้อม ระหว่าง กรมอนามัย รณรงค์ไม่ใช้น้ำมันทอดซ้ำ และนำมาผลิตเป็นน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน

 

รู้หรือไม่ น้ำมันใช้แล้ว ที่ผ่านกระบวนการทำอาหาร สามารถนำมาผลิตเป็นน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน : Sustainable Aviation Fuel (SAF) ได้ เรียกได้ว่าส่งผลดีทั้งในเชิงเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม สอดคล้องกับ BCG Economy Model อย่างครบวงจร

น้ำมันใช้แล้ว หรือ Waste Cooking Oil เป็นน้ำมันพืชหรือไขมันสัตว์ที่ผ่านกระบวนการให้ความร้อนจากกระบวนการทำอาหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาหารจานทอดทั้งหลาย (Deep fry) แหล่งที่มาของน้ำมันใช้แล้วนอกจากน้ำมันที่ใช้ทอดแล้ว ยังสามารถมาจากน้ำมันจากการล้างภาชนะ ซึ่งสามารถแยกออกจากน้ำได้โดยบ่อหรือถังดักไขมัน

 

เนื่องจากคุณสมบัติที่ไม่ละลายน้ำของน้ำมันใช้แล้ว สามารถก่อให้เกิดปัญหามากมายถ้าไม่มีการจัดการที่ถูกต้อง โดยส่วนใหญ่แล้วภาคครัวเรือนอาจจะไม่ได้ให้ความสำคัญต่อการจัดการของเสียกลุ่มนี้มากเท่าที่ควร โดยจะนำไปเทรวมกับขยะมูลฝอย หรือเททิ้งลงท่อระบายน้ำที่ไม่ได้ติดตั้งบ่อ/ถังดักไขมัน (วารสารสิ่งแวดล้อม)

 

แต่ความจริงน้ำมันที่ใช้แล้ว สามารถนำมาผลิตเป็นน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน : Sustainable Aviation Fuel (SAF) ได้ เรียกได้ว่าส่งผลดีทั้งในเชิงเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม สอดคล้องกับ BCG Economy Model อย่างครบวงจร

 

ทอดแล้ว ไม่ทิ้งสู่สิ่งแวดล้อม 

ล่าสุด มีการลงนามความร่วมมือแลกเปลี่ยนความรู้ความเชี่ยวชาญด้านความยั่งยืนและสิ่งแวดล้อม ระหว่าง กรมอนามัย และ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) แลกเปลี่ยนความรู้ความเชี่ยวชาญด้านความยั่งยืนและสิ่งแวดล้อม ในการรณรงค์ไม่ใช้น้ำมันทอดซ้ำ และนำมาผลิตเป็นน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน : Sustainable Aviation Fuel (SAF) เพื่อเป็นการสร้างความเชื่อมั่นในเรื่องสุขภาพอนามัย ให้กับผู้บริโภค และเป็นการรณรงค์การไม่ทิ้งน้ำมันปรุงอาหารใช้แล้วสู่สิ่งแวดล้อม

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

 

ที่ผ่านมา กลุ่มบริษัทบางจาก ได้มีการก่อสร้างหน่วยผลิตน้ำมันอากาศยานยั่งยืน (SAF) ในพื้นที่ 8.9 ไร่ ภายในพื้นที่โรงกลั่นน้ำมันบางจาก พระโขนง เป็นหน่วยผลิตน้ำมันอากาศยานยั่งยืนแห่งแรกในประเทศไทย ดำเนินการโดย บริษัท บีเอสจีเอฟ จำกัด (BSGF) นำน้ำมันปรุงอาหารใช้แล้วจากครัวเรือนและ ภาคธุรกิจผ่านโครงการ “ทอดไม่ทิ้ง” และช่องทางอื่น ๆ มาผลิตเป็นน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืนและน้ำมันแนฟธายั่งยืน ประกอบไปด้วย 2 หน่วยหลักคือ

  • หน่วยปรับปรุงคุณภาพน้ำมันใช้แล้ว (Pretreating Unit, PTU)
  • หน่วยผลิตเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuel Unit, SAFU)

 

เชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน

บริษัท BSGF จะเริ่มดำเนินธุรกิจด้วยการก่อสร้างหน่วยผลิต SAF จากน้ำมันใช้แล้วจากการทำอาหาร (Used Cooking Oil) ภายในบริเวณโรงกลั่นน้ำมันบางจาก ซึ่งคาดว่าจะเริ่มเปิดดำเนินการได้ ช่วงปลายปี ค.ศ. 2024 ด้วยกำลังการผลิตเริ่มต้น 1,000,000 ลิตรต่อวัน

 

เป็นน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืนที่อุตสาหกรรมการบินทั่วโลกสามารถนำมาใช้ทดแทนได้ทันทีโดยไม่ส่งผลต่อเครื่องยนต์ ซึ่งจะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากอุตสาหกรรมการบินลงได้ประมาณ 80,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี (เทียบกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของเชื้อเพลิงการบินในปัจจุบัน)

 

นอกจากนี้ BSGF ยังพร้อมขยายกำลังการผลิตรองรับความต้องการใช้ SAF ในอนาคต ตามแนวโน้มความต้องการใช้ SAF ทั่วโลก สอดคล้องกับข้อกำหนดในสหภาพยุโรปที่กำหนดสัดส่วนการผสม SAF ในน้ำมันอากาศยานที่จะบินเข้าสู่สนามบินในสหภาพยุโรปเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง (จากการลงมติของสมาชิกสภายุโรป เมื่อต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา กำหนดไว้ที่ 2% ในปีค.ศ. 2025 และเพิ่มขึ้นเป็น 6%, 37% และ 85% ในปีค.ศ. 2030, 2040 และ 2050 ตามลำดับ)

 

และสอดคล้องกับมาตรการขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (International Civil Aviation Organization: ICAO) และสมาคมการบินระหว่างประเทศ (International Air Transport Association: IATA) ที่ให้การสนับสนุน เพื่อให้อุตสาหกรรมการบินทั่วโลกมุ่งสู่เป้าหมาย Net Zero ในปี 2593

 

เพื่อสิ่งแวดล้อม เพื่อสุขภาพ

กรมอนามัย เผยผลการตรวจพบสารโพลาร์ในน้ำมันทอดอาหารของหน่วยเคลื่อนที่เพื่อความปลอดภัยด้านอาหาร ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2565 - สิงหาคม 2566 จำนวน 9 ประเภท ได้แก่ น้ำมันทอด เนื้อสัตว์ปรุงรส น้ำมันทอดปาท่องโก๋ น้ำมันทอดผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์ น้ำมันทอดอาหาร น้ำมันทอดขนม น้ำมันทอดมันฝรั่ง น้ำมันทอดเนื้อสัตว์ น้ำมันทอดพืชผักผลไม้ และน้ำมันทอดขนมแป้ง จำนวน 5,764 ตัวอย่าง พบว่า ผ่านเกณฑ์ จำนวน 5,081 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 88.15 และไม่ผ่านเกณฑ์ จำนวน 683 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 11.85

 

ซึ่งที่ไม่ผ่านเกณฑ์ คือ น้ำมันทอดเนื้อสัตว์ปรุงรส น้ำมันทอดปาท่องโก๋ และน้ำมันทอดผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์ ซึ่งมีสารโพลาร์อยู่ในระดับสูง ถึงร้อยละ 27.45, 20.12 และ 14.63 ตามลำดับ

 

แพทย์หญิงอัจฉรา นิธิอภิญญาสกุล อธิบดีกรมอนามัย อธิบายว่า การพบสารโพลาร์ในน้ำมันทอดซ้ำในระดับสูง จะส่งผลเสียต่อสุขภาพ เพราะน้ำมันถูกทอดซ้ำมากๆที่ความร้อนสูงเป็นระยะเวลานานทำให้เร่งการเสื่อมสภาพของน้ำมัน ทำให้เกิดสารประกอบโพลาร์ (Polar compounds) หรือสารโพลาร์ และสารประกอบโพลีไซคลิก อะโรมาติก ไฮโดรคาร์บอน (Polycyclic Aromatic Hydrocarbon; PAHs) ซึ่งเป็นสาเหตุที่ก่อให้เกิดโรคความดันโลหิตสูงและหลอดเลือดหัวใจตีบ โรคมะเร็ง อีกทั้ง ผู้ประกอบอาหารทอดอาหารที่มีการสูดดมไอระเหยของน้ำมันทอดอาหารเป็นเวลานานมีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งปอด

 

กระทรวงสาธารณสุข ได้กำหนดกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับน้ำมันทอดช้ำ ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 283 (พ.ศ.2547) เรื่อง กำหนดปริมาณสารโพลาร์ในน้ำมันที่ใช้ทอดหรือประกอบอาหารเพื่อจำหน่าย โดยกำหนดให้น้ำมันทอด หรือประกอบอาหารเพื่อจำหน่ายมีปริมาณสารโพลาร์ได้ ไม่เกินร้อยละ 25 ของน้ำหนัก หากฝ่าฝืน ถือเป็นการผลิตหรือจำหน่ายอาหารที่ผิดมาตรฐานตามมาตรา 25 (3) แห่งพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 ต้องระวางโทษ ปรับไม่เกิน 50,000 บาท

 

และประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 347 (พ.ศ.2556) เรื่อง วิธีการผลิตอาหารที่ใช้น้ำมันทอดซ้ำ โดยกำหนดให้การผลิตอาหารเพื่อจำหน่ายที่มีการใช้น้ำมันทอดช้ำ ผู้ผลิตอาหารต้องใช้น้ำมันทอดซ้ำที่มีสารโพลาร์ไม่เกินร้อยละ 25 ของน้ำหนัก หากฝ่าฝืน ถือเป็นการไม่ปฏิบัติตามประกาศซี่งออกตามมาตรา 6 (7) แห่งพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 ต้องระวางโทษ ปรับไม่เกิน 10,000 บาท

 

สำหรับการลงนามความร่วมมือระหว่าง กรมอนามัย และ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ถือเป็นการส่งเสริมให้ผู้ประกอบกิจการด้านอาหาร เช่น ตลาด สถานที่จำหน่ายอาหารอาหารริมบาทวิถี ตระหนัก และไม่ใช้น้ำมันทอดซ้ำ รวมทั้ง รวบรวมน้ำมันดังกล่าวซึ่งเป็นของเสียจากการทำอาหารมาผลิตเป็นเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน

 

“ช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ดูแลสิ่งแวดล้อม และสุขภาพของผู้บริโภค ซึ่งสถานประกอบการที่เข้าร่วมโครงการ “ไม่ทอดซ้ำ” จะได้ใบรับรอง เพื่อให้ประชาชนมั่นใจในการเลือกซื้อว่าน้ำมันที่ใช้ในการปรุงประกอบอาหารนั้น จะไม่ถูกนำกลับมาทอดซ้ำอีก” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว