'พลังงานสะอาด' เมกะเทรนด์เปลี่ยนโลก เทคโนโลยี กุญแจสำคัญ สู่ความยั่งยืน

'พลังงานสะอาด' เมกะเทรนด์เปลี่ยนโลก เทคโนโลยี กุญแจสำคัญ สู่ความยั่งยืน

อุตสาหกรรมพลังงาน กำลังเผชิญกับความท้าทายในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ จากกระบวนการผลิต ขณะเดียวกัน ตลาดพลังงานทดแทนทั่วโลก ในปี 2568 จะเพิ่มขึ้นแตะ 1,512.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

KEY

POINTS

  • อุตสาหกรรมพลังงาน กำลังเผชิญกับความท้าทายในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ การเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน
  • ประเทศที่น่าจับตามอง คือ “สิงคโปร์” ที่ประกาศว่า “จะเป็นผู้นำด้านพลังงานสะอาด” มีการพัฒนาระบบนิเวศให้เอื้ออำนวยต่อการค้า และการลงทุนด้านพลังงานทดแทนอย่างต่อเนื่อง
  • แม้การขยับไปเป็นผู้คิดค้นเทคโนโลยีของไทย อาจเป็นเรื่องยาก แต่สามารถขายโซลูชัน โดยหยิบเทคโนโลยีต่างๆ มาปรับใช้ มี Business Model ที่เกิดขึ้นใหม่ๆ
  •  

อุตสาหกรรมพลังงาน กำลังเผชิญกับความท้าทายในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ จากกระบวนการผลิต ขณะเดียวกัน ตลาดพลังงานทดแทนทั่วโลก ในปี 2568 จะเพิ่มขึ้นแตะ 1,512.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

อุตสาหกรรมพลังงาน กำลังเผชิญกับความท้าทายในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากกระบวนการผลิต เปลี่ยนผ่านด้านพลังงานสู่พลังงานสะอาด และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของประชาคมโลก ประเทศไทยเอง มีการตื่นตัวทั้งภาครัฐ และเอกชน ในการทำงานร่วมกันเพื่อสร้างเวที สร้างโอกาส และผลักดันประเทศไทยไปสู่เป้าหมาย Net Zero อย่างที่ตั้งเป้าไว้

 

ธนาคารไทยพาณิชย์ เผยข้อมูลจาก Renewable Energy Market Outlook – 2025 โดยเว็บไซต์ alliedmarketresearch.com คาดการณ์ว่า มูลค่าในตลาดพลังงานทดแทนทั่วโลกในปี 2568 จะเพิ่มขึ้นแตะ 1,512.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ จากที่ในปี 2560 มูลค่าตลาดอยู่ที่ 928 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นอัตราเติบโต 6.1% ต่อปี

 

ซึ่งทางซีกโลกเอเชีย อย่างจีน และอินเดีย คาดว่าตลาดจะเติบโตอย่างรวดเร็ว ด้วยปัจจัยการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากร การพัฒนาอุตสาหกรรม และนโยบายเอื้อต่อภาคอุตสาหกรรมพลังงานทดแทน โดยในภาพรวมของธุรกิจ ไม่เพียงแต่กลุ่มผู้ผลิตพลังงานทดแทนเท่านั้น ยังรวมไปถึงผู้ผลิตอุปกรณ์จัดเก็บพลังงาน โครงสร้างพื้นฐาน เครื่องมือต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับพลังงานทดแทนด้วย

 

จากปัจจัยเรื่องความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยี และการที่รัฐบาลประเทศต่างๆ เห็นความสำคัญ และมีนโยบายสนับสนุนเงินทุนให้ภาคอุตสาหกรรมพลังงานสะอาด และกฎข้อบังคับอย่างจริงจังเพื่อแก้ไขวิกฤติเรื่องสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนที่กล่าวมา ทำให้เรื่องพลังงานสะอาดเป็นเมกะเทรนด์ที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงโลกทั้งทางด้านสิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจการลงทุนในอนาคตอันใกล้นี้

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

 

 

เปลี่ยนผ่านไทย สู่พลังงานยั่งยืน

“วุฒยา หนุนภักดี” ผู้อำนวยการจัดงาน Sustain Asia Week 2024 และ Sustainable Energy Technology Asia 2024 (SETA 2024) มหกรรมด้านพลังงานซึ่งจัดต่อเนื่องมากกว่า 8 ปี ให้สัมภาษณ์กับ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า หากมองย้อนกลับไปเมื่อ 8 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยยังห่างไกลจากเรื่องพลังงานและความยั่งยืน SETA จึงเกิดขึ้นโดยความร่วมมือกับ กระทรวงพลังงาน เพื่อกระตุ้นสร้างการรับรู้ สร้างเวทีระดับอาเซียนให้ผู้นำทางด้านพลังงานได้เข้ามาพูดคุย ยกระดับไทยมุ่งสู่การใช้เทคโนโลยี เพื่อเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานอย่างสะอาดและยั่งยืน

 

“8 ปีที่ผ่านมา พบว่า ในวงการค่อนข้างตื่นตัว สิ่งที่เปลี่ยนแปลงได้ชัด คือ EV ซึ่งขณะนี้ จะเห็นว่า EV มีการใช้เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะทางยุโรป รวมถึง การเปลี่ยนไปในเชิงโครงสร้าง อุตสาหกรรมพลังงานพยายามหาหนทางในการเปลี่ยนวิธีการ วิถีชีวิตของตนเองไปในเรื่องของพลังงานสะอาด”

 

สิงคโปร์ ตั้งเป้าผู้นำพลังงานสะอาด

การเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาด สิ่งสำคัญ คือ ทิศทางนโยบายของภาครัฐ เพราะต้องเปลี่ยนโครงสร้างทั้งระบบตั้งแต่เชิงนโยบายลงมา ประเทศที่น่าจับตามอง คือ “สิงคโปร์” ที่ประกาศว่า “จะเป็นผู้นำด้านพลังงานสะอาด”

 

ข้อมูลจาก “ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในสิงคโปร์ สถานเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์” เผยว่า สิงคโปร์เป็นศูนย์กลางการค้า และการลงทุนที่สำคัญของภูมิภาคอาเซียน และยังพัฒนาสู่การเป็นศูนย์กลาง “การลงทุน” ด้านพลังงานสะอาด และพลังงานทดแทนของภูมิภาค แม้ว่าสิงคโปร์จะมีข้อจำกัดทางภูมิศาสตร์ และทรัพยากรธรรมชาติ ทำให้ไม่สามารถสร้างโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการผลิตพลังงานทดแทน ทั้งพลังงานน้ำจากเขื่อน พลังงานลม พลังงานไฟฟ้านิวเคลียร์ และพลังงานใต้พิภพ แต่มีการพัฒนาระบบนิเวศให้เอื้ออำนวยต่อการค้า และการลงทุนด้านพลังงานทดแทนอย่างต่อเนื่อง

 

 

 

 

เมื่อต้นปี 2564 ที่ผ่านมา สิงคโปร์ มีการจัดทำแผน Singapore Green Plan (SGP) 2030 เพื่อส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาด การพัฒนาที่ยั่งยืน การเงินสีเขียว และสิ่งแวดล้อม และในการประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 26 (COP26) สิงคโปร์ได้ประกาศเป้าหมายการลดก๊าซคาร์บอนว่าจะบรรลุการนำเข้าพลังงานไฟฟ้าสะอาดจากแหล่งพลังงานคาร์บอนต่ำหรือพลังงานสะอาดให้ได้ร้อยละ 30 หรือ 4 กิกะวัตต์ ภายในปี 2578 โดยหวังว่าการนำเข้าพลังงานสะอาด และพลังงานทดแทนจะช่วยตอบสนองต่อความต้องการภายในประเทศ ตามแผนพลังงานที่ยั่งยืนของสิงคโปร์ในระยะยาวได้

 

“วุฒยา” กล่าวต่อไปว่า สิงคโปร์ วางตัวเองในเรื่องของการเป็นศูนย์กลางในการลงทุน ดึงเจ้าของเทคโนโลยีเข้ามาอยู่ในประเทศ สำหรับประเทศไทย เต็มไปด้วยพลังงาน ผู้ใช้พลังงาน และการสร้างโรงไฟฟ้า ที่ผ่านมา เราซื้อเทคโนโลยีเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าหรือพลังงานใช้ในประเทศตัวเองเป็นหลัก

 

“สำหรับสิ่งที่เราพยายามผลักดัน และเปิดโอกาสในเวที SETA คือ เปลี่ยนประเทศไทยจากการซื้อ เป็นผู้ขาย โดยทำงานร่วมกับสภาอุตสาหกรรม เปิดพื้นที่ให้สมาชิกของสภาอุตสาหกรรมโชว์เทคโนโลยี และดึงกลุ่มประเทศต่างๆ เข้ามา แม้การขยับไปเป็นผู้คิดค้นเทคโนโลยีอาจเป็นเรื่องยาก แต่เราสามารถขายโซลูชันได้ โดยหยิบเทคโนโลยีต่างๆ มาปรับใช้ มี Business Model ที่เกิดขึ้นใหม่ๆ สำหรับผู้ประกอบการทางด้านโรงไฟฟ้าต่างๆ หรือผู้ใช้ไฟรายใหญ่ เช่น โรงงานอุตสาหกรรม ที่กำลังมองหาโซลูชันเพื่อหาทางออกมาใช้เพื่อเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดอย่างยั่งยืน” วุฒยา กล่าว

 

“SETA 2024” เวทีแลกเปลี่ยน นวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน

ศ.ดร.พิสุทธิ์ เพียรมนกุล ประธานการจัดงาน Sustain Asia Week 2024 และ SETA 2024 กล่าวว่า อุตสาหกรรมพลังงานกำลังเผชิญกับความท้าทายในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากกระบวนการผลิต เพื่อผลักดันการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานสู่พลังงานสะอาดที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของประชาคมโลก

 

แหล่งพลังงานหมุนเวียน ตลอดจนเทคโนโลยีที่ช่วยดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ที่มีความสำคัญ และได้รับความนิยมมากขึ้นทั่วโลก บริษัท แกท อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด จึงร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ ได้แก่ กระทรวงพลังงาน สำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวงคมนาคม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กรุงเทพมหานคร และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

เตรียมจัดงานมหกรรมด้านพลังงาน Sustain Asia Week 2024 เพื่อเป็นเวทีสำคัญในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีด้านพลังงานสะอาด และนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน ผลักดันประเทศไทยสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี ค.ศ.2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี ค.ศ.2065 นำพาประเทศไทยเดินหน้าสู่ความสำเร็จในการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานอย่างยั่งยืน ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายการประชุมระดับผู้นำของรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 28

 

คาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมงานกว่า 15,000 คน จาก 55 ประเทศทั่วโลก พร้อมเปิดโอกาสในการเจรจาขยายเครือข่ายทางธุรกิจ และแสดงศักยภาพของประเทศไทยในตลาดพลังงานเพื่อดึงดูดการลงทุนจากทั่วโลก ทั้งนี้ งานจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 15-17 สิงหาคม 2567 บนพื้นที่เดียวกันรวมว่า 15,000 ตารางเมตร ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา กรุงเทพฯ