ซีพี แอ็กซ์ตร้าฯ เดินหน้าธุรกิจคู่ความยั่งยืน สู่คาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์

ซีพี  แอ็กซ์ตร้าฯ เดินหน้าธุรกิจคู่ความยั่งยืน สู่คาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์

“ศุภชัย เจียรวนนท์” ประธานกรรมการ “ซีพี แอ็กซ์ตร้าฯ” ชูแนวคิดธุรกิจยั่งยืน วางเป้าหมาย จัดการขยะอาหาร และคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ พร้อมย้ำเติบโตคู่ส่งเสริม SME ตามแนวคิดแพลตฟอร์มแห่งโอกาส

นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานกรรมการ บริษัท ซีพี แอ็กซ์ตร้า จำกัด (มหาชน) หรือ CP Axtra กล่าวว่า ธุรกิจค้าปลีกเป็นโอกาสสำคัญของประเทศไทย บนเวทีโลก และเป็นธุรกิจที่ประเทศไทยสามารถประสบความสำเร็จบนเวทีโลกได้ ซึ่งปัจจุบันเครือซีพี มีธุรกิจค้าปลีก และธุรกิจค้าส่งทั้งรูปแบบออฟไลน์ และออนไลน์อยู่ในประเทศไทย จีน มาเลเซีย อินเดีย กัมพูชา เมียนมา และจะขยายไปอีกหลายประเทศ ภายใต้แบรนด์ และรูปแบบร้านค้าที่หลากหลาย

ซีพี  แอ็กซ์ตร้าฯ เดินหน้าธุรกิจคู่ความยั่งยืน สู่คาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์

ยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนธุรกิจค้าปลีกค้าส่งของซีพี แอ็กซ์ตร้า มีทั้งเป้าหมายทางธุรกิจ และเป้าหมายด้านความยั่งยืนควบคู่กัน โดยมีเป้าหมายใหญ่ในการเข้าสู่องค์กรที่มีคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ นอกจากนี้เรื่องค้าปลีก การวางเป้าหมายเรื่องการจัดการขยะเป็นเรื่องที่สำคัญ ซึ่งซีพี แอ็กซ์ตร้า มีกระบวนการ 5 Rs ได้แก่ Re-educate : การสร้างความตระหนักรู้ เพื่อให้ผู้บริโภคลดการสร้างของเสีย Reduce : การลดใช้พลาสติก Recycle : การรีไซเคิลพลาสติก Replace : การใช้วัสดุทดแทน และ Reinvent : การค้นคว้าวิจัยและนวัตกรรม

นอกจากนี้ ในการขับเคลื่อนองค์กรเพื่อที่จะประสบความสำเร็จบนเวทีโลกที่ซับซ้อน จำเป็นต้องตัดสินใจอย่างรวดเร็ว และมีคุณภาพ เพื่อนำบริษัทในกลุ่มธุรกิจค้าปลีกของเครือซีพี ขยายธุรกิจ และแข่งขันกับผู้ประกอบธุรกิจในเวทีระดับโลก ยุทธศาสตร์ที่สำคัญอีกส่วนหนึ่งคือ การเติบโตไปพร้อมกับคู่ค้า ด้วยความแข็งแกร่งของช่องทางการจัดจำหน่าย ทั้งใน และต่างประเทศ จะช่วยสนับสนุนกลยุทธ์ ‘แพลตฟอร์มแห่งโอกาส’ โดยมีเป้าหมายเพื่อเสริมความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย ในระบบเศรษฐกิจโลกยุคหลังวิกฤติโควิด ด้วยการสร้างแพลตฟอร์มให้กับบริษัทเอสเอ็มอี จากประเทศไทย และผลิตภัณฑ์ของคนไทย เพิ่มศักยภาพการทำธุรกิจของพวกเขาให้ได้มากที่สุด

 

“เราต้องการให้ธุรกิจค้าปลีกของเราทั่วโลก ทำหน้าที่เป็นแพลตฟอร์มให้กับเกษตรกร ผู้ผลิต และ SME ไทยนับหมื่นๆ ราย ให้สามารถนำผลผลิต และสินค้าไปขายทั้งช่องทางในประเทศ และต่างประเทศ ถือเป็นการขยายช่องทางค้าปลีกในตลาดโลกให้มากขึ้นสำหรับสินค้าไทย

โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลผลิตทางการเกษตร และอาหารสดคือ สิ่งสำคัญที่จะช่วยสานฝันของประเทศไทยในการเป็น ‘ครัวของโลก (Kitchen of the World)’ โดยร้านค้าของเครือซีพีจะทำหน้าที่เสมือนท่อธุรกิจที่ลำเลียงนำธุรกิจขนาดเล็กๆ จากประเทศไทยให้เข้าสู่ตลาดใหม่ได้ พร้อมกับนำผลผลิต และสินค้าของไทยไปนำเสนอสร้างการเติบโตให้กับธุรกิจของเขาเอง ตลอดจนเสริมสร้างความแข็งแกร่งในทุกสถานการณ์ (Resilience) ให้กับธุรกิจของเรา” นายศุภชัย กล่าว

 

ในภาพใหญ่ระดับประเทศ ประธานกรรมการ ซีพี แอ็กซ์ตร้า มองว่า นอกจาก SME แล้ว การยกระดับเกษตรกรมีความสำคัญมาก “ถ้าเราจะยกระดับประเทศ จากประเทศเกษตรกรรม ไปสู่อุตสาหกรรมเกษตรยุคใหม่จะต้องปฏิรูประบบ รูปแบบที่เราน่าจะทำต่อเนื่อง คือ PPP (Public Private Partnership) เดิมเรามีโครงการประชารัฐ ก็สามารถทำเป็นประชารัฐเพื่อการปฏิรูปการเกษตร เพราะยังมีเรื่องเทคโนโลยี ต้องทำควบคู่กันไป ต้องนำไปสู่การเพิ่มมูลค่าสินค้า

บางคนอาจจะมองว่าจะช่วยเพิ่มผลผลิต 3 - 5 เท่า แล้วถ้าผลผลิตออกมามาก สินค้าล้นตลาด ราคาตกจะทำอย่างไร ดังนั้นต้องทำต่อไปถึงการแปรรูป การทำแพ็กเกจจิ้ง และทำการตลาด สร้างแบรนด์ ต่อยอดให้กับสินค้าอาหารไทย ซึ่งซีพี แอ็กซ์ตร้า มีช่องทางจัดจำหน่าย และโครงการที่ช่วยเหลือเกษตรกรรองรับอยู่แล้ว”

นายศุภชัย กล่าวอย่างมั่นใจว่า ปัจจุบันอาหารไทยเป็นสินค้าที่อยู่ระดับต้นๆ ของโลก ถ้าแต่ละอำเภอ แต่ละจังหวัด ทำสินค้าแบรนด์ 10 สินค้า นำไปสู่การส่งออก สร้างแบรนด์ เอาแค่นักท่องเที่ยวจีนที่มาเมืองไทยก็พอแล้ว ซื้อของฝากกลับไป นี่คือ “ซอฟต์ พาวเวอร์ แบรนดิ้ง”

 

“ถ้าปลดล็อกเรื่องเหล่านี้ สร้างระบบนิเวศที่ถูกต้อง เศรษฐกิจจะเติบโตขึ้นมาเอง เหมือนประเทศจีน พอปลดล็อกก็เติบโต จากประเทศที่มีประชากรที่อดอยากค่อนประเทศ กลายเป็นประเทศที่เกือบจะเรียกว่าเศรษฐกิจใหญ่สุดในโลก หากไทยทำตอนนี้ไม่ช้าไป และที่ผ่านมาก็ถือว่าทำมาพอสมควรหลายด้าน ภาคเกษตร คิดเป็นประชากร 1 ใน 3 ของประเทศ ถ้าเราสูญเสีย ทรัพยากรเหล่านี้ เด็กรุ่นใหม่ก็ไม่ทำเกษตรกัน โอกาสที่ไทยจะเป็นคลังอาหาร เป็นความมั่นคงทั้งระดับภูมิภาคหรือระดับโลก จะหายไปพร้อมๆ กัน ถ้าแก้ได้ จีดีพีเกษตรตอนนี้ 5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ในระยะเวลาไม่นานต้องไปถึง 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ” ประธานกรรมการ ซีพี แอ็กซ์ตร้า กล่าว

 

ปัจจุบัน โลตัส ในฐานะห้างค้าปลีกชั้นนำในประเทศไทย และเป็น SMART Community Center มีแนวทางการบริหารจัดการปัญหาขยะอาหาร เพื่อมีส่วนร่วมขับเคลื่อนนโยบายด้านการดูแลสิ่งแวดล้อม และลดปัญหาขยะฝังกลบในประเทศไทย โดยมีกระบวนการบริหารจัดการ ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ เพื่อลดการสูญเสียของอาหาร และขยะอาหาร รวมถึงโครงการริเริ่มต่างๆ ที่โลตัสได้ร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ อาทิ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และองค์กรการกุศล เป็นต้น เพื่อขับเคลื่อนเป้าหมายด้านความยั่งยืน ในประเด็นลดขยะอาหารให้เป็นศูนย์ (Zero Food Waste) ภายในปี พ.ศ.2573 นอกจากนี้ยังมีโครงการในการบริหารจัดการขยะอาหารอย่างบูรณาการอีกหลายโครงการ

 

ในขณะที่เป้าหมายด้านการส่งเสริม เอสเอ็มอี ผ่านแพลตฟอร์มแห่งโอกาส แม็คโคร ผู้นำธุรกิจค้าส่ง ภายใต้บริษัท ซีพี แอ็กซ์ตร้า จำกัด (มหาชน) ก็ได้ร่วมมือกับพันธมิตร และหน่วยงานราชการ เช่น กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ในการผนึกกำลังพัฒนาศักยภาพร้านค้าปลีกรายย่อยหรือโชห่วย รวมถึงกลุ่มธุรกิจโฮเรก้า ประกอบด้วยร้านอาหาร โรงแรม และธุรกิจจัดเลี้ยง ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และผู้ผลิตสินค้าในท้องถิ่นให้สามารถแข่งขันได้ในตลาด พร้อมวางแผนเปิดพื้นที่จำหน่ายสินค้าเอสเอ็มอี ทั้งในแม็คโคร-โลตัส เพื่อสร้างโอกาสทางการขาย ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจท้องถิ่นสู่ความยั่งยืน และมีโครงการในการส่งเสริมโชห่วย และ ให้ความรู้กับเอสเอ็มอีในการปรับตัว และส่งเสริมจัดจำหน่ายผ่านช่องทางออฟไลน์ และออนไลน์รวมถึงส่งเสริมเอสเอ็มอีที่มีศักยภาพเพื่อเพิ่มโอกาสในการบุกตลาดต่างประเทศอีกด้วย

โดยมุ่งเดินหน้าสนับสนุนผู้ประกอบการทั่วประเทศ ทั้งกลุ่มโชห่วย และธุรกิจโฮเรก้าให้เติบโตอย่างมีศักยภาพครอบคลุมทุกมิติ โดยการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านบริหารจัดการร้านค้าปลีกแก่สมาชิกร้านโชห่วยที่ปัจจุบันมีกว่า 500,000 รายทั่วประเทศ โดยเฉพาะร้านมิตรแท้โชห่วยให้สามารถดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพ ปีนี้ตั้งเป้าขยายร้านมิตรแท้โชห่วยเพิ่มเป็น 3,000 แห่งทั่วประเทศ

 

ส่วน “แม็คโคร โฮเรก้า อคาเดมี” ในฐานะคู่คิดธุรกิจร้านอาหาร มีสมาชิกผู้ประกอบการกว่า 690,000 ราย เดินหน้าสนับสนุนธุรกิจร้านอาหารให้สามารถต่อยอดธุรกิจ นำเทคโนโลยี และไอเดียใหม่ๆ มาประยุกต์ใช้ เพิ่มพูนทักษะการบริหารจัดการธุรกิจด้านต่างๆ ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา

โดยโครงการที่สำคัญในปีนี้ อาทิ งานใหญ่ประจำปี “ตลาดนัดโชห่วย” และงานโชห่วย ระดับภูมิภาค จัดโดยแม็คโครมิตรแท้โชห่วย การยกระดับผู้ประกอบการร้านโชห่วยสู่การเป็นสมาร์ตโชห่วย ผ่านกิจกรรมต่างๆ ของโครงการมิตรแท้โชห่วยร่วมกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า หลักสูตร “Smart Restaurant Plus” รุ่น 5-7 เพื่อให้ความรู้ด้านการบริหารจัดการ และยกระดับธุรกิจร้านอาหาร ตอบโจทย์ลูกค้าทุกกลุ่ม จัดโดยแม็คโคร โฮเรก้า อคาเดมี เปิดพื้นที่ให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีจำหน่ายสินค้าผ่านสาขาของแม็คโคร-โลตัสทั่วประเทศในระยะยาว เป็นต้น

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์