‘แอฟริกา’ รับจบปี 2050 ไม่มีน้ำใช้ จีดีพีลดฮวบ เพราะ ‘ภาวะโลกร้อน’

‘แอฟริกา’ รับจบปี 2050 ไม่มีน้ำใช้ จีดีพีลดฮวบ เพราะ ‘ภาวะโลกร้อน’

“ภาวะโลกร้อน” ยังคงเป็นปัญหาใหญ่ที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ และพยายามควบคุมอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส แต่ดูเหมือนว่าในตอนนี้เรายังควบคุมได้ไม่ดีพอ ถ้ายังปล่อยให้เป็นแบบนี้ต่อไป ผลกระทบที่เกิดขึ้นจะรุนแรงจนเกินควบคุม โดยเฉพาะในทวีป “แอฟริกา”

KEY

POINTS

  • งานวิจัยใหม่ระบุหากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศยังคงดำเนินต่อไปเรื่อยๆ การผลิตพืชผลทางการเกษตรในแอฟริกาจะลดลง 2.9% ในปี 2030 และจะกลายเป็น 18% ภายในปี 2050 ทำให้ผู้คนประมาณ 200 ล้านคน เสี่ยงต่อความอดอยากอย่างรุนแรง
  • ชาวแอฟริกัน 50 ล้านคน จะขาดแคลน “น้ำสะอาด” อย่างรุนแรง ในทวีปแอฟริกาจะมีน้ำลดน้อยลงอย่างมาก น้ำจะกลายเป็นของล้ำค่า มีราคาแพงมาก อีกทั้งจีดีพีของประเทศในทวีปแอฟริกาจะลดลง 7.12% และระยะยาวอาจจะลดลงได้ถึง 11.2-26.6% ในประเทศที่ได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุด 
  • สะท้อนให้เห็นว่าประเทศที่ยากจน และไม่ได้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากเท่าประเทศอื่น กลับได้รับผลกระทบจากสิ่งที่ไม่ได้ก่อมากที่สุด

“ภาวะโลกร้อน” ยังคงเป็นปัญหาใหญ่ที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ และพยายามควบคุมอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส แต่ดูเหมือนว่าในตอนนี้เรายังควบคุมได้ไม่ดีพอ ถ้ายังปล่อยให้เป็นแบบนี้ต่อไป ผลกระทบที่เกิดขึ้นจะรุนแรงจนเกินควบคุม โดยเฉพาะในทวีป “แอฟริกา”

ภาวะโลกร้อน” ยังคงเป็นปัญหาใหญ่ที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ และพยายามควบคุมอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับระดับก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรม แต่ดูเหมือนว่าในตอนนี้เรายังควบคุมได้ไม่ดีพอ เพราะอุณหภูมิโลกยังคงสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ถ้ายังปล่อยให้เป็นแบบนี้ต่อไป ผลกระทบที่เกิดขึ้นจะรุนแรงจนเกินควบคุม โดยเฉพาะในทวีป “แอฟริกา

จากข้อมูลการศึกษาจัดทำโดยศูนย์เพื่อการพัฒนาโลก ที่จัดทำโดย ฟิลิป โคฟี อดอม นักเศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อม และพลังงาน ทำงานวิจัยร่วมกับนักวิทยาศาสตร์และนักวิจัยด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นเวลาหลายปี พบว่าประเทศในแอฟริกาจะประสบความสูญเสียทางเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญหลังปี 2050 หากภาวะโลกร้อนทำให้อุณหภูมิโลกเพิ่มสูงขึ้นกว่า 2 องศาเซลเซียส 

หากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศยังคงดำเนินต่อไปตามแนวโน้มปัจจุบัน การผลิตพืชผลทางการเกษตรในแอฟริกาจะลดลง 2.9% ในปี 2030 และจะกลายเป็น 18% ภายในปี 2050 ทำให้ผู้คนประมาณ 200 ล้านคนเสี่ยงต่อความอดอยากอย่างรุนแรง 

ชาวแอฟริกัน 50 ล้านคนจะ “ขาดแคลนน้ำ”

การสูญเสียรายได้จากพืชผลประมาณ 30% จะทำให้เกิดความยากจนเพิ่มขึ้นราว 20-30% เมื่อเทียบกับสถานการณ์ที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยในภูมิภาคแอฟริกาตะวันตก และตะวันออกจะแย่ที่สุด

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทำให้การผลิตทางการเกษตรลดลง ทำให้เกิดปัญหาความมั่นคงทางอาหาร และทำให้ราคาสินค้าสูงขึ้นตามไปด้วย

จากข้อมูลตามรายงาน ชาวแอฟริกัน 50 ล้านคน จะขาดแคลน “น้ำสะอาด” อย่างรุนแรง ทั้งในการบริโภคและภาคอุตสาหกรรม ในทวีปแอฟริกาจะมีน้ำลดน้อยลงอย่างมาก ความต้องการน้ำจะยิ่งเพิ่มขึ้น และน้ำจะกลายเป็นของล้ำค่า มีราคาแพงมาก

จีดีพีทั่ว “แอฟริกา” ลดลง เพราะผลิตผลทางการเกษตรน้อยลง

42.5% ของชนชั้นแรงงานในแอฟริกาทำงานในภาคเกษตรกรรม ซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ในพื้นที่ชนบท และมีฐานะยากจน หากพื้นที่เกษตรกรรมมีน้อยลง และการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศที่รุนแรง ทำให้ฝนฟ้าไม่ตกตามฤดูกาล จนไม่สามารถทำการเกษตรได้ ก็จะทำให้แรงงานจำนวนมากเผชิญกับความเสี่ยงที่จะตกงาน ยิ่งเกิดปัญหายากจนอย่างรุนแรง 

หากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศยังคงดำเนินต่อไปเรื่อยๆ เช่นในปัจจุบัน ไม่มีการแก้ไขให้ดีขึ้น ภายในปี 2050 ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือ จีดีพีของประเทศในทวีปแอฟริกาจะลดลง 7.12% และระยะยาวอาจจะลดลงได้ถึง 11.2-26.6% ในประเทศที่ได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุด 

เมื่อเศรษฐกิจหดตัวลง ธุรกิจต่างๆ อาจปิดตัวลง งานบางอย่างหายไป และไม่มีการสร้างงานใหม่ ซึ่งจะกลายเป็นปัญหาใหญ่ของทวีปแอฟริกาที่อีกไม่กี่ปีข้างหน้าจะมีประชากรสูงถึง 2,000 ล้านคน และมีคนรุ่นใหม่เป็นจำนวนมากที่จะไม่มีงานทำ

 

“แอฟริกา” ปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อย แต่ได้รับผลกระทบมากที่สุด

จากข้อมูลของ Climate Watch แพลตฟอร์มออนไลน์ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พบว่า 10 อันดับแรกของประเทศที่ปล่อย “ก๊าซเรือนกระจก” มากที่สุดในโลกในปี 2020 ได้แก่ จีน, สหรัฐ, อินเดีย, สหภาพยุโรป, รัสเซีย, อินโดนีเซีย, บราซิล, ญี่ปุ่น, อิหร่าน และแคนาดา ซึ่งไม่มีประเทศที่อยู่ในแอฟริกาอยู่เลย แต่ทวีปนี้ซึ่งส่วนมากจะเป็นประเทศยากจน กลับได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อนมากที่สุด 

“แอฟริกาสร้างปัญหานี้น้อยที่สุด แต่กลับต้องมารับผลกระทบมากที่สุด” วันจิรา มาไทย กรรมการผู้จัดการประจำแอฟริกา และความร่วมมือระดับโลกของสถาบันทรัพยากรโลกกล่าว “ดังนั้นเราจึงต้องปรับตัวทั้งหมดอย่างรวดเร็วเท่าที่ทำได้ และต้องมั่นใจว่าเรารับมือกับความเสียหายที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้เป็นอย่างดี”

ประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐจึงให้คำมั่นสัญญาว่าจะส่งเงินช่วยเหลือประเทศยากจน เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการค่าลดมลพิษทางสภาพภูมิอากาศและรับมือกับผลกระทบของอุณหภูมิที่สูงขึ้น  ไม่ว่าจะเป็นการป้องกันน้ำท่วม การหาพืชทนแล้งมาปลูก และระบบเตือนภัยล่วงหน้าเพื่อช่วยประชาชนอพยพในกรณีฉุกเฉิน ด้วยเงิน 100,000 ล้านดอลลาร์ต่อปี  

แต่แล้วช่วงปลายปี 2023 สหประชาชาติรายงานว่า ประเทศที่ร่ำรวยส่งเงินช่วยเหลือให้แก่ประเทศยากจนลดลง 15% เมื่อเทียบกับปีก่อน ซึ่งไม่เพียงพอต่อการปรับตัวต่อสภาพภูมิอากาศ โดยสหประชาชาติ กล่าวว่าประเทศที่ยากจนต้องการเงินสนับสนุนจากประเทศพัฒนา และสถาบันต่างๆ มากขึ้นอย่างน้อย 10 จากที่ได้รับปัจจุบัน

 

เงินปัจจัยสำคัญช่วยรับมือโลกร้อน

ประเทศต่างๆ ย่อมรู้ดีว่าจะต้องใช้เงินในการลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ดังนั้นในกลุ่มประเทศยากจนจึงไม่มีหนทางจะบรรเทาความเสียหาย ได้แต่รับผลกระทบจากโลกร้อนที่รุนแรงขึ้นทุกที โดยที่พวกเขาไม่ได้ก่อขึ้นด้วยซ้ำ 

ในการประชุม COP27 ที่ผ่านมา นานาชาติได้บรรลุข้อตกลงจัดตั้ง กองทุนชดเชยความสูญเสียและเสียหาย (Loss and Damage Finance Fund) ขึ้นมา โดยมีจุดประสงค์ให้ประเทศที่พัฒนาแล้ว ร่วมกันลงเงินช่วยเหลือประเทศที่กำลังพัฒนาหากเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติ หรือเกิดวิกฤติทางสภาพภูมิอากาศรุนแรง เพื่อให้ประเทศที่ประสบภัยฟื้นฟูทางด้านเศรษฐกิจ และโครงสร้างได้ แต่กองทุนนี้ก็ยังมีคำถามมากมายที่รอคำตอบอยู่ รวมถึงคำถามสำคัญอย่างใครจะเป็นคนต้องจ่ายเงินช่วยเหลือนี้

พอล วัตคิส ที่ปรึกษาด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของสหประชาชาติ กล่าวว่า ภาวะโลกร้อนส่งผลกระทบต่อประเทศที่กำลังพัฒนา และยากจนอย่างมาก โดยเฉพาะประเทศที่ไม่สามารถจัดหาทรัพยากรในการรับมือต่อสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง เพราะสิ่งเหล่านี้จะฉุดรั้ง และกระทบต่อการพัฒนาประเทศ

บริษัทต่างๆ เริ่มให้ความสำคัญกับการช่วยเหลือประเทศยากจนมากยิ่งขึ้น ส่วนหนึ่งก็เพื่อปกป้องซัพพลายเชนของตนเอง ขณะที่สถาบันการเงินหลักของโลก เช่น ธนาคารโลก และกองทุนการเงินระหว่างประเทศพยายามเปลี่ยนแปลงวิธีการดำเนินงาน และหาทางนำเงินเข้ากองทุนเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากขึ้น 

ปัจจุบันคนทั่วไปสามารถช่วยแก้ไขภาวะโลกร้อนได้มากที่สุดก็เพียงแค่การปรับเปลี่ยนวิธีการเดินทาง ใช้การปั่นจักรยาน การเดินใช้ส่งสาธารณะเมื่อเป็นไปได้ รวมถึงการประหยัดพลังงานทั้งน้ำ และไฟฟ้าที่ไม่ได้ใช้หรือไม่จำเป็น อีกทั้งอนุรักษ์ และปกป้องพื้นที่สีเขียว หรือเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภค เช่น งดการบริโภคเนื้อสัตว์ หรือนมโค ซึ่งแน่นอนว่าวิธีการเหล่านี้ไม่เพียงพอที่จะช่วยทำให้ภาวะโลกร้อนยังดีขึ้นได้ และยิ่งตอกย้ำว่าการจะแก้ไขสถานการณ์นี้จะต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทุกประเทศในโลก 

 

ที่มา: NPRPhysThe Conversation

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์