‘มลพิษทางแสง’ ใกล้ถึงจุดที่ควบคุมไม่ได้ กระทบสิ่งมีชีวิตทั่วโลก

‘มลพิษทางแสง’ ใกล้ถึงจุดที่ควบคุมไม่ได้ กระทบสิ่งมีชีวิตทั่วโลก

นักดาราศาสตร์ทั่วโลกกังวลกับ “มลภาวะทางแสง” มากขึ้น เนื่องจากแสงสว่างจากอาคารบ้านเรือนยามค่ำคืน เริ่มส่งผลกระทบต่อการมองเห็นดวงดาวบนท้องฟ้าแล้ว ยังส่งยังส่งผลกระทบต่อสุขภาพทั้งคนและสัตว์ "นาฬิกาชีวภาพ" ในคนเสีย พฤติกรรมสัตว์เปลี่ยน หาที่อยู่ใหม่เพราะหนีแสง

KEY

POINTS

  • นักดาราศาสตร์ทั่วโลกกังวลกับ “มลภาวะทางแสง” มากขึ้น แต่ละปีท้องฟ้ายามค่ำคืนจะสว่างขึ้น 10% เนื่องจาก “แสงประดิษฐ์” ที่มนุษย์เริ่มส่งผลกระทบต่อการมองเห็นดวงดาวและการศึกษาดาราศาสตร์
  • มลภาวะทางแสงผลกระทบต่อสุขภาพทั้งคนและสัตว์ “นาฬิกาชีวภาพ” ในมนุษย์เสีย ขณะเดียวกันพฤติกรรมสัตว์ก็เปลี่ยนไปทั้งในการผสมพันธุ์และการเปลี่ยนที่อยู่ จนอาจสูญพันธุ์ได้
  • นักวิทยาศาสตร์แนะให้หันมาใช้ไฟโทนอุ่น หลีกเลี่ยงการใช้หลอดไฟ LED แบบฟูลสเป็กตรัม ที่มีแสงสีฟ้าเป็นอันตรายต่อผู้คนและสัตว์ต่าง ๆ โดยแสงไฟสีเหลืองนวลเป็นสีที่อันตรายต่อสายตาของสิ่งมีชีวิตน้อยที่สุด

นักดาราศาสตร์ทั่วโลกกังวลกับ “มลภาวะทางแสง” มากขึ้น เนื่องจากแสงสว่างจากอาคารบ้านเรือนยามค่ำคืน เริ่มส่งผลกระทบต่อการมองเห็นดวงดาวบนท้องฟ้าแล้ว ยังส่งยังส่งผลกระทบต่อสุขภาพทั้งคนและสัตว์ "นาฬิกาชีวภาพ" ในคนเสีย พฤติกรรมสัตว์เปลี่ยน หาที่อยู่ใหม่เพราะหนีแสง

นักดาราศาสตร์ทั่วโลกมีความกังวลกับ “มลภาวะทางแสง” มากขึ้น เนื่องจากแสงสว่างจากอาคารบ้านเรือนยามค่ำคืน เริ่มส่งผลกระทบต่อการมองเห็นดวงดาวบนท้องฟ้าแล้ว ยังส่งยังส่งผลกระทบต่อสุขภาพทั้งคนและสัตว์ นาฬิกาชีวภาพในคนเสีย พฤติกรรมสัตว์เปลี่ยน หาที่อยู่ใหม่เพราะหนีแสงจ้า

ภาพถ่ายดาวเทียมของโลกในตอนกลางคืนสว่างไสวไปด้วยแสงไฟฟ้าจากเมืองต่าง ๆ เชื่อมต่อถึงกันระยิบระยับ จนแทบจะกลายเป็นดาวเคราะห์ที่มีแสงในตัวเอง เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่าอารยธรรมมนุษย์เติบโตขึ้น และความเจริญได้เข้าถึงเกือบทุกที่ทั่วมุมโลก แต่ในขณะเดียวกันสิ่งเหล่านี้ก็สะท้อนเห็นถึงมลภาวะทางแสงที่กำลังเกิดขึ้นเช่นกัน 

Globe at Night องค์กรรณรงค์เรื่องผลกระทบของมลภาวะทางแสง เผยแพร่รายงานที่อิงจากข้อมูล 10 ปีบนท้องฟ้ายามค่ำคืนตั้งแต่ช่วงปี 2011-2022 พบว่า ในแต่ละปีท้องฟ้ายามค่ำคืนจะสว่างขึ้น 10% ซึ่งส่งผลให้ดาวฤกษ์บนท้องฟ้าจำนวนมากถูกกลืนหายไปโดยแสงไฟจากตึกรามบ้านช่อง ไฟถนน สัญญาณไฟจราจร ฯลฯ

เราต่างคุ้นเคยกันดีว่าการมีไฟฟ้าส่องสว่าง ถือเป็นเครื่องหมายของการความเจริญและความปลอดภัย แต่ในตอนนี้หลายพื้นที่มีแสงสว่างเกินความจำเป็น ข้อมูลจาก Dark Sky Group จากองค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ หรือ IUCN พบว่า นวัตกรรมทางเทคโนโลยีและการเติบโตของเมืองทำให้เกิด “แสงสว่างส่วนเกิน” ในช่วง 25 ปีระหว่างปี 1992-2017 เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยข้อมูลจากดาวเทียมวัดข้อมูลได้ว่า มลภาวะทางแสงทั่วโลกเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 49% แต่ตัวเลขอาจสูงกว่านี้มากถึง 270%

ในปัจจุบัน ผู้คนเริ่มหันมาใช้ไฟ LED แบบฟูลสเป็กตรัมมากกว่าไฟโทนสีอุ่นสลัว ซึ่งจะทำให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสิ่งมีชีวิตเพิ่มขึ้น โดยทราวิส ลองคอร์ นักนิเวศวิทยาของ UCLA กล่าวว่า ไฟ LED จะมีช่วงความยาวคลื่นมากกว่าหลอดโซเดียมความดันสูงแบบเก่า ทำให้สามารถปล่อยคลื่นแสงสีน้ำเงินและสีเขียวมากกว่า จนนักบินอวกาศบนสถานีอวกาศนานาชาติสามารถมองเห็นความแตกต่างจากอวกาศได้

ภาพถ่ายโลกยามค่ำคืน

ภาพถ่ายโลกยามค่ำคืน
เครดิต: นาซา

 

“มลพิษทางแสง” ส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิต

มนุษย์สร้าง “แสงประดิษฐ์” (artificial light) ขึ้นมาก็เพื่อความสะดวกสบาย และช่วยส่องสว่างในยามค่ำคืน ซึ่งแสงสว่างที่มากเกินไปก็สามารถสร้างผลกระทบร้ายแรงต่อสุขภาพของมนุษย์ได้เช่นกัน 

แสงเหล่านี้ทำให้ “นาฬิกาชีวภาพ” ซึ่งเป็นวงจรของระบบการทำงานในร่างกายมนุษย์ ที่มีหน้าที่ควบคุมการทำงานของระบบต่าง ๆ ในร่างกาย ส่งผลให้มนุษย์นอนหลับลดลง การหลั่งฮอร์โมนในร่างกายแปรปรวน 

ฮอร์โมนเมลาโทนินที่ปรกติแล้วร่างกายจะหลั่งออกมาตอนกลางคืน ทำให้รู้สึกง่วง แต่เมื่อกลางคืนก็มีแสงประดิษฐ์ที่สว่างไม่ต่างจากกลางวัน จะส่งผลให้ร่างกายไม่หลั่งเมลาโทนินออกมา ร่างกายตื่นตัวได้ง่าย อีกทั้งเมื่อร่างกายขาดแสงสีแดงจึงทำให้เกิดโรคอ้วนและมีผู้ป่วยโรคเบาหวานเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

แม้ว่าแสงสว่างจะจำเป็นต่อการรักษาความปลอดภัยของผู้คนในเมือง แต่ลองคอร์กล่าวว่าในปัจจุบันมีแสงสว่างมากเกินไป จนบางครั้งสามารถเบี่ยงเบนความสนใจของผู้ขับขี่ ลดทัศนวิสัยในเวลากลางคืน ซึ่งจะทำให้การรับรู้โดยรวมลดลง จนอาจเกิดอุบัติเหตุได้เช่นกัน

พฤติกรรมสัตว์เปลี่ยนจาก “มลพิษทางแสง”

มลภาวะทางแสงยังรบกวนสัตว์ป่าและระบบนิเวศอีกด้วย สิ่งมีชีวิตบนโลกได้วิวัฒนาการด้วยแสงแดดในตอนกลางวัน แสงจันทร์และแสงดาวในตอนกลางคืน  ดังนั้นพฤติกรรมของสัตว์ ช่วงชีวิต และปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้ล่า-เหยื่อ จึงถูกปรับให้เข้ากับช่วงเวลากลางวันและกลางคืนตลอด 24 ชั่วโมง และตามฤดูกาลในรอบปี

การมีแสงประดิษฐ์ในสิ่งแวดล้อมที่มากเกิน ทำให้สัตว์ย้ายถิ่นที่อยู่ นับว่าเป็นการสูญเสียแหล่งที่อยู่อาศัยรูปแบบหนึ่ง พร้อมทำลายวงจรชีวิตผู้ล่าและเหยื่อ  อีกทั้งแสงประดิษฐ์จะทำให้สัตว์เกิดความสับสน รบกวนการผสมพันธุ์ เปลี่ยนพฤติกรรมการสืบพันธุ์ รวมถึงเพิ่มความเครียดให้แก่สัตว์ ซึ่งอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้สัตว์เสียชีวิตได้ และสูญพันธุ์ได้

ตัวอย่างเช่น เต่าทะเลใช้แสงเป็นแนวทางในการวางและฝังไข่บนชายหาดในเวลากลางคืน เมื่อมีแสงประดิษฐ์มากเกินไป ลูกที่ฟักออกมาซึ่งตั้งใจจะหาทางลงทะเลจะสับสนและเดินไปผิดทาง แสงไฟยังทำให้แมลงสับสน ทำให้พวกมันไปรวมตัวอยู่ที่ไฟถนน และกลายเป็นเหยื่อให้แก่นักล่าอย่างง่ายดาย ขณะที่นกอพยพในเวลากลางคืนมักจะบินชนเสาสื่อสารหรือหน้าต่างที่มีแสงสว่างจ้า

ขณะที่พืชเองก็ได้รับผลกระทบจากมลภาวะทางแสงเช่นกัน โดยแสงที่มาแบบผิดที่ผิดเวลาจะขัดขวางการจะเจริญเติบโตของพืช ดังนั้นสิ่งมีชีวิตทุกชนิดจึงได้รับผลกระทบเป็นปฏิกิริยาลูกโซ่ต่อเนื่องกันไป

 

วิถีชีวิตและวัฒนธรรมที่เปลี่ยนแปลงไปเพราะ “มลพิษทางแสง” 

ดวงดาวและท้องฟ้ายามค่ำคืนถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของการเล่าเรื่อง ความเชื่อ ประเพณีทางศาสนา และปฏิทินมาตลอดประวัติศาสตร์ของมนุษย์ ทุกวันนี้ชาวเมารี ชนเผ่าพื้นเมืองของนิวซีแลนด์ใช้กลุ่มดาวมาตาริกิ หรือ ที่รู้จักในชื่อ “กระจุกดาวลูกไก่” ในการนำทางและทำนายความอุดมสมบูรณ์ของฤดูเก็บเกี่ยว

เช่นเดียวกับทางตอนเหนือของเกาะชวา ประเทศอินโดนีเซีย ที่ใช้การมาถึงของกระจุกดาวลูกไก่เป็นจุดเริ่มต้นของฤดูปลูกข้าว ขณะที่ชาวบาโซโธ ที่อาศัยอยู่ทางตอนใต้ของทวีปแอฟริกาเรียกกลุ่มดาวมาตาริกิว่า “สาวชาวไร่” (The Female Planter) เป็นตัวแทนของความอุดมสมบูรณ์ แต่มลพิษทางแสงกำลังทำให้แสงของกลุ่มดาวลูกไก่ริบหรี่ลง

ผู้คนทั่วโลกต่างมองเห็นดวงดาวบนท้องฟ้าน้อยลงเรื่อย ๆ และมีเพียงพื้นที่ห่างไกลเท่านั้นที่สามารถมองเห็น “ทางช้างเผือก” ด้วยตาเปล่าได้ แต่ก็ยังมองเห็นดาวได้ลดลงกว่าเดิมมาก ในย่านชานเมืองของอเมริกาโดยเฉลี่ย สามารถเห็นดาวได้เพียงไม่กี่ร้อยดวงจากประมาณ 2,500 ดวงเท่านั้น 

การศึกษาชิ้นหนึ่งประเมินว่า 60% ของชาวยุโรปและ 80% ของชาวอเมริกันไม่เคยเห็นทางช้างเผือกเลย 

ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้ นักดาราศาสตร์ นักชีววิทยาด้านการอนุรักษ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการท่องเที่ยวและการอนุรักษ์วัฒนธรรม ร่วมกันทำปฏิญญาว่าด้วยการป้องกันท้องฟ้ายามค่ำคืนและสิทธิในการมองเห็นดวงดาวขึ้นเมื่อปี 2007 ในการประชุมสตาร์ไลท์ที่เมืองลาปัลมา ของสเปน โดยถือว่าเป็นสิทธิมนุษยชนที่จะเห็นท้องฟ้ายามค่ำคืนที่ปราศจากมลภาวะ 

ก่อนศตวรรษที่ 17 มนุษย์ใช้เพียงแค่ตะเกียงและการจัดไฟ ยังไม่มีการใช้ไฟฟ้า มลพิษทางแสงจึงเป็นเรื่องที่ไกลตัว และไม่มีใครคาดคิดว่าจะเป็นปัญหา แต่เมื่อเข้าสู่ช่วงทศวรรษ 1870 การใช้ไฟฟ้าส่องสว่างก็แพร่กระจายอย่างรวดเร็ว หลังจากนั้นแสงเรืองไปยังท้องฟ้า หรือ สกายโกลว (Sky Glow) แสงหรือความสว่างบนท้องฟ้าที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์ก็ทำให้นักดาราศาสตร์ทำงานได้ยากขึ้น คุณภาพของกล้องโทรทรรศน์แย่ลงเรื่อยมา

 

ทางแก้มลภาวะทางแสง

มลภาวะทางแสงอาจดูเหมือนเป็นปัญหารองเมื่อเทียบกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอื่นๆ แต่ก็สามารถลดลงได้ง่าย ๆ เดวิด เวลช์ ประธานกลุ่มที่ปรึกษาท้องฟ้ามืดของ IUCN แนะนำให้หรี่แสงไฟในพื้นที่กลางแจ้งลง หรือใช้แสงในระดับที่จำเป็นสามารถสร้างความแตกต่างได้มาก

รวมถึงหันมาใช้ไฟโทนอุ่น หลีกเลี่ยงการใช้หลอดไฟ LED แบบฟูลสเป็กตรัม ที่มีแสงสีฟ้าเป็นอันตรายต่อผู้คนและสัตว์ต่าง ๆ โดยแสงไฟสีเหลืองนวลเป็นสีที่อันตรายต่อสายตาของสิ่งมีชีวิตน้อยที่สุด ช่วยให้สัตว์ส่วนใหญ่สามารถมองเห็นในเวลากลางคืนได้ 

การติดตั้งตัวจับเวลาและเซนเซอร์ตรวจจับความเคลื่อนไหว ให้เปิดไฟเฉพาะเวลาที่มีคนอยู่ก็สามารถช่วยลดมลพิษทางแสงได้เช่นกัน

ในปัจจุบันหลายประเทศเริ่มมีการก่อตั้งเขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดขึ้น เพื่อเป็นพื้นที่ปลอดแสงประดิษฐ์และสกายโกลว และสร้างความตระหนักรู้และเห็นคุณค่าต่อพื้นที่ธรรมชาติที่ไร้แสงรบกวน สามารถมองเห็นปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์และดวงดาวได้อย่างชัดเจน ซึ่งนับวันยิ่งหาพื้นที่แบบนี้ได้ยากขึ้นทุกที


ที่มา: PhysUniverse Today