ดูดาวทำไมต้องมืดมิด กับเช็คลิสต์ “เขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืด” มองไปก็เห็นดาว

ดูดาวทำไมต้องมืดมิด กับเช็คลิสต์ “เขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืด” มองไปก็เห็นดาว

ฟ้าก็ฟ้าเดียวกัน ดวงดาวก็ยังอยู่ที่เดิม แต่อะไรคือเหตุผลที่ต้องมี “เขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืด” เพื่อศึกษาดาราศาสตร์ และปัจจุบันประเทศไทยมีเขตอนุรักษ์ฟ้ามืดที่ไหนบ้าง และถ้าที่ไหนอยากเป็นส่วนหนึ่งของเขตอนุรักษ์ฯ นี้ ต้องทำอย่างไร

แสงสว่างอาจมีความหมายถึงความหวังกับความสำเร็จ แต่กับการศึกษา ดาราศาสตร์ แสงสว่างไม่พึงประสงค์คืออุปสรรคขัดขวางให้การ ดูดาว เป็นเรื่องยาก แม้ว่าจะเป็นค่ำคืนที่ฟ้าเปิดแค่ไหนก็ตาม

การ “ดูดาว” เคยเป็นเครื่องมือเอาตัวรอดของมนุษย์ในสมัยโบราณ เพราะ ดวงดาว บอกทิศทาง ช่วงเวลา และฤดูกาลได้ สำหรับนักโหราศาสตร์ ดวงดาวยังเป็นตัวบ่งชี้ดวงชะตาราศีด้วย นอกจากประโยชน์ที่กล่าวไปแล้ว ดวงดาวยังมีคุณูปการอีกมากมายที่จำเป็นต้องศึกษาด้วยดาราศาสตร์

ดูดาวทำไมต้องมืดมิด กับเช็คลิสต์ “เขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืด” มองไปก็เห็นดาว ภาพจากสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ

ไม่มืด ไม่เห็นดาว

การศึกษา “ดาราศาสตร์” จำเป็นต้องอาศัยความมืดมิด ยิ่งมืดสนิทได้เท่าไรยิ่งดี ตัวอย่างง่ายว่าเมื่อเราอาศัยอยู่ในเมืองหรือที่ที่มีแสงสว่างยามค่ำคืน โอกาสมองเห็นดวงดาวเต็มท้องฟ้าคือศูนย์ แต่ถ้าวันใดที่เกิดไฟฟ้าดับเป็นวงกว้าง จนทุกอย่างในรัศมีหลายกิโลเมตรมืดสนิท เราก็อาจจะได้เห็นดวงดาวบนท้องฟ้า ไม่มากก็น้อย

หมายความว่าแสงสว่าง โดยเฉพาะ แสงประดิษฐ์ เป็นอุปสรรคของการ “ดูดาว” ไม่ว่าจะด้วยตาเปล่าหรือแม้แต่ใช้กล้องโทรทรรศน์

ดูดาวทำไมต้องมืดมิด กับเช็คลิสต์ “เขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืด” มองไปก็เห็นดาว ภาพจากสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ

เรื่องแสงสว่างที่รบกวนการดูดาว เรียกว่า มลภาวะทางแสง (Light Pollution) อันที่จริงมลภาวะทางแสงนี้ไม่ได้ส่งผลเสียกับแค่แวดวงดาราศาสตร์ แต่ส่งผลเสียถึงสุขภาพของคน สัตว์ พืชพรรณ ทั้งทางตรงและทางอ้อม

สำหรับการ “ดูดาว” เมื่อจำเป็นจะต้องมีท้องฟ้ามืดสนิท สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ จึงจัดตั้ง เขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืด (Dark Sky Places) ขึ้นร่วมรณรงค์ให้สังคมตระหนักถึงผลกระทบจากมลภาวะทางแสง และอนุรักษ์ความมืดของท้องฟ้ายามค่ำคืน ผ่านการจัดตั้งเขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดและการท่องเที่ยวเชิงดาราศาสตร์

ซึ่งหัวใจสำคัญของ “เขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืด” คือควบคุมการใช้แสงสว่างในเวลากลางคืน เพื่อให้สถานที่ดังกล่าวเหมาะสมกับการ “ดูดาว” และ “การศึกษาดาราศาสตร์”

ดูดาวทำไมต้องมืดมิด กับเช็คลิสต์ “เขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืด” มองไปก็เห็นดาว ภาพจากสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ

เขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในประเทศไทย ที่ไหนบ้าง

ตั้งแต่เริ่มจัดตั้ง “เขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืด” ในประเทศไทยมีหลายพื้นที่ได้รับรองเป็นเขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืด แบ่งเป็นอุทยานท้องฟ้ามืด, ชุมชนอนุรักษ์ท้องฟ้ามืด, เขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในพื้นที่ส่วนบุคคล และเขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในพื้นที่ชานเมือง กระจายไปทุกภาคทั่วประเทศ

  • ภาคเหนือ ได้แก่ อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร จ.เชียงใหม่, บ้านออนใต้ สันกำแพง จ.เชียงใหม่ และ อุทยานแห่งชาติห้วยน้ำดัง จ.เชียงใหม่
  • ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ อุทยานแห่งชาติผาแต้ม จ.อุบลราชธานี, อุทยานแห่งชาติป่าหินงาม จ.ชัยภูมิ, เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว จ.ชัยภูมิ, อุทยานแห่งชาติภูแลนคา จ.ชัยภูมิ, บ้านไร่ยายชะพลู จ.นครราชสีมา, หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติฯ จ.นครราชีสีมา, โรงแรมเรนทรี เรสซิเดนซ์ เขาใหญ่ จ.นครราชสีมา, สนามมวกเหล็กเอทีวี จ.นครราชสีมา, ไร่องุ่นไวน์ อัลซิดินี่ จ.นครราชสีมา และ เดอะเปียโน รีสอร์ท เขาใหญ่ จ.นครราชสีมา
  • ภาคกลาง ได้แก่ หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติฯ จ.ฉะเชิงเทรา
  • ภาคใต้ ได้แก่ หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติฯ จ.สงขลา

ดูดาวทำไมต้องมืดมิด กับเช็คลิสต์ “เขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืด” มองไปก็เห็นดาว ภาพจากสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ

อยากเป็นเขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืด ทำอย่างไรดี

นอกจาก “เขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืด” ที่มีอยู่ ณ ปัจจุบัน ทางสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติยังเปิดรับสถานที่ที่ต้องการขึ้นทะเบียนเป็นเขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดได้ด้วย เพื่อเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงดาราศาสตร์ในประเทศไทย

แต่ไม่ใช่ใครอยากขึ้นทะเบียนก็ได้ เพราะต้องมีคุณสมบัติเข้าเกณฑ์ทั้ง คุณภาพท้องฟ้า การบริหารจัดการแสงสว่าง และความเหมาะสมของพื้นที่สังเกตการณ์ทางดาราศาสตร์

สำหรับ หลักเกณฑ์การขึ้นทะเบียนเป็น “เขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืด” สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ระบุว่า การขึ้นทะเบียนเขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในแต่ละรูปแบบ ถูกพิจารณาโดยคณะกรรมการของสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) จากข้อมูลการสมัครและการสำรวจพื้นที่ ที่สอดคล้องกับหลักเกณฑ์กำหนดไว้ เช่น คุณภาพท้องฟ้า แสงสว่างภาพนอกอาคาร การจัดกิจกรรมสร้างความตระหนักอย่างต่อเนื่อง และการสนับสนุกจากหน่วยงาน/ผู้บริหารต้นสังกัด ทั้งนี้ เพื่อยืนยันว่าพื้นที่ดังกล่าวมีความเหมาะสมและเกิดการอนุรักษ์ความมืดของท้องฟ้าอย่างยั่งยืน

พื้นที่ที่ได้รับจัดตั้งเป็นเขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืด จะได้รับป้ายรับรองว่าพื้นที่ดังกล่าวมีคุณภาพท้องฟ้าได้มาตรฐาน มีการจัดการแสงสว่างในพื้นที่ตามที่กำหนด และได้รับอนุญาตให้นำเครื่องหมายเขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดใช้ในการประชาสัมพันธ์พื้นที่อุทยานแก่นักท่องเที่ยวและประชาชน นอกจากนี้จะดำเนินการประชาสัมพันธ์ผ่านเว็บไซต์อุทยานท้องฟ้ามืด และช่องทางออนไลน์อื่นๆ เพื่อให้ผู้สนใจรับทราบข้อมูลอย่างกว้างขวาง

ผลพลอยได้จากการมี "เขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืด" ที่หลายคนอาจไม่ได้นึกถึง คือการที่มลภาวะทางแสงถูกควบคุม ส่งผลให้นอกจากเห็นดาวได้แล้ว พืชพรรณที่เคยเจริญเติบโตผิดปกติจากแสงประดิษฐ์ได้กลับมาเติบโตอย่างเป็นธรรมชาติ หรือสัตว์ที่อาศัยแสงดวงจันทร์และดวงดาวเพื่อนำทาง แล้วต้องเคยหลงทิศทางจากแสงของหลอดไฟฟ้า จะได้กลับมาดำเนินชีวิตอย่างปลอดภัยสักที