'สัตว์ที่หายไป' โดยไม่ต้องรอการสูญพันธุ์ครั้งที่ 6

'สัตว์ที่หายไป' โดยไม่ต้องรอการสูญพันธุ์ครั้งที่ 6

โลกร้อน ไม่เท่ากับน้ำมือมนุษย์ โดยเฉพาะนักล่า ที่เร่งให้สัตว์หลายชนิดสูญพันธุ์จากโลกใบนี้ แม้โลกจะผ่านการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่มาแล้ว 5 ครั้ง และกว่าจะถึงครั้งที่ 6 ก็อาจต้องใช้เวลาหลายล้านปี แต่ระหว่างทาง พบว่า มีสัตว์หลายชนิดเสี่ยงสูญพันธุ์ หรือ สูญพันธุ์ไปแล้ว

KEY

POINTS

  • ในวันที่เรากำลังกังวลว่าโลกจะร้อนขึ้น ส่งผลให้สัตว์หลายชนิดเสี่ยงสูญพันธุ์ แต่ในอีกมุมหนึ่ง โลกร้อนกลับไม่น่ากลัวเท่ากับน้ำมือมนุษย์ที่เป็นผู้ล่า
  • ที่ผ่านมา มีสัตว์หลายชนิดที่ถูกล่า และสูญพันธุ์ทั้งในไทยและต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นแรดชวา แรดขาว ที่เหลือน้อยเต็มที หรือตัวอย่างการสูญพันธุ์ของ “นกโดโด” นกขนาดใหญ่ที่บินไม่ได้ ทำให้ถูกล่าโดยง่ายและสูญพันธุ์ในที่สุด
  • รวมไปถึงการรุกรานที่อยู่อาศัยของสัตว์ ทำให้สัตว์หลายชนิดต้องปรับตัว ล้วนเป็นตัวเร่งให้เกิดการสูญพันธุ์โดยไม่ต้องรอ Cycle ธรรมชาติ อย่างการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ 5 ครั้งที่ผ่านมา

โลกร้อน ไม่เท่ากับน้ำมือมนุษย์ โดยเฉพาะนักล่า ที่เร่งให้สัตว์หลายชนิดสูญพันธุ์จากโลกใบนี้ แม้โลกจะผ่านการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่มาแล้ว 5 ครั้ง และกว่าจะถึงครั้งที่ 6 ก็อาจต้องใช้เวลาหลายล้านปี แต่ระหว่างทาง พบว่า มีสัตว์หลายชนิดเสี่ยงสูญพันธุ์ หรือ สูญพันธุ์ไปแล้ว

 

สิ่งที่เราพูดถึงกันมากในปัจจุบัน คือ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และโลกที่ร้อนขึ้น สร้างความกังวลว่า เมื่อ “โลกร้อน” จะส่งผลให้สัตว์สูญพันธุ์โดยเฉพาะสัตว์ขั้วโลก หากย้อนกลับไปในอดีต โลกเราผ่านการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ไปแล้ว 5 ครั้ง และครั้งที่ 6 ยังไม่มีใครคาดการณ์ได้ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่

 

สะท้อนให้เห็นว่า แม้ไม่มีมนุษย์ Cycle ของธรรมชาติก็ยังคงดำเนินต่อไป โลกยังคงร้อน สลับเย็น และสิ่งมีชีวิตมีการปรับตัว สูญพันธุ์ และเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย แต่การสูญพันธุ์ 5 ครั้งที่ผ่านมา เรียกว่า “ยังไม่มีมนุษย์บนโลก”

 

บทความที่เกี่ยวข้อง : ย้อนรอย 5 การสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ของโลก และครั้งที่ 6 จะเกิดขึ้นหรือไม่ ?

 

มนุษย์ผู้แหกกฎธรรมชาติ

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ในอดีต มีการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเรื่อยๆ ก่อนที่จะมาถึงยุคปัจจุบัน ไม่ว่าจะหนาวในยุคน้ำแข็ง ช่วงอบอุ่นระหว่างยุคน้ำแข็ง สลับกันตามที่มีบันทึกในหลักฐานธรณีวิทยาและหลักฐานทางซากดึกดำบรรพ์ เรียกว่ามีการเปลี่ยนแปลงมาโดยตลอด

 

ผศ.ดร.กันตภณ สุระประสิทธิ์ ภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้สัมภาษณ์กับ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กลุ่มสิ่งมีชีวิตในหลักฐานของฟอสซิลก็เปลี่ยนกลุ่ม ทำให้รู้ว่าจริงๆ แล้ว การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มีผลต่อกลุ่มสิ่งมีชีวิตหรือความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตโดยตรง หากไม่นับมนุษย์ที่แหกกฎธรรมชาติ สัตว์อื่นๆ ก็ถือว่าอยู่ร่วมกับธรรมชาติ

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

 

 

"การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กระทบกับเราน้อยเพราะเรามีเทคโนโลยีเข้ามารับมือ หรือใช้เครื่องมือที่เราคิดค้น แต่สัตว์ทำไม่ได้ ทำให้ปัจจุบันตัวอย่างที่เห็นง่ายๆ คือ หากโลกเรามีอุณหภูมิที่ร้อนขึ้นแม้จะ 1-2 องศาก็กระทบกับขั้วโลก เพราะน้ำแข็งขั้วโลกละลาย ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น"

 

ในปัจจุบัน เราอยู่ในช่วงอบอุ่นกึ่งกลางระหว่างยุคน้ำแข็ง มีแนวโน้มกลับเข้าสู่ยุคน้ำแข็ง แต่ในช่วงนี้เป็นการเกิด Cycle ของโลกร้อน ประกอบกับกิจกรรมของมนุษย์ ที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศ เกิดการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ก๊าซเรือนกระจก

 

"พอโลกร้อนขึ้น จึงทำให้สภาพระบบนิเวศของสัตว์ที่เคยอยู่อย่างเหมาะสม มีการเปลี่ยนแปลง สิ่งมีชีวิตในทะเลบางชนิดต้องเอาตัวรอด ปรับตัว ขณะเดียวกัน สาหร่ายบางกลุ่มที่เป็นอาหารสัตว์ทะเลขั้วโลกหายไป ทำให้สัตว์ไม่มีอาหารและลดจำนวนลง เป็นห่วงโซ่อาหารที่สูญเสียจากโลกร้อน”

 

อุณหภูมิ ส่งผลต่อการกระจายตัวของสัตว์

ขณะเดียวกัน อุณหภูมิที่สูงขึ้น ส่งผลต่อการกระจายตัวของสัตว์ เช่น สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เป็นสัตว์เลือดอุ่น หากอากาศหนาว จะพยายามรักษาอุณหภูมิให้อยู่สภาวะเดิมโดยการย้ายถิ่นอาศัย ไปอยู่ในสภาพอุณหภูมิที่เหมาะสมกับร่างกาย ต่างจาก สัตว์เลื้อยคลาน เช่น จระเข้ เต่า งู อุณหภูมิร่ายกายเปลี่ยนไปตามสภาพแวดล้อม เช่น จระเข้ หากอากาศหนาวจะต้องออกมาผึ่งแดด

 

“การเปลี่ยนแปลงของอุณภูมิ ส่งผลต่อการกระจายตัวของสัตว์ ทำให้อพยพ มีหลักฐานทั้งในซากดึกดำบรรพ์ในอดีตจนถึงปัจจุบันก็ยังดำเนินอยู่ เช่น การอพยพของนก สัตว์เลื้อยคลาน สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม”

 

 

สัตว์อะไร เสี่ยงใกล้สูญพันธุ์

ปัจจุบัน สัตว์สงวนของไทย ซึ่งมีอยู่ประมาณ 20 ชนิด ถือว่า ประชากรลดลง เสี่ยงสูญพันธุ์เกือบทั้งหมด เช่น กวางผา เลียงผา ควายป่า ฯลฯ รวมทั้งสัตว์ทะเล เช่น วาฬ ฉลามวาฬ เต่ามะเฟือง เป็นต้น สำหรับสัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์ หรือบางตัวไม่มีแล้วในไทย มีดังนี้ 

“แรดชวา” เคยมีการกระจายตัวอยู่ในแถวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อาทิ เมียนมา เวียดนาม กัมพูชา ลาว เกาะอินโดนีเซีย ปัจจุบันสูญพันธุ์ไปแล้วในปรเทศไทย เหลือเพียง 40-50 ตัวในเขตอุทยานแห่งชาติ เกาะชวา อินโดนีเซีย อีกทั้ง ยังเคยพบในเวียดนาม กระทั่งปี 2553 ตัวสุดท้ายได้ตายไปจากธรรมชาติ

“แรดขาว” ที่แอฟริกา จากการล่า ซึ่งมักเอานอแรดไปใช้ประโยชน์ 

“แรดสุมาตรา” ถูกจัดให้เป็นสัตว์ใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่งในบัญชีแดงของสหภาพนานาชาติเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติและทรัพยากรธรรมชาติ หรือไอยูซีเอ็น (IUCN)

“ซาวลา” สัตว์ในกลุ่มคล้ายกับแพะ เลียงผา พบในประเทศเวียดนาม ปัจจุบันเหลืออยู่น้อยมาก

“อุรังอุตัง” พบว่า หลายเกาะในอินโดนีเซีย ลดปริมาณลงจำนวนมาก

 

“ตอนนี้เราไม่มีแรดในเมืองไทย แรดที่อยู่ในสวนสัตว์ไม่ใช่แรดในธรรมชาติ แต่นำเข้ามาคล้ายๆ “แพนด้า” ซึ่งก็เสี่ยงสูญพันธุ์เช่นกัน อีกทั้ง "โลมาวากีตา" เป็นโลมาที่หน้าตาแปลก ไม่เหมือนทีเราเห็นทั่วไป บริเวณอ่าวแคลิฟอร์เนีย ประเทศเม็กซิโก เหลืออยู่หลักสิบตัว , “หมาป่าแดง” ในอเมริกาเหนือ และ “สมเสร็จ” ที่ใกล้สูญพันธุ์ เป็นต้น 

 

สัตว์สูญพันธุ์

ประเทศไทย อะไรสูญพันธุ์ไปแล้ว

  • “สมัน” ตัวสุดท้ายที่เห็นในป่าธรรมชาติ ราวปี 2475
  • “กูปรี” ซึ่งคาดว่าเคยมีอยู่แถบแถบอีสานใต้ แต่ปัจจุบันสูญพันธุ์ไปแล้ว
  • “ไฮยีน่า” เคยเป็นสุดยอดนักล่าในแถบบ้านเราและสูญพันธุ์จากไทยในยุคน้ำแข็ง แต่ปัจจุบันยังมีในแอฟริกา
  • “แพนด้า” เคยค้นพบฟอสซิลที่ จ.ชัยภูมิ ในธรรมชาติ หลักแสนปีมาแล้ว ปัจจุบันประเทศไทยไม่มีแพนด้าในธรรมชาติ
  • “ไจแกนโตพิธิคัส” หรือเทียบให้เห็นภาพ คือ บิ๊กฟุต กลุ่มเหมือนมนุษย์ คล้ายอุรังอุตัง สูง 3 เมตร หนัก 500 กิโลกรัม ในหลักฐานฟอสซิล พบว่า เคยมีกลุ่มลิงขนาดใหญ่ที่สุดที่ปรากฎบนโลก ที่เจอแถวจีนตอนใต้ และเคยมีรายงานการค้นพบฟอสซิลฟันที่ จ.แม่ฮ่องสอน อยู่ในยุคราว 3 แสนปีที่แล้วและหายไป ในยุคต่อมา กลุ่มลิงที่ใหญ่ที่สุด คือ คิงคอง กอริล่า

 

ตัวอย่าง สัตว์สูญพันธุ์ในต่างประเทศ

  • “ฉลามปากเป็ดจีน” ได้สูญพันธุ์จากธรรมชาติของจีนเรียบร้อยแล้ว ถูกพบเห็นในขณะที่มีชีวิตครั้งสุดท้ายเมื่อปี 2003
  • “นกโดโด” เป็นนกขนาดใหญ่ที่บินไม่ได้ ทำให้ถูกล่าโดยง่ายและสูญพันธุ์ในที่สุด

 

ขณะเดียวกัน ข้อมูลจาก กรีนพีซ ประเทศไทย ระบุถึงสัตว์สายพันธุ์ที่สูญพันธุ์โดยมนุษย์ในช่วง 100 ปีที่ผ่านมา อาทิ 

  • เสือทัสมาเนีย ซึ่งถูกล่าเพื่อลดประชากร เนื่องจากมักจะไปกินแกะชาวบ้าน และเสือทัสมาเนียตัวสุดท้ายตายในสวนสัตว์โฮบาร์ตในปี 1936
  • เสือโคร่งเปอร์เซีย จากถูกล่าโดยกองทหารอาณานิคมของรัสเซีย และที่อยู่อาศัยของพวกมันถูกทำลายโดยมนุษย์ เพื่อใช้ในการทำการเกษตร ถูกพบครั้งสุดท้ายในปี 1970

  • เต่ายักษ์พินตา ถิ่นกำเนิดที่เกาะพินตา ประเทศเอกวาดอร์ พวกมันถูกล่าโดยกะลาสีเรือเพื่อนำไปทำเป็นเสบียง ในศตวรรษที่ 20 โดย "จอร์จผู้โดดเดี่ยว" คือเต่าพินตาตัวสุดท้าย ที่สูญพันธุ์ไปในปี  2012 

 

ย้อนกลับไปยุคน้ำแข็งยุคสุดท้าย

  • ช้างสเตโกดอน อยู่ในยุคน้ำแข็ง จนกระทั่งสิ้นสุดยุคน้ำแข็งหมื่นปีที่แล้วก็หายไป
  • แมมมอธ สูญพันธุ์ในช่วงสิ้นสุดยุคน้ำแข็ง
  • เสือเขี้ยวดาบ
  • สลอธยักษ์
  • แรดขนยาว

 

โลกร้อน ไม่เท่าน้ำมือมนุษย์

หากดูสัตว์ป่าส่วนใหญ่จะถูกคุกคาม ถัดมา คือ เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ ใกล้สูญพันธุ์ และใกล้สูญพันธุ์ หากดูจริงๆ แล้ว “โลกร้อน” ไม่ส่งผลเท่ากิจกรรมของมนุษย์ ที่ล่าสัตว์ป่าถือว่าหนักกว่า เพราะโลกร้อน สัตว์ยังเรียนรู้ที่จะปรับตัว ขณะเดียวกัน “โลกร้อน” ส่วนหนึ่งก็มาจากกิจกรรมของมนุษย์ที่ปล่อยคาร์บอนสู่ชั้นบรรยากาศ

 

“สัตว์ส่วนใหญ่ที่หายไปมาจากการล่า ในอดีตช่วงที่มนุษย์ยังไม่ล่าสัตว์เพื่อใช้ประโยชน์เช่นในปัจจุบัน ก่อนยุคอุตสาหกรรม หรือยุคโบราณ พบว่า อิทธิพลที่ทำให้สัตว์สูญพันธุ์ คือ Climate Change กว่า 50% และ การล่าของมนุษย์อาจมีผลในบางพื้นที่ แต่ในปัจจุบันส่วนใหญ่อิทธิพลมาจากมนุษย์”

 

โลกยังคง "ร้อน" สลับ "เย็น"

ผศ.ดร.กันตภณ อธิบายต่อไปว่า เทรนด์ระยะยาว เราเป็นเทรนด์ที่กำลังเข้าสู่ช่วงยุคน้ำแข็งอีกรอบ ในหลักหมื่นปี Cycle จะสลับไปทุก 10,000 – 20,000 ปี เราผ่านมาแล้ว 10,000 ปี และยังไม่รู้อนาคตว่าจะอีกกี่พันหรือกี่หมื่นปี เราจะเข้าสู่ยุคน้ำแข็ง คือ หนาวเย็นอีกรอบ น้ำแข็งที่เคยอยู่ขั้วโลกจะกระจายตัวลงมาสู่จีน มองโกเลีย ปกคลุมด้วยน้ำแข็ง หากไม่มีมนุษย์ สัตว์ก็จะเปลี่ยนเป็นกลุ่มมีชีวิตอีกกลุ่มที่สามารถปรับตัวอยู่กับสภาพแวดล้อมได้ นี่คือ เทรนด์ระยะยาวที่เราจะก้าวสู่ยุคน้ำแข็งในอีกหมื่นปี

 

ขณะเดียวกัน เมื่อเราอยู่ในยุคปัจจุบัน กราฟเฉียงลงมาสู่ยุคน้ำแข็ง อุณหภูมิลดลง แต่ระหว่างนั้นก็มีความแปรผันในระยะสั้น 100-200 ปี อุณหภูมิมีโอกาสขึ้นลง ร้อน เย็น สลับกัน ระหว่างเส้นทางไปสู่ยุคน้ำแข็งจะร้อนเย็นสลับกันไปเรื่อยๆ เช่นเดียวกับในอดีตกว่า 2,000 ปีที่ผ่านมา อุณหภูมิมีขึ้นลงตลอด

 

“ปัจจัยทางโลกร้อนจะกระทบกับสัตว์ที่ปรับตัวไม่ได้ และส่วนใหญ่จะกระทบกับสัตว์ขั้วโลก เช่น เพนกวิน หมีขั้วโลก แม้อุณหภูมิสูงขึ้นเพียง 1-2 องศา หากธารน้ำแข็งละลายก็ส่งผลต่อปริมาณของน้ำทะเลทั้งหมด ทำให้น้ำทะเลแกว่ง”

 

สูญพันธุ์แล้ว "ปลุกชีพ" กลับมาอีกได้หรือไม่

จะเห็นว่าสัตว์สูญพันธุ์ไปมากมาย และหลายชนิดมีการขุดพบฟอสซิล ผศ.ดร.กันตภณ อธิบายว่า สัตว์ที่สูญพันธุ์ไปแล้ว กลับมาไม่ได้ สูญพันธุ์แล้ว คือ สูญพันธุ์เลย และไม่เคยมีว่าวิวัฒนาการกลับมาเป็นสัตว์ชนิดเดียว เช่น หากวันหนึ่งแพนด้าสูญพันธุ์ไปแล้วจะมีหมีตัวหนึ่งกลับมาเป็นแพนด้าอีกรอบไม่ได้ เพราะวิวัฒนาการไปแล้วไปเลย

 

เช่นเดียวกับ ไดโนเสาร์ ความจริงมีกลุ่มหนึ่งที่รอดและกลายมาเป็นนกในปัจจุบัน แต่ไดโนเสาร์ 100 สายพันธุ์ 99 สูญพันธุ์ไป และไม่มีทางที่นก 1% นี้ ผ่านอีกล้านปีจะวิวัฒนาการกลับมาเหมือนเดิม แต่วิวัฒนาการจะเดินหน้าต่อไปตามสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยน ปรับตัวทั้งลักษณะภายนอกและยีน ในอีกรูปแบบที่เราไม่เคยเห็น ไม่มีทางกู้คืนได้ ยกเว้นการโคลนนิ่งหรือสกัดดีเอ็นเอ

 

Pleistocene Project ปลุกชีพ “แมมมอธ”

สำหรับในต่างประเทศมีโครงการคืนชีพสัตว์สมัยยุคน้ำแข็ง เรียกว่า Pleistocene Project เป็นเมกะโปรเจกต์ในการฟื้นคืนชีพสัตว์ยุคน้ำแข็งที่สามารถสกัดดีเอ็นเอออกมาได้ โดยจำลองนิเวศที่เคยอยู่เผื่อวันหนึ่งหากโคลนิ่งได้ ก็ให้สัตว์ดังกล่าวอยู่ในบริเวณนั้น เป็นโปรเจกต์ที่มองระยะยาว

 

โดย “แมมมอธ” เป็นสัตว์ที่เป็นข้อยกเว้น สามารถสกัดดีเอ็นเอได้ และต้องใช้การตัดต่อดีเอ็นเอ ทำพันธุวิศวกรรมอีกช่วงระยะเวลาหนึ่ง เพราะดีเอ็นเอเสียหาย ที่แมมมอธสามารถทำได้เพราะถูกเก็บรักษาในชั้นหินเยือกแข็ง ที่เจอในไซบีเรีย ทำให้ขน เนื้อเยื่อยังอยู่ครบ ตับไตไส้พุง หัวใจ แบคทีเรียที่อยู่ในสภาพขั้วโลกยังไม่ย่อยสลายอวัยวะเหล่านี้เพราะอุณหภูมิเย็นมาก ดังนั้น ซากแมมมอธ สามารถสกัดดีเอ็นเอได้ แต่ผ่านมากว่าหมื่นปีก็ยังคงเสียหาย

 

“ขณะที่ประเทศไทย ยังคงห่างไกลเพราะอากาศร้อนชื้น มีฝน หมดสิทธิที่มีดีเอ็นเอในซากดึกดำบรรพ์ โอกาสน้อยมาก แทบไม่เหลือดีเอ็นเอเหลืออยู่”

 

ทำอย่างไร ไม่ให้สัตว์สูญพันธุ์ไปมากกว่านี้

ผศ.ดร.กันตภณ กล่าวว่า ปัจจัยหลักๆ คือ การล่าของมนุษย์ การทำลายถิ่นที่อยู่อาศัย ปัจจุบัน ที่อยู่อาศัยของสัตว์ถูกรุกรานโดยมนุษย์เข้าไปอาศัย เขาจึงถูกกดดัน บังคับให้หนีไปอยู่ในพื้นที่ที่เขาไม่ได้อยากอยู่ เช่น กระทิง เลียงผา กวางผา ที่ปัจจุบันที่เราเจอบริเวณพื้นที่เอียงตามภูเขาสูง

 

หลักฐานฟอสซิลเจอเลียงผาในที่ราบมาโดยตลอด เมื่อวิเคราะห์องค์ประกอบฟันในฟอสซิล พบว่า มันกินหญ้าเป็นอาหารในอดีตเมื่อหมื่นปีที่ผ่านมา ขณะที่ หากวิเคราะห์ฟันเลียงผาในปัจจุบัน พบว่า กินใบไม้ ทั้งที่เป็นสายพันธุ์เดียวกันแต่ช่วงเวลาต่างกัน

 

ดังนั้น หากมีพื้นที่ราบมีพื้นหญ้ามันก็จะอาศัยตรงนั้น แต่เมื่อมีมนุษย์ ทำให้มันต้องปรับตัวอยู่ในสภาพที่มันไม่ได้อยากอยู่ เช่นเดียวกับ กระทิง ที่ชอบอยู่ทุ่งหญ้าที่เป็นธรรมชาติ แต่ปัจจุบันพื้นที่ทุ่งหญ้าไม่มี กระทิงจึงต้องหนีไปอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติ และปรับตัวเองให้อยู่ในป่า

 

“ดังนั้น ต้องรู้ว่าสัตว์แต่ละตัว ธรรมชาติที่แท้จริงเหมาะสมที่จะดำรงชีวิตในสภาพแวดล้อมหรือสภาพระบบนิเวศแบบใด และจัดพื้นที่แบบนั้นให้เขาโดยที่ไม่รุกราน จะเป็นแนวทางให้เขาสืบพันธุ์ ขยายพันธุ์ต่อไป เพื่อให้อยู่กับธรรมชาติ และสำคัญ คือ ต้องไม่ล่า เพราะสัตว์ป่าไม่ควรล่า”

 

ขณะที่ โลกร้อน เป็นสิ่งที่เกิดมาตั้งแต่อดีต ก่อนยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม ตั้งแต่ยังไม่มีการปล่อยมลพิษขึ้นสู่อากาศ โลกก็มีการร้อน สลับเย็น มาอยู่ตลอด มนุษย์มีผล แต่ภูมิอากาศของโลกเปลี่ยนแปลงได้หลายปัจจัย ไม่ใช่แค่มนุษย์ แต่เราเป็นอีกหนึ่งปัจจัย เป็นตัวกระตุ้น เพราะฉะนั้น หากลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในส่วนของเรา และปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติที่ต้องเกิดอยู่แล้ว ผลจะแตกต่างจากที่เราเห็นในปัจจุบัน