ยุทธศาสตร์สีเทอร์ควอยซ์ การเปลี่ยนผ่านเศรษฐกิจสิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจดิจิทัล

ยุทธศาสตร์สีเทอร์ควอยซ์ การเปลี่ยนผ่านเศรษฐกิจสิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจดิจิทัล

หลังปี 2563 เป็นต้นมา โลกกำลังเข้าสู่การเปลี่ยนผ่านแฝด (twin transitions) ได้แก่ การเปลี่ยนผ่านเศรษฐกิจเพื่อสิ่งแวดล้อม และการเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีด้านดิจิทัล

ปัจจัยผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนผ่านทั้งสองนั้นซับซ้อนแต่ตัวขับเคลื่อนหลัก (key drivers) ได้แก่ 1.สภาพภูมิอากาศที่ผันผวนซึ่งกระตุ้นให้โลกปรับวิถีการผลิตและการบริโภค 2.วัฏจักรทางเทคโนโลยีที่กำลังอยู่ในช่วงแข่งขันกันสร้างเทคโนโลยีใหม่

โดยเฉพาะด้านพลังงาน อาทิ พลังงานหมุนเวียน พลังงานจากนิวเคลียร์ฟิวชั่นขนาดเล็ก และด้านดิจิทัล เช่นปัญญาประดิษฐ์ และการคำนวณแบบควอนตัม 

3.ความขัดแย้งระหว่างประเทศ โดยเฉพาะแรงตึงเครียดจากฝั่งจีน และรัสเซีย ทำให้สหรัฐ และสหภาพยุโรป ต้องลดการพึ่งพิงต่างชาติ และเพิ่มศักยภาพในการจัดการพลังงาน และเทคโนโลยีเป็นของตนเอง

ยุทธศาสตร์สีเทอร์ควอยซ์ การเปลี่ยนผ่านเศรษฐกิจสิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจดิจิทัล

เมื่อการปรับตัวเพื่อสิ่งแวดล้อมหลีกเลี่ยงไม่ได้ สหรัฐ และสหภาพยุโรปจึงวางยุทธศาสตร์ที่ชัดเจนว่า การปรับตัวดังกล่าวนอกจากจะช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังต้องเป็นประโยชน์อีกสามด้านพร้อมกัน ได้แก่

ข้อแรก สร้างให้เกิดการจ้างงาน และการเติบโตทางเศรษฐกิจ กล่าวอีกแบบหนึ่งก็คือ การช่วยสิ่งแวดล้อมต้องทำให้เกิดธุรกิจ และรายได้ จึงจะสร้างแรงจูงใจให้เกิดการปรับตัวจากทุกภาคส่วน 

ข้อสอง ต้องสร้างขีดความสามารถทางเทคโนโลยีให้ประเทศ ซึ่งจะชี้ขาดความสามารถในการแข่งขันระยะยาว และข้อสาม คือการเพิ่มความมีอิสระเชิงกลยุทธ์ เช่น สหภาพยุโรปต้องไม่พึ่งพลังงานจากรัสเซีย หรือสหรัฐไม่พึ่งพิงการผลิตชิปจากจีน เป็นต้น

เพื่อบรรลุพันธกิจดังกล่าว สหรัฐได้ออกกฎหมายสำคัญสองฉบับในปลายปี 2565 ได้แก่ Inflation Reduction Act (IRA) กำหนดมาตรการส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านเศรษฐกิจ และเทคโนโลยีด้านสิ่งแวดล้อม คิดเป็นมูลค่าราว 14 ล้านล้านบาท

และกฎหมาย CHIPS and Science Act (CAS) ตั้งงบประมาณเพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมชิป การวิจัยและบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์เอาไว้อีกราว 9.8 ล้านล้านบาท รวมทั้งสองฉบับคิดเป็นราว 6.8 เท่าตัวของงบประมาณภาครัฐไทย

ในกรณีสหภาพยุโรป ได้ออกมาตรการกรีน นิวดีล (Green New Deal) และแผนการลงทุนเพื่อความยั่งยืนของยุโรป (Sustainable Europe Investment Plan) คิดเป็นมูลค่าราว 38 ล้านล้าน หรือราว 10.9 เท่าตัวของงบประมาณภาครัฐไทย

ยุทธศาสตร์สีเทอร์ควอยซ์ การเปลี่ยนผ่านเศรษฐกิจสิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจดิจิทัล

ในปี 2564 มีการจัดตั้งกลุ่มภาคเอกชนเพื่อส่งเสริมสิ่งแวดล้อมและดิจิทัล ชื่อ European Green Digital Coalition (EGDC) โดยมีสมาชิกผู้ก่อตั้งเป็นบริษัทเทคโนโลยีการสื่อสารโทรคมนาคม และดิจิทัลขนาดใหญ่ 26 แห่งในสหภาพยุโรป เช่น Accenture, Ericsson, Nokia, IBM และ Microsoft เป็นต้น

รายงาน Towards a Green and Digital Future (2022) ของสหภาพยุโรป ฉายภาพอนาคต และกำหนดจุดเน้นที่ชัดเจนในหลายอุตสาหกรรม ซึ่งสามารถใช้เทคโนโลยีดิจิทัลมาส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านสีเขียวได้จริง ในบทความนี้จะยกตัวอย่างขึ้นมาเพียงภาพรวม และอุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร แต่ยังคงมีอีกหลายอุตสาหกรรมในรายงานที่มีความน่าสนใจ ได้แก่ พลังงาน และก่อสร้าง

ในภาพรวมเทคโนโลยีดิจิทัลหลักที่จะมาส่งเสริมอุตสาหกรรมสีเขียว ได้แก่ กลุ่มแรก การติดตามตรวจจับ เช่น การติดตามสภาพสิ่งแวดล้อม และเชื่อมโยงกับการผลิต หรือการจัดทำระบบสอบทานและเชื่อมโยงการเดินทางของวัตถุดิบ (passport material) เป็นต้น ซึ่งเป็นเรื่องซับซ้อนที่ต้องการทั้งอุปกรณ์ตรวจจับหรือเซนเซอร์ การสื่อสารโทรคมนาคม ระบบฐานข้อมูลที่เชื่อมโยงกัน และโมเดลปัญญาประดิษฐ์ เป็นต้น

เทคโนโลยีกลุ่มที่สองได้แก่ การจำลองและประเมินสถานการณ์ล่วงหน้า เช่น ก่อนจะสร้างอาคารทั้งหลัง เราสามารถใช้ข้อมูลจากแบบจำลองสิ่งก่อสร้าง พร้อมด้วยข้อมูลภูมิสารสนเทศดิน น้ำ อากาศ มาใช้ประเมินค่าความสิ้นเปลืองพลังงานในอาคารได้อย่างแม่นยำ หรือลดการสูญเสียพลังงานโดยเปล่าประโยชน์ เป็นต้น

กลุ่มที่สามคือ เทคโนโลยีการฉายภาพ (visualization) เช่น ระบบการฉายภาพเสมือนจริง (VR) หรือการเสริมภาพเสมือนเข้าสู่โลกจริง (AR) ซึ่งจะช่วยลดการเดินทาง เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานทางไกล ทำให้ลดการใช้พลังงานจากระบบขนส่ง หรือกิจกรรมโลกกายภาพลง เป็นต้น เทคโนโลยีนี้ถูกนำมาประยุกต์ใช้ได้ทั้งอุตสาหกรรมการผลิต บริการทางการแพทย์ การศึกษาและการท่องเที่ยวมากยิ่งขึ้นเป็นลำดับ

ตัวอย่างอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์คือ เกษตร และอาหาร ประเทศพัฒนาแล้วจำนวนมากในยุโรปผลิต และส่งออกสินค้าเกษตรไม่เพียงแค่การบริโภค แต่คือ ความภูมิใจของชาติ และรากฐานวัฒนธรรม เช่น ไวน์ และชีสในฝรั่งเศส และอิตาลี หรือไอเบอริโกแฮมของสเปน 

สินค้าเหล่านี้กำลังถูกคุกคามด้วยภาวะแปรปรวนด้านสภาพภูมิอากาศ ในระหว่างปี 2553-2562 พื้นที่เกษตรกว่า 80% ของยุโรปสูญเสียความชื้นสุทธิ ทำให้ดินแห้ง และกระทบกับผลิตภาพ ภาวะสังคมสูงวัยกำลังทำให้กว่า 11% ของพื้นที่เพาะปลูกในยุโรปกำลังเสี่ยงที่จะถูกทิ้งร้าง เป็นต้น

สหภาพยุโรปจึงเร่งส่งเสริมให้เกิดการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการเกษตร ตัวอย่างเช่น

  1. ตรวจจับสภาพสิ่งแวดล้อมผ่านเซนเซอร์
  2. การคำนวณใส่ปุ๋ยแบบแม่นยำ ซึ่งช่วยลดทรัพยากรสิ้นเปลือง (และลดการพึ่งพิงปุ๋ยจากรัสเซีย ซึ่งเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ที่สุดในโลก)
  3. การกักเก็บคาร์บอนในดิน (soil carbon sequestration) 
  4. การใช้ปัญญาประดิษฐ์ประเมินและตรวจจับโรคพืชอย่างทันกาล เป็นต้น ทั้งหมดถูกทำฉากทัศน์และวางแผนล่วงหน้าถึงปี 2593 เพื่อสร้างและแพร่กระจายเทคโนโลยีที่จำเป็นให้ทันต่อการเปลี่ยนผ่านในยุโรป

การขับเคลื่อนเหล่านี้ไม่ใช่ “ต้นทุน” แต่คือ โอกาสทางเศรษฐกิจ แม้พิจารณาเฉพาะธุรกิจบริหารจัดการและตรวจจับสิ่งแวดล้อม (environmental monitoring system) ผลการศึกษาพบว่า ทั่วโลกมีมูลค่าสูงถึง 684,000 ล้านบาทในปี 2563 และจะมีมูลค่าสูงขึ้นถึงราว 1.52 ล้านล้านบาทในปี 2573 ส่วนระบบการจัดการเกษตรอัจฉริยะ มีมูลค่าถึง 53,200 ล้านบาทในปี 2564 และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นไปสู่ 95,000 ล้านในปี 2569 เป็นต้น

ความเคลื่อนไหวของทั้งฝั่งสหรัฐและสหภาพยุโรป ชี้ให้เห็นถึงการประสานงานกันระหว่างเศรษฐกิจเพื่อสิ่งแวดล้อมซึ่งแทนด้วยสีเขียว และการเปลี่ยนผ่านด้านดิจิทัลซึ่งแทนด้วยสีน้ำเงิน เราจึงเรียกการเปลี่ยนผ่านแฝดนี้ว่า ยุทธศาสตร์สีเทอร์ควอยซ์ (สีเขียวอมน้ำเงิน) ซึ่งนำมาสู่การเติบโตทางเศรษฐกิจ เทคโนโลยีใหม่ และแต้มต่อการเมืองระหว่างประเทศที่สูงขึ้น 

ประเทศไทยเองก็ควรจับกระแสความคิดนี้ และนำมาสร้างยุทธศาสตร์สีเทอร์ควอยซ์ของเราเองเช่นกัน โดยเรียนรู้จากมาตรการของทั้งสหรัฐและสหภาพยุโรปเหล่านี้ครับ

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์