"ร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาด" สิทธิที่ประชาชนต้องตระหนักและถามหา

"ร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาด" สิทธิที่ประชาชนต้องตระหนักและถามหา

ปัจจุบันคำว่า “สิทธิ” และ “เสรีภาพ” เป็นหลักการแห่งประเด็นที่สำคัญในการอยู่ร่วมกันของสังคมสากลสมัยใหม่ ท่านผู้อ่านจึงได้เห็นการเรียกร้องสิทธิต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับความเท่าเทียม เข้าถึงในสถานะความเป็นอยู่ของบุคคลที่พึงจำต้องรับรองโดยรัฐมากมาย

นั่นเป็นสิ่งหนึ่งที่แสดงถึงความสัมพันธ์ระหว่าง “รัฐ” ในมิติความหมายของศตวรรษที่ 21 อันพึงมีต่อประชากร แต่เราคงไม่เคยคาดคิดว่าวันหนึ่งเราจะต้องถามหาถึงสิทธิในการได้มาซึ่งการ “หายใจในอากาศที่บริสุทธิ์ปราศจากสารก่ออันตราย” อย่างในปัจจุบัน

    วิกฤติ PM 2.5 คือ สภาวะทางปัญหาด้านการบริโภคอากาศที่มีฝุ่นละอองขาดเล็กเจือปนในปริมาณที่มาก ซึ่งสามารถแพร่กระจายเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจและซึมเข้าสู่กระแสเลือดก่อให้เกิดโรคทางเดินหายใจหรือโรคแทรกซ้อนในระยะยาว ส่งผลต่อการดำเนินชีวิตของประชาชนในลักษณะอันมีนัยสำคัญ 

ปัจจุบันกลุ่ม “กรีนพีซ ประเทศไทย” รายงานผลสำรวจทางอากาศของ IQAir (บริษัทเทคโนโลยีคุณภาพอากาศในสวิตเซอร์แลนด์ที่ส่งเสริมให้ บุคคล องค์กร และชุมชน ใช้ข้อมูลปรับปรุงคุณภาพอากาศ การทำงานร่วมกัน และเทคโนโลยีการแก้ปัญหา)  ประจำปี 2566 ระบุว่า

ประเทศไทยมีอากาศบริสุทธิ์แค่ 3 เดือนตลอดปีที่ผ่านมา แย่ติดอันดับ 5 ภูมิภาคเอเชีย อุตสาหกรรมหนักภาคธุรกิจ มลภาวะทางคมนาคม หรือ ปัจจัยทางการทำเกษตรที่ใช้วัฒนธรรมเก่า เหล่านี้คือคำตอบของสถิติข้างต้นที่สามารถพิสูจน์คุณภาพชีวิตปัจจุบันของคนไทย

วิกฤติหมอกควันลอนดอน ค.ศ. 1952 (Great Smog of London 1952) คือ บทเรียนของการพัฒนาธุรกิจอุตสาหกรรมโดยไม่คำนึงต่อสาธารณชน ไม่ว่าจะเป็น ภาคการสาธารณสุข สิ่งแวดล้อม ส่งผลกระทบต่อชีวิต ร่างกาย และอนามัยของประชาชน

รัฐบาลจึงจัดตั้งและให้มีการศึกษาทบทวนจากคณะกรรมการบีเวอร์ (The Beaver Committee) สรุปออกมาเป็นรายงานผลมลภาวะทางอากาศ ปี 1954 พบว่าสาเหตุหลักจากการเกิดมลภาวะดังกล่าวสืบเนื่องมาจากการดำเนินกิจการอุตสาหกรรมและการทำเกษตร ที่ไม่มีการควบคุมอันคำนึงถึงผลกระทบต่อสังคม

ประเทศอังกฤษจึงได้กำหนดมาตรการทางกฎหมายมาส่งเสริมสนับสนุนให้เกิดการปรับปรุงการใช้พลังงานของทุกภาคส่วนที่ไม่สร้างปัจจัยที่ก่อมลพิษทางอากาศ เรียกว่า พระราชบัญญัติอากาศสะอาด 1956 (the UK Clean Air Act 1956) 

โดยกำหนดมาตรการป้องกันและระวังภัยล่วงหน้า ไม่ให้สถานการณ์หมอกควันที่อาจส่งผลกระทบต่อประชาชนเกิดขึ้นได้อีกในอนาคต ผ่านการพัฒนามาตรการ สนับสนุนบทบาทของท้องถิ่น ให้ท้องถิ่นมีอำนาจการดำเนินงานควบคุมดูแลในการสร้างอากาศดีมากขึ้น  เหมาะสำหรับการหายใจของมนุษย์และสร้างความสมดุลต่อระบบนิเวศ

ซึ่งบทบาทและอำนาจของท้องถิ่นในการกำกับดูแลกิจกรรมต่าง ๆ ทางการพาณิชยกรรม กิจกรรมอุตสาหกรรมและกิจกรรมครัวเรือนที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กับการปล่อยมลพิษทางอากาศ ทำให้สังคมสามารถปรับใช้และอยู่ร่วมกับสิ่งแวดล้อมไปพร้อม ๆ กับการสร้างสภาวะแวดล้อมที่ดีอันปราศจากมลพิษทางอากาศในชุมชนเมือง

อีกทั้งเมื่อปี 2020 รัฐบาลอังกฤษปรับแผนการจัดการปัญหาภาวะโลกร้อน และมลพิษทางอากาศ เลื่อนกำหนดการการห้ามขายรถยนต์ที่ใช้น้ำมันเบนซิน ดีเซล หรือรถยนต์ไฮบริด เดิมจากปี 2040 มาเป็น 2035

หลังจากการจัดการประชุมประจำปี COP26 (Conference of the Parties ครั้งที่ 26) ที่ร่วมจัดโดยสหประชาชาติเพื่อประเมินความก้าวหน้าในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศภายใต้สภาวะแวดล้อม

เหล่านี้จึงแสดงให้เห็นถึงความกระตือรือร้นที่จะแก้ปัญหาทางสภาวะแวดล้อมโดยมีสิทธิของประชาชนในการอยู่ร่วมกันภายใต้การมีคุณภาพชีวิตที่ดีเป็นที่ตั้ง อันแสดงออกโดยชัดแจ้งผ่านทางกฎหมายและแนวนโยบายของรัฐบาล

\"ร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาด\" สิทธิที่ประชาชนต้องตระหนักและถามหา

    ในประเทศไทยแนวคิดเรื่อง “อากาศสะอาดเป็นสิทธิของประชาชน” เริ่มมีให้เห็นเด่นชัดเมื่อปี 2020 โดยมีการเสนอ “ร่าง พระราชบัญญัติอากาศสะอาดเพื่อประชาชน” เข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติหลากหลายฉบับ

โดยคณะรัฐมนตรีได้มีการรับหลักการแล้วทั้ง 4 ฉบับ ได้แก่ “ร่างฉบับประชาชน” “ร่างฉบับเพื่อไทย” “ร่างฉบับรัฐสภา” และ “ร่างฉบับก้าวไกล”

โดยหลักใหญ่ใจความของทุกฉบับมีประเด็นที่ตรงกัน คือ “คนไทยควรจะได้รับอากาศบริสุทธิ์อย่างเท่าเทียมกัน เพื่อต่ออายุให้ยืนยาว”  จำเป็นที่ประเทศไทยจำต้องมีกฎหมายใช้บังคับ เพื่อแก้ปัญหามลพิษทางอากาศ

อันจะช่วยส่งเสริมให้ประชาชนมีสิทธิที่จะหายใจสะอาด สามารถรับทราบข้อมูลคุณภาพอากาศในแต่ละพื้นที่ได้อย่างเป็นระบบ และแก้ปัญหาจากต้นตอแหล่งกำเนิดทั้งในประเทศและต่างประเทศได้ในระยะยาว

ประเด็นทางกฎมายที่สำคัญมุ่งเน้นไปที่การจัดการผู้ประกอบการในประเทศและพรหมแดนที่ก่อมลพิษผ่านบทลงโทษทางเศรษฐกิจที่ชัดเจนเพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมและสภาวะแวดล้อมร่วมกัน

ทั้งนี้ ร่างพระราชบัญญัติทั้ง 4 ฉบับ แม้จะมีจุดประสงค์หลักร่วมกัน แต่ข้อแตกต่างที่เด่นชัดที่สำคัญ คือ “แผนการจัดการระยะยาว” ผ่านเจ้าหน้าที่หรือหน่วยงานที่มีอำนาจจัดการว่าจะจัดการออกมาในรูปแบบหน่วยงานส่วนกลางอิสระ หรือหน่วยงานส่วนท้องถิ่นที่สามารถดูแลจัดการตามความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่ 

\"ร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาด\" สิทธิที่ประชาชนต้องตระหนักและถามหา

    อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ประชาชนอย่างเราๆ จะได้รับ สามารถแยกออกเป็นประเด็นได้ ดังนี้

1. กระจายอำนาจในการกำกับดูแล : หากจะมีสักหนึ่งประเด็นที่ประเทศไทยถอดบนเรียนจากวิกฤตหมอกควันลอนดอน ประเด็นนี้คือหัวใจสำคัญเพราะการกำกับดูแลจากส่วนภูมิภาคนั่นหมายถึงการแก้ปัญหาที่ตรงจุดและทันท่วงที รัฐจึงต้องจัดการให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมกับการจัดทำกฎหมายให้มากที่สุด

2. ประชาชนมีสิทธิเข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับอากาศสะอาด : ภาครัฐต้องตรวจสอบราย งานผล และให้ข้อมูลเกี่ยวกับคุณภาพอากาศ ตลอดจนช่องทาง ร้องเรียน เรียกร้อง ปัญหาเรื่องสุขภาพอากาศ เพื่อให้เกิดการเยียวยาที่เป็นไปตามกระบวนการยุติธรรมที่ชัดเจน

3. ประชาชนมีสิทธิเข้าถึงและได้รับความยุติธรรมด้านสิ่งแวดล้อม : รัฐมีหน่วยงานที่รับผิดชอบที่ชัดเจน และพร้อมให้คำแนะนำ

4. เอาผิดผู้ที่ทำให้เกิดมลพิษทางอากาศได้ : ประชาชนสามารถฟ้องเอาผิดรัฐ เอกชน หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ก่อให้เกิดสภาวะมลพิษทางอากาศได้

5. การบังคับใช้กฎหมายที่มีประสิทธิภาพ : ข้อนี้คือเป้าประสงค์ของการจัดทำร่างพระราชบัญญัติข้างต้นขึ้นมา เพื่อช่วยแสดงถึงหลักการ และการันตีสิทธิขันพื้นฐานเรื่องการบริโภคอากาศที่ดีของประชาชนคนไทย

    สุดท้ายนี้ ผู้เขียนหวังว่าเราคนไทยทุกคนจะคอยจับตากฎหมายที่กำลังจะออกบังคับใช้ในอนาคตอันใกล้นี้ อย่างน้อยก็เพื่อตระหนักไว้ซึ่งการมีอากาศที่บริสุทธิ์คงไว้ให้กับลูกหลานในอนาคตต่อไป.