‘ไมโครพลาสติก’ ซ่อนอยู่ทุกที่ แม้แต่อาหาร ‘Plant-Based’

‘ไมโครพลาสติก’ ซ่อนอยู่ทุกที่ แม้แต่อาหาร ‘Plant-Based’

อาหารประเภทโปรตีนจากพืชหรือ “Plant-Based” ถือว่าได้รับความนิยมในหมู่คนรักสุขภาพ เพราะปราศจากไขมันจากสัตว์ ทำให้ลดความเสี่ยงเกิดปัญหาด้านสุขภาพ แต่งานวิจัยล่าสุดกลับพบว่า มี “ไมโครพลาสติก” ซ่อนอยู่

Key Points:

  • “Plant-Based” เป็นอาหารที่เน้นโปรตีนจากพืชเป็นหลัก และยังมีการแปรรูปให้ใกล้เคียงกับเนื้อสัตว์เพื่อเพิ่มความอร่อยได้ด้วย จึงเป็นที่นิยมในหมู่ผู้รักสุขภาพหรือควบคุมน้ำหนัก
  • แม้ว่า Plant-Based จะผ่านกระบวนการปรุงน้อยมาก หาซื้อได้ง่าย แต่ล่าสุดมีงานวิจัยที่พบ “ไมโครพลาสติก” ในอาหารประเภทโปรตีนหลายชนิดรวมถึง “โปรตีนจากพืช”
  • ทีมวิจัยจาก Ocean Conservancy ระบุว่า แม้ข้อมูลเรื่องไมโครพลาสติกใน Plant-Based จะยังมีไม่มากนัก เพราะเป็นเรื่องที่ค่อนข้างใหม่ แต่จากการศึกษาเบื้องต้นก็กังวลว่าจะเชื่อมโยงกับปัญหาด้านสุขภาพในอนาคต

หลายคนเลือกที่จะหันมารับประทานอาหารที่ทำด้วย “โปรตีนจากพืช” หรือ “Plant-Based” เพราะมองว่าอาจส่งผลดีต่อสุขภาพเนื่องจากปราศจากไขมันจากสัตว์ ผ่านการปรุงน้อยที่สุดหรืออาจไม่ผ่านกระบวนการแปรรูปเลย ทำให้ช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด และโรคมะเร็ง เป็นต้น

นอกจากนี้การรับประทานอาหารแบบ Plant-Based Diet ยังมีรูปแบบที่ไม่ตายตัวเลือกอาหารได้หลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็น ผัก ผลไม้ ธัญพืชไม่ขัดสี เต้าหู้ หรือถั่วต่างๆ ไม่ได้เคร่งครัดเหมือนกับการรับประทานอาหารมังสวิรัติทั่วไป และหาซื้อได้ค่อนข้างง่าย จึงได้รับความนิยมได้ไม่ยาก (แม้ปัจจุบันคนจะเริ่มให้ความสนใจน้อยลง)

ที่ผ่านมาเราอาจเคยได้ข่าวกันมาบ้างแล้วว่าอาหารที่มาจาก “เนื้อสัตว์” ไม่ว่าจะเป็นหมู หรือวัว โดยเฉพาะปลา มีการตรวจพบ “ไมโครพลาสติก” ปนเปื้อนมาด้วย ส่วนหนึ่งเป็นเพราะมลพิษในมหาสมุทร และยังเคยมีรายงานด้วยว่าคนที่รับประทานปลาและหอยเป็นประจำก็ถือว่าบริโภคไมโครพลาสติกเข้ามากกว่า 10,000 ชิ้นต่อปี

ล่าสุด “ไมโครพลาสติก” ไม่ได้ปนเปื้อนมากับอาหารประเภทเนื้อสัตว์เท่านั้น แต่ยังพบใน “Plant-Based” อีกด้วย

  • อาหารประเภทเนื้อสัตว์ และ “ไมโครพลาสติก”

จากงานวิจัยก่อนหน้านี้ชี้ให้เห็นว่ามนุษย์บริโภคพลาสติกที่มีขนาดเทียบเท่ากับบัตรเครดิตทุกสัปดาห์โดยเฉลี่ย และพลาสติกที่มีความยาวน้อยกว่า 5 มิลลิเมตรเหล่านี้ถูกพบในมหาสมุทร

จอร์จ เลนนาร์ด (George Leonard) นักวิทยาศาสตร์ที่มีความเชี่ยวชาญด้านมหาสมุทรจาก Ocean Conservancy ระบุว่า การเพิ่มขึ้นของ “พลาสติก” ในมหาสมุทรทั่วโลกเป็นเรื่องที่น่ากังวลอย่างมาก

นอกจากนี้ยังพบว่ามีไมโครพลาสติกอยู่ในระบบทางเดินหายใจของสัตว์น้ำที่มนุษย์นำมาบริโภค เช่น ปลา หอย และกุ้งอีกด้วย

จากการศึกษาพบว่าทั้ง “สัตว์น้ำ” และ “สัตว์บก” ที่เป็นแหล่งอาหารประเภทโปรตีนสำคัญของมนุษย์มีปริมาณ “ไมโครพลาสติก” ใกล้เคียงกัน และหากผ่านกระบวนการแปรรูปเยอะเท่าไร ก็เสี่ยงจะมีการปนเปื้อนมากขึ้นเท่านั้น

งานวิจัยของ จอร์จ ที่ตีพิมพ์ในวารสาร Environmental Pollution อธิบายว่า พบอนุภาคไมโครพลาสติกร้อยละ 88 ของตัวอย่างอาหารประเภทโปรตีน 16 ชนิด เช่น อาหารทะเล เนื้อหมู เนื้อวัว ไก่ เต้าหู้ รวมถึง “เนื้อสัตว์จากพืช” นั่นหมายความว่าต่อให้เราหลีกเลี่ยงการบริโภคเนื้อสัตว์และหันไปพึ่งพา “Plant-Based” แทน ก็ยังมีความเสี่ยงบริโภคไมโครพลาสติกเข้าไปเหมือนเดิม

  • อาหาร “Plant-Based” ไม่ปลอดภัยจากพลาสติกอีกต่อไป ?

แม้ว่า “Plant-Based” จะเป็นตัวเลือกลำดับต้นๆ ของผู้รักสุขภาพ แต่จากงานวิจัยล่าสุดอาจทำให้หลายคนต้องเปลี่ยนความคิด เมื่ออาหารโปรตีนจากพืชเหล่านี้ก็มีไมโครพลาสติกปนเปื้อนไม่แพ้เนื้อสัตว์

โดย บริตทา บีชเลอร์ (Britta Baechler) นักชีววิทยาทางทะเลและรองผู้อำนวยการฝ่ายวิทยาศาสตร์พลาสติกจาก Ocean Conservancy กล่าวว่า มนุษย์ไม่มีทางหลีกเลี่ยงไมโครพลาสติกได้ ไม่ว่าจะเลือกรับประทานอะไรอาหารประเภทไหน เพราะวิกฤติมลพิษจากพลาสติกกำลังส่งกระทบต่อทุกคนบนโลก

เราไม่มีทางหนีรอดไปได้ ไม่ว่าจะรับประทานอะไรก็ตาม” บริตทา กล่าวเสริมเกี่ยวกับปัญหาไมโครพลาสติกในอาหาร Plant-Based พร้อมทั้งระบุว่าเราจำเป็นต้องหาทางออกให้กับปัญหาวิกฤติมลพิษจากพลาสติก

ปัจจุบันนี้อาจจะยังมีข้อมูลเกี่ยวกับ “ไมโครพลาสติก” ใน “Plant-Based” ไม่มากนัก เนื่องจากเป็นประเด็นที่ค่อนข้างใหม่ แต่จากการศึกษาครั้งนี้ของ Ocean Conservancy และมหาวิทยาลัยโตรอนโต ก็ทำให้ แมดเดอลีน มิลน์ (Madeleine Milne) นักวิจัยจากมหาวิทยาโตรอนโตได้ข้อสรุปในเบื้องต้นว่า ไมโครพลาสติกในอาหารที่พบนั้น (รวมถึง Plant-Based) มีทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็น เส้นใย ก้อนเส้นใย เศษชิ้นเล็กๆ ยาง โฟม และฟิล์ม ซึ่งร้อยละ 44 เป็นเส้นใย และอีกร้อยละ 30 เป็นเศษพลาสติกชิ้นเล็กๆ

ทั้งนี้ในข้อสรุปเบื้องต้นคาดว่าชาวอเมริกันประมาณ 3.8 ล้านคนบริโภคพลาสติกเกือบ 11,500 ชิ้นต่อปี และมีโอกาสเพิ่มขึ้นได้อีก ซึ่งไมโครพลาสติกที่อยู่ในอาหารประเภทโปรตีน แม้แต่ “Plant-Based” ก็จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดปัญหาด้านสุขภาพตามมาในอนาคต

ท้ายที่สุดนี้เราอาจจะยังไม่สามารถหาวิธีหลีกเลี่ยง “ไมโครพลาสติก” ในอาหารได้ แต่การรักษาสิ่งแวดล้อมอาจเป็นจุดเริ่มต้นที่ง่ายที่สุด เพื่อให้คนรุ่นหลังไม่ต้องเผชิญกับวิกฤติทางอาหาร และไม่ให้ส่งผลเสียต่อสิ่งมีชีวิตทุกชนิดบนโลกมากไปกว่านี้

อ้างอิงข้อมูล : New York Post และ Ocean Conservancy