ทางแยก 'แผนพลังงานชาติ 2023-37' ตอบโจทย์เปลี่ยนผ่านและความมั่นคง

ทางแยก 'แผนพลังงานชาติ 2023-37' ตอบโจทย์เปลี่ยนผ่านและความมั่นคง

"กระทรวงพลังงาน" เร่ง "แผนพลังงานชาติ 2023-37" ตัวขับเคลื่อนในการการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานและตอบโจทย์ด้านความมั่นคงของประเทศ

ทิศทางของนโยบายพลังงานในปี 2567 ยังต้องติดตามอย่างใกล้ชิด เนื่องจากแนวโน้มความต้องการใช้พลังงานจะเพิ่มขึ้น กระทรวงพลังงานจึงต้องปรับบทบาทเพื่อก้าวสู่ยุคเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน (Energy Transition) ที่นอกจากจะต้องสร้างความมั่นคงด้านพลังงานแล้ว ยังต้องเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายและการดำเนินการหลายด้านเพื่อขับเคลื่อนประเทศเข้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality)

ทั้งนี้ สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) อยู่ระหว่างจัดทำกรอบแผนพลังงานชาติ (National Energy Plan) ปี 2023-2037 ซึ่งรวมทั้ง 5 แผนพลังงานไว้ด้วยกัน ประกอบด้วย 1.แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (PDP) 2.แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP) 3.แผนอนุรักษ์พลังงาน (EEP) 4.แผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ (Gas Plan) และ 5. แผนบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิง (Oil Plan)

ประเสริฐ สินสุขประเสริฐ ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า คาดว่าภายในเดือน ม.ค. 2567 หรือต้นปีหน้าจะมีการนำแสนอแผน PDP ที่ได้มีการปรับเปลี่ยนภายหลังหารือร่วมกับ สนพ. และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เพื่อเปิดประชาพิจารณ์รับฟังความคิดเห็นสาธารณะตามขั้นตอนได้

อย่างไรก็ตาม หากประชาพิจารณ์ฯ เรียบร้อยแล้วก็จะสามารถนำเสนอแผน PDP ต่อที่ประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ที่มีพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน เห็นชอบก่อนนำเสนอที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่มีเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ตามขั้นตอนต่อไป

แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า แผนพลังงานชาติ ถือเป็นการผนวก 5 แผนเข้าด้วยกัน ตอนนี้เหลือรอแผน PDP แล้วเสร็จอย่างเดียว เพราะแผนอื่นเรียบร้อยหมดแล้ว ซึ่งเมื่อทั่วโลกได้ตระหนักถึงปัญหาโลกร้อนต่างก็กำหนดเป้าหมายที่จะลดการปลดปล่อยคาร์บอน ซึ่งประเทศไทยได้กำหนดเป้าหมายสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี ค.ศ. 2050 และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี (Net Zero) ค.ศ. 2065

ดังนั้น กระทรวงพลังงานจึงได้มีการจัดทำร่างแผนพลังงานชาติฉบับใหม่ ช่วงปี 2565 จากเดิมที่จะมีการนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ประกาศใช้อย่างเป็นทางการสมัยสุพัฒนพงษ์ พันธุ์มีเชาว์ เป็นรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน แต่ก็ไม่ได้มีการนำเสนอ ดังนั้น เมื่อเปลี่ยนรัฐบาลและเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน จึงต้องมีการพิจารณาใหม่อีกครั้ง

“ก่อนยุบสภาปี 2566 ก็ไม่ได้เสนอ ซึ่งตอนนี้มีการพูดถึงกันมากเกี่ยวกับเทรนด์พลังงานทดแทนตามแผนเดิมให้ได้มากกว่า 50% ในปี 2580 ที่ต้องเพิ่มสัดส่วนจากปัจจุบันมีสัดส่วนอยู่ที่ 14% ดังนั้น เชื่อว่าน่าจะได้เห็นความชัดเจนภายในปี 2567 หลังจากเลื่อนมาแล้ว 2 ปี”

ทางแยก \'แผนพลังงานชาติ 2023-37\' ตอบโจทย์เปลี่ยนผ่านและความมั่นคง

อย่างไรก็ตาม ปัญหาการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิลมาสู่พลังงานสะอาดอย่างน้อย 50% ถือว่าเป็นเรื่องที่ท้าทาย เพราะจะกระทบต่อความมั่นคงด้านพลังงาน เพราะปัจจุบันต้นทุนยังสูง ประสิทธิภาพการผลิตจึงต้องใช้เวลา อีกทั้งยังไม่สามารถเปิดเสรีเพื่อสร้างการแข่งขันได้เหมือนต่างประเทศ ดังนั้น เมื่อต้องเปลี่ยนเป็นพลังงานสะอาดต้นทุนจึงต้องสูง ถือเป็นความยากลำบากและท้าทาย

สำหรับเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่จะช่วยให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็นผู้ผลิตพลังงานทดแทนได้ จะต้องเพิ่มสัดส่วนการลงทุน Grid Modernization ของประเทศ เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานไฟฟ้าระยะ 5 ปี เพื่อบูรณาการการลงทุนและจัดลำดับความสำคัญของโครงการของ 3 การไฟฟ้าทั้งในส่วนระบบผลิต ระบบส่ง และระบบจำหน่าย

รวมถึงผลักดันเทคโนโลยีไฮโดรเจนที่จะต้องคอมเมอร์เชียลในปี ค.ศ. 2040, เทคโนโลยีระบบกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่ หรือ BESS (Battery Energy Storage System) และเทคโนโลยีการดักจับและการจัดเก็บคาร์บอน หรือ Carbon Capture and Storage (CCS) เป็นต้น

ทั้งนี้ กระทรวงพลังงาน ได้พยายามเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนผ่านนโยบายต่าง ๆ อาทิน โยบาย 30@30 ถือเป็นแนวทางการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ของประเทศ รวมถึงการผลักดันให้เกิดการลงทุนแบตเตอรี่ในประเทศโดยดึงการลงทุนจากต่างประเทศ ตลอดจนการบริหารจัดการการเปลี่ยนผ่านการดำเนินงานแหล่งก๊าซเอราวัณ และแหล่งบงกช การเปิดสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบ 24 ที่ผ่านมา การจัดทำโรดแมประบบเทคโนโลยีการดักจับการใช้ประโยชน์ และการกักเก็บคาร์บอน (CCUS) เป็นต้น

นอกจากนี้ ในด้านของการส่งเสริมพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงานได้มีการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ การรับซื้อไฟฟ้าจากขยะ การส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน การส่งเสริมสนับสนุนสถานีอัดประจุไฟฟ้าเพื่อรองรับยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ให้ครอบคลุมทั่วประเทศ รวมถึงการกำหนดค่าไฟของผู้ให้บริการที่อัตรา Low Priority การให้สิทธิประโยชน์สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) รวมทั้งส่งเสริมอุตสาหกรรมแบตเตอรี่สำหรับ EV

หลายภาคส่วนโดยเฉพาะนักลงทุนต่างคาดหวังที่จะเห็นความชัดเจนของ “แผนพลังงานชาติ” โดยเร็ว เพื่อเตรียมพร้อมปรับธุรกิจรับการแข่งขันและค้าโลก