สนพ. ทบทวนแผนพลังงานแห่งชาติ หนุนกลไกแข่งขันธุรกิจไฟฟ้า

สนพ. ทบทวนแผนพลังงานแห่งชาติ หนุนกลไกแข่งขันธุรกิจไฟฟ้า

สนพ.ทบทวนแผนพลังงานชาติ เตรียมเสนอครม.ชุดใหม่ หนุนเพิ่มการแข่งขันธุรกิจผลิตไฟฟ้า เพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรในประเทศเพื่อความยั่งยืน

นายสาร์รัฐ ประกอบชาติ รองผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กล่าวในงาน “Innovation Summit Bangkok 2023: Innovations for a Sustainable Thailand” โดย ชไนเดอร์ อิเล็กทริค ในการบรรยายหัวข้อ “Thailand transformation towards Sustainability” ว่า เป้าหมายสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ได้กลายเป็นจุดมุ่งหมายในระดับโลกที่ทุกภาคส่วนให้คำมั่นว่าจะเดินหน้าไปด้วยกัน โดยวิธีการไปถึงจุดหมายดังกล่าวจำเป็นต้องมีพลังงานที่สะอาดมากขึ้นและเป็นพลังงานสีเขียว พร้อมกับโซลูชั่นและเทคโนโลยีที่จะส่งเสริมให้เกิดความยั่งยืน

“เราเชื่อมั่นว่าแผนมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนจะเป็นเป้าหมายที่สามารถเป็นไปได้และอาจจะเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ด้วยซ้ำ เพราะเราได้เห็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียได้ให้คำมั่นสัญญา เริ่มตระหนักถึงปัญหา และขยับไปสู่การปฏิบัติจริง รวมทั้งเทคโนโลยีโซลูชั่นในวันนี้ที่มีความพร้อมแล้ว”

โดยภาคพลังงานที่เป็นภาคส่วนหลักในฐานะผู้ปลดปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์มากที่สุด ได้จัดทำ “แผนพลังงานแห่งชาติ 2023” ซึ่งจะเป็นแนวทางการพัฒนาพลังงานในช่วง 5 ปี ข้างหน้า เพื่อสนับสนุนให้ประเทศไทยบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี ค.ศ.2050 และบรรลุการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero GHG Emissions) ภายในปี ค.ศ. 2065 และมุ่งเน้นส่งเสริมความมั่นคงภาคพลังงานเพื่อรองรับรูปแบบการผลิตและการใช้พลังงานที่มีความหลากหลายมากขึ้นในอนาคต

“ขณะนี้สนพ. อยู่ระหว่างการทบทวนแผนพลังงานชาติ เนื่องจากมีหลายปัจจัยที่ต้องคำนึงถึง เช่น โรคระบาด ความขัดแย้งภูมิรัฐศาสตร์ เพื่อนำไปสู่การสร้างความมั่นคงภาคพลังงาน โดยต่อจากนี้จะมีการเปิดประชาพิจารณ์รับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องก่อนที่จะนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดใหม่พิจารณาอนุมัติ”

ทั้งนี้ 3 องค์ประกอบสำคัญที่จะนำไปสู่การใช้พลังงานอย่างยั่งยืน ได้แก่ 1.การใช้ประโยชน์จากวัตถุดิบในประเทศให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด 2. การเลือกใช้เทคโนโลยีที่มีความเหมาะสมกับองค์กร ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นอันที่แพงที่สุด หรือใหม่ที่สุด 3.การตรวจวัดและประเมินผลการนำเทคโนโลยีมาใช้นั้น ได้ผลลัพธ์ที่ดีขึ้นอย่างไร

"เมื่อเรารวมส่วนประกอบทั้ง 3 อย่างที่กล่าวถึงนี้จะทำให้เห็นการเปลี่ยนแปลงและการพัฒนาที่นำไปสู่ความยั่งยืนได้ ซึ่งสนพ. ในฐานะหน่วยงานวางแผนนโยบายเองจะเป็นส่วนหนึ่งในการออกมาตรการที่สร้างสรรค์เพื่อให้ภาคเอกชนก้าวสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนได้ เช่น Utility Green Tariff โครงสร้างค่าไฟสีเขียวสำหรับภาคการผลิต และสนับสนุนกลไกการแข่งขันของธุรกิจผลิตไฟฟ้าเพื่อให้เกิดการแข่งขันระหว่างผู้เล่นในประเทศมากยิ่งขึ้น และเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้ทรัพยากรภายใน

ทั้งนี้ หลังจากมีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ สนพ. จะรับฟังความคิดเห็นและนโยบายด้านพลังงานจากรัฐบาล รวมถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้องเพื่อผลักดันแผนพลังงานแห่งชาติให้มีความครอบคลุมและนำไปสู่การปฏิบัติได้จริง