จับสัญญาณ “ป่วยแบบกลุ่มก้อน” เฝ้าระวัง “โรคอุบัติใหม่อุบัติซ้ำ”

จับสัญญาณ “ป่วยแบบกลุ่มก้อน”  เฝ้าระวัง “โรคอุบัติใหม่อุบัติซ้ำ”

สภาวะโลกร้อนสุ่มเสี่ยงที่โรคอุบัติใหม่ และโรคอุบัติซ้ำจะเกิดขึ้นได้ โดยผลกระทบต่อประชาชน ได้แก่ การเสียชีวิต บาดเจ็บจากสภาวะที่รุนแรงของภูมิอากาศ โรคจากความร้อน

ซึ่งองค์การอนามัยโลกหรือ WHO คาดการณ์ว่าจะมีผู้สูงอายุเสียชีวิตจากอากาศร้อนจัดเพิ่มขึ้น14,000 รายในปี 2623 เมื่อเทียบกับการเสียชีวิตในปี 2504 โรคทางเดินหายใจและโรคอุจจาระร่วงเพิ่มขึ้น เพิ่มความเสี่ยงของโรคที่เกิดจากน้ำเป็นสื่อ การรับสัมผัสกับสารเคมีอันตรายหรือเชื้อโรค รวมถึงอาจทำให้เกิดโรคอุบัติใหม่หรือ อุบัติซ้ำ และการเปลี่ยนไปของสังคม การจำเป็นต้องย้ายถิ่นฐานที่อยู่ของประชากร ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะซึมเศร้า และสุขภาพจิต

          ส่วนผลกระทบต่อระบบสาธารณสุข เช่น เกิดความเสียหายต่อโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ของสถานบริการสุขภาพ ส่งผลกระทบโดยตรงต่ออุปกรณ์ เครื่องมือ และเครื่องจักรของสถานพยาบาล ระบบไฟฟ้า ระบบน้ำและสุขาภิบาล อุปกรณ์ไอที และเครือข่าย เกิดการหยุดชะงักในการจัดส่งยา และเวชภัณฑ์จากความเสียหายของระบบขนส่ง ส่งผลต่อระบบพลังงาน และเครือข่ายการสื่อสารจากสภาพอากาศ เหล่านี้ล้วนส่งผลต่อระบบสาธารณสุขของประเทศ

        ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อม สภาพภูมิอากาศ ทำให้เชื้อโรคบางตัวเจริญเติบโตได้เร็วขึ้น หรือทำให้ความเป็นอยู่ประชาชนได้รับผลกระทบ เช่น น้ำ มลภาวะ เกิดไฟป่า หมอกควัน กระทบต่อการเกิดโรคของประชาชน และระบบการรักษา บางโรคจะมีผู้ป่วยมากขึ้น รวมถึงโรคติดต่อ โรคบางอย่างที่ประเทศแถบเมืองหนาวไม่เคยเจอก็เจอมากขึ้น เช่น ไข้เลือดออก เป็นต้น

 “นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์” ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวว่า จึงจำเป็นต้องเตรียมระบบสาธารณสุขให้มีความพร้อมในการรองรับผลกระทบที่จะเกิดขึ้น โดยการติดตามความเปลี่ยนแปลง เช่น โรคภัยไข้เจ็บPM2.5 สิ่งแวดล้อม เฝ้าระวังผลกระทบต่อประชาชน เตือนภัย และเตรียมเครื่องมืออุปกรณ์ต่างๆ ให้มีความพร้อม ต้องทำนายว่าจะเกิดอะไรขึ้น อย่างไร กลุ่มไหน และดำเนินการป้องกันแก้ไข

 เชื้อโรคอาจมีระยะฟักตัวสั้นลง

   สำหรับโรคอุบัติใหม่มีโอกาสเกิดขึ้นใหม่ได้ตลอดเวลาตามภูมิอากาศที่เปลี่ยน ขณะที่โรคที่รู้จักอยู่เดิม ก็จะเปลี่ยนทางระบาดวิทยาได้ โดยประเทศไทยที่มีอากาศร้อนอยู่แล้วก็จะยิ่งร้อนขึ้น เชื้อโรคที่ก่อโรคอุจจาระร่วง หรือยุงลายที่เป็นพาหะของโรคไข้เลือดออก อาจจะมีระยะฟักตัวที่สั้นลง ทำให้มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นได้ ซึ่งจะมีหลายโรคทั้งโรคไม่ติดต่อ โรคติดต่อ และโรคที่มาจากสิ่งแวดล้อม

     ในส่วนของโรคจากสัตว์สู่คน อาจจะไม่ใช่ผลพวงจากโลกร้อนหรือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโดยตรงแต่เป็นทางอ้อม เกิดจากการที่คนไปบุกรุกป่ามากขึ้น ทำให้คนใกล้ชิดกับสัตว์ป่าที่มีเชื้อโรคที่แตกต่างกัน จากเดิมเชื้อโรคในสัตว์ก็อยู่ส่วนสัตว์ไม่มาสู่คน แต่เมื่อคนไปยุ่งกับสัตว์ป่ามากขึ้น ก็จะไปสัมผัสกับเชื้อโรคที่อยู่ในสัตว์มากขึ้น โอกาสที่จะเกิดโรคอุบัติใหม่ก็จะมากขึ้น

จับสัญญาณ “ป่วยแบบกลุ่มก้อน”  เฝ้าระวัง “โรคอุบัติใหม่อุบัติซ้ำ”

เฝ้าระวังโรคอุบัติใหม่อุบัติซ้ำ

   กลไกในการเฝ้าระวังโรคอุบัติใหม่อุบัติซ้ำ จะต้องดูจาก 1.เจอเหตุการณ์ผิดปกติที่เป็น กลุ่มก้อนของโรคและ 2.มีเชื้อโรคใหม่เกิดขึ้นหรือไม่ หากมีจะต้องสอบสวนโรคหาสาเหตุว่าเป็นเชื้อตัวใหม่หรือตัวเดิม ซึ่งเชื้อตัวใหม่ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยมากนัก จะมีเป็นระยะ

จึงต้องดูข้อมูล และประเมินว่าเป็นเหตุการณ์ผิดปกติอย่างมากหรือกว้างขวาง เพราะเชื้อตัวใหม่จะต้องใช้เวลาในการดูว่าใหม่จริงหรือไม่ มีการตรวจทานสอบทานจากนานาชาติ

“จะต้องมีการเฝ้าระวังโรคในทุกระบบ เพราะยังบอกไม่ได้ว่าจะเป็นเชื้อตัวไหนที่จะมา โดยหลักๆ จะมีโรคระบบทางเดินหายใจ ระบบที่เกี่ยวกับสมอง ระบบเกี่ยวกับผิวหนัง ระบบทางเดินอาหาร และระบบเกี่ยวกับโรคเลือด ด้วยการตามดูอาการว่าผิดปกติหรือไม่ ถ้าเป็นโรคที่เกิดตามปกติก็ไม่ต้องหาเชื้อใหม่ แต่หากผิดปกติก็ต้องหาว่าเป็นเชื้อตัวใหม่หรือไม่ ซึ่งความร่วมมือกับห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ระดับนานาชาติ ที่จะร่วมกันเฝ้าระวังและแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกันเป็นสิ่งสำคัญ”นพ.โอภาส กล่าว

 

ยุทธศาสตร์รับมือผลกระทบต่อสุขภาพ

  สธ.ได้รับมอบหมายให้ดำเนินเรื่องยุทธศาสตร์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศด้านสาธารณสุข เพื่อเป็นกรอบแนวทางการรับมือผลกระทบต่อสุขภาพจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ.2555 จึงได้จัดทำแผนปฏิบัติการด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้านสาธารณสุข พ.ศ.2564 - 2573 สอดคล้องตามกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มุ่งมั่นจะให้เกิดความรับผิดชอบร่วมกันอันจะนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนา

 “ประชาชนสามารถลดสภาวะโลกร้อน และการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ซึ่งจะส่งผลกระทบมาสู่เราทุกคน และร่วมสร้างความยั่งยืนได้ด้วยการ พยายามใช้พลังงานที่ดีต่อสิ่งแวดล้อม ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ ลดการใช้น้ำมันใช้ไฟฟ้าเท่าที่จำเป็น บริโภคอาหารที่ไม่ใช้พลังงานมาก และติดตามข้อมูลข่าวสารต่างๆ”นพ.โอภาส กล่าว

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์