ภาษีคาร์บอน อยู่ที่ความกล้าหาญรัฐบาล

ภาษีคาร์บอน อยู่ที่ความกล้าหาญรัฐบาล

เงื่อนไขสำคัญที่จะผลักดันการออกกฎหมายเพื่อจัดเก็บภาษีเพื่อลดการปล่อยคาร์บอนได้จึงอยู่ที่ความกล้าหาญของรัฐบาล โดยรัฐบาลต้องกล้าดำเนินการเพื่อให้สอดคล้องกับเทรนด์ของโลก

เมกะเทรนด์ของโลกขณะนี้อยู่ที่ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งทั่วโลกกำลังสนใจปัญหาดังกล่าวเพิ่มมากขึ้นหากเปรียบเทียบกับ 10-20 ปี ที่ผ่านมา ซึ่งในอดีตจะให้ความสนใจเฉพาะกลุ่ม โดยในประเทศไทยจะมีหน่วยงานภาครัฐ รวมถึงองค์กรธุรกิจอย่างสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ซึ่งมีการติดตามข้อมูลดังกล่าว แต่ความสนใจของภาคธุรกิจยังไม่ลงไปถึงระดับบริษัท ในขณะที่ปัจจุบันพบว่า บริษัทไทยหลายแห่งมีแผนลดการปล่อยคาร์บอนที่ชัดเจน

ที่ผ่านมารัฐบาลทั่วโลกพยายามหาเครื่องมือในการรับมือกับปัญหา ซึ่งมีทั้งมาตรการภาษีและมาตรการที่ไม่ใช่ภาษี โดยมาตรการภาษีคาร์บอนเป็นอีกเครื่องมือที่หลายประเทศเริ่มนำมาใช้เพื่อลดการปล่อยคาร์บอน ซึ่งถือเป็นเครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์ของภาครัฐในการจำกัดปริมาณการปล่อยคาร์บอน โดยการจัดเก็บภาษีดังกล่าวไม่ได้มีจุดประสงค์เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับภาครัฐ แต่เป็นแนวทางในการสร้างแนวทางให้สังคมร่วมกันป้องกันผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

สำหรับประเทศไทยมีการศึกษาแนวทางการจัดเก็บภาษีเพื่อลดการปล่อยคาร์บอนมาหลายรัฐบาลแล้ว โดยมีการหารือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นกระทรวงการคลัง กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพลังงาน กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งท้ายที่สุดประเทศไทยยังไม่มีการจัดเก็บภาษีเพื่อลดการปล่อยคาร์บอน โดยมีหลายปัจจัยที่ทำให้การผลักดันจัดเก็บภาษีดังกล่าวไม่เป็นผล ไม่ว่าจะเป็นความกังวลต่อภาระของผู้ผลิตหรือภาระต่อผู้บริโภคที่อาจใช้ราคาสินค้าที่สูงขึ้น

ปัจจุบันกรมสรรพสามิตอยู่ระหว่างการปรับโครงสร้างภาษีให้สอดคล้องกับทิศทางที่ดูแลสิ่งแวดล้อม โดยมีแนวทางจัดเก็บ 2 ด้าน คือ 1.จัดเก็บระดับบริษัทผู้ผลิต 2.การจัดเก็บระดับผลิตภัณฑ์ ซึ่งกรมสรรพสามิตมีอำนาจที่จะจัดเก็บได้เลย และมีแนวคิดการจัดเก็บภาษีสินค้าตั้งแต่ระดับต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ โดยกำลังวางแนวทางการจัดเก็บเพื่อให้การจัดเก็บภาษีมีประสิทธิภาพมากที่สุด และต้องติดตามดูว่า รัฐบาลและกระทรวงการคลังจะผลักดันกฎหมายฉบับนี้ได้หรือไม่

ดังนั้นเงื่อนไขสำคัญที่จะผลักดันการออกกฎหมายเพื่อจัดเก็บภาษีเพื่อลดการปล่อยคาร์บอนได้จึงอยู่ที่ความกล้าหาญของรัฐบาล โดยรัฐบาลต้องกล้าดำเนินการเพื่อให้สอดคล้องกับเทรนด์ของโลก และเป้าหมายการลดการปล่อยคาร์บอนของประเทศไทย รวมทั้งรัฐบาลจะต้องทำความเข้าใจกับเอกชนผู้ผลิตสินค้า และทำความเข้าใจกับประชาชนที่เป็นผู้บริโภคสินค้า และถ้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) ไม่กล้าอนุมัติร่างกฎหมายจัดเก็บภาษีคาร์บอน ก็คงเดินหน้าสู่เป้าหมายเน็ตซีโร่ได้ยากขึ้น