"ดิจิทัล วอลเล็ต" ให้อะไรกับ GDP ไทยบ้าง ฟังมุมมอง“เวิล์ดแบงค์“

"ดิจิทัล วอลเล็ต" ให้อะไรกับ GDP ไทยบ้าง ฟังมุมมอง“เวิล์ดแบงค์“

เวิล์ดแบงค์ เปิดรายงานตามติดเศรษฐกิจไทย ชี้ปี67 GDPไทยโต 3.2% ผลท่องเที่ยว-ส่งออก ส่วน”“ดิจิทัล วอลเล็ต” กระตุ้นGDPเพิ่ม2.7% แต่ห่วงทำหนี้สาธารณะแตะ65%

นายฟาบริซิโอ ซาร์โคเน ผู้จัดการธนาคารโลกประจำประเทศไทย (เวิล์ดแบงค์) กล่าวถึงเปิดตัวรายงานตามติดเศรษฐกิจไทย เส้นทางสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนของประเทศไทย : บทบาทของการกำหนดราคาคาร์บอน ว่า ในขณะที่ประเทศไทยได้มีการแก้ไขพระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ในปี พ.ศ. 2567 หากประเทศไทยต้องการบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน การกำหนดราคาคาร์บอนจะต้องถูกพิจารณาเป็นเครื่องมือเชิงนโยบายที่สำคัญ

ทั้งนี้ ธนาคารโลกคาดการณ์ว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยจะเพิ่มขึ้นจาก% 2.5 ในปี พ.ศ. 2566 เป็น3.2 %ในปี พ.ศ. 2567 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวและการส่งออกสินค้า และการบริโภคภาคเอกชนที่มั่นคงรายงานระบุว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจในปี พ.ศ. 2566 ได้รับผลกระทบจากการหดตัวของการส่งออกสินค้าและการลดการใช้จ่ายภาครัฐ แต่คาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวได้มากขึ้นในระดับปานกลางที่3.1 %ในปี พ.ศ. 2568

อัตราเงินเฟ้อทั่วไปคาดว่าจะชะลอตัวลงสู่ 1.1 %ในปี พ.ศ. 2567 เนื่องจากราคาพลังงานที่ลดลง อย่างไรก็ตาม คาดว่าราคาอาหารจะเพิ่มขึ้น

ขณะที่โครงการเติมเงินผ่านกระเป๋าเงินดิจิทัล 10,000 บาท ที่มีการวางแผนไว้ซึ่งมูลค่าโครงการคิดเป็นประมาณ2.7 %ของ GDP โดยหากมีการดำเนินโครงการคาดว่าจะสามารถกระตุ้นการเติบโตในระยะสั้นได้เพิ่มขึ้น0.5 %ถึง1 %ของGDP ในช่วงระยะเวลาระหว่างปี พ.ศ. 2567 และ 2568 แต่จะส่งผลให้การขาดดุลทางการคลังอาจเพิ่มขึ้นเป็น 4 ถึง5 %ของ GDP ในขณะที่หนี้สาธารณะอาจเพิ่มสูงขึ้นถึง65 ถึง 66 %ของ GDP

ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่รุนแรงขึ้นและราคาน้ำมันที่สูงอาจทำให้ประเทศไทยเข้าสู่ภาวะเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นอีกครั้งเนื่องจากประเทศไทยมีการพึ่งพาการนำเข้าพลังงานสูงกลายเป็นความเสี่ยงด้านลบต่อแนวโน้มทางเศรษฐกิจ

อย่างไรก็ตาม การก้าวไปสู่เส้นทางการเติบโตแบบคาร์บอนต่ำจะสามารถช่วยสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน ลดการเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม และทำให้ประเทศไทยเป็นผู้นำระดับภูมิภาคในด้านการเติบโตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและยั่งยืน

มลพิษทางอากาศเป็นปัญหาสำคัญทางเศรษฐกิจและสาธารณสุขของประเทศไทย การลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลและการกำหนดราคาคาร์บอนจะช่วยปรับปรุงคุณภาพอากาศในเมือง ส่งผลให้อัตราการเจ็บป่วยลดลง ในปี พ.ศ. 2562 ความเสียหายต่อสุขภาพที่มาจากการสัมผัสมลพิษPM2.5 ทำให้ประเทศไทยเกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจประมาณ6%ของGDP

 

รายได้ที่เกิดจากการกำหนดราคาคาร์บอนสามารถนำไปใช้เป็นเงินทุนสนับสนุนนโยบายด้านสภาพภูมิอากาศอื่นๆ หรือเพื่อสนับสนุนการใช้จ่ายสาธารณะ ตัวอย่างเช่น ราคาคาร์บอนอาจช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายด้านสาธารณสุขของประเทศไทย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการใช้งบประมาณสนับสนุนจากภาครัฐ 

 

ประเทศไทยได้ดำเนินนโยบายหลายประการเพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน และได้ดำเนินการขั้นแรกเพื่อใช้การกำหนดราคาคาร์บอนอย่างครอบคลุม การซื้อ-ขายการปล่อยก๊าซภาคสมัครใจได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558 นโยบายเหล่านี้แม้จะช่วยจำกัดการเติบโตของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในอนาคต แต่ประเทศไทยจำเป็นต้องมีความทะเยอทะยานเชิงนโยบายเพิ่มขึ้นเพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายในปัจจุบัน