เปิดแผน”กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ”เสริมแกร่งเอสเอ็มอีขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย

เปิดแผน”กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ”เสริมแกร่งเอสเอ็มอีขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย

กรมพัฒนาธุรกิจการค้า เดินหน้าบูรณาการความร่วมมือภาครัฐและเอกชน สร้างความเข็มแข็งธุรกิจเอสเอ็มอี ลุย แผนงาน ที่จะช่วยให้ SMEs ไปสู่เป้าหมายเพิ่มสัดส่วนจีดีพี จาก 35.2% ในปี 66 เป็น 36 %ในปี 67 หรือมูลค่า 3 แสนล้านบาท

เอสเอ็มอีหรือผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม เป็นหนึ่งภาคส่วนธุรกิจของไทยที่มีความสำคัญในฐานะกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ซึ่งรัฐบาลมีนโยบายในการพัฒนาเอ็มอีให้มีความเข็มแข็ง กระทรวงพาณิชย์เป็นหน่วยงานหนึ่งที่สนับสนุนนโยบายของรัฐบาล โดยได้วางแผนหรือโรดแมป ในการส่งเสริมเพื่อเพิ่มสัดส่วนจีดีพีของผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็ก (SMEs) ของไทย ให้เพิ่มขึ้นจาก 6.3 ล้านล้านบาท หรือสัดส่วน 35.2% ของจีดีพี เพิ่มเป็น 6.6 ล้านล้านบาท หรือสัดส่วน 36% ของจีดีพี หรือเพิ่มขึ้น 3 แสนล้านบาท ภายในปี 2567 และเพิ่มอีก 5 แสนล้านบาทภายในปี 2570 หรือสัดส่วน 40% ของจีดีพี โดยจะบูรณาการระหว่าง 3 หน่วยงาน คือ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เพื่อจัดหลักสูตรอบรมให้ความรู้เพิ่มเติมทักษะให้ SMEs

กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ได้วางแผนที่จะพัฒนาเอสเอ็มอีให้มีความเข้มแข็งพร้อมกับแข่งขันได้เพื่อสนองนโยบายของกระทรวง โดยจะร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆทั้งหน่วยงานภายในกระทรวงพาณิชย์และหน่วยงานพันธมิตรทั้งภายนอกทั้งภาครัฐและเอกชนอเพื่อพัฒนาศักยภาพเอสเอ็มอีไทยให้มีความเข้มแข็ง

เปิดแผน”กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ”เสริมแกร่งเอสเอ็มอีขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย

 “อรมน ทรัพย์ทวีธรรม “ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กล่าวว่า กรมได้กำหนดแผนงานเพื่อพัฒนาผู้ประกอบการไทยให้มีขีดความสามารถในการแข่งขัน มีรายได้ และเติบโตอย่างยั่งยืน โดยมีแผนงานสำคัญ ประกอบด้วย

1.ประสานความร่วมมือกับกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ผลักดัน อาหารไทย Thai SELECT เป็นซอฟต์พาวเวอร์ประเทศ

2.ขอความร่วมมือสถานีบริการน้ำมัน 3 แห่ง (ปตท. บางจาก และ พีที) เปิดพื้นที่ให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่กรมฯ สนับสนุน ได้แก่ แฟรนไชส์ ฟู้ดทรัค ร้านอาหาร Thai SELECT และธุรกิจชุมชน เข้าจำหน่ายสินค้าในสถานีบริการน้ำมันทั่วประเทศ

3.ร่วมกับแพลตฟอร์มออนไลน์ที่มีชื่อเสียง เช่น Shopee, LAZADA ช่วยขยายช่องทางการตลาดให้ผู้ประกอบการชุมชน

4.ประสานบายเออร์และเทรดเดอร์ชั้นนำรายใหญ่ เช่น เซ็นทรัล เดอะมอลล์ สยามพิวรรธน์ คิงพาวเวอร์ กลุ่มธุรกิจโรงแรมและอสังหาริมทรัพย์ และสถานีบริการน้ำมัน ร่วมเวทีเจรจาธุรกิจกับผู้ประกอบการชุมชน Smart Local BCG จำนวน 591 คู่ธุรกิจ มูลค่าการเจรจากว่า 113 ล้านบาท เป็นต้น

รวมทั้งวางแผนสร้างโอกาสทางการค้าและเชื่อมโยงเครือข่ายเอสเอ็มอีด้วยการจัดงานแสดงและจำหน่ายสินค้าแก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีทั่วประเทศ พร้อมส่งเสริมการเข้าถึงแหล่งทุนด้วยดอกเบี้ยอัตราพิเศษ ผ่านความร่วมมือกับธนาคารรัฐและธนาคารพาณิชย์ เพื่อกระตุ้นมูลค่าทางเศรษฐกิจ การใช้จ่าย สร้างอาชีพแก่ผู้ที่ต้องการเริ่มต้นธุรกิจและประชาชนทั่วไป

“ปลายเดือนมี.ค.67 จะมีการจัดงานมหกรรมรวมพลัง SMEs ไทย  ในกรุงเทพมหานคร และระยะต่อไปจะออนทัวร์จัดงานให้ครบทั้ง 4 ภูมิภาคทั่วประเทศ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่น ขยายช่องทางการตลาดและเพิ่มรายได้ให้ผู้ประกอบการชุมชน”นางอรมน กล่าว

นอกจากนี้ยังยกระดับความสะดวกแก่เอสเอ็มอีไทยและประชาชน ด้วยการพัฒนางานดิจิทัล พัฒนาระบบข้อมูลสารสนเทศ เพื่อให้การบริการมีความสะดวก ถูกต้อง รวดเร็ว โดยที่ผ่านมา กรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาพัฒนากระบวนงานบริการต่างๆ อย่างต่อเนื่อง คิดเป็น 80 % ของงานบริการทั้งหมด เช่น การจดทะเบียนนิติบุคคลสำหรับห้างหุ้นส่วนและบริษัทจำกัด (e-Registration) การนำส่งงบการเงินและบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Filing) ระบบจดทะเบียนหลักประกันทางธุรกิจ (e-Secured) และระบบขอหนังสือรับรองนิติบุคคล (e-Service)

ทั้งหมดนี้เป็นแผนงานเชิงรุกเพื่อพัฒนาเอสเอ็มอีของกรมพัฒนาธุรกิจการค้าในปี 67  เพื่อให้บรรลุเป้าหมายเพิ่มจีดีพีเอสเอ็มอีในปี 67 เป็น36% หรือเพิ่มขึ้น 3 แสนล้านบาท ภายในปี 2567