'คมนาคม' ดันเปิดรถไฟไทย-จีน ถก CP สางปมโครงสร้างทับซ้อน

'คมนาคม' ดันเปิดรถไฟไทย-จีน ถก CP สางปมโครงสร้างทับซ้อน

“คมนาคม” ดันรถไฟความเร็วสูง ช่วงกรุงเทพฯ - นครราชสีมา พร้อมเปิดใช้ภายในปี 2571 ด้าน ร.ฟ.ท.นัดถก “ซีพี” พรุ่งนี้ สางปมโครงสร้างทับซ้อนไฮสปีดเชื่อมสามสนามบิน

นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารการพัฒนาโครงการความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย - จีน ครั้งที่ 1/2566 โดยระบุว่า ที่ประชุมได้ติดตามความคืบหน้าการดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพฯ - หนองคาย ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ - นครราชสีมา

พร้อมเร่งรัดการดำเนินการระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา - หนองคาย ให้แล้วเสร็จตามแผนงานและสามารถเปิดใช้ได้ในระยะเวลาที่กำหนดไว้

อย่างไรก็ดีที่ประชุมได้มีการหารือติดตามความคืบหน้าการดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูงและโครงการในสัญญาที่อยู่ระหว่างรอลงนาม รวมถึงเร่งรัดให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) พิจารณาแนวทางแก้ไขปัญหาข้อร้องเรียนของประชาชนที่ได้รับผลกระทบในสัญญาที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างด้วยความระเอียดรอบคอบ โดยมีความคืบหน้า ประกอบด้วย

1. โครงการรถไฟความเร็วสูง ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ - นครราชสีมา ระยะทาง 253 กิโลเมตร งานโยธาจาก 14 สัญญา ก่อสร้างแล้วเสร็จ 2 สัญญา อยู่ระหว่างก่อสร้าง 10 สัญญา และอยู่ระหว่างจัดซื้อจัดจ้าง 2 สัญญา คาดว่าจะสามารถลงนามในสัญญาเพื่อเริ่มดำเนินการก่อสร้างงานโยธาได้ทั้งหมดภายในปี 2567 ปัจจุบันความก้าวหน้าโดยรวมร้อยละ 28.61 คาดว่าจะแล้วเสร็จและเปิดให้บริการในปี 2571

2. โครงการรถไฟความเร็วสูง ระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา – หนองคาย ระยะทาง 356 กิโลเมตร ปัจจุบันได้ออกแบบงานโยธาแล้วเสร็จ โดยที่ประชุมได้เร่งรัดให้ ร.ฟ.ท. นำส่งรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมให้สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หรือ สผ. และเสนอคณะกรรมการ ร.ฟ.ท. อนุมัติก่อนเสนอคณะรัฐมนตรีตามขั้นตอนต่อไป

สำหรับการเตรียมการประชุมคณะกรรมการร่วมเพื่อความร่วมมือด้านการรถไฟระหว่างไทย - จีน ครั้งที่ 31 อยู่ระหว่างการพิจารณากำหนดวัน เวลา และสถานที่การประชุม

ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคมจะได้หารือร่วมกับฝ่ายจีนอย่างใกล้ชิดเพื่อหาข้อสรุปการจัดทำรายงานผลดำเนินงานความคืบหน้าของโครงการและแนวทาง การขับเคลื่อนการปฏิบัติงานเพื่อให้โครงการรถไฟความเร็วสูงแล้วเสร็จโดยเร็วสามารถรองรับการใช้งานของประชาชนได้อย่างสมบูรณ์และมีประสิทธิภาพต่อไป

ด้านนายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) กล่าวว่า ที่ประชุมให้เร่งรัดให้ดำเนินโครงการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-ลาว หนองคาย-เวียงจันทน์ แห่งที่ 2 วงเงิน 2-3 พันล้านบาท ซึ่งขณะนี้ ร.ฟ.ท. อยู่ระหว่างเตรียมว่าจ้างที่ปรึกษาออกแบบรายละเอียดโครงการฯ และจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ซึ่งจะใช้งบประมาณในการดำเนินงาน 25 ล้านบาท โดยคาดว่าจะใช้เวลาออกแบบประมาณ 1 ปี คาดว่าจะเปิดประมูลและเริ่มก่อสร้างได้ภายในปี 2568

ในส่วนของแนวทางแก้ไขปัญหาสัญญา 4-1 ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง ระยะทาง 15.2 กิโลเมตร ซึ่งเป็นช่วงใช้โครงสร้างร่วมกับโครงการรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) เชื่อมสามสนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) ในวันพรุ่งนี้ (14 ธ.ค.) เวลาประมาณ 10.00 น. จะมีการหารือร่วม 3 ฝ่าย ระหว่าง ร.ฟ.ท. ตัวแทนสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) และตัวแทนจากบริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด เอกชนคู่สัญญา เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาร่วมกัน

อย่างไรก็ดี รฟท.มีแนวทางแก้ไขปัญหาในเบื้องต้น หากการเจรจาร่วมกับภาคเอกชนยังไม่ได้ข้อสรุป ทาง ร.ฟ.ท.จะเดินหน้าลงทุนก่อสร้างทางร่วมช่วงดังกล่าวไปก่อน และเรียกเก็บค่าก่อสร้างจากเอเชีย เอรา วัน ในภายหลัง เพื่อให้งานก่อสร้างช่วงสัญญา 4-1 ไม่ล่าช้า