‘กระทงขนมปัง’ ทำลายแแหล่งน้ำมากที่สุด กระทบปลาตาย-ระบบนิเวศเสียหาย

‘กระทงขนมปัง’ ทำลายแแหล่งน้ำมากที่สุด กระทบปลาตาย-ระบบนิเวศเสียหาย

เมื่อการลอยกระทง เท่ากับการลอยขยะ! นักวิชาการ ชี้ กระแสน้ำไหลเร็ว-จัดเก็บกระทงยาก ปลายทางถูกพัดติดชายฝั่งทะเล สร้างมลพิษต่อปลาทะเล-ระบบนิเวศเสียหายหนัก แม้เป็น “กระทงขนมปัง” ก็ทำลายสิ่งแวดล้อมไม่ต่างกัน เพราะไม่ใช่ปลาทุกชนิดจะชอบกินขนมปัง!

Key Points:

  • เทศกาลลอยกระทงมาพร้อมกับการตั้งคำถามถึงความเหมาะสมทุกปี โดยเฉพาะเมื่อความนิยมเรื่องรักษ์โลก-รักสิ่งแวดล้อมถูกพูดถึงในกลุ่มคนรุ่นใหม่มากขึ้นเรื่อยๆ
  • ปัญหาหลักของการลอยกระทงไม่ใช่วัสดุแต่เป็นการจัดเก็บกระทง โดยข้อมูลจาก กทม. ระบุว่า ปี 2565 มีการจัดเก็บกระทงได้มากถึง 572,602 ใบ ส่วนใหญ่เป็นกระทงที่ทำจากวัสดุทางธรรมชาติ
  • นักวิชาการด้านวิทยาศาสตร์ทางทะเลระบุว่า “กระทงขนมปัง” เป็นปัญหาต่อการจัดเก็บมากที่สุด เพราะเปื่อยยุ่ยง่ายและปลาไม่ได้กินได้ทั้งหมด เมื่อขนมปังจมลงสู่แม่น้ำทำให้ระดับออกซิเจนต่ำลง สร้างความเสียหายต่อสัตว์น้ำและระบบนิเวศ


เทศกาลลอยกระทงประจำปี 2566 ใกล้มาถึงแล้ว ประเด็นที่ถูกหยิบยกขึ้นมาถกเถียงกันทุกปี คือผลกระทบที่ตามมาจากประเพณีที่กำลังจะเกิดขึ้น โดยเฉพาะเรื่องของวัสดุในการทำกระทง และการจัดเก็บกระทงหลังลอยเสร็จ แม้ระยะหลังจะมีการปรับเปลี่ยนด้วยการลดใช้กระทงจากโฟม หันไปใช้กระทงจากขนมปังหรือวัสดุจากธรรมชาติแทน แต่ปัญหาที่ตามมาไม่ได้มีต้นตอจาก “วัสดุ” ทั้งหมด หากแต่เป็นเรื่อง “งูกินหาง” ตั้งแต่พื้นที่ในการลอย การจัดเก็บกระทงหลังลอยเสร็จ ทางน้ำไหลที่จะไปบรรจบกับพื้นที่ชายฝั่งทะเล รวมถึงความเข้าใจเรื่องวัสดุที่หลายคนมองว่า “กระทงขนมปัง” ไม่ได้ทำลายสิ่งแวดล้อมเท่ากับวัสดุย่อยสลายยาก ทว่า แท้จริงแล้ว “กระทงขนมปัง” กลับเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดมลพิษในแหล่งน้ำไม่น้อยไปกว่ากระทงในรูปแบบอื่นๆ เลย

‘กระทงขนมปัง’ ทำลายแแหล่งน้ำมากที่สุด กระทบปลาตาย-ระบบนิเวศเสียหาย

  • กางสถิติจัดเก็บกระทงย้อนหลัง กระทงเพิ่มขึ้นทุกปี วัสดุจาก “โฟม” มากกว่าปีก่อน

ข้อมูลสถิติการจัดเก็บกระทงจากสำนักงานสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร ระบุว่า ปี 2565 สามารถจัดเก็บกระทงได้ทั้งหมด 572,602 ใบ เพิ่มขึ้นจากปี 2564 ที่สามารถจัดเก็บได้ 403,203 ใบ เมื่อเทียบเคียงกันแล้วพบว่า กระทงที่จัดเก็บได้ในปี 2565 เพิ่มขึ้นจากปี 2564 ราว 42%

สำหรับกระทงในปี 2565 มีกระทงจากวัสดุธรรมชาติ 548,086 ใบ คิดเป็นสัดส่วน 95.7% ส่วนกระทงจากโฟมมีทั้งสิ้น 24,516 ใบ คิดเป็น 4.3% แม้จะดูเป็น “ส่วนน้อย” แต่เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า (ปี 2564) แล้ว พบว่า มีการใช้กระทงจากโฟมเพิ่มขึ้นราว 0.8% โดยเขตที่มีการใช้วัสดุจากโฟมมากที่สุด ได้แก่ เขตประเวศ จำนวน 1,140 ใบ

อย่างไรก็ตาม สถิติการจัดเก็บกระทงอาจไม่ใช่ตัวเลขที่จะนำมาสนับสนุนได้ว่า คนไทยลอยกระทงเพิ่มขึ้นทุกปี เพราะข้อมูลการจัดเก็บกระทงเหล่านี้อาจอธิบายได้ว่า กทม. สามารถจัดเก็บขยะกระทงหลังลอยเสร็จได้เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นปัญหาหลักที่จะนำไปสู่ข้อมูลทางวิชาการจากผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์ทางทะเลที่มีการระบุว่า การจัดเก็บกระทงที่ไม่ครอบคลุมทำให้การลอยกระทงสร้างมลพิษทางน้ำ-ทำลายระบบนิเวศต่อปลาทะเล

  • ใบตอง-โฟม-ขนมปัง-ผัก ลอยแบบไหนก็ทำลายสิ่งแวดล้อม?

“ธนัสพงษ์ โภควนิช” อาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เริ่มต้นอธิบายว่า ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจลักษณะแหล่งน้ำที่มีทั้งแหล่งน้ำขัง แหล่งน้ำไหล และแหล่งน้ำรอการระบาย แต่ละแบบก็มีข้อจำกัดในการรับของเสียได้แตกต่างกัน สำหรับแม่น้ำเส้นหลักของไทย ได้แก่ แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำแม่กลอง แม่น้ำบางปะกง และแม่น้ำท่าจีน มีการไหลเวียนของน้ำค่อนข้างเร็ว ทำให้การจัดเก็บกระทงในแม่น้ำเหล่านี้ทำได้ค่อนข้างยาก อาจทำให้มีกระทงตกหล่นจากการจัดเก็บไปบ้าง ซึ่งประเด็นนี้คือเรื่องที่อันตรายที่สุดเพราะสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี คือมีกระทงถูกพัดไปติดตามชายฝั่งทะเล กลายเป็นขยะพิษต่อสัตว์น้ำในทะเลในท้ายที่สุด

หากถามว่า กระทงที่ย่อยสลายง่ายอย่าง “ผัก” หรือ “ขนมปัง” สร้างมลพิษน้อยกว่าโฟมหรือไม่ อาจารย์ระบุว่า เมื่อเทียบเคียงวัสดุยอดนิยมในการนำมาทำกระทงทั้งหมด “ขนมปัง” ยากต่อการจัดเก็บมากที่สุด ตามความเข้าใจของประชาชนทั่วไปอาจมองว่า ขนมปังเมื่อลอยในน้ำแล้วปลายทางจะเป็นอาหารปลาซึ่งไม่ใช่ปลาทุกชนิดที่จะชอบกินขนมปัง และเมื่อลอยน้ำไปสักพักขนมปังเหล่านี้อาจเปื่อยยุ่ยและจมลงสู่ก้นแม่น้ำก่อนที่ปลาจะกินด้วยซ้ำไป อาจารย์เปรียบเทียบว่า การลอยกระทงขนมปังลงแม่น้ำพร้อมกันหลายสิบ หลายร้อยใบ ไม่ต่างอะไรกับการทิ้งขยะลงแม่น้ำ มีแต่จะทำให้ปลาตาย แหล่งน้ำเน่าเสีย

‘กระทงขนมปัง’ ทำลายแแหล่งน้ำมากที่สุด กระทบปลาตาย-ระบบนิเวศเสียหาย

“Hypoxia” หรือภาวะพร่องออกซิเจน คือสิ่งที่เกิดขึ้นในแม่น้ำหลังมีการลอยกระทง เมื่อขนมปังหรือผักผลไม้ปริมาณมากเกินกว่าที่ปลาในแม่น้ำจะกินจมลงแม่น้ำพร้อมกัน เศษอาหารเหล่านี้จะค่อยๆ เน่าเสีย เปื่อยยุ่ย ทำให้ปริมาณออกซิเจนในแม่น้ำต่ำลง ไม่ใช่แค่ปลาที่ได้ผลกระทบ แต่บรรดาสัตว์น้ำชนิดอื่นๆ ที่ไม่สามารถขึ้นมาหายใจรับออกซิเจนบนผิวน้ำจะยิ่งได้รับผลกระทบหนัก ท้ายที่สุดคือทำให้ระบบนิเวศเสียหายจนยากจะรักษาให้กลับมาดีดังเดิมได้

  • ดีที่สุด คือการไม่ลอยอะไรเลย?

ไม่ใช่ปลาทุกชนิดที่ชอบกินขนมปัง “ธนัสพงษ์” ให้ข้อมูลว่า พันธุ์ปลาแบบกว้างๆ มี 3 ชนิด ได้แก่ ปลากินเนื้อ ปลากินพืช และปลาที่กินทั้งเนื้อและพืช หากเป็นชนิดปลากินพืช “ขนมปัง” จะเป็นอาหารจานโปรดของพวกมัน แต่ถ้าในแม่น้ำเป็นปลากินเนื้อ “ขนมปัง” ที่เราลอยไปก็ไม่ต่างอะไรกับขยะในแม่น้ำ และแน่นอนว่า ในแม่น้ำไม่ได้มีปลาเพียงชนิดใดชนิดหนึ่ง ร้ายที่สุดคือการที่แหล่งน้ำนั้นไม่มีปลากินพืชอยู่เลย ซึ่งพันธุ์ปลาส่วนใหญ่ในแม่น้ำที่เราคุ้นเคยอย่างปลาช่อน ปลาดุก ปลากระพง ล้วนเป็น “ปลากินเนื้อ” ทั้งสิ้น

ฉะนั้น หากถามว่า ลอยกระทงด้วยวัสดุแบบไหนจึงจะเป็นการทำลายสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุดคำตอบคงไม่ใช่ขนมปัง ผักผลไม้ หรือใบตอง แต่ต้องกลับไปที่ขั้นตอนการจัดเก็บกระทงว่า ทางเขตรับผิดชอบแต่ละจังหวัดมีการวางแผนการจัดเก็บกระทงเพื่อป้องกันกระทงทะลักสู่ชายฝั่งทะเลอย่างไรบ้าง ถ้าประเพณีนี้ยังดำเนินต่อไปด้วยเหตุและผลของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ-ดึงดูดนักท่องเที่ยว ก็คงต้องทบทวนถึงมาตรการป้องกันความเสียหายต่างๆ อย่างรอบด้านว่า เม็ดเงินจากเทศกาลที่หลั่งไหลเข้ามานั้นคุ้มค่ากับผลกระทบที่ตามมาหรือไม่

 

อ้างอิง: PR Bangkok 1PR Bangkok 2