Honeywell UOP มุ่งพัฒนาเทคฯเชื้อเพลิงการบิน เพื่อการขนส่งอย่างยั่งยืน

Honeywell UOP มุ่งพัฒนาเทคฯเชื้อเพลิงการบิน เพื่อการขนส่งอย่างยั่งยืน

Honeywell UOP ผู้สร้างเทคโนโลยีเพื่อพลังงานยั่งยืน มองในแง่ดีว่าเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน (เอสเอเอฟ) เป็นโอกาสของธุรกิจ บิรษัทจึงมุ่งเน้นพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการผลิตเชื้อเพลิงเอสเอเอฟ และเป็นพาร์ทเนอร์กับบางจาก ผลิตเชื้อเพลิงการบินยั่งยืนครั้งแรกในประเทศไทย

กลุ่มบริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) จัดงานสัมมนา Bangchak Group Greenovative Forum ครั้งที่ 13 “Regenerative Fuels: Sustainable Mobility” เมื่อวันที่ 23 พ.ย.2566 เพื่อนำเสนอแนวทางการขับเคลื่อนเชื้อเพลิงชีวภาพเพื่อลดการปล่อยก๊าซ

ไมเคิล สไปวี ผู้อำนวยการฝ่ายขายจาก Honeywell UOP เผยว่า ในฐานะผู้สร้างเทคโนโลยีเพื่อพลังงานยั่งยืน บริษัทมองในแง่ดีว่าเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน (เอสเอเอฟ) เป็นโอกาสของธุรกิจ และตลาดเชื้อเพลิงชนิดนี้จะเติบโตต่อไป จึงเป็นเหตุผลให้บริษัทพยายามสร้างเทคโนโลยีเพื่อให้พาร์ทเนอร์บรรลุเป้าหมายการใช้เชื้อเพลิงยั่งยืน

สไปวีเผยว่า ขณะนี้บริษัทให้ความสำคัญกับเชื้อเพลิงชีวภาพ และมองว่าเชื้อเพลิงเอทานอล ก็มีศักยภาพในการลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกเช่นกัน แม้พลังงานชนิดนี้ใช้กับน้ำมันเบนซินที่มีแนวโน้มลดลงในอนาคต และบั่นทอนโอกาสสร้างเชื้อเพลิงยั่งยืน แต่บริษัทเชื่อว่าการพัฒนาเทคโนโลยีจะเป็นตัวช่วยให้เกิดพลังงานยั่งยืนเพิ่มขึ้นได้ และยูโอพีมุ่งเน้นพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อให้กระบวนการผลิตพลังงานทุกประเภท ปล่อยก๊าซคาร์บอนน้อยที่สุด

ทั้งนี้ ยูโอพีมีใบอนุญาตด้านการผลิตเชื้อเพลิงหมุนเวียนกว่า 40 ใบ ใน 40 โครงการทั่วโลก ซึ่งในเอเชียมีโครงการราว 15 แห่งแล้ว และยินดีมากที่ได้เป็นพาร์ทเนอร์กับบางจากในการผลิตเชื้อเพลิงการบินยั่งยืนครั้งแรกในประเทศไทย

เทคโนโลยีผลิตเชื้อเพลิงเครื่องบินยั่งยืนที่น่าสนใจของยูโอพี อาทิ Ethanol to Jet และ efining หรือ Methanol to Jet ซึ่งเทคฯ efining จะเปลี่ยนเมทานอลให้เป็นโอเลฟินส์ จากนั้นนำไปผ่านกระบวนการโอลิโกเมอไรเซชันและไฮโดรจิเนชัน และนำไปใช้เป็น eSAF 

วัตถุดิบของการผลิตเชื้อเพลิงอีเอสเอเอฟนั้นมาจากพลังงานไฮโดรเจนสีเขียวหรือการดักจับคาร์บอนไดออกไซด์ก่อนปล่อยสู่อากาศ

ส่วนการเปลี่ยนเชื้อเพลิงชีวมวลให้เป็นเชื้อเพลิงหมุนเวียน บริษัทร่วมมือกับพาร์ทเนอร์ Alder สร้างเทคโนโลยีเพื่อให้กระบวนการผลิตปล่อยคาร์บอนน้อยที่สุด และนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงเอสเอเอฟได้