‘โลก - ผู้คน - ธุรกิจ’ อยู่ได้ คัมภีร์ความยั่งยืน ‘โอสถสภา’

‘โลก - ผู้คน - ธุรกิจ’ อยู่ได้  คัมภีร์ความยั่งยืน ‘โอสถสภา’

โอสถสภา มีเป้าหมายด้านพัฒนาอย่างยั่งยืน มุ่งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 70% ในปี 2030 ส่วนปี 2050 ต้องการเห็นองค์กรมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน(carbon neutrality) ก้าวสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์สุทธิหรือ Net Zero วิธีการเป็นอย่างไรติดตาม

การยืนหยัดเป็นองค์กรร้อยปีได้ ไม่ง่าย แต่ความยากยิ่งกว่าคือ การรักษาการเติบโตของธุรกิจ อาณาจักรเครื่องดื่มของเมืองไทยให้แกร่งอย่างยั่งยืน รายการ SUITS Sustainability เปลี่ยนโลกธุรกิจของ “กรุงเทพธุรกิจ” ชวนเจาะลึกเรื่องราว “โอสถสภา” จากร้านขายยาเล็กๆ เติบใหญ่จากรุ่นสู่รุ่น เปลี่ยนผ่านจากกิจการครอบครัวเป็นมหาชน และกำลังลุยภารกิจสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจอย่างยั่งยืน ซึ่งทุกย่างก้าวล้วนมีเรื่องราวน่าติดตาม

วรรณิภา ภักดีบุตร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โอสถสภา จำกัด (มหาชน) ย้อนตำนานการสร้างอาณาจักร “โอสถสภา” มาจาก “นายแป๊ะ แซ่ลิ้ม” เป็นผู้บุกเบิกบริหารธุรกิจยุคแรก เมื่อเดินทางจากจีนมายังประเทศไทย พร้อมกับสูตรสมุนไพรจีน ตำรับยา จึงเปิดร้านขายยาเล็กๆ ชื่อ “เต๊กเฮงหยู” ย่านทรงวาด หนึ่งในประวัติศาสตร์ที่จารึกเรื่องราวของ “นายแป๊ะ” คือ ในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 มีการซ้อมรบของกิจการเสือป่า และมีโรคปวดท้องเกิดขึ้น “นายแป๊ะ” จึงนำสูตรยาจีนโบราณ “ยากฤษณากลั่น” บรรเทาโรคปวดท้องแก่ทหารฝึกเสือป่าจนทุกอย่างผ่านไปด้วยดี จึงได้รับพระทานนามสกุล “โอสถานุเคราะห์” ซึ่งหมายถึงผู้มอบยาให้คนอื่น

ตระกูลโอสถานุเคราะห์ เคลื่อนธุรกิจจากรุ่นแรกนายแป๊ะ เมื่อทายาทรุ่น 2 “สวัสดิ์ โอสถานุเคราะห์” มีวิชาการแพทย์ติดตัว นำยาสมัยใหม่เข้ามา ที่ขึ้นชื่อคือ “ยาทัมใจ” การมีวิสัยทัศน์ในการทำตลาด “หนังขายยา” คือ ฉายหนังกลางแปลง และนำยาไปจำหน่ายให้ชาวไทยทั่วประเทศ การนำระบบ “ขายเชื่อ” มาใช้เป็นรายแรกๆ เพราะยุคนั้นยังไม่มีระบบธนาคาร ตลอดจนการทำวิทยุ สะท้อนยุคของการวางรากฐานให้แกร่งขึ้น

ยุคที่ 3 ลูกหลานเริ่มไปเรียนต่อต่างประเทศ ทำให้เกิดยุค “ต่อยอดธุรกิจ” หนึ่งในจุดเปลี่ยนสำคัญคือ “สุรัตน์ โอสถานุเคราะห์” ไปเรียนต่อต่างแดนเห็นเครื่องดื่มบำรุงกำลัง “ลิโพ” คนดื่มแล้วทำงานได้ขยันขันแข็ง จึงนำมาเปิดตลาดในไทย และยืนหนึ่งในตลาดจนถึงปัจจุบัน

การต่อยอดยังส่งถึงรุ่น 4 ผ่าน “เพชร-รัตน์ โอสถานุเคราะห์” โดยแตกไลน์สินค้าจากเครื่องดื่ม ไปยังหมวดใหม่ เช่น สินค้าเครื่องใช้ส่วนบุคคล(Personal care) การผลักดันธุรกิจครอบครัวเข้าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.)เป็นมหาชน เป็นต้น

“โอสถสภาเคลื่อนธุรกิจมากว่า 132 ปี สร้างความยั่งยืนได้ เพราะองค์กรมีการปรับตัว มีนวัตกรรมในการทำงาน และทรานส์ฟอร์มองค์กรเสมอ”

จากธุรกิจครัวสู่มหาชน โอสถสภายังเปิดทางให้ “มืออาชีพ” บริหารงานซึ่ง “วรรณิภา” ก้าวขึ้นเป็นแม่ทัพใหญ่เคลื่อนอาณาจักรหมื่นล้าน

การเจอ “ทายาท” คือ "เพชร โอสถานุเคราะห์” เจนเนอเรชั่น 4 ครั้งแรก สนทนาเรียบง่ายว่า…บริษัทโอสถสภามีการเติบโตดี มีประวัติศาสตร์ยาวนานน่าภาคภูมิใจ คุณเพชรอยากให้ทำอะไร

ใจความภารกิจสั้นมาก “คุณอ้นคิดว่าอะไรทำแล้วบริษัทเจริญ คุณอ้นก็ทำไปเถอะ ซึ่งจริงๆ แล้ววันนั้นรู้สึกแปลกใจ แต่ก็เป็นเกียรติที่ได้รับมอบหมายงานนี้”

Breif ง่ายแต่ Powerful “เรารู้ว่าบริษัทต้องเติบโต ย้อนกลับไป..เป็นบรีฟที่ง่าย เหมือนกับอะไรสำคัญ อะไรจำเป็น อะไรเจริญก็ทำไปเถอะ และกลายเป็นสิ่งที่ยึดถือมาจนทุกวันนี้ อะไรที่บริษัทเจริญ เราควรจะทำ”

คัมภีร์สร้างการเจริญ และเติบโตด้าน “สินค้า” อดีต “ลิโพ” นำร่องทำตลาด เมื่อมีคู่แข่งออกสูตรชูรสชาติเป็นจุดขาย แต่ลิโพมีความเป็นยา จึงหารือพันธมิตรปรับสูตร เมื่อแบรนด์ต้องการรักษาอัตลักษณ์ไว้ จึงเปิดทางให้ “โอสถสภา” สร้างสินค้าใหม่ จึงเห็นเครื่องดื่มชูกำลังแบรนด์ “เอ็ม-150” มาตอบโจทย์ผู้บริโภค ตลอดหลายปีที่ทำตลาด สินค้าไม่หยุดนิ่ง มีการปรับเปลี่ยนหลายอย่างทั้งการตลาด จากสปอร์ตมาร์เก็ตติ้ง มาสู่มิวสิก มาร์เก็ตติ้ง จนล่าสุดใช้ “ไอดอล มาร์เก็ตติ้ง” ดึง 5 คนดังมาเป็นพรีเซ็นเตอร์ เจาะทุกกลุ่มเป้าหมาย

“เอ็ม-150 มีวิวัฒนาการหลายด้าน จนทำให้แบรนด์เป็นผู้นำตลาดเครื่องดื่มชูกำลัง”

เทรนด์ผู้บริโภครักสุขภาพ “เอ็ม-150” ยังลดปริมาณน้ำตาล ตอบสนองกลุ่มเป้าหมาย และขานรับมาตรการภาษีความหวาน นอกจากนี้ “ความยั่งยืน” เป็นหัวใจสำคัญในการทำธุรกิจ “เอ็ม-150” ยังปรับเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์ขวดแก้วเหลี่ยมมาเป็นแบบกลม และขวดแก้วบางกว่าเดิม แต่คงความแข็งแรง นวัตกรรมการผลิตดังกล่าว ทำให้ลดการใช้พลังงานทั้งผลิตขวดแก้ว และต้นทุนค่าขนส่ง เพราะน้ำหนักเบาขึ้น เป็นต้น

การทำธุรกิจอย่างยั่งยืน “โอสถสภา” เริ่มที่ “บุคลากร”กว่า 3,000 ชีวิต ในองค์กรให้เรียนรู้ เข้าใจ และตระหนักถึง “ผู้อื่น” สังคม ทำไมต้องมุ่งสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสิ่งแวดล้อม ฯ สิ่งนี้ยังคง Educated ทุกปี เพื่อให้ “มีใจ” มุ่งสู่เป้าหมายเดียวกัน

“Motto ของโอสถสภาคือ พลังเพื่อเสริมสร้างชีวิต(The Power to Enhance Life) เราทำผ่านสินค้า นวัตกรรม กิจการเพื่อสังคม การทำให้คุณภาพชีวิตผู้คนดีขึ้น เมื่อมุ่งสู่ความยั่งยืน เราหาแนวทางในการทำให้เศรษฐกิจ สังคม ชุมชน โลกเติบโตยั่งยืนมาอยู่ในวิชั่นของเรา”

วรรณิภา เชื่อว่า การดำเนินธุรกิจยุคนี้เดินสู่การเติบโตลำพังไม่ได้ ต้องไปทั้งองคาพยพทุกผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย(Stakeholders)

“โลกอยู่ได้ คนอยู่ได้ ธุรกิจก็อยู่ได้ เราจึงตั้งเป้าหมายให้องค์กรในแต่ละด้านทั้งเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อมว่าจะเป็นอย่างไร”

โอสถสภา บรรจุความยั่งยืนอยู่ในแผนธุรกิจ สิ่งที่ดำเนินการแล้วมีหลายด้าน เช่น การผลิตขวดแก้วเครื่องดื่มชูกำลังให้บางลง แต่คงคุณภาพความแข็งแรง การผสานบริษัทในเครือรับซื้อเศษแก้วนำกลับมาใช้ในกระบวนการผลิตใหม่รับเศรษฐกิจหมุนเวียน(Circular Economy) พนักงานคิดค้นนวัตกรรมการผลิตฝาเครื่องดื่มชูกำลังให้บางลง

นอกจากนี้ ยังมองหาพลังงานสะอาดมาใช้ในกระบวนการผลิตสินค้า การหาเทคโนโลยีการผลิตช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์(ก๊าซเรือนกระจก) การใช้น้ำให้มีประสิทธิภาพ เป็นต้น

“เราคิดต่อยอดกันเรื่อยๆ ทำให้สินค้ายังคงสร้างยอดขายเติบโตได้ แต่ลดภาระลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมด้วย”

สำหรับเป้าหมายด้านความยั่งยืน ในปี 2030 ต้องการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 70% ส่วนบางที่ยังทำไม่ได้จะหาคาร์บอนเครดิตมาชดเชย ปี 2050 ต้องการเห็นองค์กรมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน(carbon neutrality) จากนั้นก้าวสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์สุทธิหรือ Net Zero

“โอสถสภาเป็นองค์กรที่อยู่มา 132 ปี การจะอยู่ต่ออีกร้อยปี เราต้องมีการพัฒนา สร้างการเติบโตควบคู่กับการเปลี่ยนแปลง และความไม่แน่นอนในโลก แต่ที่แน่ๆ เราจะเป็นหนึ่งในองค์กรที่ช่วยแก้ปัญหาภาวะโลกร้อน ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนให้น้อยสุด เพราะภารกิจของเรายังต้องการส่งมอบผลิตภัณฑ์ และโลกดีๆ ให้ลูกหลานเราในเจเนอเรชั่นต่อไป”

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์