'ปลูกข้าวยั่งยืน' กุญแจสำคัญ ลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม

'ปลูกข้าวยั่งยืน' กุญแจสำคัญ ลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม

TEEB หนุนไทยนำร่องที่แรกของเอเชีย วิจัยการปลูกข้าวยั่งยืน มอบ มข.ศึกษา พบดีกว่าปลูกแบบเดิมทุกมิติ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ลดต้นทุนการผลิต กำไรต่อไร่เพิ่มและสุขภาพดี คณะวิจัยฯ หวังต่อยอดดันสู่นโยบายภาครัฐ สร้างการเปลี่ยนแปลงการผลิตภาคเกษตรไทย

Key Point :

  • ‘ข้าว’ เป็นอาหารหลักของประชากรมากกว่า 3.5 พันล้านคนในโลก หรือกว่า 50% ของประชากรโลก
  • การปลูกข้าว ก่อให้เกิดก๊าซมีเทน ซึ่งมีความรุนแรงต่อสภาพอากาศมากกว่าคาร์บอนไดออกไซด์ 28 เท่า
  • เป็นที่มาของ โครงการ 'ข้าวยั่งยืน เพื่อชีวิตและธรรมชาติ' ปักธง ขอนแก่น และร้อยเอ็ด ครอบคลุม 50 หมู่บ้าน ภายใน 1 ปี เพื่อลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม ยกระดับเกษตรกรไทย

 

ขณะนี้โลกกำลังเจอคลื่น 3 ลูก คือ โควิด-19 , เศรษฐกิจถดถอย และ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งส่งผลกระทบ และจำเป็นต้องควบคุมอุณภูมิของโลก 1.5-2 องศา ขณะเดียวกัน การปลูกข้าว มีสิ่งที่หลุดรอด คือ มีเทน ซึ่งส่งผลกระทบต่อ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ว่ากันว่าในปี 2030 ภาคการเกษตรต้องลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 1 ล้านตันคาร์บอน หากเราปรับวิธีการปลูกข้าว จะเป็นกุญแจสำคัญที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพราะมีเทนมีความรุนแรงต่อสภาพอากาศมากกว่าคาร์บอนไดออกไซด์ 28 เท่า หากลดได้จะเป็นหนึ่งหนทางในการช่วยโลก


‘ข้าว’ เป็นอาหารหลักของประชากรมากกว่า 3.5 พันล้านคนในโลก หรือกว่า 50% ของประชากรโลก การปลูกข้าวเป็นอาชีพที่สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรรายย่อยมากกว่า 150 ล้านครัวเรือนทั่วโลก ที่ดำรงชีวิตด้วยการเพาะปลูกข้าว โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชีย และอาเซียน ในไทยราวเกือบ 5 ล้านครัวเรือน เพาะปลูกข้าว 

 

\'ปลูกข้าวยั่งยืน\' กุญแจสำคัญ ลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

 

 

การผลิตและบริโภคข้าวแต่ละปีทั่วโลก 520 ล้านตันข้าวสาร ขณะที่ไทยผลิตได้ 20 ล้านตันข้าวสาร เรียกว่าผลิตได้ไม่ถึง 5% ของผลผลิตโลก แต่เมื่อดูตัวเลขการส่งออก แต่เดิมไทยอยู่อันดับ 1 ของโลก ขณะที่ปัจจุบัน อยู่ที่อันดับ 3 รองจาก อินเดีย และเวียดนาม เศรษฐกิจของการเกษตรไทยอยู่กับข้าว ซึ่งผลิตได้กว่า 20 ล้านตัน กว่าครึ่งเป็นการส่งออก และอีกครึ่งหนึ่งบริโภคภายในประเทศ

 

เกษตร อาหารปลอดภัย ไม่เพียงพอ

พิศาล พงศาพิชณ์ เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ กล่าวปาฐกถาเรื่อง แนวโน้มมาตรฐานข้าวโลก สู่ทิศทางมาตรฐานข้าวไทย การผลิตข้าวเพื่อให้เราดูแลโลก ภายในการประชุมนำเสนอผลงานวิจัย โครงการ The Economics of Ecosystems and Biodiversity (TEEB) Implementation: Promoting a Sustainable Agriculture and Food Sector โดยระบุว่า การผลิตยั่งยืนจะนำไปสู่ความเป็นอยู่ สิ่งแวดล้อม และโลก

 

ที่ผ่านมา การผลิตทางการเกษตร อาจจะมุ่งเน้นการผลิตอย่างไรให้ได้ผลผลิตที่สูงสุด การผลิตอาหาร ก็มุ่งไปยังความปลอดภัยซึ่งยังต้องทำอยู่ แต่หลายปีที่ผ่านมา มีการมองว่า ไม่เพียงแค่การผลิตทางการเกษตรที่ปลอดภัยเท่านั้น แต่ต้องมองเรื่องสิ่งแวดล้อม ความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งที่ผ่านมาเราอาจจะมองว่าเป็นเรื่องไกลตัว แต่สิ่งที่ไกลตัว กลับใกล้เข้ามาอย่างรวดเร็วในช่วงเวลา 2 ปีที่ผ่านมา

 

ตอนนี้หลายประเทศที่ต้องค้าขายด้วยโดยเฉพาะยุโรป สหรัฐ เริ่มออกกฎระเบียบต่างๆ และเหล่านี้มีผลในช่วง 1-2 ปี ดังนั้น สิ่งที่ไกลตัวเริ่มใกล้ตัวเข้ามา หากไม่ปรับตัว 4-5 ปีข้างหน้าเราจะขายผลิตผลทางการเกษตรไม่ได้ เช่น CBAM ที่ทางยุโรปออกมาจะมีผล 1-2 ปีข้างหน้านี้ แม้ระยะแรกจะเน้นในอุตสาหกรรมใหญ่ แต่ในระยะถัดไปคาดว่าจะครอบคลุมการเกษตร

 

\'ปลูกข้าวยั่งยืน\' กุญแจสำคัญ ลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม

 

 

การปล่อยก๊าซเรือนกระจก จากนาข้าว

‘นาข้าว’ ปล่อยก๊าซเรือนกระจกราว 10% ของทั้งหมดทั่วโลก ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คิดเป็น 25-33% ขณะที่ เป้าหมายของไทยในปี 2030 คือ การลดก๊าซเรือนกระจก 40% ภาคการเกษตรต้องขยับตัว และปี 2050 สู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน และปี 2065 สู่ Net Zero ขณะที่ นโยบายของรัฐบาลปัจจุบันคือ ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้ สู่การยกระดับการเกษตรให้เป็น Soft Power เพื่อพลิกฟื้นภาคการเกษตรไทย

 

“ความท้าทายคือ การเปลี่ยนเกษตรกรจากการปลูกข้าวแบบเดิมมาสู่ข้าวยั่งยืน ต้องสร้างความรู้และจูงใจ ต้องมีกลไกด้านตลาด และราคา ถัดมาคือ การสร้างผู้ตรวจประเมินที่สามารถให้การตรวจรับรองตามมาตรฐานข้าวยั่งยืน เพื่อเพิ่มจำนวนข้าวยั่งยืนที่ผ่านการรับรอง และสร้าง เปิดตลาด ทั้งในและต่างประเทศ เพื่อให้เกษตรกรมีช่องทางการจำหน่ายสินค้าข้าวยั่งยืน"

 

โครงการข้าวยั่งยืน เพื่อชีวิตและธรรมชาติ

ที่ผ่านมา คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมกับ United Nations Environment Programme และสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จัดงานประชุมเสวนาพร้อมเผยผลการศึกษา เรื่อง 'ข้าวยั่งยืน เพื่อชีวิตและธรรมชาติ' ภายใต้โครงการ The Economics of Ecosystems and Biodiversity (TEEB)

 

รศ.ดร.ภูมิสิทธิ์ มหาสุวีระชัย คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) และ หัวหน้าคณะศึกษาโครงการประเมินค่าของระบบนิเวศ และความหลากหลายทางชีวภาพในการพัฒนาระบบผลิตข้าวในประเทศไทย กล่าวว่า งานวิจัยดังกล่าว อยู่ภายใต้การขับคลื่อนโครงการ The Economics of Ecosystems and Biodiversity (TEEB) For Agriculture and food หรือ TEEB AgriFood ประเทศไทย ได้รับทุนสนับสนุนจากองค์กรสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) และ EU Partnership Instrument (EUPI) โดยพิจารณาประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และผลกระทบที่มีต่อทุนมนุษย์และทุนทางสังคม

 

ครอบคลุมทั้งห่วงโซ่คุณค่าของข้าวไทย โดยอาศัยกรอบการประเมินตามแนวทางของ TEEBAgriFood ซึ่งมีตัวชี้วัดที่สอดคล้องกับแนวคิดเป้าหมายในการพัฒนาอย่างยั่งยืน และผลการศึกษายังสามารถช่วยเป็นข้อมูลสำหรับการตัดสินใจเชิงนโยบายในการส่งเสริมรูปแบบเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน (Bio Circular Green economy model) ซึ่งเป็นกรอบสำคัญในการพัฒนาประเทศ และเนื่องจากประเทศไทยเป็นแหล่งผลิตอาหารด้านการเกษตรของโลก

 

จึงได้รับเลือกเป็นประเทศนำร่อง โดยเป็นตัวแทนของทวีปเอเชียในการศึกษาเรื่องดังกล่าว คณะผู้จัดทำคาดหวังผลการศึกษาจะนำไปสู่การผลักดันนโยบายให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในภาคการผลิตด้านการเกษตร โดยเฉพาะเปลี่ยนจากการผลิตข้าวแบบทั่วไปสู่การผลิตข้าวแบบยั่งยืน

 

“โครงการมองผลของการปลูกข้าวในภาพใหญ่ ความกินดีอยู่ดีของเกษตรกร สิ่งแวดล้อมและความมั่นคงด้านอาหาร การผลิตข้าวกระทบทั้งหมด เช่น ความหลากหลายทางชีวภาพในนาข้าว เมื่อปลูกข้าวแตกต่างกัน นำไปสู่ผลลัพธ์แตกต่างกัน ไม่ว่าจะเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม มนุษย์”

 

\'ปลูกข้าวยั่งยืน\' กุญแจสำคัญ ลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม

 

ทั้งนี้ การปลูกข้าวแบบดั้งเดิม พบว่า ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง สวนทางกับเทรนด์ผลผลิตข้าวกำลังอยู่ในช่วงขาลง ผลผลิตต่อไร่อยู่ในช่วงขาลง เกษตรกรได้รับผลกระทบ ต้นทุนเพิ่ม ผลผลิตต่อไร่ลด ราคาคุมไม่ได้เพราะขึ้นอยู่กับตลาดโลก กำไรลดลง ซึ่งเริ่มเกิดมาเป็น 10 ปี สะท้อนหนี้สินครัวเรือนภาคการเกษตร 3-4 แสนบาทต่อครัวเรือน

 

นอกจากนี้ ผลกระทบต่อการใช้สารเคมี อาจนำไปสู่การเจ็บป่วยในระยะยาว เป็นต้นทุนที่ระยะสั้นอาจจะไม่มีใครคิดถึง แต่ระยะยาวมาแน่ๆ รวมถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เรื่อง PM2.5 เพราะมีการเผา การปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งข้าวปล่อยมีเทนเยอะที่สุด

 

แนวทางการผลิตข้าวยั่งยืน

รศ.ดร.ภูมิสิทธิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า แนวทางการผลิตข้าวแบบยั่งยืนนั้น ข้าวต้องมีคุณภาพมีความปลอดภัยในอาหาร ปกป้องสุขภาพและคุ้มครองความปลอดภัยของเกษตรกรผู้ปลูก ผู้ปฏิบัติรวมถึงชุมชน และต้องเพิ่มผลผลิต ลดต้นทุน เพิ่มรายได้ จากการใช้เทคโนโลยีการผลิตและการจัดการที่เพิ่มประสิทธิภาพ ใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า

 

ทั้งนี้ ในการศึกษาวิจัย ใช้การสร้างฉากทัศน์จำลองการเปลี่ยนแปลงสัดส่วนพื้นที่ปลูกข้าวแบบทั่วไปและการปลูกข้าวแบบยั่งยืน ระยะเวลา 28 ปี เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ.2565 - พ.ศ.2593 โดยจะเพิ่มสัดส่วนพื้นที่ปลูกข้าวแบบยั่งยืน ใน 4 กรณี คือ

1.) ปกติ

2.) ปานกลาง

3.) ค่อนข้างสูง

4.) อัตราสูง

 

จากการศึกษาทั้ง 4 กรณีสันนิษฐานได้ว่า ในปี พ.ศ.2593 พื้นที่ผลิตข้าวทั้งหมดของประเทศ จะมีพื้นที่ปลูกข้าวแบบยั่งยืนเพิ่มสูงถึง 4 ล้านไร่ 9,600,000 ไร่ 29,200,000 ไร่ และ 43,700,000 ไร่ ตามลำดับ

 

นอกจากนี้ คณะผู้วิจัยได้เลือกสุ่มสำรวจครัวเรือนเกษตรกรในพื้นที่ปลูกข้าวภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคกลาง เนื่องจากเป็นพื้นที่ปลูกข้าวรวมมากกว่า 80% ของพื้นที่ปลูกข้าวทั้งประเทศ และมีผลผลิตรวมกันมากกว่า 80% โดยเป็นพื้นที่รับน้ำฝน และพื้นที่ในเขตชลประทาน ผลการศึกษาพบว่า การปลูกข้าวแบบยั่งยืน ให้ผลที่ดีกว่าในทุกมิติ ทั้งด้านสิ่งแวดล้อม ด้านเศรษฐกิจ และผลกระทบที่มีต่อทุนมนุษย์และทุนทางสังคม ครอบคลุมทั้งห่วงโซ่คุณค่าของข้าวไทย

 

โดยผลที่คาดว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงในทุนมนุษย์ ได้แก่ การมีสุขภาพดีขึ้น เนื่องจากการใช้สารเคมีทางการเกษตรลดลง ทำให้ต้นทุนลดลงไปด้วย ขณะเดียวกันผลผลิตกลับเพิ่มขึ้น จึงสร้างผลกำไรต่อไร่เพิ่มขึ้นด้วย นอกจากนั้นการไม่เผาหลังการเก็บเกี่ยวช่วยลด PM2.5 ทำให้ความเสี่ยงด้านสุขภาพของคนไทยลดลงด้วย ส่วนการเปลี่ยนแปลงในทุนธรรมชาติ อาทิ การส่งเสริมความหลากหลายทางชีวภาพ การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมจากมลพิษทางอากาศซึ่งเกิดจากการเผาหลังการเก็บเกี่ยว การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำ และส่งเสริมคุณภาพน้ำ เป็นต้น

 

“การปลูกข้าวยั่งยืนไม่เพียงสร้างประโยชน์สาธารณะเป็นหลัก แต่ยังมีส่วนช่วยกระจายผลประโยชน์ในระดับสูงให้กับเกษตรกร โดยหลักๆ ผ่านการปรับปรุงผลผลิตข้าว ลดต้นทุนการเพาะปลูกส่งผลให้มีกำไรมากขึ้น ซึ่งกำไรจากการปลูกข้าวจะเป็นหนึ่งในปัจจัยหลักที่อาจจูงใจให้เกษตรหันมาใช้วิธีการปลูกข้าวยั่งยืนได้”

 

\'ปลูกข้าวยั่งยืน\' กุญแจสำคัญ ลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม

 

ทั้งนี้ การปลูกข้าวแบบยั่งยืน ยังเป็นเรื่องใหม่สำหรับเกษตรกรไทย ซึ่งหลังจากนี้ ผลที่ได้จากการวิจัยจะนำไปสร้างแรงจูงใจให้เกษตรกรหันมาปลูกข้าวแบบยั่งยืนมากขึ้น โดยแนวทางจากการรับประกันความเสี่ยงเรื่องรายได้ ซึ่งจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้เร็วขึ้น รวมไปถึงการส่งเสริมเจ้าหน้าที่ให้เข้าไปแนะนำเกษตรกร เราต้องสร้าง ecosystem ให้ดี โดยหน่วยงานรัฐเข้ามาร่วมกันบูรณาการ เช่น กรมการข้าว กรมพัฒนาที่ดิน ธ.ก.ส. และอื่นๆ มาร่วมสร้างเป็น prototype

 

ปักธง 2 จังหวัด 50 หมู่บ้านภายใน 1 ปี

ที่ผ่านมา โครงการดังกล่าวได้มีการสร้างแปลงทดลองใน จ.อุบลราชธานี และเบื้องต้นในฤดูกาลเพาะปลูกปีหน้า มีแผนจะให้มีการปลูกข้าวแบบยั่งยืน ใน 2 จังหวัด คือ ขอนแก่น และร้อยเอ็ด จังหวัดละ 20 หมู่บ้าน และจะขยายให้ถึง 50 หมู่บ้าน ภายใน 1 ปี พร้อมเพิ่มจำนวนเกษตรกรปลูกข้าวยั่งยืนในแต่ละหมู่บ้านด้วย โดยให้หน่วยงานรัฐสามารถมา Plug-in ได้ เมื่อทุกอย่างสมบูรณ์แล้วเราจะขยายพื้นที่เพาะปลูกข้าวยั่งยืนให้ได้ทั้งจังหวัด ภายใน 5 ปี หลังจากนั้น โมเดลนี้จะสามารถนำไปใช้ได้กับทุกจังหวัดในประเทศไทย โดยปรับเปลี่ยนให้เข้ากับบริบทของแต่ละพื้นที่ ดังนั้น “ถ้าสร้างตรงนี้ให้เห็นได้ชัด มันจะเกิดโมเมนตัมได้เร็วขึ้น” รศ.ดร.ภูมิสิทธิ์ กล่าว

 

แก้ปัญหา Climate Change ด้วยการฟื้นความหลากหลาย

ด้าน จิรวัฒน์ ระติสุนทร รองเลขาธิการสำนักงานนโยบาย และแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า การปลูกข้าวด้วยวิธีเดิม ใช้ปุ๋ยเท่าเดิม จะปลดปล่อยไนโตรเจน ฟอสฟอรัสลงสู่ทะเล ส่งผลทำให้โลกเสื่อมลง อีกทั้ง ปัญหา PM2.5 ดังนั้น ข้าวยั่งยืนจะช่วยลดการปล่อยสารเคมีลงสู่ทะเล และลดการฟุ้งกระจายอานุภาพเล็กสู่ชั้นบรรยากาศ

 

ขณะเดียวกัน คลื่นที่กำลังจะซัดใส่เราคือ การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ เพราะการใช้สารกำจัดศัตรูพืช กระทบต่อแมลงชั้นดี และสัตว์ขนาดเล็กสูญสลายไปด้วย เป็นเหตุผลสำคัญว่าทำไมต้องเปลี่ยนจากการปลูกข้าวธรรมดาสู่การปลูกข้าวยั่งยืน

 

“สิ่งที่คาดหวังคือ มายเซ็ต และการเปลี่ยนแปลงอย่างเฉียบพลัน ต้องเข้าใจว่าทำไมต้องเปลี่ยน รวมถึง การมีส่วนร่วม เพราะทุกคนเป็นกำลังสำคัญ เป็นตัวเร่งในการเปลี่ยนการปลูกข้าวแบบเดิม สิ่งที่จะทำไม่ได้ทำเพื่อตัวเอง แต่ทำเพื่ออนาคตของลูกหลานเรา ปี 2030 หากเราไม่บรรลุเป้า จะเป็นทศวรรษของการชี้ชะตาของโลก และสุดท้าย ในการทำงานในอนาคต ทุกคนรู้ว่า Climate Change รุนแรง ดังนั้น การแก้ปัญหาคือ ต้องมีความหลากหลายทางชีวภาพที่ดีเพียงพอ ที่จะดูดซับ และลดการปลดปล่อย” จิรวัฒน์ กล่าว

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์