วันอาหารโลกปีนี้ไม่สดใส มีการแย่งชิงน้ำจืดมากขึ้นในเอเชียแปซิฟิก

วันอาหารโลกปีนี้ไม่สดใส มีการแย่งชิงน้ำจืดมากขึ้นในเอเชียแปซิฟิก

ประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ว่าประชากรหลายล้านคนในภูมิภาคมีแนวโน้มประสบปัญหาในการเข้าถึงอาหารที่มีราคาเหมาะสม และปริมาณที่เพียงพอ เพราะการแย่งชิงเพื่อเข้าถึงทรัพยากรน้ำจืดทวีความรุนแรงขึ้น

      ทำให้เกิดผลกระทบอย่างมากต่อภาคเกษตรกรรม ผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารจัดการแหล่งน้ำแสดงความกังวลดังกล่าวระหว่างการเฉลิมฉลองวันอาหารโลก ประจำปี 2566 สำหรับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ซึ่งจัดขึ้นโดยองค์การอาหารและเกษตรกรรมแห่งสหประชาชาติ (FAO) ในกรุงเทพฯ 

ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ภาคเกษตรกรรมใช้น้ำประมาณ 90% ซึ่งสูงกว่าอย่างมากเมื่อเทียบกับภาคการเกษตรกรรมทั่วโลกที่มีการใช้น้ำจืดโดยเฉลี่ย 75% ของปริมาณน้ำจืดทั้งหมด โดยที่ 3 ใน 4 ของแหล่งน้ำจืดในภูมิภาคมีความไม่แน่นอน ทำให้ประชากรมากกว่า 90% ของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกมีความเสี่ยงสูงที่จะเผชิญวิกฤติการเข้าถึงน้ำ

ความต้องการน้ำในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมีในแนวโน้มสูงขึ้น เนื่องจากประชากรมีจำนวนเพิ่มขึ้น การเติบโตของเศรษฐกิจ การขยายตัวของเมือง และการบริโภคผลิตภัณฑ์เกษตรที่ต้องพึ่งพาน้ำจำนวนมาก ในขณะที่น้ำจืดกำลังมีปริมาณลดลง อีกทั้งมลพิษของน้ำมีความรุนแรงขึ้นอย่างมาก และภาวะโลกร้อนกำลังส่งผลต่อแหล่งน้ำจืด

ภาวะโลกร้อนส่งผลกระทบทั้งในด้านการเกิดขึ้นของแหล่งน้ำ คุณภาพ และเข้าถึงแหล่งทรัพยากรน้ำจืด นอกจากนั้นภาวะฝนตกรุนแรง น้ำท่วม ความแห้งแล้ง และการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลกำลังเป็นภัยคุกคามต่อความั่นคงของแหล่งน้ำจืดในภูมิภาค และความปลอดภัยสำหรับใช้ดื่ม สุขอนามัย และการผลิตอาหารต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วนเพื่อป้องกันปัญหาในอนาคต

นายจอง จิน คิม (Mr. Jong-Jin Kim) ผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกของ FAO กล่าวระหว่างการเปิดงานวันอาหารโลกว่า “เราต่างตระหนักดีว่า การสร้างความมั่นคงให้กับการใช้ และการเข้าถึงทรัพยากรน้ำจืดอันล้ำค่าอย่างยั่งยืนนั้นสำคัญต่อภาพรวมของการบรรลุเป้าหมายวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ.2030” 

“น่าเสียดายว่าเรายังห่างไกลจากเป้าหมายมาก การขาดแคลนน้ำกำลังรุนแรงขึ้นอย่างน่าตกใจ ตามการคาดการณ์ของเรา ความต้องการใช้น้ำจืดจะสูงเกินปริมาณประมาณ 40% ภายในปี พ.ศ.2073  ดังนั้นการบริหารจัดการการขาดแคลนน้ำโดยทำให้การบริโภค และการใช้ทรัพยากรน้ำเป็นไปอย่างยั่งยืนจะเป็นความท้าทายที่สำคัญสูงสุดในศตวรรษที่ 21 นี้”

ทรัพยากรน้ำใต้ดินซึ่งเกษตรกรจำนวนมากต้องพึ่งพาถูกใช้งานเกินพอดี และปนเปื้อน ในขณะที่รูปแบบของฝนตกมีความแปรปรวน สร้างความไม่แน่นอนเพิ่มขึ้นให้กับการวางแผนชลประทาน ท้ายที่สุดเกษตรกรจึงต้องการความสนับสนุน และเครื่องมือที่เหมาะสม เพื่อสามารถเป็นตัวแทนผลักดันการบริหารจัดการน้ำที่ยั่งยืน และทนทานต่อสภาพอากาศ ทั้งนี้ผู้วางนโยบาย ภาคประชาสังคม ภาคเอกชน และผู้บริโภคต่างก็มีบทบาทสำคัญในการบรรเทาความไม่สมดุลระหว่างปริมาณ และการใช้น้ำจืดด้วยเช่นกัน

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินยังพิธีเปิดงานวันอาหารโลกประจำปี 2566 ในฐานะทูตสันถวไมตรีของ FAO และทรงเรียกร้องให้มีการดำเนินงานที่แข็งขันขึ้นเพื่อป้องกันภัยคุกคามจากภาวะขาดแคลนน้ำ และสร้างระบบบริหารจัดการน้ำที่ดีขึ้นทั่วภูมิภาค

ทรงมีพระราชดำรัสตอนหนึ่งว่า “ประชากรเกือบ 2,500 ล้านคน อาศัยอยู่ในประเทศที่มีความตึงเครียดในด้านน้ำอยู่ในขณะนี้ การแย่งชิงทรัพยากรอันหาค่ามิได้นี้สร้างปัญหาที่เด่นชัด เนื่องจากน้ำจืดลดน้อยลง แต่ความจำเป็นในการผลิตอาหารกลับมากขึ้นเพื่อป้อนประชากรในภูมิภาคที่กำลังเติบโต”

“ข้าพเจ้าขอเรียกร้องให้เร่งดำเนินการในด้านนี้ เราจะต้องไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เราต้องเริ่มปรับปรุงการบริหารจัดการน้ำ และจัดสรรน้ำที่เรามีอย่างชาญฉลาด เราต้องผลิตอาหารให้ได้มากขึ้นโดยใช้น้ำน้อยลง และเราต้องทำให้มีการกระจายน้ำอย่างเท่าเทียมเพื่อที่ทุกคนจะได้มีน้ำใช้อย่างยั่งยืน” 

 ทั้งนี้ผู้เชี่ยวชาญด้านน้ำจากทั่วภูมิภาคได้แสดงความคิดเห็นในงานวันอาหารโลกเอเชียแปซิฟิกครั้งนี้ด้วย  หนึ่งในผู้ร่วมเวทีบรรยายได้แก่ นาย Dipak Gyawali อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรน้ำแห่งเนปาล และประธานมูลนิธิอนุรักษ์น้ำแห่งเนปาล

“ภาวะโลกร้อนได้เพิ่มความท้าทายให้ความเกี่ยวโยงกันระหว่างน้ำ พลังงาน และอาหารที่มีความซับซ้อนมากอยู่แล้ว แนวทางการพัฒนาที่มุ่งเป้าหมายเดียวมักสร้างผลกระทบที่เป็นลบ และผลักภาระให้ภาคอื่นๆ ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาโดยรวม หน่วยงานทั้งในระดับประเทศ และระดับนานาชาติที่มุ่งหวังจะแก้ปัญหาที่ยากเย็นนี้ให้สำเร็จจึงต้องดำเนินนโยบายโดยคำนึงถึงกลุ่มทางสังคมที่ทำงานอย่างโดดเดี่ยว หรือกำลังทำงานอย่างหนัก และเปิดให้กลุ่มเหล่านั้นมีส่วนร่วมอย่างสร้างสรรค์ และแสดงความคิดเห็นด้านนโยบาย” 

 

นายคิม กล่าวว่า “องค์การอาหารและเกษตรกรรมแห่งสหประชาชาติมีบทบาทอย่างโดดเด่นในการนำเสนอ ทางออกเพื่อรับมือกับความท้าทายที่เกี่ยวข้องการขาดแคลนน้ำ และภัยพิบัติด้านน้ำเหล่านี้ ซึ่งรวมถึงภัยแล้งและน้ำท่วม ซึ่งในหลายๆ กรณีส่งผลกระทบต่อครอบครัวของเกษตรกรอย่างหนักหน่วงกว่าภาคอื่นๆ”

หนึ่งในโครงการกำลังดำเนินการในภูมิภาคนี้ ได้แก่ Water Scarcity Programme  ซึ่งมีเป้าหมายจำกัดการใช้น้ำให้อยู่ในขอบเขตของความยั่งยืน และเตรียมให้ประเทศในภูมิภาคมีความพร้อมสำหรับการพัฒนาในอนาคตโดยที่มีการใช้น้ำน้อยลง โครงการนี้ดำเนินไปโดยได้รับความร่วมมือจากพันธมิตร และกำลังมอบความช่วยเหลือแก่ประเทศในภูมิภาคให้บริหารจัดการน้ำบนพื้นฐานของข้อเท็จจริง ให้สอดคล้องกับภาวะขาดแคลนน้ำที่กำลังรุนแรงขึ้น นอกจากนี้ FAO ยังได้ก่อตั้งแพลตฟอร์มสำหรับความร่วมมือในระดับภูมิภาค เพื่อช่วยให้ประเทศต่างๆ ได้ร่วมแบ่งปันแนวทางในการแก้ปัญหา ความรู้ และประสบการณ์

ทั้งนี้ในปัจจุบันประชากรกว่า 780 ล้านคน ต้องพึ่งพาแม่น้ำที่ไหลผ่านหลายเขตแดนในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โครงการ Transboundary Water Programme ของ FAO กำลังช่วยให้ประเทศต่างๆ พัฒนาความร่วมมือข้ามพรมแดนเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำที่ใช้ร่วมกันในภูมิภาค โดยเสริมสร้างศักยภาพด้านความรู้ที่จำเป็น เช่น การจัดทำบัญชีน้ำ การจัดสรรน้ำ การประเมินการไหลของน้ำในสิ่งแวดล้อม การพัฒนากลไกเพื่อบริหารจัดการภัยน้ำท่วมข้ามพรมแดนและการกัดกร่อนดินอย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนการลดแรงกดดันต่อแหล่งน้ำที่ถูกใช้งานมากเกินไป

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์