“โลกร้อน” ทำทะเลรับบทหนักดูดซับคาร์บอน ซ้ำ “ขยะ” คร่าชีวิตสัตว์ทะเล”

“โลกร้อน” ทำทะเลรับบทหนักดูดซับคาร์บอน   ซ้ำ “ขยะ” คร่าชีวิตสัตว์ทะเล”

“ภาวะโลกร้อน” ส่งผลให้กระแสลมแปรปรวน และกระทบถึงคุณภาพน้ำในมหาสมุทร และเมื่อรวมกับปัญหาจากน้ำมือมนุษย์อย่าง “ขยะ” ที่ปนเปื้อนในทะเลก็เป็นสองปัจจัยที่กระทบสิ่งมีชีวิตในท้องทะเล สัตว์ที่อาศัยอาหารจากทะเลที่จะหากินยากมากขึ้น

แน่นอนห่วงโซ่อาหารลำดับเกือบสุดท้ายอย่าง “มนุษย์” ก็ได้รับผลกระทบในแง่แหล่งอาหารที่จะหายากขึ้นตามไปด้วย  

รัตนาวลี พูลสวัสดิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านนิเวศวิทยา กรมประมง กล่าวว่า น้ำทะเลดูดซับพลังงานความร้อน ของโลกไว้ 90% เมื่ออุณหภูมิโลกสูงขึ้น และเมื่อรวมกับการดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ที่มีอยู่ประมาณ 30% ก็เป็นอีกตัวการที่ทำให้ปริมาณออกซิเจนในน้ำลดลง นำไปสู่สภาวะ “น้ำทะเลมีความเป็นกรด”

 โดยเฉลี่ยน้ำทะเลจะสูงขึ้นปีละประมาณ 3.1 มิลลิเมตรต่อปี ซึ่งจะสูญเสียพื้นที่ชายฝั่งมากขึ้นเรื่อยๆ รวมถึงแหล่งเพาะเลี้ยงสัตว์ทะเลวัยอ่อน แหล่งผสมพันธ์ุ อย่างเต่า ปลา รวมถึงกุ้ง รวมถึงชุมชนประมงชายฝั่งที่ได้รับผลกระทบเช่นกัน จะต้องปรับตัว ถ้าปรับตัวไม่ได้ชาวประมงอาจสูญเสียอาชีพ หรือพึ่งพาท้องทะเลได้น้อยลง เพราะโลกร้อนทำให้การพยากรณ์อากาศแม่นยำน้อยลง หรือ ที่เรียกว่า “โลกรวน” นั่นเอง 

ในภาคการประมงนั้นต้องมีการรับมือการเพาะเลี้ยงสัตว์ทะเลสามารถทำได้ด้วยการ ใช้น้ำหรือทรัพยากรอย่างมีคุณค่า รวมถึงการใช้ IOT  (Internet of Things) ในการตรวจสอบคุณภาพน้ำ และอุณหภูมิน้ำในแหล่งอนุบาลอีกด้วย แต่การควบคุมน้ำทะเลนั้นเป็นเรื่องที่ยากเพราะมีหลายปัจจัยอย่างภาวะโลกร้อน น้ำเสียในอุตสาหกรรมต่างๆ ซึ่งการรับมือทำได้แค่ในเบื้องต้นเท่านั้น

“สัตว์ทะเลนั้นก็ได้มีการปรับตัวเพื่อให้อยู่รอดต่ออุณหภูมิน้ำที่เปลี่ยนไปมากขึ้น อย่างการเปลี่ยนฤดูกาลการวางไข่ การฟื้นตัวของปะการังที่ฟอกขาว แต่ก็ยังมีสัตว์ทะเลบางส่วน รวม 20-30% เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ ”

สพ.ญ. ราชวดี จันทรา สัตวแพทย์ปฏิบัติการ ศูนย์วิจัยทะเลอ่าวไทยตอนบน ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนบนฝั่งตะวันตก (ศวบต.) กล่าวว่า กระแสลมที่แปรปรวนนอกจากจะมีผลต่อหาดตื้นเขินแล้ว ยังส่งผลต่อการพลัดพรากของคู่แม่ลูกสัตว์ทะเลหายากที่เลี้ยงลูกด้วยนม สัตว์ทะเลหายากท้องแก่ และป่วย จนก่อให้เกิดโศกนาฏกรรมลูกสัตว์ทะเลหายากเกยตื้นตาย บนชายหาด ป่าชายเลน หรือผืนทะเล

อีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ภาวะโลกร้อนส่งผลกระทบอย่างมากคือ คุณภาพน้ำในมหาสมุทร คือ พื้นที่อ่าวไทยตอนบนกว่า 50 % มีคุณภาพน้ำอยู่ในสถานะ พอใช้ รองลงมาคือสถานะเสื่อมโทรม และเสื่อมโทรมมากตามลำดับ เพราะปัจจุบันคุณภาพน้ำส่วนใหญ่ไม่เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานคุณภาพน้ำทะเล ได้แก่ ปริมาณแบคทีเรียกลุ่มโคลิฟอร์ม สารอาหาร และปริมาณออกซิเจนละลายน้ำ

“โลกร้อน” ทำทะเลรับบทหนักดูดซับคาร์บอน   ซ้ำ “ขยะ” คร่าชีวิตสัตว์ทะเล”

 

 

 

ข้อมูลจากหนังสือวารสารการจัดการสิ่งแวดล้อม ระบุว่า   ในทุกๆ ปี จะมีการปล่อยน้ำจืดจากภาคกลางลงสู่อ่าว กอไก่ อย่างในพื้นที่ปากแม่น้ำเพชรบุรี และปากอ่าวบางตะบูนเป็นจุดปล่อยสำคัญจนเกิดการสะสมของตะกอน และหลายครั้งทำให้เกิดปรากฏการณ์ “น้ำแดง” ตามชื่อที่ชาวบ้านเรียก แต่ในทางวิทยาศาสตร์เรียกว่าภาวะยูโรฟิเคชั่น หรือ ภาวะการขาดออกซิเจนรุนแรง เป็นหนึ่งในผลจากภาวะโลกร้อน ที่เกิดจากน้ำเสียจากบ้านเรือนประชากร และเกษตรกรรมที่ถูกปล่อยรวมกัน เป็นเหตุให้เกิดการปนเปื้อนของไนโตรเจน และฟอสฟอรัสที่มีฟอสเฟต ที่เป็นอาหารของแพลงก์ตอนพืช สาหร่าย ทำให้พืชเติบโตอย่างรวดเร็วร่วมกับปัจจัยเร่งอย่างแสงแดดเพื่อสังเคราะห์แสง และอุณหภูมิที่สูงขึ้นทำให้เจริญเติบโตได้ดี ทำให้ออกซิเจนในพื้นที่นั้นลดลงขณะที่ตอนกลางคืนพืชก็ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์สู่ทะเลเพิ่มขึ้นด้วย เมื่อพืชตายจะทำให้น้ำเน่าเสียจนเกิดสีแดงขึ้น ถึงแม้ในบริเวณนั้นจะมีอาหาร แต่หากขาดออกซิเจนปลาก็ไม่สามารถเข้ามาหาอาหารได้ ถ้าเกิดเป็นบริเวณกว้างจะทำให้สัตว์หน้าดิน และปลาที่ไม่สามารถปรับตัวได้ทันหรือออกไปจากบริเวณนั้นไม่ทันตายได้

 “คาร์บอนไดออกไซด์ที่เพิ่มความเป็นกรดให้น้ำทะเลจากการดูดซับในอากาศ และพืชในทะเลปล่อยออกมา ถูกเรียกว่า “แฝดตัวร้าย”

ของภาวะโลกร้อน ความเป็นกรดแทรกซึมอยู่ทุกที่ ในอาหารของสัตว์ที่มีโครงสร้างหินปูนในการดำรงชีวิตหรือสัตว์เปลือก ประเภท กุ้ง หอย ปู พวกมันจะสร้าง เปลือกหุ้มตัวได้ยากขึ้น”

กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  กำหนด "มาเรียมโปรเจค” ส่วนหนึ่งเพื่อการส่งเสริมจิตสำนึกและการมีส่วนร่วมในการดูแลขยะพลาสติกไม่ให้ทิ้งสู่ท้องทะเล และการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้สำรวจติดตาม และประเมินจำนวนสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนม กลุ่มประชากรไกลฝั่ง เพื่อยกระดับการปฏิบัติภารกิจในด้านการคุ้มครอง อนุรักษ์ สำรวจประเมิน และฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง  หากทะเลและชายฝั่งปลอดภัย นั่นหมายถึงแหล่งอาหารของมนุษย์ก็ปลอดภัยทุกฝ่ายจึงต้องช่วยกันอย่างจริงจัง 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์