คลื่นร้อนปกคลุมโลกส่งผล 'ทะเลสาบแห้ง-น้ำทะเลเขียวจัด'

คลื่นร้อนปกคลุมโลกส่งผล 'ทะเลสาบแห้ง-น้ำทะเลเขียวจัด'

คลื่นร้อนปกคลุมโลกส่งผล 'ทะเลสาบแห้ง-น้ำทะเลเขียวจัด' โดยสหรัฐ เผชิญอุณหภูมิสูงจนสำนักงานพยากรณ์อากาศแห่งชาติ (NWS) เตือนประชาชนหลายล้านคนในรัฐต่างๆมากกว่า 12 รัฐ ทางตะวันตกและทางใต้ ว่าจะได้รับผลกระทบจากอากาศร้อนจัด

ตอนนี้ทุกภูมิภาคของโลก กำลังเผชิญกับคลื่นความร้อน ที่แผ่ปกคลุมไปทั่ว จนทำให้อุณหภูมิในหลายประเทศร้อนระอุจนปรอทแทบแตกกันเลยทีเดียว เริ่มจากสหรัฐ เผชิญอุณหภูมิสูงจนสำนักงานพยากรณ์อากาศแห่งชาติ (NWS) เตือนประชาชนหลายล้านคนในรัฐต่างๆมากกว่า 12 รัฐ ทางตะวันตกและทางใต้ ว่าจะได้รับผลกระทบจากอากาศร้อนจัด ซึ่งจะต้องจำกัดกิจกรรมกลางแจ้งเพราะอาจส่งผลให้เกิดอาการป่วยได้ 

เมื่อวันเสาร์(15ก.ค.)อุณหภูมิที่เมืองฟีนิกซ์ รัฐแอริโซนา อยู่ที่ 47 องศาเซลเซียส ทำลายสถิติเดิมที่อยู่ที่ 37 องศาเซลเซียส และคาดว่าจะมีหลายเมืองในหลายรัฐของสหรัฐที่อุณหภูมิพุ่งสูงทำลายสถิติ ตั้งแต่รัฐแคลิฟอร์เนียไปจนถึงแอริโซนา, เนวาดา, ยูท่าห์, นิวเม็กซิโก และโคโลราโด 

ขณะที่ภาคกลางของรัฐเท็กซัสทำสถิติใหม่มาก่อนหน้านี้แล้ว เช่นเดียวกับเมืองลาส เวกัส รัฐเนวาดา อยู่ที่ 47 องศาเซลเซียส แต่ตัวเลขอย่างไม่เป็นทางการอาจอยู่ที่ 47.7 องศาเซลเซียส พอ ๆ กับสถิติเมื่่อวันที่ 26 ก.ค.ปี 2474 และเมืองฟีนิกซ์ รัฐแอริโซนา 43.3 องศาเซลเซียส

ส่วนในทวีปยุโรป เว็บไซต์สำนักข่าวพยากรณ์อากาศภาษาอิตาเลีย “Meteo.it” เตือนว่า “ต้องเตรียมพร้อมรับพายุความร้อนที่รุนแรง ที่แผ่ปกคลุมทั่วทั้งประเทศ อุณหภูมิในพื้นที่ประวัติศาสตร์ที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวบางแห่งอาจสูงทำลายสถิติ”

“โอราซิโอ ชิลลาซี” รัฐมนตรีสาธารณสุข ระบุว่า พร้อมจะดูแลนักท่องเที่ยวที่ไปเยี่ยมชมโบราณาสถานในกรุงโรม แต่ไม่แนะนำให้ไปเยี่ยมชมโคลอสเซียมในช่วงที่อุณหภูมิอยู่ที่ 43 องศาเซลเซียส โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้สูงอายุ

ส่วนกรีซ ปิดสถานที่ท่องเที่ยวที่เป็นจุดเริ่มต้นอารยธรรมยุโรป “อะโครโปลิสแห่งเอเธนส์” พร้อมทั้งปิดการเข้าชมวิหารพาร์เธนอน เมื่อวันศุกร์ที่ 14 ก.ค. เนื่องจากไม่มีร่มเงา ทำให้นักท่องเที่ยวต้องต่อแถวอยู่กลางแดดที่ร้อนจัด

ขณะที่ สเปน ที่นอกจากจะเผชิญอากาศร้อนจัดแล้ว ยังต้องรับมือกับไฟป่าที่เบื้องต้นยังไม่ทราบสาเหตุ และในวันที่ 17 ก.ค.ที่ผ่านมา  เจ้าหน้าที่พยากรณ์อากาศคาดการณ์ว่า อุณหภูมิที่แถบหุบเขากัวดัลกิบีร์ ภาคใต้ของประเทศ จะขึ้นไปแตะ 44 องศาเซลเซียส

คลื่นร้อนปกคลุมโลกส่งผล \'ทะเลสาบแห้ง-น้ำทะเลเขียวจัด\'
 

ส่วนเกาะลา พัลมา ของหมู่เกาะคานารี ต้องอพยพประชาชนราว 4,000 คน ขณะที่ไฟป่าที่ยังควบคุมไม่ได้ โหมไหม้บ้านเรือนประชาชนหมู่บ้านปุนตากอร์ดา ซึ่งเป็นเขตพื้นที่ป่า และต้องใช้นักผจญเพลิงกว่า 300 คน ที่สนับสนุนโดยหน่วยฉุกเฉินของกองทัพสเปน เข้าดับไฟป่าที่เผาผลาญพื้นที่ไปแล้วกว่า 4,650 เฮคตาร์ หรือมากกว่า 29,000 ไร่

ขณะที่การศึกษาล่าสุด ที่มีการเผยแพร่ออกมาในเดือนพ.ค.ระบุว่า นับตั้งแต่ต้นทศวรรษ 1990 เป็นต้นมา กว่าครึ่งหนึ่งของทะเลสาบและอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั่วโลกประสบภาวะหดตัวลง มีสาเหตุหลักมาจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ซึ่งส่งผลให้เกิดกังวลมากขึ้นเกี่ยวกับทรัพยากรน้ำเพื่อการเกษตร การผลิตไฟฟ้าพลังน้ำ และการใช้น้ำเพื่อการบริโภคของผู้คน

ทีมนักวิจัยนานาชาติ รายงานว่า แหล่งน้ำที่สำคัญที่สุดของโลกบางแห่ง อย่างเช่น บริเวณตั้งแต่ทะเลแคสเปียน (Caspian Sea) ระหว่างยุโรปและเอเชีย ไปจนถึงทะเลสาบติติกากา (Lake Titicaca) ในอเมริกาใต้ สูญเสียน้ำในอัตราสะสมประมาณ 22 กิกะตัน หรือราว 22 ล้านล้านล้านกิโลตันต่อปี เป็นเวลานานเกือบสามทศวรรษ  ซึ่งปริมาณดังกล่าวคิดเป็น 17 เท่าของอ่างเก็บน้ำเลคมีด (Lake Mead) อ่างเก็บน้ำที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐ

'ฟางฟาง เหยา' นักอุทกวิทยาผิวดินจากมหาวิทยาลัยแห่งเวอร์จิเนีย ผู้นำทีมการศึกษา ซึ่งถูกตีพิมพ์ในวารสาร Science อธิบายว่า 56% ของการลดลงของทะเลสาบธรรมชาติเป็นผลมาจากภาวะโลกร้อนและการบริโภคของมนุษย์ โดยสาเหตุภาวะโลกร้อนอยู่ในสัดส่วนที่มากกว่า

นอกจากนี้ ทีมนักสมุทรศาสตร์จากสหรัฐ และสหราชอาณาจักร ยังเผยแพร่ข้อมูลความเปลี่ยนแปลงของน้ำทะเลทั่วโลกว่า พื้นที่ราวครึ่งหนึ่งของผืนมหาสมุทรทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแถบใกล้เส้นศูนย์สูตร กำลังเปลี่ยนเป็นสีเขียวเข้มขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากภาวะโลกร้อน

การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศดังกล่าว ทำให้สิ่งมีชีวิตขนาดจิ๋วในน้ำทะเลอย่างไฟโตแพลงก์ตอน (phytoplankton) ซึ่งใช้สารคลอโรฟิลล์สีเขียวและกระบวนการสังเคราะห์ด้วยแสงผลิตพลังงานให้กับตัวเอง ต่างเติบโตและเพิ่มจำนวนประชากรขึ้นอย่างมหาศาลในเวลาอันรวดเร็ว ส่งผลกระทบใหญ่หลวงต่อระบบนิเวศในมหาสมุทรอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้