“นวัตกรรม และการเงิน”ลดเหลื่อมล้ำ นำสังคมสู่เป้าหมายเพื่อความยั่งยืน

“นวัตกรรม และการเงิน”ลดเหลื่อมล้ำ   นำสังคมสู่เป้าหมายเพื่อความยั่งยืน

“ความยั่งยืน”กำลังเป็นบทสนทนาที่สำคัญในสังคม แต่ความรุนแรงของปัญหารอบตัวทั้งสังคม สิ่งแวดล้อม และธรรมาภิบาล กำลังผลักดันให้หัวข้อนี้จะไม่ใช่แค่พูดคุยกันด้วยวาจาเท่านั้น แต่เป็นเรื่องของการลงมือทำอย่างจริงจัง

กอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมการรองผู้จัดการใหญ่และเลขานุการบริษัท ธนาคารกรุงเทพ จำกัด กล่าวในงานการอบรมโครงการพัฒนาศักยภาพผู้สื่อข่าวระดับสูง ประจำปี 2566 หัวข้อ “ทิศทางเศรษฐกิจ การเงิน ตลาดทุนไทย ในมิติการพัฒนาอย่างยั่งยืน

จัดโดย สมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ ว่า ปัจจุบันระบบตลาดและทุนนิยมถือเป็นแนวคิดในการขับเคลื่อนและพัฒนาการเติบโตของเศรษฐกิจไทย แต่ในขณะเดียวกันก็ได้มีปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำเป็นจำนวนมาก ท่ามกลางความพยายามเพื่อคิดค้นนวัตกรรมการเงินรูปแบบใหม่ที่เข้าถึงความยั่งยืนมากขึ้น

“นวัตกรรม และการเงิน”ลดเหลื่อมล้ำ   นำสังคมสู่เป้าหมายเพื่อความยั่งยืน

“ระบบใบอนุญาตแบงก์ของไทย คือ 1 ใบสามารถตอบโจทย์บริการทางการเงินได้หลายอย่าง ดังนั้น เราจะเห็นว่าแต่ละแบงก์สามารถมุ่งเน้นบทบาททางการเงินเรื่องที่สำคัญได้ เช่น ธนาคารกรุงเทพก็ให้ความสำคัญกับพันธบัตรสีเขียว ที่มีสัดส่วน 50-60%  เช่นเดียวกับธนาคารกสิกรไทย ที่ประกาศเป้าหมายNet Zero ”

โดยแนวทางการทำงานของสถาบันการเงินคือ การกำหนดทิศทางให้ชัดเจนจากนั้นก็จัดสรรผลิตภัณฑ์ต่างๆ ให้สอดรับกับแผนงานซึ่งระบบการเงินจะมีส่วนสำคัญในการผลักดันกิจกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมทางเศรษฐกิจหรือแม้แต่กิจกรรมเพื่อสังคม ในส่วนสถานการณ์ของไทยขณะนี้ยังเผชิญกับความเหลื่อมล้ำ การใช้ทรัพยากรไม่ให้กระทบต่อสมดุลทางธรรมชาติที่นำไปสู่ภาวะโลกร้อนต่างเป็นปัญหาที่รุนแรงและยาวนานซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนทั้ง 17 หัวข้อที่สหประชาชาติ(ยูเอ็น)กำหนดขึ้น 

“สุดท้ายเแล้วเทรนด์จะกลายเป็นความจำเป็น และทำให้คนตัดสินใจกำหนดเงื่อนไขว่าทำไมเราต้องมุ่งไปสู่ความยั่งยืน จากนั้นก็จะมีเทคโนโลยี และนวัตกรรมต่างๆ มาส่งเสริมการทำงานด้านความยั่งยืนให้เป็นไปตามเป้าหมาย ซึ่งภาคการเงินก็เช่นเดียวกัน" 

  ในมิติการใช้ทรัพยากรพบว่า ภาวะโลกร้อนไม่ว่าจะเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อม ปัญหามลพิษ PM2.5 การบุกรุกป่า ทรัพยากรน้ำที่ขาดแคลนทำให้คนต้องตัดสินใจในการมีทางเลือกเพื่อช่วยโลกและช่วยกิจการตัวเอง ให้อยู่รอดในภาวะกีดกันทางการค้า และการซื้อขายคาร์บอนเครดิตมากขึ้น รวมถึงสถาบันการเงินที่มาช่วยส่งเสริมเรื่องของความยั่งยืนให้กับกิจการของตนได้ต่อไป

      ในมิติความเหลื่อมล้ำ ในช่วง 25 ปีที่ผ่านมา กลุ่มคนที่มีรายได้สูง 20% บน และกลุ่มคนรายได้ต่ำ 20% ล่างมีความมั่งคั่งโดยเฉลี่ยเติบโตต่างกัน 10 เท่า และในมิติด้านสังคมอย่าง ปัญหาหนี้นอกระบบ ที่มีอัตราดอกเบี้ยสูงมาก จนไม่สามารถจ่ายคืนเงินต้นได้หมด ต่อมาคือ ปัญหาระบบคนกลาง ที่ครอบครองส่วนต่างมากเกินไปจนทำให้รายได้ไปถึงเกษตรกรที่เป็นผู้ผลิตเพียงเล็กน้อยเท่านั้น และปัญหาการขาดแคลนความรู้ และนวัตกรรมใหม่ที่จะช่วยยกระดับประสิทธิภาพการผลิตให้สูงขึ้น

ส่วนแนวทางการแก้ไขปัญหานั้นสนับสนุนให้สร้างผู้นำชุมชนที่เข้มแข็งนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วย อย่าง E-Commerceและควรสนับสนุนภาคเอกชนให้เข้ามาสนับสนุนชุมชน และภาคเกษตรโดยตรง และอาจส่งเสริมด้วยการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีเพื่อจูงใจให้เอกชนดำเนินการลักษณะนี้เพิ่มมากขึ้นเป็นต้น

ความยั่งยืน กำลังเป็นความท้าทายของทุกคน เเต่เมื่อปัญหาต่างๆ มากขึ้นการแก้ไขอย่างไร้ทิศทางอาจกลายเป็นการสร้างอีกปัญหาหนึ่งในสังคมหรือชุมชนเดิม ดังนั้นความร่วมมือกันทุกฝ่าย รวมถึงภาคการเงินจะช่วยให้การแก้ปัญหามีความหมายคือ ไม่มีปัญหานั้น และไม่เกิดปัญหาใหม่อีก

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์