‘เอลนีโญ’ มาแล้ว กระทบทั่วโลก รุนแรงกว่าเดิม แล้งนาน - พายุบ่อย - ร้อนขึ้น

‘เอลนีโญ’ มาแล้ว กระทบทั่วโลก รุนแรงกว่าเดิม แล้งนาน - พายุบ่อย - ร้อนขึ้น

“เอลนีโญ” กลับมาแล้ว แถมแรงกว่าเดิม ส่งผลต่อสภาพอากาศทั่วโลก ฝนทิ้งช่วง แล้งนาน กระแสน้ำอุ่นเพิ่มขึ้น จนองค์การอุตุนิยมวิทยาโลกของสหประชาชาติ (WMO) ออกโรงเตือนอาจรุนแรงถึงขั้นอันตรายต่อชีวิต

Key Points:

  • เอลนีโญ (El Niño) เป็นความผันแปรของระบบอากาศในซีกโลกใต้ ซึ่งเอลนีโญเป็นปรากฏการณ์ที่อุณหภูมิมหาสมุทรอุ่นขึ้นผิดปกติ  ทำให้กระแสน้ำอุ่นจะไหลเข้าแทนที่กระแสน้ำเย็นที่อยู่ตามชายฝั่ง จนเกิดผลกระทบต่อระบบนิเวศวิทยาชายฝั่ง
  • เอลนีโญส่งผลกระทบในหลายทวีปทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นอุณหภูมิในทะเลเพิ่มสูงขึ้น เกิดพายุเพิ่มมากขึ้น และรุนแรงมากขึ้น พร้อมเกิดคลื่นความร้อนทำให้อากาศร้อน และแห้งแล้งยาวนานขึ้น ขณะเดียวกันในบางพื้นที่กลับแห้งแล้ง และเผชิญอากาศหนาวเย็น
  • WMO เรียกร้องให้รัฐบาลทุกประเทศเฝ้าระวังภัยพิบัติจากเอลนีโญเพื่อป้องกันการสูญเสียชีวิต และทรัพย์สินของประชาชน เพราะเอลนีโญรอบนี้รุนแรงกว่าเดิม

 

องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO) ของสหประชาชาติ ประกาศว่าปรากฏการณ์ “เอลนีโญ” ได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว หลังจากที่โลกต้องเผชิญกับสภาพอากาศแบบ “ลานีญา” ได้สิ้นสุดลง และคาดว่าเอลนีโญจะเกิดขึ้นรุนแรงต่อเนื่องไปจนถึงช่วงสิ้นปี ส่งผลให้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกสูงขึ้นกว่าเดิม

คาร์โล บูออนเทมโป ผู้อำนวยการของ Copernicus Climate Change Service หน่วยงานติดตามการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศของสหภาพยุโรป เปิดเผยว่า “เอลนีโญเป็นปรากฏการณ์ที่ทำให้อุณหภูมิของโลกเพิ่มขึ้นจนทำลายสถิติ ซึ่งจะเกิดภายในปีนี้หรือปีหน้า”

  • เอลนีโญคืออะไร?

ข้อมูลของกรมอุตุนิยมวิทยา ระบุว่า เอลนีโญ (El Niño) เป็นคำที่ใช้เรียกปรากฏการณ์ธรรมชาติทางสมุทรศาสตร์ โดยเป็นความผันแปรของระบบอากาศในซีกโลกใต้ ซึ่งเอลนีโญเป็นปรากฏการณ์ที่อุณหภูมิมหาสมุทรอุ่นขึ้นผิดปกติ ประกอบกับความดันบรรยากาศสูงบริเวณมหาสมุทรแปซิฟิกด้านตะวันตก ทำให้กระแสน้ำอุ่นจะไหลเข้าแทนที่กระแสน้ำเย็นที่อยู่ตามชายฝั่ง จนเกิดผลกระทบต่อระบบนิเวศวิทยาชายฝั่ง

นอกจากเอลนีโญแล้ว ความผันแปรของระบบอากาศในซีกโลกใต้ยังมีปรากฏการณ์คู่ตรงข้ามเรียกว่า “ลานีญา” (La Niña) เป็นปรากฏการณ์ที่อุณหภูมิมหาสมุทรเย็นลงผิดปกติ ประกอบกับความดันบรรยากาศต่ำบริเวณมหาสมุทรแปซิฟิกด้านตะวันตก โดย 2 ปรากฏการณ์นี้จะเกิดขึ้นสลับกันในทุก 5-6 ปี และตอนนี้กำลังเข้าสู่เอลนีโญอย่างเต็มรูปแบบ

เอลนีโญส่งผลให้สภาพภูมิอากาศทั่วทั้งโลกเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่เลวร้ายลง ตั้งแต่การเกิดคลื่นความร้อนจนถึงพายุที่รุนแรงมากยิ่งขึ้น อุทกภัย ภัยแล้ง เป็นการรบกวนสภาพอากาศในหลายภูมิภาคของโลก โดยเฉพาะในบริเวณมหาสมุทรแปซิฟิกจะได้รับผลกระทบมากที่สุด ซึ่งเป็นประเทศกำลังพัฒนาและอาศัยเกษตรกรรม และการประมงเป็นรายได้หลักของประเทศ อีกทั้งยังก่อให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนอีกด้วย

WMO เรียกร้องให้รัฐบาลทุกประเทศเฝ้าระวังภัยพิบัติจากเอลนีโญเพื่อป้องกันการสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน โดย เพตเตอร์รี ทาลาส เลขาธิการ WMO กล่าวเตือนผู้นำของแต่ละประเทศว่า

"การเตือนภัยล่วงหน้า และการเตรียมความพร้อมในการรับมือกับสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงรุนแรงอย่างรุนแรงจากเอลนีโญเป็นสิ่งที่สำคัญมากต่อการช่วยชีวิต และการดำรงชีวิตของประชาชนในแต่ละประเทศ"

 

  • อากาศแปรปรวนทั่วโลก

มีการคาดการณ์ว่า เอลนีโญในครั้งนี้จะรุนแรงขึ้นมากกว่าที่ผ่านมา จนเรียกว่าเป็น “ซูเปอร์เอลนีโญ” ทำให้ในปีนี้อุณหภูมิจะพุ่งสูงขึ้นกว่าปี 2022 และจะกลายเป็นปีที่ร้อนที่สุดประมาณอันดับที่ 5-6 ในประวัติศาสตร์นับตั้งแต่มีการบันทึกมา 

ทั้งนี้การเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศจากเอลนีโญจะเป็นอย่างค่อยเป็นค่อยไป ประชาชนอาจไม่รับรู้ถึงการเปลี่ยนแปลงจนกระทั่งปี 2024 ที่อุณหภูมิอาจสูงขึ้นจนทำลายสถิติอันดับ 1 ของปี 2016 ที่เป็นปีที่ร้อนที่สุดเท่าที่เคยบันทึกว่า ซึ่งในปีนั้นก็อยู่ในช่วงที่เกิดเอลนีโญเช่นกัน

ตามรายงานของสำนักงานบริหารมหาสมุทร และบรรยากาศแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (NOAA) ระบุว่า ในช่วงที่เกิดเอลนีโญ อุณหภูมิโลกจะเพิ่มขึ้นประมาณ 0.2 องศาเซลเซียส 

นอกจากนี้เอลนีโญทำให้น้ำอุ่นในมหาสมุทรแปซิฟิกเคลื่อนที่ไปทางตะวันออก ทำให้กระแสลมกรดแปซิฟิก (Jet Stream) เคลื่อนตัวลงทางใต้ของตำแหน่งกลาง ส่งผลให้เกิดสภาพอากาศที่แห้ง และอุ่นขึ้นทางตอนเหนือของสหรัฐ และฝนตกหนัก น้ำท่วมในแถบชายฝั่งอ่าวของสหรัฐ และทางตะวันออกเฉียงใต้

ทางตอนเหนือทางยุโรปต้องเผชิญหน้ากับฤดูหนาวที่หนาวเย็น และแห้งแล้ง ส่วนทางใต้ของทวีปจะพบกับหน้าหนาวที่ฝนชุก

ขณะที่ซีกโลกตะวันออกจะต้องเจอกับ คลื่นความร้อนที่รุนแรงขึ้น ฤดูร้อนที่ยาวนานขึ้น และมีพายุที่รุนแรงเพิ่มขึ้นหลายลูก โดยสถานที่แรกที่ได้รับผลกระทบจะเป็นกลุ่มประเทศที่อยู่ใกล้กับมหาสมุทรแปซิฟิก เช่น ชายฝั่งตะวันตกของสหรัฐ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์

ด้านอินโดนีเซีย และออสเตรเลียมีแนวโน้มพบกับสภาพอากาศที่ร้อน และแห้งกว่าเดิม และมีความเป็นไปได้ที่จะเกิดไฟป่ามากขึ้น รวมถึงในแถบอินเดียมีมรสุมลดลง เช่นเดียวกับแอฟริกาใต้ที่จะมีฝนลดลง ต่างจากแอฟริกาตะวันออกอาจมีฝนตก และน้ำท่วมมากขึ้น

สำหรับผลกระทบจากเอลนีโญที่มีต่อประเทศไทยนั้น ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดี คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โพสต์ในเฟซบุ๊กส่วนตัวระบุว่า อุณหภูมิพื้นผิวน้ำทะเลมีผลกระทบต่อพายุโดยตรง ยิ่งน้ำร้อนเท่าไร จะยิ่งสามารถทอดพลังงานให้พายุหมุนได้ดีมากขึ้นเท่านั้น ไต้ฝุ่นในปีนี้จะรุนแรงอย่างไรขึ้นอยู่กับมวลน้ำร้อนในมหาสมุทรแปซิฟิก

พื้นที่ได้รับผลกระทบคือ อ่าวไทย โดยเฉพาะอ่าวไทยตอนใน และภาคตะวันออก ซึ่งบริเวณนั้นเป็นที่คนอยู่หนาแน่น และมีกิจกรรมทางทะเลมากสุดในไทย”

 

  • อันตรายต่อสิ่งมีชีวิตในทะเล

ปกติแล้ว ในทะเลจะเกิด “น้ำผุด” (Upwelling) ที่นำมวลน้ำเย็นที่อุดมด้วยสารอาหารของสัตว์ทะเลขึ้นมาจากส่วนลึกของมหาสมุทร แต่เอลนีโญ ทำให้กระบวนการนี้หยุดลงโดยสิ้นเชิง แปลว่าแพลงก์ตอน และพืชตามแนวชายฝั่งน้อยลง ส่งผลให้อาหารของสัตว์ทะเลลดน้อยลง

เมื่อเดือนมี.ค. ที่ผ่านมา นักวิทยาศาสตร์พบว่าอุณหภูมิพื้นผิวน้ำทะเลทั่วโลกสูงเป็นประวัติการณ์ และเอลนีโญจะทำให้สถานการณ์รุนแรงขึ้น ตามรายงานของ NOAA ระบุว่า มีโอกาส 56% ที่ปรากฏการณ์สภาพอากาศจะรุนแรงถึงจุดสูงสุด อุณหภูมิผิวน้ำทะเลแปซิฟิกตะวันออกจะสูงกว่าปกติอย่างน้อย 1.5 องศาเซลเซียส 

อีกทั้งกระแสน้ำอุ่นทำให้เกิดปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาว ส่งผลกระทบต่อสัตว์ทะเลที่ใช้ประโยชน์จากแนวปะการังให้ขาดที่อยู่อาศัย แหล่งอาหาร แหล่งอนุบาลลูกปลา และที่หลบภัย ทำให้ถูกล่าได้ง่ายขึ้นเป็นผลให้ความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตในทะเลลดลงเป็นจำนวนมาก

นอกจากนี้กระแสน้ำอุ่นในมหาสมุทรแปซิฟิกยังคุกคามสัตว์เลื้อยคลานในหมู่เกาะกาลาปาโกสอีกด้วย

อิกัวนาทะเลสีดำที่มีอยู่เฉพาะบนเกาะแห่งนี้กำลังจะปรับตัวอย่างมาก เนื่องจากสาหร่ายในน่านน้ำโดยรอบเกาะลดลงอย่างมาก ขณะเดียวกันฝนตกหนักทำให้น้ำท่วมรังของเต่ายักษ์กาลาปาโกส จนอัตราการขยายพันธุ์ของพวกมันลดลงอย่างรวดเร็ว

แม้ว่าเอลนีโญจะมีมาร่วมพันปี แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ากิจกรรมของมนุษย์ที่ผลิตก๊าซเรือนกระจก ส่งผลให้สภาพภูมิอากาศของโลกเปลี่ยนแปลงไป จนกลายเป็น “ภาวะโลกรวน” ที่ส่งผลกระทบในทุกด้านของชีวิต ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม รวมถึงสิ่งมีชีวิตต่างๆ และส่งผลให้เอลนีโญรุนแรงมากกว่าเดิม


ที่มา: CNNEuro NewsThe GuardianWeather

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์