พลังงานสะอาด ลดโลกร้อนยั่งยืน

พลังงานสะอาด ลดโลกร้อนยั่งยืน

ปัจจุบันในประเทศไทยมีการนำพลังงานสะอาดมาใช้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นในมุมของนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อแก้ไขปัญหาค่าไฟแพง โดยเฉพาะในแวดวงอสังหาริมทรัพย์ ที่ผู้ประกอบการเลือกใช้โซลาร์เซลล์เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการก่อสร้างอาคารมากขึ้น และคาดว่าจะได้รับความนิยมมากขึ้นจากธุรกิจอื่นๆ ในอนาคต

ปัจจุบันแนวโน้มมีการนำพลังงานแสงอาทิตย์หรือโซลาร์เซลล์นำมาใช้เริ่มแพร่หลายมากขึ้นในประเทศไทย เนื่องจากค่าไฟที่แพงขึ้นจากปัจจัยต่างๆ เพราะเป็นพลังงานที่สร้างจากธรรมชาติที่สะอาด และเข้าถึงได้ง่าย เห็นได้จากบริษัทอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่หลายรายมีการติดโซลาร์เซลล์มากับตัวบ้านด้วยให้กับผู้ซื้อ ผู้ประกอบการหลายรายมีนวัตกรรมออกแบบ โซลาร์เซลล์ให้ติดตั้งบนพื้นหลังคาอย่างสวยงาม ใช้แอปพลิเคชันติดตามการปล่อยคาร์บอน หรือการจัดการพลังงานในบ้านให้มีประสิทธิภาพ คาดว่าในอนาคตบ้านในประเทศไทยจะมีการติดตั้งโซลาร์เซลล์เพิ่มขึ้น นอกจากเป็นการประหยัดพลังงานแล้วยังช่วยลดโลกร้อนได้อีก

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ Economic Intelligence Center ธนาคารไทยพาณิชย์ เคยวิเคราะห์ข้อมูลขององค์การพลังงานหมุนเวียนระหว่างประเทศ (International Renewable Energy Agency : IRENA) ไว้ว่าการลงทุนเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน เพื่อแทนที่ไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงฟอสซิลขยายตัวอย่างต่อเนื่องทั่วโลก และมีแนวโน้มเร่งตัวขึ้นจากนโยบาย net zero ของประเทศต่าง ๆ โดยข้อมูลขององค์การพลังงานหมุนเวียนระหว่างประเทศ (International Renewable Energy Agency : IRENA) ระบุว่าในช่วงปี 2011 ถึง 2020 กำลังการผลิตติดตั้งของโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนเชื้อเพลิงต่าง ๆ (ที่ไม่รวมพลังงานน้ำและระบบ off-grid) ขยายตัวถึงปีละ 17% 

กำลังการผลิตจากพลังงานแสงอาทิตย์ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเทคโนโลยี solar photovoltaic (solar PV) มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องด้วยอัตราที่สูงถึงปีละ 29 % ขณะที่พลังงานลมขยายตัวที่ 14 % ต่อปี ทำให้ ณ ปี 2020 โลกมีกำลังการผลิตติดตั้งของโรงไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนรวมอยู่ที่ราว 1,600 GW ซึ่งเทียบเท่า 53 เท่าของความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดของไทย โดยกว่า 90 % เป็นกำลังการผลิตจากแหล่งพลังงานแสงอาทิตย์ (46% ของกำลังการผลิตติดตั้งสะสม ณ ปี 2020) และลม (45%) และที่เหลือเป็นพลังงานหมุนเวียนอื่น ๆ เช่น พลังงานหมุนเวียนที่ต้องการการเผาไหม้อย่างเชื้อเพลิงชีวมวลและชีวภาพ (8%) และพลังงานความร้อนใต้พิภพ (1%) มูลค่าเงินลงทุนในพลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้นปีละราว 3.7% 

โดยภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมีการขยายตัวของเงินลงทุนมากที่สุดในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ทั่วโลกมีการลงทุนในพลังงานแสงอาทิตย์ หรือโซลาร์ราว 50% และพลังงานลมราว 40% ของปริมาณเงินลงทุนในพลังงานหมุนเวียนรายเชื้อเพลิง และถึงแม้ว่าในปี 2020 จะมี COVID-19 ระบาดทั่วโลก แต่มูลค่าเงินลงทุนเพื่อเพิ่มกำลังการผลิตใหม่ปรับตัวสูงขึ้นจากปี 2019 คิดเป็นราว 3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้เมื่อพิจารณาเป็นรายภูมิภาค เอเชียแปซิฟิกมีการขยายตัวของเงินลงทุนในพลังงานหมุนเวียนอยู่ที่ปีละ 9.6% (2010-2020) สูงกว่าในอเมริกาเละยุโรป การวิเคราะห์ข้อมูลนี้ไม่รวมlarge-hydro, small-hydro และoff-grid system

ขณะที่ข้อมูลของศูนย์ข้อมูลชไนเดอร์เก็บต่อเนื่อง 20 ปีพบว่าแนวโน้มการเปลี่ยนการใช้พลังงานฟอสซิลมาเป็นพลังงานไฟฟ้า ในบ้านเรือน อาคาร โรงแรม โรงงาน ระบบขนส่งและรถยนต์ มีแนวโน้มได้เพิ่มเร็วขึ้นในทศวรรษต่อๆไป และหากมีการนำดิจิทัล

บิ๊กดาต้าและเอไอที่มีประสิทธิภาพมาทำงานร่วมกับธุรกิจใหม่ด้านพลังงานไฟฟ้า หรือ ดิจิทัลเพื่อความยั่งยืน จะมีส่วนช่วยการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และประหยัดพลังงานได้มากขึ้น และสามารถนำเทคโนโลยีประหยัดพลังงานไปใช้ได้ในทุกวงการ ทุกกิจกรรมเพราะการใช้เทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพ จะช่วยลดโลกร้อนได้อย่างยั่งยืน