แผนลด“ก๊าซมีเทนในนาข้าว”เพิ่มรายได้ ขายคาร์บอนเครดิต-รับมือกฎการค้าใหม่

แผนลด“ก๊าซมีเทนในนาข้าว”เพิ่มรายได้  ขายคาร์บอนเครดิต-รับมือกฎการค้าใหม่

ข้าวยังเป็นผู้ร้ายในสังคมคาร์บอนฟุตพริ้นท์ เพราะกระบวนการผลิตได้ปล่อยก๊าซมีเทน สู่ชั้นบรรยากาศถึง1.8 ล้านตันคาร์บอน หรือ 65 % สูงสุดเมื่อเทียบกับกิจกรรมการเกษตรอื่น ถ้าปล่อยให้เป็นแบบนี้ต่อไป การส่งออกข้าวไทยอาจกำลังเผชิญปัญหาเงื่อนไขการค้าแห่งอนาคต

 ณัฏฐกิตติ์ ของทิพย์ อธิบดีการข้าว เปิดเผยว่า  การผลิตข้าวคาร์บอนต่ำ ( Low Carbon) โดยกรมการข้าวได้ดำเนินการไปแล้วในช่วง4-5 ที่ผ่านมา ด้วยการสนับสนุนทำนาเปียกสลับแห้งในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา เขตภาคกลาง ที่นอกจากจะลดการปล่อยก๊าซมีเทนได้ถึง 50-80 %แล้วยังช่วยลดต้นทุนการผลิตและมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการขายคาร์บอนเครดิตได้ด้วย 

แผนลด“ก๊าซมีเทนในนาข้าว”เพิ่มรายได้  ขายคาร์บอนเครดิต-รับมือกฎการค้าใหม่

“ผลจากการส่งเสริมการทำนาเปียกสลับแห้งในภาคกลาง ในขณะนี้ได้ผลพอสมควร คาดว่าจะเริ่มขายคาร์บอนเครดิตได้ฤดูการทำนาปรังตั้งแต่ปี 67 เป็นต้นไป หลังจากนั้นกรมการข้าวจะขยายพื้นที่ปลูกในเขตภาคอื่นๆ รวมทั้งในการทำนาปีด้วย โดยต้องปรับเทคโนโลยีการวัดระดับน้ำให้มีความเหมาะสม เพราะคาดว่าในอีก 3-4 ปีข้างหน้าคู่ค้าในตลาดโลกจะนำเรื่องเหล่านี้มาต่อรอง”

ในส่วนการขายคาร์บอนเครดิตข้าวนั้น กรมการข้าวจะเป็นตัวกลางในการดำเนินการดูแลตั้งแต่ต้นจนจบ ด้วยการขึ้นทะเบียนเกษตรกรที่ต้องการเข้าร่วม จัดหาผู้ซื้อและดูราคาที่เป็นธรรม  ซึ่งเกษตรกรสามารถดำเนินการผ่านแอพลิเคชั่น“ โครงการสร้างการรับรู้และถ่ายทอดเทคโนโลยีการทำนาแบบเปียกสลับแห้ง สำหรับการขายคาร์บอนเครดิตในนาข้าว”  หลังจากนั้นกรมการข้าวจะอบรมให้ความรู้ เริ่มจากขั้นตอนการปลูก การคัดเลือกพันธุ์ที่เหมาะสม ความรู้ตลาดคาร์บอนเครดิต ขั้นตอนการขาย

ทั้งนี้ข้าวคาร์บอนต่ำที่เกษตรกรผลิตได้กรมการข้าวจะตรวจพร้อมมีครื่องหมายรับรอง ที่สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคและผู้ซื้อคาร์บอน 

แผนลด“ก๊าซมีเทนในนาข้าว”เพิ่มรายได้  ขายคาร์บอนเครดิต-รับมือกฎการค้าใหม่

 

 

อมรรัตน์ อินทร์มั่น ผู้อำนวยการสถาบันวิทยาศาสตร์ข้าวแห่งชาติ  กล่าวว่า การปล่อยก๊าซเรือนกระจกในส่วนของภาคการเกษตรที่มีสัดส่วน  10-15 % นั้น ในจำนวนนี้  50 % มาจากนาข้าว ซึ่งหนักสุดคือก๊าซมีเทน  ที่สืบเนื่องมาจาก การทำนาน้ำขัง ตลอดฤดูปลูก ทำให้ไม่มีออกซิเจนสร้างจุลินทรีย์ทำปฏิกริยาจนเกิดก๊าซมีเทนขึ้น  ดังนั้นการลดก๊าซมีเทนง่ายๆ คือต้องทำให้น้ำแห้ง เพิ่มออกซิเจนลงในดิน    จึงเป็นที่มาของการปลูกข้าวแบบน้ำไม่ท่วมขัง เปลี่ยนมาเป็นเปียกบ้างแห้งบ้าง กรมการข้าวจึงนำไปทดลองในแปลงนา เมื่อเทียบกับการปลูกข้าวแบบน้ำท่วมขังแล้วพบว่า  

การทำนาแบบน้ำท่วมขังจะใช้น้ำประมาณ 1 ฤดูกาล 1,600 ลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.)ต่อไร่ ซึ่งค่อนข้างเยอะ แล้วถ้าเกิดเกษตรกรที่ต้องสูบน้ำเข้านาจะต้องสูบถึง 12 ครั้ง นั่นคือค่าเชื้อเพลิงที่เพิ่มขึ้น  หากทำนาแบบเปียกสลับแห้ง ปริมาณน้ำจะลดลงไปถึง 40% กรณีการสูบน้ำเข้านา จะสูบแค่ 6 ครั้ง หมายถึงลดค่าเชื้อเพลิง ถึง 50 %  

“ตอนกระแสการซื้อคาร์บอนเครดิตจากนาข้าวมาแรง  นาข้าวจึงเป็นทองคำที่ต่างประเทศสนใจ เพราะต่างประเทศเขามีมาตรการภาคบังคับ มีเกณฑ์ต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หากลดไม่ได้ก็ต้องไปหาซื้อคาร์บอนเครดิตมาเพิ่ม ซึ่งในอุตสาหกรรมภาคพลังงาน ทำได้น้อย ” 

สำหรับขั้นตอนขายคาร์บอนเครดิตมีอยู่ 2  แบบด้วยกัน แบบแรกก็คือซื้อขายผ่านแพลตฟอร์มก็คือเหมือนเป็นตลาด  (Trading Platform) อันนี้จะยุ่งยากนิดหน่อยในด้านราคาที่ต้องต่อรองกันเอง  และ อีกแบบก็คือซื้อขายโดยตรงก็คือบริษัทติดต่อเกษตรกรเข้ามาซื้อได้เลย  ดังนั้นกรมการข้าว จึงพยายามสร้างการรับรู้ให้กับเกษตรกรในเรื่องของการขายคาร์บอนเครดิต ทำยังไงถึงจะมีคาร์บอนเครดิตไปขายได้ ในราคาที่ เป็นประโยชน์แล้วก็คุ้มค่ากับเกษตรกรมากที่สุด

"ตอนนี้มีการสร้างการรับรู้ให้กับเกษตรกรอย่างในกลุ่ม ศูนย์ข้าวชุมชนหรือกลุ่มนาแปลงใหญ่  ซึ่งในปีหน้าคาดว่าจะเริ่มซื้อขายคาร์บอนเครดิตได้ช่วงนาปรัง โซนภาคกลางเขตชลประทาน 20 ล้านไร่  ส่วนนาปีที่อาศัยน้ำฝนเป็นหลักนั้นจะวัดระดับน้ำไม่ได้  เพราะฝนที่ตกไม่รู้ว่าจะแห้งตอนไหน เพราะฉะนั้นเกษตรกรที่สนใจ ตอนนี้ให้สมัครได้เลย กรมการข้าวจะเตรียมจัดหาผู้ที่มาซื้อให้ "  

เสาวณี โพธิ์รัง เกษตรกร  อำเภอเดิมบางนางบวช จังหวัดสุพรรณบุรี กล่าวว่า ก่อนหน้าได้ทำนาเปียกสลับแห้งอยู่แล้ว ตั้งแต่ปี 2558   และมีโอกาสนำเรื่องทำไปหารือในเวทีชาวนาโลกร้อน แล้วมีบริษัทเอกชนรายหนึ่งเข้าไปเห็น ซึ่งบริษัททำเรื่องรับซื้อคาร์บอนเครดิตอยู่แล้ว จึงเป็นจังหวะที่เสนอขายได้โดยตรง จากที่ไม่คิดว่าจะทำได้ ก็ทำได้ 

ทั้งนี้ขั้นตอนการทำไม่ได้ยุ่งยากอย่างที่คิด กรมการข้าวจะดูแลและแนะนำช่วงระยะเวลา การฝังท่อน้ำแกล้งข้าว การวาดแปลง และการบันทึกซึ่งอันนี้สำคัญต่อการซื้อขายคาร์บอน ผลที่ตามมานอกจากผลผลิตจะเพิ่มขึ้นเป็น จาก 750 เป็น900 กิโลกรัม(กก.)ต่อไร่แล้วต้นทุนการผลิตยังลดลงด้วย     

เทคโนโลยีและความพยายาม ลดผลกระทบจากปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยการลดการปล่อยคาร์บอนเป็นอีกความพยายามหนึ่งที่ทุกคนรวมถึงชาวนาผู้ปลูกข้าวกำลังร่วมผลักดันไปสู่ความสำเร็จ