ร่างกฎหมาย Ecodesign ของอียู คุมเข้มสินค้าใช้ทรัพยากรไม่คุ้มค่า

ร่างกฎหมาย Ecodesign ของอียู  คุมเข้มสินค้าใช้ทรัพยากรไม่คุ้มค่า

อียู เตรียมออกกฎหมาย Ecodesign Regulation คุมเข้มสินค้าเกี่ยวกับพลังงานเพื่อความยั่งยืน ด้านกรมการค้าต่างประเทศ เผย สินค้าไทยเสี่ยงได้รับผลกระทบมูลค่า 375 พันล้านบาท ด้าน”รองปธ.หอการค้าไทย” ระบุ ยังต้องรอความชัดเจนแนวปฏิบัติ รับกระทบสินค้าไทย 40% ที่นำเข้าอียู

ในปี 2565 ประเทศไทยส่งสินค้าออกไปยังสหภาพยุโรป (อียู) มูลค่าประมาณ 790 พันล้านบาท ในจำนวนนี้มีสินค้าที่จะได้รับผลกระทบหรืออาจหากระเบียบใหม่ด้านสิ่งแวดล้อมของอียู ที่เรียกว่า Ecodesign มีมูลค่าประมาณ 375 พันล้านบาท เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง แผงวงจรไฟฟ้า หม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ เครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบอื่นๆ พลาสติก เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์แผงสวิตซ์และแผงควบคุมไฟฟ้า เครื่องโทรสาร โทรศัพท์ อุปกรณ์และส่วนประกอบเครื่องนุ่งห่ม เคมีภัณฑ์ และเครื่องรับวิทยุ โทรทัศน์ และส่วนประกอบ

อียูนับเป็นภูมิภาคที่มีบทบาทนำในการขับเคลื่อนสังคม และเศรษฐกิจสู่ความยั่งยืนจึงมีกฎระเบียบทางการค้าที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมออกมาจำนวนมากและเร็วนี้ก็คาดว่าจะมีกฎระเบียบใหม่ที่มาจากการปรับปรุงกฎระเบียบเดิมแต่เข้มข้นมากขึ้นออกมาบังคับใช้ 

ธัชชญาน์พล อภิมนต์เตชบุตร รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวว่า ร่างกฎหมาย Ecodesign Regulation จะครอบคลุมกลุ่มสินค้าผลิตภัณฑ์ที่ใช้พลังงานเดิมและกลุ่มสินค้าใหม่ตามแผนงาน เช่น โทรศัพท์มือถือและ tablet รวมถึงกลุ่มสินค้าอื่น และมีการปรับมาตรการเพื่อความยั่งยืนของผลิตภัณฑ์และสิ่งแวดล้อม รวมทั้งเงื่อนไขฉลากพลังงาน โดยขณะนี้คณะกรรมาธิการยุโรปอยู่ระหว่างพัฒนาร่างกฎหมายและเปิดรับฟังความเห็นต่อข้อเสนอเบื้องต้นเกี่ยวกับกลุ่มสินค้าและมาตรการทั่วไปที่ไม่ได้อยู่ภายใต้กฎหมาย Ecodesign Directives เดิม เพื่อจัดลำดับประเด็นสำคัญของร่างกฎหมาย

ร่างกฎหมาย Ecodesign ของอียู  คุมเข้มสินค้าใช้ทรัพยากรไม่คุ้มค่า

 

อาทิ 1. การระบุสินค้าและมาตรการเพิ่มเติม ได้แก่ สินค้าขั้นสุดท้าย 12 รายการ ได้แก่ สิ่งทอและรองเท้า เฟอร์นิเจอร์ ผลิตภัณฑ์เซรามิค ยาง ผงซักฟอก เตียงและที่นอน น้ำมันหล่อลื่น สีและสารเคลือบเงา ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง ของเล่น อวนและเครื่องมือตกปลา และผลิตภัณฑ์อนามัยแบบดูดซับ และสินค้าขั้นกลาง 7 รายการ ได้แก่ เหล็กและเหล็กกล้า โลหะที่ไม่ใช่เหล็ก อะลูมิเนียม เคมีภัณฑ์ พลาสติกและโพลิเมอร์ กระดาษ เยื่อกระดาษ กระดาษแข็ง และแก้ว และ มาตรการทั่วไป 3 รายการ ได้แก่ ความทนทาน ความสามารถในการรีไซเคิล ส่วนประกอบที่รีไซเคิลหลังการบริโภค

2. ลำดับความสำคัญของกลุ่มสินค้าที่ควรดำเนินการก่อน 3. ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสินค้าและมาตรการทั่วไปที่ควรกำหนดภายใต้ Ecodesign Regulation 4. การปรับปรุงลักษณะสินค้าจากมุมมองด้านสิ่งแวดล้อม ระดับของรายละเอียดสินค้าและมาตรการทั่วไปที่ควรกำหนดภายใต้ Ecodesign Regulation 5. ประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมและการหมุนเวียนในห่วงโซ่คุณค่า และความเป็นไปได้ในการปฏิบัติตามร่างกฎหมาย

“EU จะนำความเห็นและข้อมูลดังกล่าวไปหารือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียระยะแรกในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2566 และจะเปิดรับฟังความเห็นและหารือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอีกครั้งก่อนการกำหนดกฎสินค้าในช่วงต้นปี 2567 ”

สำหรับ ร่างกฎหมาย Ecodesign Regulation เป็นกฎหมายระดับสหภาพฯ ที่มีผลใช้บังคับกับประเทศสมาชิกทั้งหมดโดยตรง ซึ่งต่างจากกฎหมาย Ecodesign Directives ที่ประเทศสมาชิกต้องออกกฎหมายภายในของแต่ละประเทศสมาชิกให้สอดคล้องหรือรองรับกับกฎหมาย Ecodesign Directives โดยกฎหมาย Ecodesign Directives จะใช้บังคับกับกลุ่มสินค้าผลิตภัณฑ์ที่ใช้พลังงานและเน้นเฉพาะประสิทธิภาพการใช้พลังงาน

วิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานสภาหอการค้าไทย และประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์อาหารแปรรูปและอาหารแห่งอนาคต สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.)กล่าวว่า มาตรการด้านสิ่งแวดล้อมของอียูในปัจจุบันเริ่มออกมาเรื่อยๆ ทั้งรูปแบบ Reduce, Recycle, Repair เพื่อใช้บังคับกับสินค้าที่นำเข้าและวางจำหน่ายอียู 

“โดยเห็นว่าสินค้าบางตัวมีอายุการใช้งานที่สั้นเกินไปหรือไม่มีอะไหล่ เช่น เสื้อผ้าที่อียูทำการตลาดในยุคฟาสต์แฟชั่น เมื่อผลิตเสื้อผ้าออกมาไม่นานก็ล้าสมัยเพราะมีแฟชั่นหรือโมเดลใหม่ออกมา ของเก่าก็ตกรุ่นไป หรือแม้ว่ากลุ่มสินค้าพวกเครื่องใช้ฟ้า โทรทัศน์ อิเล็กทรอนิกส์ โทรศัพท์มือถือ ออกแบบให้ใช้ในระยะเวลาที่สั้นมาก หรือไม่มีอะไหล่ เมื่อใช้ไป2-3 ปีก็ต้องเปลี่ยนใหม่ ทำให้อียูต้องออกกฏหมายใหม่ควบคุมให้ใช้นานขึ้นหรือมีอะไหล่ทดแทนหรือสามารถใช้อะไหล่ยี่ห้ออื่นแทนได้ ซึ่งเป็นวิธีคิดที่อียูทยอยออกกฏหมายมารองรับ”

ทั้งนี้กฎหมายที่ออกมาก็ใช้บังคับกับผู้ประกอบการในอียูและผู้นำเข้า โดยมีสินค้าหลายรายการของไทยที่อาจต้องได้รับผลกระทบจากร่างกฏหมายที่ออกมาใช้ เพียงแต่ผลกระทบจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับวิธีการปฏิบัติ 

ขณะนี้ร่างกฎหมาย Ecodesign Regulation ยังไม่มีความชัดเจนเท่าไร เพราะอยู่ในช่วงของการทำประชาพิจารณ์ คงต้องรอความชัดเจน อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการไทยก็รับทราบในเรื่องนี้อยู่แล้ว ทางสมาคมการค้าก็แจ้งข่าวให้สมาชิกได้รับทราบมาโดยตลอดอยู่แล้ว โดยเฉพาะตัวสินค้าที่ได้รับผลกระทบ แต่รายละเอียดยังคงต้องรอ และต้องติดตามวิธีการปฏิบัติด้วย

ทั้งนี้ ผลกระทบต่อสินค้าไทยก็มีแน่นอน เพราะเราส่งสินค้าไปยังอียูไม่ต่ำกว่า 40 %  แต่การปรับเปลี่ยนให้เข้าข้อกำหนดหรือเงื่อนไขตามกฏหมายคงทำไม่ได้ทันที รายไหนที่ทำได้ก่อนก็ส่งออกสินค้าไปอียูได้ก่อน เพราะการปรับเปลี่ยนสินค้าเกี่ยวข้องกับต้นทุนการผลิต และการปรับตัว อย่างไรก็ตาม การทำตามกฎเกณฑ์ก็หมายถึงประตูที่เปิดออกและต้อนรับสินค้าของไทยแล้ว