การขับเคลื่อนในเรื่องสิทธิของธรรมชาติ | พงค์ศักดิ์ เจ๊ะพงค์

การขับเคลื่อนในเรื่องสิทธิของธรรมชาติ | พงค์ศักดิ์ เจ๊ะพงค์

เมื่อวันที่ 1 เดือนมีนาคม พ.ศ. 2565 ประเทศปามานาออกกฎหมายคุ้มครองสิทธิของธรรมชาติ (Rights of Nature)  โดยให้การรับรองสิทธิของธรรมชาติในการดำรงอยู่ (Exist) การมีอยู่ (Persist) และการสร้างวงจรชีวิตขึ้นใหม่ (Regenerate life circle)

ประเทศปานามาถือเป็นประเทศล่าสุด ที่ได้ที่เข้าร่วมกับประเทศต่าง ๆ เช่น ประเทศโคลัมเบีย นิวซีแลนด์ บังคลาเทศ เอกวาดอร์ บราซิลและเม็กซิโก ที่มีการเคลื่อนไหวและออกกฎหมายระดับชาติในการให้สิทธิและคุ้มครองธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็น ที่ดิน ต้นไม้ แม่น้ำ แนวปะการัง และภูเขา ให้มีสถานะทางกฎหมายเทียบเท่ากับบุคคล

เนื่องจากประเทศปานามาเป็นหนึ่งใน 25 ประเทศที่มีความหลากหลายทางชีวภาพมากที่สุดในโลก และมีบทบาทสำคัญในการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพและลดปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก

สิทธิของธรรมชาติคืออะไร และเพราะเหตุใดประเทศปานามาและประเทศต่าง ๆ ข้างต้น จึงต้องให้การรับรองสิทธิของธรรมชาติไว้ในทางกฎหมาย

แนวคิดของสิทธิของธรรมชาติในทางกฎหมายมีความคล้ายคลึงกับแนวคิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน โดยทฤษฎีในทางกฎหมายและหลักนิติศาสตร์ ได้อธิบายถึงสิทธิของธรรมชาติไว้ว่า

ธรรมชาติมีสิทธิมาแต่กำเนิด เป็นสิทธิที่เกี่ยวข้องกับระบบนิเวศและความอยู่รอดของสิ่งมีชีวิตชนิดต่าง ๆ  บนโลกใบนี้รวมถึงมนุษย์ด้วย

กล่าวได้ว่าการดำรงชีวิตของมนุษย์นั้นมีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับระบบนิเวศมาอย่างยาวนานตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน โดยมนุษย์จะต้องพึ่งพาอาศัยธรรมชาติในการดำรงชีวิต ซึ่งกิจกรรมต่าง ๆ ของมนุษย์ส่วนใหญ่ล้วนสัมพันธ์และได้รับอิทธิพลมาจากธรรมชาติทั้งสิ้น

การขับเคลื่อนในเรื่องสิทธิของธรรมชาติ | พงค์ศักดิ์ เจ๊ะพงค์

ด้วยเหตุนี้ มนุษย์จึงไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้หากขาดการพึ่งพาและการเกื้อหนุนจากธรรมชาติ เมื่อธรรมชาติมีความสำคัญต่อมนุษย์อย่างมหาศาล มนุษย์จึงจำเป็นที่จะต้องหยุดปฏิบัติต่อธรรมชาติในฐานะสิ่งของหรือทรัพย์สิน และควรตระหนักถึงสิทธิของธรรมชาติเพื่อปกปักและรักษาธรรมชาติไว้

เช่นนี้จึงเกิดแนวคิดในทางกฎหมายว่า ธรรมชาติควรมีสิทธิเป็นของตัวเองในฐานะสิ่งมีชีวิต ดังนั้น จึงถือได้ว่าธรรมชาติเป็นสิ่งมีชีวิตชนิดหนึ่งที่มีสิทธิเป็นของตัวเองมาแต่กำเนิดจากการดำรงอยู่ไม่ต่างจากมนุษย์

ธรรมชาติจึงมีสถานะเป็นบุคคลตามกฎหมาย มีอำนาจฟ้องและเป็นผู้เสียหายในชั้นศาลได้ เพื่อให้ธรรมชาติมีสิทธิที่จะปกป้องตัวเองในชั้นศาลจากอันตรายต่าง ๆ ที่ก่อขึ้นโดยมนุษย์

เช่น ความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากโครงการพัฒนาของมนุษย์ หรือแม้กระทั่งจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจากการกระทำของมนุษย์ด้วยเช่นกัน

ด้วยเหตุนี้ หลายประเทศจึงได้ร่วมกันผลักดันให้มีการรับรองสิทธิของธรรมชาติในทางกฎหมายให้ปรากฏอย่างเป็นรูปธรรม

การออกกฎหมายคุ้มครองสิทธิของธรรมชาตินั้น จะกำหนดให้รัฐบาลของแต่ละประเทศมีหน้าที่ในการกำหนดนโยบาย วางแผน และการดำเนินโครงการต่าง ๆ จะต้องเคารพในสิทธิของธรรมชาติ และกำหนดให้รัฐบาลมีหน้าที่ส่งเสริมและสนับสนุนสิทธิของธรรมชาติ เพื่อให้ประชาชนสามารถอยู่ร่วมกันกับธรรมชาติได้อย่างกลมกลืน

การขับเคลื่อนในเรื่องสิทธิของธรรมชาติ | พงค์ศักดิ์ เจ๊ะพงค์

นอกจากนั้น กฎหมายยังเปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถเป็นตัวแทนตามกฎหมายฟ้องร้องดำเนินคดีในนามของธรรมชาติได้ เพื่อให้สิทธิของธรรมชาติได้รับการปกป้อง เป็นการรักษาผลประโยชน์ของธรรมชาติเพื่อให้ธรรมชาติยังคงดำรงอยู่ต่อไปได้อย่างยั่งยืนและประชาชนเองก็จะได้อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มีสภาพอุดมสมบูรณ์

ประเทศเอกวาดอร์ เป็นประเทศแรกที่ให้การรับรองสิทธิของธรรมชาติอย่างเป็นรูปธรรมและบัญญัติไว้ในกฎหมายรัฐธรรมนูญ โดยในปี พ.ศ. 2554 มีการฟ้องร้องคดีในนามของแม่น้ำวิลกาบัมบา (Vilcabamba)

เป็นการฟ้องคดีโดยอาศัยสิทธิของธรรมชาติตามกฎหมายรัฐธรรมนูญที่ได้ให้การรับรองไว้ ซึ่งเป็นการฟ้องรัฐบาลจังหวัด Loja ที่สร้างถนนข้ามแม่น้ำวิลกาบัมบาและได้ทิ้งเศษหินหรืออิฐลงในแม่น้ำทำให้ที่ดินริมแม่น้ำถูกทำลาย

และในคดีนี้ศาลยุติธรรมประจำจังหวัด Loja ได้ตัดสินให้แม่น้ำเป็นฝ่ายชนะคดี โดยได้รับความคุ้มครองสิทธิและได้รับการเยียวยาจากความเสียหายที่เกิดขึ้น นับว่าเป็นการฟ้องคดีในนามของธรรมชาติเป็นคดีแรกของประเทศเอกวาดอร์ที่ประสบความสำเร็จ

การขับเคลื่อนในเรื่องสิทธิของธรรมชาติ | พงค์ศักดิ์ เจ๊ะพงค์

สำหรับประเทศไทยนั้นมีการบัญญัติรับรองสิทธิขั้นพื้นฐานแก่บุคคลด้านสิ่งแวดล้อมไว้ในรัฐธรรมนูญ เช่น มาตรา 43 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560

ที่บัญญัติให้บุคคลและชุมชนมีสิทธิจัดการ บำรุงรักษา และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และความหลากหลายทางชีวภาพอย่างสมดุลและยั่งยืนตามวิธีการที่กฎหมายบัญญัติ และมีการออกกฎหมายลำดับรองที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม

เช่น พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 และพระราชบัญญัติคุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ. 2542

การฟ้องร้องคดีที่เกี่ยวข้องกับข้อพิพาททางด้านสิ่งแวดล้อมในประเทศไทยนั้นมีหลายคดี เช่น คดีการปนเปื้อนสารตะกั่วในลำห้วยคลิตี้ คดีมลพิษจากเหมืองแม่เมาะ และคดีเรียกค่าเสียหายโลกร้อน เขตอนุรักษ์ป่าภูผาแดง

ซึ่งคดีเหล่านี้เป็นการฟ้องคดีโดยใช้สิทธิของบุคคลที่มีส่วนได้เสียฟ้องให้หน่วยงานของรัฐหรือเอกชน ที่ดำเนินกิจกรรมที่ก่อให้เกิดผลเสียทางสิ่งแวดล้อมให้รับผิด และให้ตนได้รับการเยียวยาหรือค่าเสียหายชดเชยในจากการกระทำผิดนั้น ไม่ใช่การฟ้องคดีโดยเป็นตัวแทนของธรรมชาติ

การขับเคลื่อนในเรื่องสิทธิของธรรมชาติ | พงค์ศักดิ์ เจ๊ะพงค์

จึงกล่าวได้ว่าประเทศไทยยังไม่มีการบัญญัติหรือออกกฎหมายใดที่ให้การรับรองหรือกล่าวถึงสิทธิของธรรมชาติไว้โดยตรง

ดังนั้น จึงเห็นควรอย่างยิ่งที่ควรผลักดันและสนับสนุนให้มีการรับรองสิทธิของธรรมชาติให้เกิดขึ้นในประเทศไทย เนื่องจากประเทศไทยเป็นอีกหนึ่งประเทศที่มีทรัพยากรทางธรรมชาติที่สมบูรณ์

ธรรมชาติจึงควรมีสิทธิที่จะมีชีวิตและดำรงที่อยู่โดยปราศจากการถูกคุกคามจากการทำกิจกรรมของมนุษย์ หากมีการรับรองสิทธิของธรรมชาติอย่างชัดเจนในทางกฎหมาย จะส่งผลให้มีการคุ้มครองธรรมชาติอย่างแท้จริง และจะทำให้กฎหมายของไทยมีการพัฒนาก้าวหน้าและเป็นสากลทัดเทียมกับนานาอารยชาติ.