"ขยะกำพร้าสัญจร" นำร่อง "เก็บกล่องสร้างบ้าน"

"ขยะกำพร้าสัญจร" นำร่อง "เก็บกล่องสร้างบ้าน"

การลดขยะตั้งแต่ต้นทาง และการจัดการขยะอย่างถูกวิธี จะลดมลพิษทางอากาศจากการฝังกลบได้ แต่ "ขยะกำพร้า" อาจเป็นเรื่องยากเพราะเป็นขยะซึ่งไม่เป็นที่ต้องการจากวงจรรีไซเคิลด้วยซ้ำ

ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจ "ขยะกำพร้า" ก่อน ขยะกำพร้า คือ คำนิยามของขยะที่รถซาเล้งไม่รับซื้อ ขยะพลาสติกไม่สามารถรีไซเคิลได้ ขยะมูลฝอยที่ไม่ได้ผ่านกระบวนการ “จัดการขยะในขั้นตอนกลางทาง” หรือขั้นตอนการจัดเก็บ รวบรวม คัดแยก ปรับปรุงสภาพ ให้มีคุณลักษณะเหมาะสมต่อการจัดการ เช่นเดียวกับขยะพลาสติกทั่วไป เนื่องจากขยะกำพร้าประกอบด้วย วัสดุที่ไม่เป็นที่ต้องการของตลาดรับซื้อ เพราะส่วนใหญ่ไม่สามารถนำไปรีไซเคิลได้ หรือนำไปรีไซเคิลแล้วไม่คุ้มค่าแก่การลงทุน หรือไม่สะอาด มีการปนเปื้อน ไม่เป็นที่ต้องการของทั้งภาคธุรกิจ และภาคที่เกี่ยวข้องกับการกำจัดขยะ จึงทำให้เราสามารถพบเห็นขยะเหล่านี้ได้ตามริมทาง ในที่รกร้าง หรือแม้กระทั่งริมทะเล เพราะขยะเหล่านี้ถูกมองว่าไม่มีคุณค่า จึงไม่มีใครรับไปจัดการ เช่น เช่นบรรดาหีบห่อพลาสติกต่างๆ ถุงแกง ถุงน้ำยา ซองขนม กล่องโฟม แปรงสีฟัน ผลจากการแพร่ระบาดโควิด-19 ทำให้ขยะพลาสติกเพิ่มขึ้นจาก 1,500 ตันต่อวันเป็น 6,300 ตันต่อวัน (ข้อมูลจากบทความ :จาก‘ขยะกำพร้า’สู่‘แก้วเพาะกล้า’ ขยะลดได้ เริ่มต้นที่ตัวเรา By ดร.ฉัตรชัย ตวงรัตนพันธ์  กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ )

 

พื้นที่สถานีบริการบางจาก  อาสาเป็นจุดรับขยะกำพร้าในโครงการ ขยะกำพร้าสัญจร กับ N15 เทคโนโลยี เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ที่ต้องการกำจัดหรือทิ้งขยะ เพื่อนำไปเข้าสู่กระบวนการคัดแยก และกำจัดอย่างถูกวิธี โดยยึดมั่น การขับเคลื่อนนโยบาย BCG Economy มาโดยตลอด และส่งเสริมการบริหารจัดการขยะตามแนวทาง Circular Economy (เศรษฐกิจหมุนเวียน)

กลอยตา ณ ถลาง ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานสื่อสารองค์กรและกิจการเพื่อความยั่งยืน บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บางจากฯ ได้ใช้พื้นที่ปั๊มเป็นจุดรับขยะกำพร้าสัญจรมาตลอดปี 2565 ซึ่งได้รับการตอบรับอย่างดี มีปริมาณขยะกำพร้าระหว่างเดือน ม.ค. - พ.ย. 2565 จากปั๊มบางจาก ในกรุงเทพฯ รวมกว่า 65 ตัน ปั๊มบางจาก มาบตาพุด 5 ตัน และ Habito Mall 9 ตัน (ข้อมูลปริมาณขยะกำพร้าที่รวบรวมผ่านโครงการฯ ทั้งหมด 270 ตัน จากการเผยแพร่ของ N15 เทคโนโลยี) ความสำเร็จในการรับขยะกำพร้า ได้มีการขยายระยะเวลาเปิดพื้นที่รับขยะกำพร้า 4 จุดในกรุงเทพฯ และปริมณฑลต่อ เพื่ออำนวยความสะดวกให้ภาคครัวเรือนมีส่วนร่วมขับเคลื่อนสังคมคาร์บอนต่ำได้ตลอดปี 2566

 

นอกจากการบริหารจัดการขยะแล้ว บางจากยังได้ร่วมเป็นหนึ่งใน 14 พันธมิตรในโครงการเก็บกล่องสร้างบ้าน ริเริ่มโดย บริษัท เต็ดตรา แพ้ค (ประเทศไทย) จำกัด เชิญชวนให้ประชาชนส่งมอบกล่องเครื่องดื่มยูเอชทีที่ใช้แล้ว และผ่านการทำความสะอาดแล้ว ณ จุดรับกล่องเครื่องดื่มใช้แล้วภายในสถานีบริการบางจาก โดยนำร่องเปิดจุดรับบริจาคกล่องเครื่องดื่มในปั๊มบางจาก 10 จุด และต่อยอดขยายการตั้งจุดรับในพื้นที่อื่นๆ รวมทั้งสิ้น 23 จุด เพื่อเป็นช่องทางรับกล่องเครื่องดื่มยูเอชทีใช้แล้ว สำหรับรีไซเคิลไปทำวัสดุก่อสร้างบ้านประเภทต่าง ๆ อาทิ แผ่นหลังคา (Eco Roof) วงกบไม้สังเคราะห์ (Eco Door Frame) ไม้เทียมสังเคราะห์อีโค่ (Eco Wood) และ อีโค่ บริค (Eco Brick) เพื่อให้มูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง(ภาฯ)ยามยาก สภากาชาดไทย นำไปมอบให้แก่ประชาชนที่ประสบปัญหาด้านที่อยู่อาศัยจากภัยธรรมชาติ ผู้ที่ขาดแคลน ผู้ที่ประสบปัญหาด้านที่อยู่อาศัยต่อไป โดยนอกจากจะเปิดพื้นที่เป็นจุดรับบริจาค ได้รณรงค์จัดเก็บกล่องเครื่องดื่ม ในโรงเรียนรอบโรงกลั่นน้ำมัน 11 แห่ง และสำนักงานของบริษัทรวมไปถึงการสนับสนุนการรับขยะกำพร้าเพื่อเข้าสู่กระบวนการกำจัดที่ถูกต้อง และการเป็นพันธมิตรในโครงการเก็บกล่องสร้างบ้าน สะท้อนการให้ความสำคัญกับการดูแลวัสดุเหลือใช้ บริหารจัดการขยะ ตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียนที่คำนึงถึงการนำวัสดุต่างๆ กลับมาทำให้ก่อประโยชน์ใหม่ รวมถึงเป็นการช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศอีกด้วย

สถานีบริการที่เป็นจุดรับขยะกำพร้า 4 สถานี ได้แก่ 1) สาขาถนนบางนา กม.16  2) สาขาพหลโยธินซอย 73 3) สาขาราชพฤกษ์ 2 และ 4) สาขารามอินทรา-คู้บอน ติดตามดูรายละเอียดขยะกำพร้าสัญจรได้ที่ Facebook Bangchak และ Facebook N15 Technology

จุดรับกล่องเครื่องดื่มใช้แล้วในสถานีบริการบางจาก 10 จุด ได้แก่ สาขาจรัญสนิทวงศ์ สาขาวิภาวดีรังสิต สาขารามอินทรา 71 สาขาสุขุมวิท 62 สาขาลาดพร้าว 101 สาขามหาดไทย สาขาเอกมัย สาขาอุดมสุข 45 สาขาเพชรเกษม 92 และสาขากาญจนาภิเษก 41

นับเป็นเรื่องที่ดีในการนำขยะมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดสามารถนำไปรีไซเคิล ทำวัสดุแผ่นหลังคา (Eco Roof) วงกบไม้สังเคราะห์ (Eco Door Frame) ไม้เทียมสังเคราะห์อีโค่ (Eco Wood) และ อีโค่ บริค (Eco Brick) แปรรูปไปใช้ในอนาคตได้ และเป็นการสร้างที่อยู่อาศัยให้กับผู้ประสบภัย และผู้ที่เดือดร้อนด้านที่อยู่อาศัยอีกด้วย

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์