พาณิชย์ เตือนผู้ส่งออกไทยเตรียมรับมือโค้งสุดท้าย ก่อนอียูคลอดมาตรการ CBAM

พาณิชย์  เตือนผู้ส่งออกไทยเตรียมรับมือโค้งสุดท้าย ก่อนอียูคลอดมาตรการ CBAM

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เผย อียูเตรียมเคาะข้อสรุปบังคับใช้มาตรการปรับคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดน (CBAM) 15 ธ.ค.นี้แนะผู้ส่งออกไทยเตรียมความพร้อมรับมือเกี่ยวกับรายการสินค้า เร่งปรับกระบวนการผลิตให้ปล่อยคาร์บอนต่ำ

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยถึงความคืบหน้าของการออกมาตรการปรับคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดน (Carbon Border Adjustment Mechanism : CBAM) ของสหภาพยุโรป (อียู) ว่า ขณะนี้ เดินทางมาถึงช่วงโค้งสุดท้ายของกระบวนการออกกฎหมายเพื่อบังคับใช้มาตรการดังกล่าวแล้ว โดยตั้งแต่ช่วงกลางปีที่ผ่านมา กระบวนการออกกฎหมาย CBAM ได้เข้าสู่ขั้นตอนการเจรจาหารือ 3 ฝ่าย (trilogue) ระหว่างคณะกรรมาธิการยุโรป (องค์กรฝ่ายบริหารของอียู) รัฐสภายุโรป และคณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรป

จากการเจรจาหารือดังกล่าว แต่ละฝ่ายยังมีความเห็นไม่ตรงกัน อาทิ รัฐสภาอียูต้องการขยายขอบเขตสินค้าให้กว้างขึ้น โดยเพิ่มไฮโดรเจน เคมีภัณฑ์ และพลาสติก และขยายระยะเวลาของช่วงเปลี่ยนผ่านเป็น 4 ปี (ปี 2566–2569) ขณะที่คณะมนตรีฯ ต้องการให้คงไว้แค่กลุ่มสินค้า 5 ประเภทก่อน และให้ยกเว้นการบังคับใช้กับการนำเข้าสินค้าในมูลค่าไม่เกิน 150 ยูโร รวมถึงให้คงระยะเวลาช่วงเปลี่ยนผ่านเป็น 3 ปี เหมือนข้อเสนอเดิมของคณะกรรมาธิการฯ ซึ่งจากการติดตามความคืบหน้า พบว่า อียูจะมีการประชุม trilogue ครั้งสำคัญ ในวันที่ 15 ธ.ค.นี้ ซึ่งคาดว่าจะได้ข้อสรุปเกี่ยวกับรายละเอียดของกฎหมาย CBAM ต่อไป

"แม้ว่าปัจจุบันอียูยังไม่ได้ข้อสรุปในรายละเอียดของมาตรการ CBAM แต่ขอให้ผู้ส่งออกไทยติดตามความคืบหน้าอย่างใกล้ชิด เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือเกี่ยวกับรายการสินค้าที่คณะกรรมาธิการยุโรปเสนอไว้เดิมหรือที่รัฐสภายุโรปต้องการเพิ่ม โดยเฉพาะการประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์ เพื่อให้ทราบปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกระบวนการผลิตสินค้า ซึ่งจะนำมารายงานภายใต้มาตรการ CBAM และพิจารณาปรับกระบวนการผลิตให้ปล่อยคาร์บอนต่ำ “นางอรมน กล่าว

ทั้งนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทย อาทิ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้ประสานงานกันเพื่อเตรียมความพร้อมให้ไทยมีระบบบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกที่ดี และเป็นที่ยอมรับในระดับสากล รวมทั้งเตรียมความพร้อมก้าวสู่สังคม และเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และปล่อยคาร์บอนต่ำได้ต่อไป

สำหรับการออกมาตรการ CBAM สืบเนื่องจากที่คณะกรรมาธิการยุโรป ได้เผยแพร่ร่างกฎหมาย CBAM เมื่อเดือนก.ค. 2564 มีสาระสำคัญให้ผู้นำเข้าสินค้ามาในอียูแจ้งปริมาณสินค้าที่นำเข้าในรอบหนึ่งปีก่อนหน้า และปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของสินค้านำเข้านั้น รวมทั้งต้องซื้อ “ใบรับรอง CBAM” ตามปริมาณการปล่อยก๊าซฯ ซึ่งราคาใบรับรอง อ้างอิงตามราคาซื้อขายใบอนุญาตปล่อยก๊าซเรือนกระจกในตลาดคาร์บอนของอียู (EU Emission Trading Scheme : EU-ETS) (ราคาเมื่อวันที่ 1 ธ.ค.2565 อยู่ที่ประมาณ 85 ยูโรต่อ 1 ตันคาร์บอน) โดยจะเริ่มบังคับใช้มาตรการ CBAM ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2566 กับสินค้า 5 ประเภท ได้แก่ เหล็ก และเหล็กกล้า อะลูมิเนียม ซีเมนต์ ปุ๋ย และไฟฟ้า ซึ่งในอนาคตอาจขยายมาตรการให้ครอบคลุมสินค้าประเภทอื่นด้วย

ทั้งนี้ ในช่วง 3 ปีแรก (ปี 2566–2568) จะเป็นช่วงเปลี่ยนผ่าน โดยผู้นำเข้ามีหน้าที่รายงานข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2569 เป็นต้นไป จะเริ่มบังคับใช้มาตรการ CBAM อย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งผู้นำเข้าจะต้องซื้อ และส่งมอบใบรับรอง CBAM ประกอบการนำเข้าด้วย 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์